‘วอยซ์’ ชวนติดตามการเลือกตั้งกลางเทอม ที่นับเป็นก้าวสำคัญก้าวหนึ่งของการเมืองสหรัฐฯ พร้อมทั้งแนวโน้มของผลการเลือกตั้ง และสิ่งที่จะเกิดขึ้นหากพรรคใดพรรคหนึ่งชนะการเลือกตั้ง
ในระบอบการปกครองแบบไทยซึ่งตามรัฐธรรมนูญแล้วระบุว่า เป็นระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภานั้น ที่มาของนายกรัฐมนตรี หรือหัวหน้าฝ่ายบริหาร มาจากการเลือกตั้งโดยทางอ้อม กล่าวคือ ประชาชนออกไปใช้สิทธิเลือกสมาชิกผู้แทนราษฎร จากนั้นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเหล่านั้นก็จะเลือกนายกรัฐมนตรีร่วมกับวุฒิสภา
สหรัฐฯ มีระบอบการปกครองที่ต่างออกไป รัฐธรรมนูญของสหรัฐฯ ถูกออกแบบมาให้มีการแบ่งแยกอำนาจระหว่างฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติอย่างชัดเจน กล่าวคือ แทนที่จะให้ฝ่ายนิติบัญญัติเป็นผู้เลือกฝ่ายบริหารแบบไทยหรืออังกฤษ ทั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภานั้น ต่างมีที่มามาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนทั้งหมด
ทั้งนี้ ในสหรัฐฯ ประธานาธิบดีมีวาระการดำรงตำแหน่งอยู่ที่ 4 ปี ในขณะที่ ส.ส.สหรัฐฯ มีวาระ 2 ปี และ ส.ว.มีวาระ 6 ปี ด้วยการเริ่มต้นและสิ้นสุดของสมัยที่เหลื่อมกันเช่นนี้ ทำให้ในทุกๆ 2 ปีหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดี จะต้องมีการเลือกตั้งกลางสมัยที่จะเป็นการเลือก ส.ส.ใหม่ทั้งหมด และ ส.ว.อีก 1 ใน 3
การเลือกตั้งกลางสมัยมีความสำคัญ เนื่องจากประธานาธิบดีและสภาคองเกรสจำเป็นต้องทำงานร่วมกันในการออกกฎหมาย ยกตัวอย่างเช่น ในขณะนี้ โจ ไบเดน ประธานาธิบดีของสหรัฐฯ มาจากพรรคเดโมแครต และพรรคเดโมแครตถือเสียงข้างมากในทั้ง 2 สภาอยู่ แต่โดยทั่วไปแล้ว ในการเลือกตั้งกลางสมัย พรรคที่เป็นพรรครัฐบาลมักจะได้รับเสียงในสภาน้อยลง สิ่งนี้หมายความว่ารัฐบาลจะทำงานลำบากขึ้น นโยบายที่ประธานาธิบดีเสนอต่อรัฐสภา อาจจะได้รับการรับรองยากขึ้น เนื่องจากพรรครัฐบาลไม่ได้ถือเสียงข้างมากในสภาอีกต่อไป
แต่อย่างไรก็ตาม สถานการณ์อาจไม่เป็นเช่นนั้นเสมอไปก็ได้ เช่น ในปี 2547 ที่มีการเลือกตั้งกลางสมัยในขณะที่อดีตประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู. บุช ดำรงตำแหน่งอยู่นั้น พรรครีพับลิกันของเขากวาดที่นั่งเพิ่มเติมไปได้ 8 ที่นั่งในสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เนื่องมาจากการจัดการวิกฤตการณ์หลังเหตุการณ์ 9/11 ซึ่งเพิ่มคะแนนนิยมให้เขาอย่างมาก
นอกจากนี้ การที่วุฒิสภาของสหรัฐฯ มีการเลือก ส.ว.ใหม่เพียง 1 ใน 3 ทำให้เกิดความเป็นไปได้ที่เขตที่มีการเลือก ส.ว.ใหม่จะประกอบไปด้วยฐานเสียงของพรรคใดพรรคหนึ่งมากกว่า ดังเช่นกรณีของการเลือกตั้งในปี 2561 ซึ่งแม้ โดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ จะมีคะแนนนิยมที่ตกต่ำ แต่พรรครีพับลิกันกลับได้ที่นั่งในวุฒิสภาเพิ่ม เนื่องจากมลรัฐที่มีการเลือก ส.ว.ในขณะนั้นเป็นมลรัฐที่เป็นฐานเสียงของเขานั่นเอง
