ไม่พบผลการค้นหา
ในขณะที่เมียนมาเข้าสู่วิกฤตหลังรัฐประหาร เผด็จการทหารเมียนมากำลังใช้การพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการเกี่ยวกับเมียนมาที่ไทยเป็นเจ้าภาพ ในการสร้างโฆษณาชวนเชื่อด้วยการโกหกอย่างโจ่งแจ้งเกี่ยวกับทุกประเด็นที่เมียนมากำลังเผชิญอยู่

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศไทย ได้เชิญรัฐมนตรีต่างประเทศจากสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) รวมถึงรัฐมนตรีต่างประเทศของเผด็จการทหารเมียนมา เพื่อเตรียมหนทางที่จะ “ฟื้นฟูการมีสัมพันธ์กับเมียนมาอย่างเต็มที่ในระดับผู้นำ”

ผู้นำระดับสูงของเผด็จการทหาร และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศเมียนมา ต่างถูกกีดกันออกจากการประชุมระดับสูงของอาเซียนตั้งแต่ปลายปี 2564 หลังจากเผด็จการทหารล้มเหลวในการปฏิบัติตามแผนการของอาเซียน เพื่อฟื้นฟูสันติภาพในเมียนมาเอง ซึ่งกำลังตกอยู่ในความวุ่นวายนับตั้งแต่กองทัพทำรัฐประหาร เมื่อ 2 ปีก่อน

สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ปฏิเสธการเข้าร่วมการเจรจาที่จัดขึ้นในรีสอร์ตพัทยา ระหว่างวันที่ 18-19 มิ.ย. โดยตัวแทนจากสมาชิกอาเซียนอื่นๆ ได้แก่ บรูไน กัมพูชา ลาว ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และเมียนมา ตลอดจนจีนและอินเดียได้เข้าร่วมการเจรจาในครั้งนี้ อย่างไรก็ดี อินโดนีเซีย ประธานอาเซียนคนปัจจุบันวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลไทยในการจัดการพูดคุย ซึ่งถูกประณามโดยสมัชชารัฐสภาอาเซียน รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติของเมียนมา และองค์กรภาคประชาสังคมหลายร้อยแห่งในประเทศ

จากแถลงการณ์ของกระทรวงต่างประเทศของเผด็จการเมียนมา ระบุว่า ตานฉเว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของเผด็จการเมียนมา ใช้โอกาสแรกของเขาอย่างเต็มที่ในการพูด ณ ที่ประชุมระดับภูมิภาค โดยเขากล่าวว่าข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับเมียนมาถูกปิดกั้น และมีเพียงข่าวเท็จและการพาดพิงเกี่ยวกับประเทศเท่านั้นที่ถูกเผยแพร่โดยสื่อที่มีอคติ

ตานฉเวกล่าวในการเจรจาว่า กองทัพเมียนมากำลังมุ่งความพยายามไปที่ 3 ใน 5 ประเด็นสำคัญของข้อเสนอโดยอาเซียน ได้แก่ การยุติความรุนแรงในประเทศ การเริ่มต้นการเจรจาระหว่างทุกฝ่าย และส่งมอบความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ชาวเมียนมา พร้อมกล่าวโทษว่าองค์กรติดอาวุธชาติพันธุ์ (EAO) ของเมียนมาเป็นต้นเหตุที่ทำให้การสู้รบในประเทศบานปลาย

นอกจากนี้ ตานฉเวยังกล่าวอ้างเกี่ยวกับการโจมตีทางอากาศโดยไม่เลือกปฏิบัติต่อพลเรือน โดยเขากล่าวว่าเจ้าหน้าที่ทหารของเมียนมา ได้รับการฝึกฝนให้ปฏิบัติตามกฎการสู้รบ ที่ระบุไว้ในอนุสัญญาเวียนนา และไม่ใช้กำลังที่ไม่สมส่วน พร้อมกับกล่าวหาว่ารัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ และกองกำลังป้องกันประชาชนฝ่ายติดอาวุธได้สังหาร “พลเรือนที่ปราศจากอาวุธกว่า 5,800 คน” อย่างไรก็ดี ตานฉเวระบุว่าเมียนมาไม่ได้นิ่งเฉยเกี่ยวกับการที่เผด็จการทหารได้สังหารประชาชนอย่างน้อย 3,692 คน โดยส่วนใหญ่เป็นผู้เคลื่อนไหวต่อต้านระบอบการปกครอง

ระหว่างการประชุมที่พัทยา ตานยฉเวไม่ได้กล่าวในข้อเท็จจริงหลังการรัฐประหารว่า คณะปกครองของพวกเขายังคงไม่สามารถควบคุมประเทศได้ และกำลังสูญเสียการควบคุมพื้นที่จำนวนมากให้กับกองกำลังปกป้องประชาชน นอกจากนี้ เขายังละเลยที่จะกล่าวถึงการที่กองกำลังของเผด็จการทหารได้รับความสูญเสียอย่างหนักตั้งแต่ช่วงแรกๆ ของการสู้รบ

ตานฉเวยังไม่ระบุถึงการจัดการเลือกตั้งในเมียนมา ซึ่งถูกเลื่อนออกไปเรื่อยๆ ภายใต้การนำของ มินอ่องหล่ายน์ ในทางตรงกันข้าม แถลงการณ์ของเผด็จการทหารในการประชุมยังอ้างว่า ผู้เข้าร่วมการประชุมไม่ต้องการแทรกแซงการเมืองภายในประเทศของเมียนมา และหวังที่จะส่งเสริมความสัมพันธ์กับเมียนมา 

ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีไทย กล่าวว่า การพูดคุยโดยตรงเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อปกป้องประเทศไทย โดยประยุทธ์อธิบายว่าประเทศไทยได้รับความเดือดร้อนมากกว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค เนื่องจากมีพรมแดนทางบกติดกับเมียนมา โดยถึงแม้ว่าไทยจะกล่าวปกป้องการประชุมนี้ แต่ยังมีคำถามว่าทำไมไทยถึงรีบตัดสินใจจัดการเจรจา ในเมื่อรัฐบาลใหม่คาดว่าจะเข้ารับตำแหน่งในเดือน ส.ค. หลังจากพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยเอาชนะพรรคคู่แข่งที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทัพ ในการเลือกตั้งวันที่ 14 พ.ค.ที่ผ่านมา


ที่มา:

https://www.irrawaddy.com/news/the-world-myanmar/myanmar-junta-turns-thai-sponsored-talks-into-propaganda-tool.html?fbclid=IwAR1jcG9wJxc0gNz731NVE-6CSeJdLUpzyP9BHwCm-qEwTSfpYMHgtyg98vM