ไม่พบผลการค้นหา
เลขาธิการพรรคเพื่อไทย เรียกร้องรัฐบาลเปิดเผยตัวเลขการหักงบปี 2563 ช่วยแก้ปัญหาโควิดเท่าไหร่ 'วัฒนา' จวก 'ประยุทธ์' ตั้งพวกพ้องป้องตรวจสอบการกู้้เงิน ด้าน 'สุทิน' เรียกร้อง 'ประธานชวน' เปิดสภาเพื่อเร่งช่วยเหลือประชาชน

น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ เลขาธิการพรรคเพื่อไทย นายสุทิน คลังแสง ประธานวิปฝ่ายค้าน และนาย วัฒนา เมืองสุข ในฐานะคณะกรรมการยุทธศาสตร์ พรรคเพื่อไทย ได้ร่วมกันแถลงข่าวสรุปผลการประชุมของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ที่มีข้อเรียกร้องและข้อเสนอแนะต่างๆ ไปยังรัฐบาล 

โดย น.อ.อนุดิษฐ์ กล่าวถึงข้อเรียกร้องของพรรคเพื่อไทยก่อนหน้านี้ ที่ขอให้รัฐบาลตัดงบประมาณประจำปี 2563 ที่ไม่จำเป็นออกมาให้ได้มากที่สุด โดยเฉพาะงบซื้ออาวุธ งบฝึกศึกษา งบสร้างอาคาร หรืองบซื้อครุภัณฑ์ที่ชะลอการซื้อออกไปได้ แม้รัฐบาลจะเปิดเผยรายละเอียดของการใช้จ่ายงบกลางในส่วนของเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ที่ ครม.อนุมัติจำนวน 96,000 ล้านบาท ออกมาแล้ว และมีหลายรายการที่ยังน่าสงสัยว่ามีความจำเป็นเร่งด่วนและฉุกเฉินกว่าเรื่องโควิดหรือไม่

โดยพรรคเพื่อไทยจะเข้าไปตรวจสอบรายละเอียดและนำมาแถลงให้ประชาชนทราบต่อไป แต่ในชั้นนี้ขอเรียกร้องให้รัฐบาลเปิดเผยตัวเลขชัดๆ ว่าสรุปแล้ว จากงบประมาณ ปี 2563 จำนวน 3.2 ล้านล้านบาท รัฐบาลตัดงบออกมาทั้งหมด เพื่อมาใช้แก้ไขปัญหาเรื่องโควิดให้แก่ประชาชนเป็นจำนวนเท่าไหร่ ทั้งนี้เพื่อความโปร่งใสและเป็นข้อมูลสำคัญให้ประชาชนสามารถตรวจสอบได้ว่า การกู้เงินตาม พรก.เงินกู้ 1.9 ล้านล้านบาทนั้น รัฐบาลจำเป็นต้องกู้เต็มจำนวนหรือไม่ 

ส่วนกรอบงบประมาณ ปี 2564 ที่ผ่าน ครม.ไปแล้วนั้น พรรคเพื่อไทยขอเรียกร้องให้รื้อใหม่ทั้งหมด เพราะเป็นการดำเนินการจัดทำกรอบงบประมาณก่อนมีสถานการณ์โควิด เมื่อสถานการณ์ในปัจจุบันพัฒนามาจนเป็นสถานการณ์พิเศษไปแล้วในขณะนี้ การใช้กรอบงบประมาณแบบเดิมจึงไม่สมเหตุผล และการตั้งใจจะกู้อย่างเดียวโดยไม่ใช้เงินในกระเป๋าของตัวเองก่อน คงเป็นเรื่องไม่ฉลาด และไม่ถูกต้อง ซึ่งเรื่องนี้ เพราะพรรคเพื่อไทยต้องการให้รัฐบาลลดภาระการกู้เงินที่เป็นหนี้สินของคนทั้งประเทศให้เหลือเท่าที่จำเป็นเท่านั้น และจะติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิดต่อไป

วัฒนา ซัดเยียวยาล่าช้า ชงมองครัวเรือนละ 10,000 บาท/เดือน

ต่อมา นายวัฒนา ได้แถลงถึงประเด็นเรื่องของการเยียวยาว่า ที่ผ่านมาการเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบยังไม่รวดเร็วมีข้อแม้มาก ไม่ทั่วถึง และไม่สามารถแก้ไขปัญหาให้ผู้เดือดร้อนได้ทันเวลา ดังนั้นพรรคเพื่อไทยจึงขอเสนอวิธีการที่ยุติธรรม เป็นประโยชน์สูงสุดและสามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว ทั่วถึงและทันเวลาก็คือ (1) รัฐบาลควรเยียวยาประชาชนอย่างทั่วถึงโดยใช้เกณฑ์ครัวเรือน ในอัตราครัวเรือนละ 10,000 บาท/เดือน ยกเว้นผู้ที่ไม่ได้รับผลกระทบ เช่น ข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ และประชาชนผู้ที่ไม่ประสงค์จะรับการเยียวยา

