แต่ด้วยกลไกกติกาตามรัฐธรรมนูญพร้อมบทเฉพาะกาลในปัจจุบัน ที่ส่งผลให้อุปสรรคขวากหนามในการเลือกนายกรัฐมนตรีคนต่อไปของประเทศไทย ติดอยู่กับเสียงจากวุฒิสมาชิกที่ส่วนใหญ่เกิดในช่วงรุ่นเบบี้บูมเมอร์ หรือผู้ที่เกิดในช่วงระหว่างปี 2489-2507 หรือตั้งแต่ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สองจบลง ที่จำนวนมากในนั้นประกาศว่า พวกเขาจะไม่ลงคะแนนเสียงให้เป็นไปตามมติมหาชนที่เลือกฝ่ายประชาธิปไตยเข้าไปเป็นรัฐบาลชุดใหม่ แทนผู้แต่งตั้งให้พวกเขาเข้ามาดำรงตำแหน่งดังกล่าว
หลักการตัวเลข 376 จาก 750 ของสมาชิกรัฐสภาโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสมาชิกรวมกัน เพื่อทำการเลือกนายกรัฐมนตรี ดูเหมือนจะเป็นหลักการที่ทำความเข้าใจได้ง่ายๆ ไม่มีอะไรซับซ้อน แต่ดูเหมือนว่าสังคมไทยในส่วนของเสียงข้างมาก กำลังเรียกร้องให้คนจำนวน 250 คนเล่นตามกติกา (ที่ฝ่ายชนะเลือกตั้งต่างรู้ดีว่าไม่เป็นธรรมแต่แรก) แม้จำนวนหนึ่งใน 250 คนนั้นต่างออกมาระบุว่า การได้เป็นพรรคคะแนนเสียงอันดับหนึ่ง ไม่ได้แปลว่าประเทศไทยจะได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่ชื่อ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์
แม้ดูเหมือนว่าด้วยบรรยากาศและท่าทีของวุฒิสมาชิกชุดปัจจุบันจำนวนหนึ่ง จะแสดงออกอย่างชัดเจนในจุดยืนของพวกเขา ที่เล็งเห็นได้แล้วว่าจะนำให้ประเทศเดินสู่ทางตัน แต่การพูดคุยกันยังคงเป็นเรื่องสำคัญเสมอในสังคมประชาธิปไตย ‘วอยซ์’ เชิญชวนผู้อ่านร่วมกันหาทางออก ผ่านการหาวิธีพูดคุยกับคนรุ่นเบบี้บูมเมอร์ เพราะความเชื่อที่สำคัญหนึ่งคือ การเปิดบทสนทนาย่อมเป็นทางออกเสมอ
เราพบได้ว่าสิ่งที่วุฒิสมาชิกจำนวนหนึ่งมักพูดเสมอ คือ พวกเขา “เป็นห่วงลูกหลาน” ชาวไทย จะด้วยว่าคำพูดดังกล่าวออกมาจากใจจริงของพวกเขาหรือไม่ แต่มันเป็นเหตุผลที่รับฟังได้อยู่ประมาณหนึ่ง กล่าวคือ วุฒิสมาชิกเหล่านี้อาจไม่สนใจว่าปัญหาของการติดล็อกเลือกนายกรัฐมนตรีนั้นใหญ่ขนาดไหนก็ได้ เมื่อเทียบกับเหตุผล “เป็นห่วงลูกหลาน” แต่การเปิดบทสนทนากับคนรุ่นเบบี้บูมเมอร์ อาจเป็นการชวนกลุ่มคนอายุ 59-77 ปีพูดคุยในฐานะการเป็น “ลูกหลาน” ของพวกเขา
