ไม่พบผลการค้นหา
โจโก วิโดโด ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย กล่าวเมื่อวันพฤหัสบดี (11 พ.ค.) ในวันสุดท้ายของการประชุมสุดยอดอาเซียนว่า ชาติสมาชิกอาเซียน “ไม่มีความคืบหน้าอย่างมีนัยสำคัญ” ในการดำเนินการตามแผนสันติภาพ ที่มุ่งยุติการนองเลือดในเมียนมานับตั้งแต่การเกิดรัฐประหารเมื่อเดือน ก.พ. 2564

ความรุนแรงที่เพิ่มขึ้นในเมียนมาที่ถูกปกครองโดยเผด็จการทหาร ได้ครอบงำประเด็นในการประชุมกว่า 3 วันของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ซึ่งจัดขึ้นบนบนเกาะฟลอเรสของอินโดนีเซีย ทั้งนี้ อาเซียนเป็นหัวหอกในความพยายามทางการทูต เพื่อแก้ไขวิกฤตในเมียนมา แม้ว่าแผนสันติภาพ 5 ประการ ที่อาเซียนมีการตกลงกับเผด็จการทหารเมียนมาเมื่อ 2 ปีก่อน จะยังไม่มีการนำมาบังคับใช้อย่างเป็นรูปธรรมก็ตาม

นับตั้งแต่กองทัพเมียนมาโค่นล้มอำนาจรัฐบาลพลเรือนของ อองซานซูจี เผด็จการทหารภายใต้การนำของ มินอ่องหล่ายน์ หัวหน้าคณะรัฐประหารเมียนมา ทำการปราบปรามผู้เห็นต่างอย่างนองเลือด ด้วยการคร่าชีวิตผู้คนหลายพันคน และต่อสู้กับกองกำลังติดอาวุธต่อต้านการปกครองมาอย่างยาวนาน

ในขณะที่ผู้นำอาเซียนเริ่มการเจรจาวันสุดท้ายในเมืองลาบวนบาโจ วิโดโดยอมรับว่า อาเซียน “ไม่มีความคืบหน้าที่สำคัญ” ในการดำเนินการตามแผนสันติภาพ “เราต้องการความสามัคคีของอาเซียน เพื่อกำหนดแนวทางของเราไปข้างหน้า” วิโดโดกล่าวผ่านล่ามในการประชุม

ความแตกแยกในหมู่ชาติสมาชิกอาเซียนในการประชุมสุดยอด ดูเหมือนจะขัดขวางความพยายามในการสร้างสันติภาพในเมียนมา ทั้งนี้ มีรายงานภายในเกี่ยวกับการหารือ ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอาเซียน ระบุว่า บางประเทศต้องการเชิญเผด็จการทหารเมียนมา กลับเข้าร่วมการประชุมอาเซียน เพราะ “ถึงเวลาที่การโดดเดี่ยว (เมียนมา) ได้บรรลุวัตถุประสงค์ของมันแล้ว”

“ยังมีข้อสังเกตว่า อาเซียนอาจประสบกับ 'ความเหนื่อยล้าต่อเมียนมา' ซึ่งอาจทำให้อาเซียนหันเหความสนใจไปจากเป้าหมายที่ใหญ่กว่า ของการสร้างประชาคมอาเซียน” สำนักข่าว AFP รายงานอ้างอิงถึงเอกสารฉบับหนึ่ง “ความอดทน ความยืดหยุ่น และความคิดสร้างสรรค์ จึงเป็นสิ่งจำเป็น เนื่องจากมันจะไม่มีทางแก้ไขวิกฤตได้ทันท่วงที”

เมียนมายังคงเป็นสมาชิกของกลุ่มอาเซียน 10 ประเทศ แต่ถูกห้ามไม่ให้เข้าร่วมการประชุมสุดยอด เนื่องจากเผด็จการทหารล้มเหลวในการดำเนินการตามแผนสันติภาพ อย่างไรก็ดี เผด็จการทหารได้ปฏิเสธคำวิพากษ์วิจารณ์จากนานาชาติ และปฏิเสธที่จะมีการมีส่วนร่วมกับฝ่ายตรงข้าม ซึ่งรวมถึงฝ่ายนิติบัญญัติที่ถูกโค่นลงจากอำนาจ กองกำลังป้องกันประชาชนต่อต้านการรัฐประหาร และชนกลุ่มน้อยติดอาวุธ

ก่อนหน้านี้ เกิดการโจมตีทางอากาศที่หมู่บ้านหนึ่ง ในฐานที่มั่นของกลุ่มกบฏเมื่อเดือนที่แล้ว โดยมีรายงานพบผู้เสียชีวิตประมาณ 170 คน เหตุการณ์ดังกล่าวจุดประกายการประณามจากทั่วโลก และส่งผลให้ความโดดเดี่ยวที่เกิดขึ้นต่อเผด็จการทหารเมียนมาย่ำแย่ลงไปจากเดิมอีก

ประธานอาเซียนอย่างอินโดนีเซียในปีนี้ ได้เพิ่มความหวังว่าอาเซียนจะสามารถผลักดันทางออกอย่างสันติ โดยให้น้ำหนักกับวิธีการทางเศรษฐกิจและการทูต อย่างไรก็ดี มีการโจมตีด้วยอาวุธเมื่อวันอาทิตย์ (7 พ.ค.) ต่อขบวนรถที่มีนักการทูตและเจ้าหน้าที่ด้านมนุษยธรรมของอาเซียนในเมียนมา ทั้งนี้ เหตุดังกล่าวได้เพิ่มแรงกดดันให้มีการดำเนินการที่รุนแรงขึ้นต่อเผด็จการเมียนมา

อาเซียนถูกวิจารณ์มานานแล้วว่าเป็นแค่เสือกระดาษ แต่กฎบัตรอาเซียนว่าด้วยฉันทามติและการไม่แทรกแซง ได้ขัดขวางความสามารถในการหยุดความรุนแรงในเมียนมาขององค์การ ทั้งนี้ สำนักข่าว AFP รายงานถึงร่างแถลงการณ์ปิดการประชุมสุดยอดอาเซียนฉบับล่าสุด ที่มีการเปิดประเด็นเกี่ยวกับเมียนมาทิ้งเอาไว้ ซึ่งสะท้อนถึงปัญหาทางการทูตเกี่ยวกับประเด็นความขัดแย้งในเมียนมาต่ออาเซียน


ที่มา:

https://www.irrawaddy.com/news/the-world-myanmar/indonesias-widodo-admits-no-progress-by-asean-on-myanmar-peace-plan.html?fbclid=IwAR2zRGrkmsp-AU08jEzSjP5t6g7uX2qIOGS_j2D_ozM_dNCtD--h2e-sX4U