(2) อำนวยความสะดวกในการรับเงินอย่างรวดเร็วให้ประชาชนโดยให้ประชาชนสามารถนำบัตรประชาชนและทะเบียนบ้านไปขอรับเงินจากธนาคารได้ก่อนจากนั้นรัฐบาลค่อยโอนเงินคืนให้กับธนาคารต่อไป (3) สำหรับผู้ที่ตกหล่นทางทะเบียนบ้าน เช่น ผู้เช่า หรือมีการโยกย้ายภูมิลำเนา สามารถลงทะเบียนซ่อมเพื่อให้รัฐจ่ายเพิ่มเติมได้ ส่วนผู้ไม่ประสงค์จะรับเงินให้ลงทะเบียนแสดงความจำนงโดยประชาชนสามารถคลิกเข้าไปดูเพื่อให้เกิดการตรวจสอบทางสังคมได้

ส่วน เรื่องของการแต่งตั้ง คณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะที่ขาดธรรมาภิบาลนั้น นายวัฒนากล่าวว่า ประเด็นธรรมาภิบาลในการตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ สิ่งที่น่ากังวล มี 2 ประการ คือ 1. ตรวจสอบไม่ได้และ 2. แต่งตั้งกรรมการแบบผิดฝาผิดตัว โดยเหตุที่จะตรวจสอบการใช้เงินไม่ได้ ก็เพราะกรรมการที่แต่งตั้งเข้ามา ล้วนเป็นลูกน้องและผู้ใต้บังคับบัญชาของ พล.อ.ประยุทธ์ ทั้งนั้นไม่มีตัวแทนของประชาชนเลย จึงขาดการถ่วงดุลและตรวจสอบไม่ได้ แต่จะนำไปสู่สภาวะ "ชงเอง กินเอง" คือ เมื่อรัฐบาลมีวาระซ่อนเร้น คณะกรรมการก็จะรับลูกแล้วชงลูกให้รัฐบาลอนุมัติ ซึ่งผิดหลักการบริหารที่ดี และน่ากลัวว่าการใช้จ่ายเงินกู้จะกระจายไปไม่ถึงมือผู้ที่เดือดร้อนตัวจริง

นอกจากนี้ การแต่งตั้งคณะกรรมการ ก็ตั้งแบบผิดฝาผิดตัว ไม่มีผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขร่วมเป็นกรรมการเลย ทั้ง ๆ ที่ผลกระทบจากโรคไวรัสโควิดเป็นงานของกระทรวงสาธารณสุขโดยตรง แต่ทำไมคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ กลับมีแต่คนในวิชาชีพอื่น ที่ป็นลูกน้อง พล.อ.ประยุทธ์ แต่ไม่ได้เป็นไปตามหลักการ Put the right man on the right job แล้วการกระจายทรัพยากรจะมีประสิทธิภาพและทั่วถึงได้อย่างไร.

ส่วนเรื่องของมาตรการผ่อนคลายเพื่อให้ประชาชนได้กลับไปทำมาหากินและกลับคืนสู่ชีวิตปกติตามวิถีใหม่ (New Normal) บนมาตรฐานการสาธารณสุขที่ได้รับการยอมรับนั้น นายวัฒนากล่าวว่า ศูนย์โควิด พรรคเพื่อไทยจะนำเสนอรายละเอียดอีกครั้งหนึ่งแต่ตนเองขอพูดเฉพาะประเด็นเรื่องประเด็นธรรมาภิบาลในการตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ สิ่งที่น่ากังวล มี 2 ประการ คือ 1. ตรวจสอบไม่ได้และ 2. แต่งตั้งกรรมการแบบผิดฝาผิดตัว โดยเหตุที่จะตรวจสอบการใช้เงินไม่ได้

ประธานวิปฝ่ายค้าน ร้องเปิดประชุมสภา

ขณะที่นายสุทิน ได้พูดถึงเรื่องของการใช้จ่ายงบประมาณส่วนท้องถิ่นที่รัฐบาลให้แต่ละจังหวัดดำเนินการเพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชนในแต่ละพื้นที่ว่าเป็นเรื่องที่ดี แต่อย่างไรก็ตามตนเองในฐานะประธานวิปฝ่ายค้าน ได้รับทราบความเป็นห่วงมาจากเพื่อน ส.ส.ว่าเนื่องจากงบประมาณดังกล่าวต้องรีบใช้อย่างเร่งด่วนเพื่อช่วยเหลือประชาชน และให้เกิดประโยชน์ทุกบาททุกสตางค์ แต่การใช้อย่างเร่งด่วนโดยสามารถข้ามขั้นตอนของระเบียบการใช้เงินตามปกติ ก็อาจเปิดช่องให้ผู้ต้องการแสวงประโยชน์ ฉกฉวยประโยชน์จากงบประมาณก่อนนี้ จึงขอเรียกร้องไปยังรัฐบาลให้กำกับดูแลการใช้จ่ายงบประมาณให้มีประสิทธิภาพ โปร่งใส และ ตรงกับความเดือดร้อนของประชาชนด้วย