ซูซาน เคลย์ตัน ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาและการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมที่ College of Wooster ในมลรัฐโอไฮโอของสหรัฐฯ ระบุกับ Wired ว่า หากคุณพบว่าคนที่คุณกำลังพูดคุยอยู่ด้วย ไม่ได้สนใจตัวประเด็นที่คุณพูดคุยด้วย แต่คุณพบว่าเขาเป็นห่วงเป็นใยในตัวผู้คน คุณอาจพูดกับพวกเขาในเชิงที่ว่า ประเด็นปัญหาเหล่านั้นกระทบกับผู้คนอย่างไร แทนการพูดถึงปัญหาโดยตรงแบบกำปั้นทุบดิน “ถ้าคุณคิดว่ามิติทางศีลธรรมของการได้รับอันตรายมีความสำคัญต่อคนที่คุณรู้จัก นั่นคือกรอบที่คุณสามารถใช้ได้” เคลย์ตันแนะนำเสริม
ประเด็นที่คุณพูดอาจเป็นประเด็นที่ดึงดูดความสนใจคนได้ แต่การพูดไปอย่างพร่ำเพรือไม่ได้เป็นการโต้เถียงที่ออกดอกออกผลมากไปกว่าแค่การได้เถียงกัน “คุณต้องฟังสิ่งที่ผู้พูดพูดจริงๆ และไม่เพียงแค่มองหาช่องว่างเพื่อสร้างข้อโต้แย้งของคุณ” แมทธิว อาดัมส์ หัวหน้าภาคของ School of Applied Social Science ที่ Brighton University ระบุ “ความสัมพันธ์ที่แท้จริงเป็นพื้นฐานสำหรับการสนทนาที่เปิดเผยและจริงใจ” และการฟังจะช่วยสร้างแต้มต่อได้ “ถ้าคุณทำอย่างนั้น คุณจะปรับนำเสียงให้เข้ากับการต่อต้านและความสับสนของผู้คนได้”
มันเป็นความจริงอยู่ว่า ผู้ได้รับผลกระทบจากระบอบ 3 ป. และวุฒิสภาของพวกเขา เป็นผู้เรียกร้องและยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตย แต่มันคงไม่มีใครอยากกลายมาเป็นคนเคารพระบอบประชาธิปไตยในวันหนึ่ง หากพวกเขาถูกด่าอย่างเดียวว่าเป็นพวกมารร้ายถ่วงความเจริญประเทศ (เราเข้าใจดี แต่อย่าเพิ่งรีบด่า) “สิ่งสำคัญคือต้องไม่ยึดติดกับการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของแต่ละคน สิ่งที่ผู้คนกำลังทำหรือไม่ทำ หรือแง่มุมต่างๆ ของวิถีชีวิตของผู้คน” อาดัมส์กล่าว “เราไม่ตอบสนองต่อสิ่งต่างๆ อย่างมีเหตุผล เรามีเกราะป้องกันตัวเองอยู่แล้ว แต่มันเป็นเรื่องของการสร้างสภาพแวดล้อมที่ผู้คนไม่รู้สึกว่าถูกคุกคาม”
นอกจากการด่ากราดจะไม่ใช่วิธีที่มีประสิทธิภาพ ในการแก้ไขปัญหาวิกฤตเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของประเทศไทยแล้ว (ซึ่งต้องอาศัยการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง ที่นอกเหนือไปจากการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของคนแต่ละคน) การด่ากราดอาจทำให้คนรู้สึกว่าตัวเองกำลังถูกต้อนและโอบล้อม การทะเลาะกันอาจเป็นการปลิดชีพบทสนทนาที่อาจมีคุณภาพได้ “คุณคงไม่อยากพูดอะไรที่ส่อว่าพวกเขาโง่ที่ไม่เชื่ออะไรบางอย่าง” เคลย์ตันกล่าว
