ไม่พบผลการค้นหา
การเมืองเดือน พ.ค.จะกลับมาร้อนระอุอีกครั้ง หลังจากเว้นช่วงให้กับการรุกรานของไวรัสร้ายโควิด-19 เพราะเดือน พ.ค.มีสารพัดเหตุการณ์การเมืองสำคัญที่เป็นวาระแหลมคมเข้ามาท้าทายรัฐบาล

ทั้งปมครบรอบ 10 ปี ล่าสุดกับเหตุสลายการชุมนุมกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เมื่อปี 2553 การครบรอบเหตุการณ์พฤษภาทมิฬปี 2535

ครบรอบ 6 ปี ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กระทำการยึดอำนาจจากรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร 22 พ.ค.2557

โดยเฉพาะจังหวะที่สภาผู้แทนราษฎร เริ่มเปิดสมัยประชุมสมัยวิสามัญครั้งที่ 2 ในวันที่ 22 พ.ค.นี้

มีรายงานว่า หลังจากอ่านพระราชกฤษฎีกาเรียกประชุมรัฐสภาสมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง พ.ศ.2563 ก็จะเข้าสู่การหารือวาระร้อนด้านนิติบัญญัติ นั่นคือการหารือกรอบเวลาการพิจารณาพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ที่ใช้ต่อสู้ไวรัสโควิด 3 ฉบับ ที่ใช้งบประมาณรวมกว่า 1.9 ล้านล้านบาท ช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ประกอบด้วย  

1. พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาด ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 พ.ศ.2563 (พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้าน)

2.พ.ร.ก.การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจ ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 (พ.ร.ก.Softloan 500,000 ล้าน ให้กับ SEMs)

3.พ.ร.ก.การรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ พ.ศ. 2563 (พ.ร.ก.ตั้งกองทุนรักษาเสถียรภาพของตราสารหนี้บริษัทเอกชน 400,000 ล้าน)

พ่วงด้วยวาระ ร่าง พ.ร.บ.โอนงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 วงเงิน 88,452.5979 ล้านบาท

พรรคฝ่ายค้าน 6 พรรค 212 เสียง โดยพรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล พรรคเสรีรวมไทย พรรคพลังปวงชนไทย พรรคเพื่อชาติ พรรคประชาชาติ และ 1 เสียงมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ของพรรคเศรษฐกิจใหม่ จองกฐินขอ “ซักฟอก” 10 วัน  

แต่เบื้องตนฝ่ายรัฐบาล “ใจดี” ให้ได้มากที่สุด 5 วัน ลดลง ครึ่ง - ครึ่ง

แบ่งเป็น พ.ร.ก.โควิด 3 ฉบบ ให้เวลา 3 วัน และ พ.ร.บ.โอนงบประมาณ 63 อีก 2 วัน

สมพงษ์ เพื่อไทย ฝ่ายค้าน อภิปรายไม่ไว้วางใจ 007.jpg

“วิรัช รัตนเศรษฐ” ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานวิปรัฐบาล กางปฏิทินว่า จากการหารือกับนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร จะให้เวลา ส.ส.อภิปรายอย่างเต็มที่ แต่ต้องไม่ซ้ำประเด็น เพราะเมื่อเป็นกฎหมายก็สามารถอภิปรายได้ ทั้ง ส.ส. ฝ่ายค้านและรัฐบาล จึงเห็นว่าระยะเวลาที่กำหนดไว้เบื้องต้น 3 วัน คือ วันที่ 27-29 พ.ค.นี้ น่าจะเหมาะสมแล้ว ไม่น่าจะถึง 10 วันตามที่มีฝ่ายค้านบางคนเสนอ เพราะไม่ใช่การอภิปรายไม่ไว้วางใจ โดยจะเริ่มประชุมตั้งแต่ช่วงเช้า จนถึงประมาณ 19.30 น. เพื่อไม่ให้กระทบกับการเดินทางกลับของ ส.ส. และข้าราชการ เนื่องจากยังคงมีการประกาศเคอร์ฟิวในเวลา 23.00 น. อยู่ 

“ส่วนในสัปดาห์ถัดไปในต้นเดือน มิ.ย. อาจต้องพิจารณาร่าง พ.ร.บ.โอนงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 ต่อ อย่างไรก็ตาม กรอบเวลา และมาตรการต่างๆ ที่กำหนดไว้จะต้องมีการหารือกับตัวแทนรัฐบาล และฝ่ายค้านอีกครั้ง ในวันที่ 22 พ.ค.นี้”

ทว่า ในการแถลงของพรรคร่วมฝ่ายค้าน 6 พรรค ต่างดาหน้าถล่มรัฐบาล ว่า “ใจคับแคบ” ให้อภิปรายเรื่องสำคัญแค่ 3 วัน

เพราะอาวุธใน “คลังแสง” ที่ไล่เก็บข้อมูล พกมาอภิปาย ตามปากคำของบรรดาวิปฝ่ายค้านคุยว่า สามารถอภิปรายได้อย่างน้อยๆ 10 วัน

เปิดปมหลักที่ฝ่ายค้าน เตรียมเปิดเวที “ซักฟอกย่อย”

1.มาตรการเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากพิษโควิด -19 ไม่ตรงจุด ไม่ตรงเป้า ไม่ครอบคลุมทั่วถึง ตกสำรวจ ทำให้ชาวบ้านเดือดร้อน เกิดการฆ่าตัวตาย

2.ร่าง  พ.ร.บ.โอนงบรายจ่ายประจำปี 2563 ที่โอนจากหน่วยงานต่างๆ 10 เปอร์เซ็นต์

ยอดรวมรอบแรกรัฐบาลดีดลูกคิดว่าจะเค้นเอาจากทุกกระทรวงได้ 100,395 ล้านบาท แต่เอาเข้าจริงรัฐบาลรีดไขมันได้แค่ 88,452,597,900 ล้านบาท แถมกระบวนการจัดทำ – การชงเข้าสภาพิจารณา ทำได้ล่าช้า ทั้งที่เป็นเรื่องเร่งด่วน และควรจะเปิดสภาสมัยวิสามัญตั้งแต่ต้นเดือนพฤษภาคม

ประยุทธ์ 0520105511000000.jpg

3.การใช้เงินกู้จำนวน 1 ล้านล้านบาท ไม่มีการตรวจสอบที่เข้มงวด - รัดกุมเพียงพอ โดยรัฐบาลตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 1 ชุด เป็นข้าราชการ 5 คน และอีก 5 คน เป็นบุคลากรที่นายกรัฐมนตรีแต่งตั้ง เพื่ออนุมัติโครงการที่จะใช้เงิน ฝ่ายค้านเกรงว่าจะมีช่องโหว่ทุจริต – ใช้งบประมาณไม่คุ้มค่า โดยเฉพาะเม็ดเงิน 4 แสนล้าน ที่ใช้ชุบชีวิตเศรษฐกิจ แต่ไม่มีการลงรายละเอียดว่าเป็นการใช้เงินเป็นอย่างไร ประหนึ่งเป็นการ “ตีเช็คเปล่า” ฝ่ายค้านคาดการณ์ว่าสุดท้าย โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจจะเข้าทำนองเดิมคือ ขุดลอก ถนนหนทาง บ่อน้ำ เหมือง ฝาย 

4. ฝ่ายค้านตั้งข้อสังเกตว่า พ.ร.ก. Soft loan 500,000 ล้าน ให้กับ SEMs การกำหนดเพดานวงเงินให้ธุรกิจ SMEs รายละไม่เกิน 500 ล้านบาท  กระจุกตัวอยู่ SMEs รายใหญ่  ทำให้รายเล็ก รายเล็กรายน้อย ที่ต้องใช้เงินไม่เกิน 10 - 50 ล้าน ไม่สามารถกู้ได้ จะทำให้ SMEs รายย่อย

ฝ่ายค้านเตรียมปักหมุด อภิปรายไปที่ เม็ดเงิน 500,000 ล้าน จะปล่อยให้ความช่วยเหลือ  SMEs ได้แค่ 5 พันรายเท่านั้น จากจำนวน SMEs ทั้งหมด 3.4 หมื่นล้านราย ที่เหลือปล่อยให้ล้มละลาย อาจจะเป็นโดมิโนระบบการเงินในอนาคต

5.พ.ร.ก.ตั้งกองทุนรักษาเสถียรภาพของตราสารหนี้บริษัทเอกชน 400,000 ล้าน ฝ่ายค้านจองกฐินประเด็นนี้ไว้ว่าเป็นแผนที่รัฐบาล “อุ้มคนรวย” ช่วยเหลือหุ้นกู้ภาคเอกชนรายใหญ่ในเครือข่าย “พลังประชารัฐ” มากกว่า “ช่วยคนจน”

“สมพงษ์ อมรวิวัฒน์” หัวหน้าพรรคเพื่อไทยและผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร กล่าวหลังการประชุมหัวหน้าพรคร่วมฝ่ายค้าน เมื่อวันที่ 20 พ.ค.ที่ผ่านมา ว่า

พ.ร.ก.กู้เงิน ทั้ง 3 ฉบับ แบ่งออกเป็น 3 จุดใหญ่ๆ คือ การเยียวยาช่วยเหลือพี่น้องประชาชนด้านสาธารณสุข การช่วยเหลือพี่น้องประชาชนเกษตรกร ผู้ประกอบการ SMEs และการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ซึ่งเราเห็นด้วยกับการช่วยเหลือพี่น้องประชาชน แต่การออก พ.ร.ก. ในลักษณะที่ไม่มีรายละเอียด ไม่มียุทธศาสตร์ ไม่มีข้อมูลต่างๆ ให้กับพี่น้องประชาชนได้รับทราบ และรวมถึงการตรวจสอบ อาจก่อให้เกิดความเสียหายในอนาคต”

“อีกทั้งเม็ดเงินในส่วนนี้จะเกี่ยวข้องกับประสิทธิภาพของระบบการเงินและความมั่นคงของเศรษฐกิจประเทศ ควรจะมีการตรวจสอบและสอบถามถึงการนำไปใช้ได้ ซึ่งนายกรัฐมนตรี ควรจะมีความรับผิดชอบในเรื่องนี้ด้วยเพราะอาจเกิดความเสียหายในอนาคต”

แน่นอนว่าชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จะถูกขึงกลางสภาอีกครั้ง !

ข่าวที่เกี่ยวข้อง