นับตั้งแต่ก่อนมีการเลือกตั้ง องค์กรวิเคราะห์ทิศทางและความคิดเห็นทางการเมืองของสหรัฐฯ ชี้ว่า พรรครีพับลิกันมีแนวโน้มที่จะชนะเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร ด้วยเหตุผลเชิงสถิติในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านๆ มา และเหตุผลเชิงคุณภาพที่ประชาชนชาวสหรัฐฯ มักเห็นข้อเสียในการทำงานของประธานาธิบดีในช่วง 2 ปีแรกของวาระ ซึ่งอาจทำให้ผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งเริ่มเทใจไปยังพรรคฝั่งตรงข้ามมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีตรรกะเหตุผลของการคานอำนาจกันระหว่างสภาและรัฐบาลที่ทำให้ประชาชนต้องการให้พรรคฝ่ายตรงข้ามกับประธานาธิบดีได้รับที่นั่งมากขึ้นอีกด้วย
พรรครีพับลิกันต้องการที่นั่งเพิ่มในสภาผู้แทนราษฎร 5 ที่นั่งเพื่อที่จะพลิกขึ้นมาถือครองเสียงข้างมาก ทั้งนี้ จากผลการเลือกตั้งที่มีการนับจนจะเสร็จแล้วนั้นพบว่าพรรครีพับลิกันได้รับที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรมากขึ้น 6 ที่นั่ง ในขณะที่พรรคเดโมแครตเสียไป 8 ที่นั่ง จึงอาจกล่าวได้ว่า พรรครีพับลิกันใกล้จะได้รับเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร
ในขณะที่หากพิจารณาไปที่วุฒิสภา อาจบอกได้ว่าเป็นสนามแข่งขันที่มีความสูสีกว่ามาก ที่ผ่านมาเกิดกรณีที่พรรครัฐบาลยังคงได้รับเสียงข้างมากในวุฒิสภาอยู่หลังการเลือกตั้งกลางสมัยบ่อยครั้งกว่าสภาผู้แทนราษฎร อย่างไรก็ตาม แนวโน้มในขณะนี้ก็ชี้ไปที่ชัยชนะของพรรครีพับลิกันอย่างฉิวเฉียดเช่นเดียวกัน
นอกจากนี้ พรรครีพับลิกันเองก็ต้องการที่นั่งเพิ่มเพียงแค่ที่เดียวเท่านั้น ที่จะสามารถพลิกมาครองเสียงข้างมากในวุฒิสภาได้ ทั้งนี้ ยังคงมีสนามเลือกตั้งในบางมลรัฐที่ยังคงน่าจับตามอง ได้แก่ แอริโซนา เนวาดา เนื่องจากมลรัฐเหล่านี้จัดว่าเป็น Swing State ในการเมืองสหรัฐ กล่าวคือ ไม่ใช่รัฐที่เป็นฐานเสียงของพรรคใดพรรคหนึ่งไปอย่างเด็ดขาด ผลการเลือกตั้งในพื้นที่เหล่านี้จึงอาจเป็นตัวแปรต้นที่ชี้ชะตาของการเลือกตั้งครั้งนี้ได้
หลายการวิเคราะห์ชี้ว่า รีพับลิกันจะชนะการเลือกตั้งครั้งนี้ นักวิเคราะห์หลายคน โดยเฉพาะนักวิเคราะห์ที่เป็นฝ่ายขวา ที่กล่าวว่าพรรครีพับลิกันจะชนะอย่างถล่มทลาย หลังจากรัฐบาลไบเดนล้มเหลวที่จะจัดการปัญหาเงินเฟ้อที่มีความรุนแรง แต่ในความจริง แม้พรรครีพับลิกันจะชนะเสียงข้างมาก แต่พรรคเดโมแครตก็ไม่ได้สูญเสียที่นั่งในสภาหนักเทียบเท่าที่ทรัมป์เสียไปในปี 2561 หรือที่ บารัก โอบามาเสียไปในปี 2553 เป็นต้น
มีหลากหลายเหตุผลที่ทำให้พรรคเดโมแครตยังคงยึดเก้าอี้ไว้ได้อย่างเหนียวแน่นในสภา หนึ่งในนั้นคือการกลับคำตัดสินของศาลสูงสุดสหรัฐฯ ในคดี Roe V Wade ซึ่งทำให้รัฐบาลท้องถิ่นมีอำนาจเต็ม ในการอนุญาตให้ผู้หญิงทำแท้งเสรีในช่วงการตั้งครรภ์ 3 เดือนแรกอีกครั้ง หลังจากที่ผ่านมาสิทธิดังกล่าวถูกปกป้องโดยรัฐธรรมนูญ