การเมืองไทยอาจล่มสลายลงถ้าไม่มีการเลือกนายกรัฐมนตรีตามฉันทามติของประชาชน แต่คุณอาจจะกำลังสุมไฟเผาตัวเอง ไปกับท่าทางที่ดูกระวนกระจายและเป็นภัยกับคู่สนทนา “พยายามจัดการกับความเครียดของตัวเองก่อน” อาดัมส์กล่าว “ผู้คนจะไม่ชอบใจหากคุณเข้าหาในประเด็นการพูดคุย ด้วยความวิตกกังวลทางอารมณ์ที่บรรยากาศมาคุขึ้นเรื่อยๆ”
คุณยังควรที่จะต้องตระหนักว่า หัวข้อการพูดคุยอาจทำให้คนอื่นเครียดได้ โดยอาดัมส์กล่าวว่า "มัน (ประเด็น) ส่งผลกระทบต่อชีวิตของเรามาก จนอาจกระตุ้นให้เกิดความวิตกกังวลโดยไม่รู้ตัว" แม้ว่าคุณอาจรู้สึกไม่สบายใจกับแนวทางที่ดูเหมือนไม่มีเหตุผลของสมาชิกวุฒิสภาต่อการเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ แต่อาจเป็นไปได้ว่าพวกเขาเลือกที่จะไม่คิดถึงเรื่องนี้เพราะมันทำให้พวกเขากลัว
ไม่ว่าคนรุ่นเบบี้บูมเมอร์จะเห็นด้วยกับประเด็นของคุณหรือไม่ มันมีเหตุผลทางจิตวิทยาที่ยุ่งยากว่าทำไมบางคนถึงไม่ยอมปล่อยให้ตัวเองถูกโน้มน้าวใจได้ “ผู้คนพยายามปกป้องตัวตน และความเห็นคุณค่าในตัวเองผ่านสิ่งที่พวกเขาเชื่อ” เคลย์ตันกล่าว “หากการเห็นด้วยกับคุณทำให้เกิดความสูญเสียส่วนบุคคล (ของเบบี้บูมเมอร์) พวกเขาก็จะไม่ได้รับแรงจูงใจให้คุณชนะ” ในการพูดคุยกัน
เพื่อจัดการกับปัญหาดังกล่าว คุณสามารถใช้เทคนิคที่เรียกว่า “การยืนยัน” โดย แซนเดอร์ วาน เดอร์ ลินเดน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาสังคม University of Cambridge กล่าวว่า “โดยพื้นฐานแล้ว ควรมีการให้การยืนยันโลกทัศน์ของบุคคลนั้น ก่อนที่จะเริ่มการสนทนา จากนั้นผู้คนจะเปิดกว้างมากขึ้นในการรับรู้ข้อมูลใหม่เข้ากับโลกทัศน์นั้น เพราะคุณได้ตรวจสอบความถูกต้องแล้ว”
ยกตัวอย่างเช่น หากคนรุ่นเบบี้บูมเมอร์บางคนเชื่อว่า พรรคการเมืองที่มีแนวคิดดูก้าวหน้าสุดขั้ว อาจทำให้ประเทศไทยเปลี่ยนไปสู่รัฐในอีกรูปแบบหนึ่ง แม้ว่าความเชื่อดังกล่าวจะเป็นข้อมูลเท็จ แต่การเริ่มต้นบทสนทนาด้วยการพูดว่า แม้ว่ามันเป็นความจริงที่ว่าทฤษฎีสมคบคิดบางอย่างกลับกลายไปเป็นความจริง แต่การเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ในครั้งนี้จะไม่เป็นเช่นนั้น