นอกจากนี้ นาย สุทิน คลังแสง ยังกล่าวด้วยว่า ขอเรียกร้องไปยังรัฐบาลและ นาย ชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร และประธานรัฐสภา ให้พิจารณาเร่งเปิดสมัยประชุมสภาให้เร็วขึ้น เพราะปัญหาจากสถานการณ์โควิดกับผลกระทบทางเศรษฐกิจนั้นพัวพันกันในหลายมิติ และที่สำคัญ พ.ร.ก เงินกู้ เพื่อแก้ปัญหาผลกระทบ จากสถานการณ์โควิด ก็มีผลบังคับใช้แล้ว ทั้งนังมีมูลค่ามหาศาล ราว ๆ เกือบ 2 ล้านล้านบาท หากใช้เงินผิดพลาดหรือมีการทุจริตในการใช้งบประมาณ จะสร้างความเสียหายอย่างมหาศาลแก่ประเทศชาติ จึงต้องรีบเปิดสภาเพื่อตรวจสอบการใช้จ่ายเงินต่าง ๆ ของรัฐบาล

หากเปิดสภาช้าก็จะสายเกินไป เข้าตำรา "กว่าถั่วจะสุกงาก็ไหม้" เพราะที่ผ่านมา ก็เห็นได้ชัดว่า รัฐบาลมีปัญหาเรื่องการบริหารจัดการ และกระจายความช่วยเหลือแก้ประชาชนไม่ทั่วถึง หากขาดการตรวจสอบ อาจนำไปสู่วิกฤติการของประเทศเหมือนในอดีต โดยเฉพาะการที่ รัฐบาลจะออกพรก. ให้แบงค์ชาติไปซื้อตราสารหนี้ ซึ่งหากไม่คิดให้รอบคอบ อาจซ้ำรอย เหมือนที่แบงค์ชาติเคยใช้เงินอุ้มสถาบันการเงิน ผ่านกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินสมัยวิกฤตเศรษฐกิจเมื่อปี 2540 ซึ่งทำให้สูญเสียเม็ดเงินถึง 800,000 ล้านบาท ในระยะแร และสูญเสียอีก 1.4 ล้านล้านบาทในเวลาต่อมา รวมความเสียหาย 2.2 ล้านล้านบาท

รวมทั้ง กรณีที่แบงค์ชาติ ใช้เงินปกป้องค่าเงินค่าเงินบาท จนขาดทุน 2 แสนกว่าล้านบาท จนนำไปสู่วิกฤติต้มยำกุ้ง ซึ่งยังเป็นฝันร้ายที่หลอกหลอนคนไทยอยู่จนถึงวันนี้ ดังนั้น จึงขอเรียกร้องให้รีบเปิดสมัยประชุมสภาก่อนกำหนด เพื่อให้รัฐบาลและแบงค์ชาติได้รับฟังความคิดเห็นของสภาด้วย ส่วนใครที่กังวลว่าการประชุมสภาจะนำไปสู่การแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิดนั้น ตนมองว่าสามารถป้องกันได้ด้วยมาตรการทางสาธารณสุข เช่น การเว้นระยะห่าง หรือ การใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือในการประชุม ซึ่งก็ไม่ต่างอะไรจากการประชุม ครม.

หากคิดแบบนั้นในที่ประชุม ครม. สามารถแพร่เชื้อโรคได้เช่นกัน แต่ทำไมยังเรียกประชุม ครม. ได้ เพราะก็มีผู้เข้าร่วมประชุมและเจ้าหน้าที่รวมตัวนับร้อยคนเช่นเดียวกัน หากการประชุม ครม. สามารถทำได้ การประชุมสภาก็ควรกระทำได้เช่นเดียวกัน ขอให้รัฐบาลและประธานสภาผู้แทนราษฎรเร่งพิจารณาเปิดสภาก่อนกำหนดด้วยเพราะขณะนี้เกิดข้อพิรุธในการใช้จ่ายเงินงบประมาณต่างๆ ในการแก้ปัญหาโควิด และแผนการใช้เงินที่ออกมาก็มีเงื่อนงำมากมาย โดยขณะนี้อ้อยกำลังจะเข้าปากช้างแล้ว เดี๋ยวจะดึงออกมาไม่ทัน จึงต้องรีบเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญเพื่อให้ผู้แทนราษฏรตรวจสอบเรื่องต่าง ๆ โดยด่วน อย่าฉวยโอกาสใช้วิกฤตโควิดเป็นข้ออ้าง เพื่อปิดปากฝ่ายค้านในการตรวจสอบรัฐบาล