ทั้งนี้ ผลสำรวจชี้ว่า ชาวสหรัฐฯ ประมาณ 2 ใน 3 ไม่เห็นด้วยกับการกลับคำตัดสินดังกล่าว อีกทั้งยังมีการชุมนุมประท้วงทั่วประเทศเพื่อแสดงจุดยืนที่สนับสนุนสิทธิสตรี ด้วยเหตุนี้จึงมีการคาดการณ์ว่า ผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งบางกลุ่มอาจออกไปลงคะแนนเสียงให้พรรคเดโมแครต ที่มีจุดยืนในการสนับสนุนการทำแท้งเสรีมาโดยตลอด แทนที่จะโหวตให้พรรครีพับลิกันที่มีจุดยืนต่อต้าน
มีความเป็นไปได้มากกว่าที่พรรครีพับลิกันจะได้รับเสียงข้างมากในการเลือกตั้งครั้งนี้ โดยหากพรรคสามารถควบคุมรัฐสภาได้ พรรคก็มีการเตรียมชุดนโยบาย Commitment to America ซึ่งพรรคต้องการผลักดันในสภา ชุดนโยบายดังกล่าวประกอบด้วยนโยบาย 4 ด้าน ได้แก่ ด้านเศรษฐกิจ ด้านความปลอดภัย ด้านเสรีภาพ และด้านการตรวจสอบการทำงานของภาครัฐ
อย่างไรก็ตาม ในประเด็นการทำแท้งเสรี แม้พรรครีพับลิกันจะมีจุดยืนแข็งกร้าวในการต่อต้านนโยบายดังกล่าวมาตลอด แต่ภายหลังจากที่ศาลสูงสุดของสหรัฐฯ ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรง ในการกลับคำตัดสิน Roe V Wade สมาชิกพรรครีพับลิกันจำนวนมาก เริ่มมีทีท่าที่ประนีประนอมมากขึ้นและใช้ภาษาที่อ่อนโยนลง จึงยังคงเป็นที่คาดการณ์ได้ยากว่า ท่าทีต่อไปของพรรครีพับลิกันในประเด็นการทำแท้งจะเป็นอะไร
นอกจากนี้ พรรครีพับลิกันยังมีแนวคิดที่จะทำการสืบสวนสอบสวนการทำงานของนักการเมือง นโยบาย และสถาบันต่างๆ ของภาครัฐอีกด้วย เควิน แมคคาร์ธี หัวหน้าฝ่ายค้านของพรรครีพับลิกันสัญญาว่า จะทำการสอบสวนการทำงานของกระทรวงยุติธรรม จากกรณีที่กระทรวงยุติธรรมมีการสืบสวนอดีตประธานาธิบดีทรัมป์ ซึ่งถูกกล่าวหาว่าไม่ยอมส่งมอบเอกสารลับของราชการคืนให้กับทำเนียบขาว นอกจากนี้ยังวางแผนที่จะสอบสวน ฮันท์เตอร์ ไบเดน ลูกชายของประธานาธิบดีไบเดน พร้อมทั้งสอบสวนนโยบายด้านพรมแดน พลังงาน และการจัดการภาวะเงินเฟ้อของรัฐบาลไบเดนอีกด้วย การทำงานของพรรคเดโมแครตต่อไปก็จะยากขึ้นอย่างมาก
แม้ว่าการวิเคราะห์ส่วนใหญ่จะชี้ไปที่ชัยชนะของพรรครีพับลิกันในสภาผู้แทนราษฎร แต่ในวุฒิสภายังคงต้องมีการติดตามกันต่อไปอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ หากพรรครีพับลิกันควบคุมเสียงข้างมากได้เพียงแค่ในสภาผู้แทนราษฎร ก็จะเป็นการยากที่จะดำเนินนโยบายต่างๆ ที่มีจุดมุ่งหมายในการโจมตีรัฐบาลเดโมแครต เนื่องจากข้อจำกัดด้านการเมืองที่เดโมแครตยังคงคุมวุฒิสภาอยู่
แต่ถ้าหากรีพับลิกันสามารถพลิกคะแนนเสียงและครองที่นั่งในทั้ง 2 สภาได้สำเร็จ อนาคตทางการเมืองอีก 2 ปีที่เหลือของรัฐบาลไบเดนอาจประสบพบเจอกับอุปสรรคในการดำเนินงานมากมาย ผลของการเลือกตั้งในครั้งนี้จึงเป็นประเด็นที่ควรติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป
เรียบเรียงโดย ภีมพศ สีมาวุธ
ที่มา:
https://www.republicanleader.gov/commitment/
https://www.economist.com/united-states/2022/11/06/whats-at-stake-in-the-midterm-elections
https://www.nytimes.com/2022/11/07/opinion/midterms-win-control-congress.html