วาน เดอร์ ลินเดนกล่าวว่า "โดยทั่วไปแล้ว วิธีการที่อิงตามข้อเท็จจริงไม่ได้ผล เท่ากับการอ้อนวอนในทางอารมณ์" แต่การจะรู้ได้ว่าควรใช้อารมณ์ไหนจำเป็นจะต้องใช้ความเซียนอยู่บ้าง “วิธีหนึ่งคือกระตุ้นให้เกิดการตอบสนองทางอารมณ์ เกี่ยวกับการคุกคามต่อสิ่งที่พวกเขาให้ความสำคัญ” เคลย์ตันกล่าว โดยคุณอาจใช้จำว่า มันทำให้ฉันเสียใจที่จะคิดว่า บ้านเมืองที่เรารักที่เราอยู่กันมาอาจเข้าสู่ทางตันและความมืดมน (หากพวกเขาไม่ฟังมติมหาชน)
ความกลัวมีบทบาทในการโน้มน้าวใจยังคงเป็นสิ่งที่ถูกถกเถียงกันในวงวิชาการด้านจิตวิทยา แต่ถ้าหาก ส.ว.ไม่ยอมเปลี่ยนใจในประเด็นการเลือกนายกรัฐมนตรีจากพรรคก้าวไกล การนำเสนอข้อมูลเชิงสถิติที่ดูน่ากลัวในมุมมองของเบบี้บูมเมอร์อาจไม่ช่วยปูทางไปสู่ปลายทางข้างหน้า
“ถ้าคุณพยายามทำให้ผู้คนหวาดกลัวมากเกินไป นั่นอาจกระตุ้นให้พวกเขาปฏิเสธความเชื่อของคุณมากยิ่งขึ้น” เคลย์ตันกล่าว ทั้งนี้ จากการศึกษาทางวิทยาศาสตร์บอกเราว่า ความกลัวจะมีประสิทธิภาพมากที่สุด หากคุณให้วิธีลดภัยคุกคามในเรื่องที่พวกเขากลัว ตัวอย่างเช่น การเตือนผู้คนเกี่ยวกับอันตรายของมะเร็งบางชนิดอาจได้ผลดี เพราะมีวิธีง่ายๆ คือ การไปตรวจร่างกาย ถ้ายังแก้ไขความกลัวไม่ได้ ลองชวนพูดคุยในเรื่องตลกขบขันก็ไม่ใช่เรื่องเสียหาย
การตอบโต้กับปัญหาในหลายครั้ง มักปรากฏออกมาเป็นการโทษผู้อื่นแทน “ผู้คนเชื่อในสิ่งที่พวกเขาอยากจะเชื่อ หรืออย่างน้อยก็พยายามเชื่อในสิ่งที่พวกเขาอยากจะเชื่อ” เคลย์ตันกล่าว โดยเธอเปรียบเทียบระหว่างคนที่ไม่ไปหาหมอจนกว่าจะสายเกินไป เพราะพวกเขาอยากเชื่อว่าตัวเองแข็งแรงดี “ต่อมาบางคนพบว่าตัวเองเป็นโรคเรื้อรังไปแล้ว”
อีกเทคนิคในการหันเหทั่วไปอีกประการ คือการปลีกตัวออกจากปัญหา “พวกเขาจะคิดว่ามันเป็นปัญหา แต่จะไม่ส่งผลกระทบต่อเราเป็นเวลานานนัก” อาดัมส์กล่าว โดยหากคุณจริงจังกับการเปลี่ยนแปลงความคิดและจิตใจ คุณควรเตรียมการกลับไปสู่แต่ละประเด็นเหล่านี้
“คุณสามารถขยับพวกเขาได้เล็กน้อย แต่คุณไม่สามารถขยับพวกเขาได้มากนัก” วาน เดอร์ ลินเดน กล่าว “อย่าพยายามทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งหมด” เพราะในความเป็นจริงแล้ว การกดดันที่หนักเกินไป อาจส่งผลเสียได้ เพราะผู้คนจะขุดตัวเองเข้าไปสู่สำนวนของตัวเอง
อย่างไรก็ดี นี่ไม่ได้หมายความว่าความหวังทั้งหมดได้สูญสิ้นลงแล้ว เพียงเพราะคนบางคนดูเหมือนจะถูกโน้มน้าวใจไม่ได้ หากคุณป้อนข้อมูลลงไปในจิตใต้สำนึกของพวกเขา ในที่สุดมันอาจจะกรองออกมาว่าพวกเขามองโลกอย่างไร
ดัดแปลงจาก: https://www.wired.co.uk/article/climate-crisis-boomer-christmas