ทั้งนี้ นายพลของกองทัพเมียนมาถูกห้าม ไม่ให้เข้าร่วมการประชุมระดับสูงของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 10 ประเทศ (อาเซียน) นับตั้งแต่การเข้ายึดอำนาจในการรัฐประหารเมื่อปี 2564 และเดินหน้าใช้ความรุนแรงต่อประชาชน และกองกำลังการปฏิวัติต่อต้านการทำรัฐประหารของกองทัพเมียนมา
สำนักข่าว Reuters รายงานชี้ถึงหลักฐานการส่งคำเชิญที่ได้รับการยืนยันจากแหล่งข่าวว่า รัฐบาลไทยชุดปัจจุบันที่กำลังจะหมดวาระลงจากอำนาจ ที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทัพ ได้เชิญรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในชาติอาเซียน รวมทั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเมียนมา เพื่อหารือเกี่ยวกับข้อเสนอของกลุ่มที่จะ "ดึงเมียนมากลับมามีส่วนร่วมอีกครั้งอย่างเต็มที่ในระดับผู้นำ"
นักวิจารณ์ต่างมองกันว่าการประชุมในเมื่อวานนี้ของไทย เป็นการบ่อนทำลายแนวทางของอาเซียนที่เป็นหนึ่งเดียวต่อวิกฤตเมียนมา โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่แผนสันติภาพ อันได้ทำการตกลงไว้กับเผด็จการทหารเมียนมาเมื่อ 2 ปีก่อน แต่ ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีไทย ซึ่งเป็นอดีตหัวหน้าคณะรัฐประหาร กล่าวว่า การพูดคุยโดยตรงเป็นสิ่งจำเป็นในการปกป้องประเทศไทย
“เราทนทุกข์มากกว่าคนอื่น เพราะประเทศไทยมีพรมแดนทางบกและทางทะเลยาวกว่า 3,000 กิโลเมตร” ประยุทธ์กล่าวกับผู้สื่อข่าว "นั่นคือเหตุผลที่การเจรจามีความจำเป็น ไม่ใช่เรื่องของการเข้าข้าง"
ก่อนหน้านี้ ดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศไทยของประยุทธ์ กล่าวว่า วิกฤตของเมียนมากำลังสร้างปัญหาผู้ลี้ภัยและส่งผลกระทบต่อการค้า “เราพูดได้ว่าไทยเป็นประเทศเดียวในอาเซียนที่ต้องการเห็นปัญหายุติโดยเร็วที่สุด” ดอนกล่าวกับสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส พร้อมย้ำว่าประเทศอาเซียนอื่นๆ "ควรจะขอบคุณเรา"
แหล่งข่าว 2 รายที่รู้เรื่องการประชุมระบุกับสำนักข่าว Reuters ว่า ตานส่วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศที่ได้รับการแต่งตั้เผด็จการทหารเมียนมา เข้าร่วมเข้าร่วมการเจรจา ทั้งนี้ จากแหล่งข่าวที่มีข้อมูลอีก 2 แหล่งระบุว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสิงคโปร์ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ บรูไน อินโดนีเซีย เวียดนาม และกัมพูชาไม่ได้เข้าร่วมการประชุมนี้ โดยบางคนส่งผู้แทนระดับล่างมาแทน และนอกเหนือจากเมียนมาและไทยเจ้าภาพแล้ว มีเพียงลาวเป็นประเทศเดียวที่ส่งนักการทูตระดับสูงเข้าร่วมการประชุม
อินโดนีเซียในฐานะประธานอาเซียน พยายามพัฒนากระบวนการสันติภาพมาเป็นเวลาหลายเดือน โดยการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลักในความขัดแย้งของเมียนมา ทั้งนี้ เรตโน มาร์ซูดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอินโดนีเซีย กล่าวตามจดหมายที่ Reuters ได้พบเห็น และผ่านการตรวจสอบโดยแหล่งข่าวว่า อาเซียน "ไม่มีฉันทามติในการมีส่วนร่วมหรือพัฒนาแนวทางใหม่ๆ ในประเด็นเมียนมา"
กองทัพเมียนมาเข้ายึดครองประเทศในปี 2505 และปราบปรามฝ่ายค้านทั้งหมดเป็นเวลาหลายทศวรรษ จนกระทั่งการเปิดประเทศอย่างไม่เป็นทางการในปี 2554 แต่การทดลองอยู่ร่วมกับระบอบประชาธิปไตยของกองทัพเมียนมา ซึ่งรวมถึงการได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งของ อองซานซูจี เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ต้องล่มสลายลง เมื่อกองทัพเมียนมาโค่นล้มอำนาจรัฐบาลพลเรือนของเธอ และสลายการประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยอย่างรุนแรงในการรัฐประหารเมื่อปี 2564
เมื่อเมียนมาได้รับคำประณามและคว่ำบาตรจากชาติตะวันตกอีกครั้ง อาเซียนได้จัดทำแผนสันติภาพ 5 ประการ ซึ่งรวมถึงการยุติความรุนแรง การเข้าถึงด้านมนุษยธรรม และการเจรจาที่เกี่ยวข้องกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด แต่นายพลของเมียนมากลับไม่ได้ดำเนินการตามข้อตกลง มิหนำซ้ำกลับเดินหน้าการปราบปรามอย่างโหดร้ายมาจนถึงปัจจุบัน
กระทรวงการต่างประเทศมาเลเซียระบุในแถลงการณ์ว่า สิ่งสำคัญสำหรับอาเซียนคือการแสดงความสามัคคีเพื่อสนับสนุนความพยายามของอินโดนีเซีย ในขณะที่ วิเวียน บาลากริชนัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสิงคโปร์ กล่าวในการแถลงข่าวที่สิงคโปร์กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ เมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า “ยังเร็วเกินไปที่จะกลับไปมีส่วนร่วมกับเผด็จการทหารอีกครั้ง” ในระดับสูง ทั้งนี้ ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าเจ้าหน้าที่จากสิงคโปร์เข้าร่วมการเจรจาในประเทศไทยเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาหรือไม่
ทั้งนี้ องค์กรสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในกลุ่มสมาชิกรัฐสภาอาเซียนเพื่อสิทธิมนุษยชน เรียกการเจรจาในครั้งนี้ที่ประเทศไทยขัดขึ้นว่า "เป็นการทรยศต่อชาวเมียนมา และเป็นการดูหมิ่นเอกภาพของอาเซียน"
ที่มา: