ไม่พบผลการค้นหา
โมเดล 'เพื่อไทย'จับมือ 'ปชป.'ต้านนายกฯ คนนอกถูกโยนหินขึ้นกลางสาธารณะ แต่ถูกปัดตกโดย'หัวหน้า ปชป.' โอกาสเกิดนายกฯคนนอกจึงไม่ปิดประตูตาย ขณะที่'บิ๊กตู่'เคยตอบคำถาม นายกฯคนนอก-สืบทอดอำนาจไว้อยู่หลายครั้ง

"ถามว่าสองพรรคใหญ่จับมือได้ไหม ผมพูดมาตลอด แสดงความเห็นในพรรคเพื่อไทยและในที่สาธารณะว่าไม่ควรปิดโอกาสร่วมมือระหว่างสองพรรคใหญ่ ไม่ว่าความเป็นมาในอดีตหรือความคิดเห็นปัจจุบันเป็นอย่างไร ถ้าไม่อยากให้คนนอก หรือคุณประยุทธ์เป็นนายกฯ คสช.สืบทอดอำนาจไปอีก 10-20ปี พรรคการเมืองควรร่วมมือจัดตั้งรัฐบาล ไม่ควรปิดช่องทางนี้" 

เป็นข้อเสนอที่ออกจาก "จาตุรนต์ ฉายแสง" แกนนำพรรคเพื่อไทย โยนขึ้นกลางวงเสวนาโต๊ะกลมสาธารณะ หัวข้อ “ปรองดอง แบบคสช.เมื่อไรจะเจออุโมงค์” เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2560



จาตุรนต์.jpg

"ไม่มีทางตั้งรัฐบาลเสียงข้างมากในสภา ถ้า ส.ว.250 คนไม่ยกมือให้ไม่มีทาง สูตรนี้ รัฐธรรมนูญออกแบบมาไม่มีเสียงที่พรรคการเมืองใดได้ 251 เสียงขึ้นไป ถ้ามีพรรคการเมืองได้เสียงถึง ถ้า ส.ว.250 เสียงไม่เอาด้วยก็ไม่มีทาง"

อีกคำพยากรณ์ทางการเมืองของ "นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ" รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่มองผ่านวงเสวนาเดียวกัน

"นิพิฏฐ์" อดีต ส.ส.พัทลุง ซึงเป็นนักการเมืองที่มี "เลือดพรรคประชาธิปัตย์" ขนานแท้ และยังเป็น ส.ส.สาย "ชวน หลีกภัย" ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ มองทิศทางอนาคตหลังการเลือกตั้งภายใต้กติกาตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 แบบแบ่งรับแบ่งสู้ถึงโอกาสการผนึกกันทางการเมืองของสองพรรคใหญ่


นิพิฏฐ์ โวยสังคมเผด็จการห้ามนักการเมืองคุยกัน

"ประชาธิปัตย์ เพื่อไทย ถ้าจับมือกันต้องดูเงื่อนไขในอนาคต สมมติเลือกตั้งเสร็จ ตั้งรัฐบาลไม่ได้ โอกาสเกิดขึ้นก็มีอยู่ พอตั้งรัฐบาลไม่ได้เพราะ ส.ว. 250 เสียงค้ำอยู่ คสช.ก็บอกว่านี่ไงผมเปิดให้เลือกตั้งมีผู้แทน 500 คนแล้วเลือกไม่ได้ ประเทศนี้จำเป็นต้องมีรัฐบาลต้องเดินต่อ เมื่อตั้งรัฐบาลไม่ได้ ผมก็ขออยู่ต่อล่ะกัน ถ้าเขาพูดอย่างนั้นความชอบธรรมก็มี"

นั่นหมายความว่า แกนนำสองพรรคการเมือง อ่านทิศทางอนาคตทางการเมืองตรงกันแล้วว่า ไม่มีทางที่ "พรรคการเมือง" ใดจะได้เสียงเด็ดขาดในสภาผู้แทนราษฎรเกิน 250 เสียงขึ้นไป

ถ้าเป็นไปตามนี้ โอกาสที่จะเกิด "รัฐบาลผสม" หลายพรรคการเมือง จึงมีความเป็นไปได้สูง

มีความเป็นไปได้สูง ด้วยปัจจัยที่ถูกกำหนดขึ้นไว้ใน "รัฐธรรมนูญ" ฉบับ "มีชัย ฤชุพันธุ์"

ซึ่งเขียนกติกาไว้อย่างแยบยลที่สุด นับแต่ประเทศไทยเคยมีรัฐธรรมนูญมา

แยบยล เพราะกำหนดระบบเลือกตั้งให้ใช้ระบบ "จัดสรรปันส่วนผสม" กำหนดให้มี ส.ส.แบบแบ่งเขต 350 คน และ บัญชีรายชื่อ 150 คน

เป็นครั้งแรกนับแต่ประเทศไทยใช้ระบบเลือกตั้ง ส.ส. 2 แบบที่กลับมาใช้บัตรเลือกตั้ง 1 ใบ เลือกได้ทั้งแบ่งเขตและปาร์ตี้ลิสต์ 

ระบบเลือกตั้งดังกล่าว ทางคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญให้เหตุผลไว้เพื่อให้พรรคการเมืองได้คะแนนเสียงที่พึงมีจากประชาชนอย่างแท้จริง

ทำให้ไม่มีพรรคการเมืองใดได้คะแนนเสียงเด็ดขาด แต่จะเปิดโอกาสให้พรรคการเมืองทุกพรรคได้รับคะแนนเสียงเพื่อนำไปคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 

ขณะเดียวกัน บทเฉพาะกาล มาตรา 272 กำหนดให้ระหว่าง 5 ปีแรกนับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญ การโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีให้กระทำในที่ประชุมร่วมรัฐสภา

ที่ประชุมร่วมรัฐสภา จะมี ส.ส.500 คน บวก ส.ว.แต่งตั้งจาก คสช.อีก 250 คน รวมเป็น 750 เสียง

บุคคลที่จะได้เป็นนายกรัฐมนตรี จึงต้องได้รับเสียงโหวตสนับสนุนจากสมาชิกรัฐสภาด้วยคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกเท่าที่มีอยู่ คือต้องมีเสียงมากกว่า 375 เสียงขึ้นไป

หากไม่สามารถแต่งตั้งนายกฯจากผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ ก็เปิดให้สมาชิกรัฐสภาเข้าชื่อกันเพื่อขอให้รัฐสภามีมติยกเว้นเพื่อไม่ต้องเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีจากบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองได้

โหวตนายกฯขั้นตอนแรก ที่ประชุมรัฐสภาเลือกในบัญชีพรรคการเมืองไม่ได้ 

ยกที่สองยังเปิดให้โหวตเลือกนายกฯที่ไม่ต้องมาจากบัญชีพรรคการเมืองก็ได้

โอกาสเกิด "คนนอก" เป็นนายกฯจึงเป็นได้สูง



'ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา' จริงๆ หมายถึง ให้อำนาจ คสช.

เพราะเสียงของ ส.ว. 250 คน เป็นตัวแปรสำคัญในการกำหนดทิศทางอนาคตการเมืองไทยหลังการเลือกตั้งทั่วไป

เมื่อเสียงของ ส.ว.มีจำนวน 250 คน และมาจากการรับรองโดย คสช. 

โอกาสที่ ส.ว.จะสนับสนุนนายกฯในบัญชีพรรคการเมืองย่อมมีความเป็นไปได้

ชื่อ "พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" จึงเป็นลิสต์นายกฯคนนอก ตัวเต็งอันดับ 1 ที่มาแรงสูงในขณะนี้

เพราะเป็นผู้ที่มีโอกาสจะมาผลักดันแนวทางปฏิรูปประเทศให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์ชาติได้ ซึ่งตรงตามสเปกที่รัฐธรรมนูญ ฉบับปัจจุบันกำหนดไว้

"เหตุผลคนนอก เพราะทุกคนระแวงว่าต้องเป็นผม หรือเป็นใคร ผมบอกแล้วไง ผมจะไม่ไปอยู่อย่างนั้นเด็ดขาด ผมจะไปอยู่ด้วยอะไร"




20170224050148.jpg

หากย้อนกลับไปดูคำพูดที่ "พล.อ.ประยุทธ์" เคยกล่าวไว้หลังเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีนับแต่ปี 2557 จนถึงปัจจุบัน มีหลายช่วง หลายวาระ ที่นายกรัฐมนตรีคนที่ 29 ปฏิเสธว่าไม่เข้ามานั่งเก้าอี้ "นายกฯคนนอก" รวมทั้งประเด็นกา��สืบทอดอำนาจของ "คสช."

-30 ธันวาคม 2557 หลัง "พล.อ.ประยุทธ์" เข้ามานั่งตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ไม่กี่เดือน 

"อย่าไปมองว่าจะเตรียมให้ผมมา คนโน้นมา คนนี้มา ใครไม่มาหรอก ไอ้มาแบบนี้ใครเขาจะมา ท่านจะเลือกผมเปล่ายังไม่รู้เลย"

-2 มิถุนายน 2558 พล.อ.ประยุทธ์ ชี้แจงคำขอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญของ ครม. ที่ไม่ตัดประเด็นช่องทางนายกฯคนนอก 

"เหตุผลคนนอก เพราะทุกคนระแวงว่าต้องเป็นผม หรือเป็นใคร ผมบอกแล้วไง ผมจะไม่ไปอยู่อย่างนั้นเด็ดขาด ผมจะไปอยู่ด้วยอะไร เขาเขียนไว้ไม่ใช่หรือ ถ้าสถานการณ์เกิดความขัดแย้งสูง จนกระทั่งรัฐบาลดำเนินการไม่ได้ หรือเลือกตั้งไม่ได้ เขาก็เอาข้อเท็จจริงคราวที่แล้วทีผ่านมา เขาก็เขียนกัน ถ้าผ่านได้ ก็ผ่านไป แต่ไม่ใช่ผมแน่นอน"

-17 กันยายน 2558 พล.อ.ประยุทธ์ตอบคำถามสื่อกรณีทหารจะเข้ามาเล่นการเมืองในอนาคตหรือไม่

"ใครจะเข้ามาก็ต้องพยายามไม่ให้เกิดขึ้นอีก หากเกิดสถานการณ์เหมือนเดิมอีก ก็ไม่เกี่ยว กลับบ้านแล้ว เรื่องทุกอย่างขึ้นอยู่กับทุกคน ไม่ต้องมากลัวนายกฯ คนนอก ผมไม่เป็นแน่นอน"

-28 ตุลาคม 2558 พล.อ.ประยุทธ์ ชี้แจงในสภาต่อที่ประชุมร่วมแม่น้ำ 5 สาย

"ฝ่ายการเมืองไม่ต้องระแวงผมหรอกครับ บอกกันตลอดว่าผมจะอยู่ในอำนาจต่อ แต่บอกไว้ว่าถ้าไม่สงบเรียบร้อยผมก็ต้องอยู่ เอาอย่างนี้ไหมจะได้พูดกันให้รู้เรื่องเสียที อยู่ที่พวกท่านนั่นแหละ ถ้าไม่เลิกกันก็อยู่อย่างนี้ ปิดประเทศก็ปิดกันไป" 

-22 สิงหาคม 2559 พล.อ.ประยุทธ์ ระบุระหว่างเป็นประธานพิธีเปิดทางพิเศษสายศรีรัช-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร

"ถามสืบทอดอำนาจ อ่าน นสพ.ทุกฉบับไม่มีความสุข ท่านต้องการความสงบตรงไหน ผมก็ทำไม่ได้ ถ้าสถานการณ์เป็นอย่างนี้ ทุกคนพูดไปมาไม่ได้ ผมใช้ก็ได้อำนาจ แต่ไม่เคยใช้แบบนั้น ผมอยากให้ลดการเสนอข่าวขัดแย้ง ไอ้นี่ด่าไอ้นี่ กลับมาด่านายกฯ มันจะได้ไม่ต้องเสียอารมณ์ไง ไม่ต้องมาตอบคำถามซ้ำแล้วซ้ำอีก"

"วันหน้าถ้าเกิดทะเลาะเบาะแว้งทุกคนต้องรับผิดชอบ" 


20171127054638.jpeg

-23 มิถุนายน 2560 พล.อ.ประยุทธ์ ยืนยันผ่านรายการศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน

"อย่ามาพูดเรื่องสืบทอดอำนาจ หรือต้องการจะเลื่อนเลือกต้ังไม่เคยคิดอย่างนั้น"

-7 พฤศจิกายน 2560 พล.อ.ประยุทธ์ ระบุหลังการประชุม ครม.

"เรื่อง คสช.ตั้งพรรคการเมือง ยังไม่ได้คิดตอนนี้ดูสถานการณ์ไปก่อน มีเวลาอีกตั้งปี วันนี้บ้านเมืองต้องการความสงบเดินหน้าปฏิรูปของผมให้ได้ เพื่อส่งไปรัฐบาลเลือกตั้ง วันหน้ารัฐบาลเลือกตั้งก็เป็นรัฐบาลพรรคการเมืองทั้งนั้น ใครไม่ใช่พรรคการเมืองจะเข้ามาได้ยังไง อย่ามาเขียนเอื้อประโยชน์ ประโยชน์อะไรกับผม ผมไม่เห็นจะได้ประโยชน์เสียประโยชน์อะไร ทุกพรรคต้องให้ประชาชนไปเลือกตั้ง"

-28 พฤศจิกายน 2560 พล.อ.ประยุทธ์ ตอบคำถามสื่อถึงสองพรรคการเมืองใหญ่จับมือคัดค้านายกฯคนนอก หลังประชุม ครม.นอกสถานที่ที่จังหวัดสงขลา

"ใครจะร่วมกับใครก็เชิญไปเถอะ ผมไม่เกี่ยวข้อง ผมจะทำงานให้ประเทศของผม"

ทุกปีของการเข้ามานั่งในตำแหน่งนายกฯของ "พล.อ.ประยุทธ์" จึงหนีไมพ้นกับคำถาม "สืบทอดอำนาจ"

คำถามจะตั้งพรรคทหารหรือไม่

คำถามจะเป็นนายกฯคนนอกหรือไม่


n20151028150828_155135.jpg

คำพูดของ "นิพิฏฐ์" ที่ระบุตอนหนึ่งในวงเสวนาล่าสุด

หรือแม้แต่ข้อเสนอ "โยนหิน" ของ "จาตุรนต์"

แม้จะไม่ได้รับการตอบรับจาก "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ"หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เพราะเห็นว่าอุดมการณ์ของสองพรรคไม่ตรงกันก็ร่วมกันไม่ได้

แต่ทว่า "ภูมิธรรม เวชยชัย" รักษาการเลขาธิการพรรคเพื่อไทย ระบุตรงกับ "จาตุรนต์"ว่าไม่ปิดโอกาสที่จะมีพรรคการเมืองที่ยึดมั่นในหลักประชาธิปไตยมาร่วมมือกันสกัดกั้นเผด็จการที่วางกติกาเพื่อสืบทอดอำนาจ

แม้ "พรรคประชาธิปัตย์" จะไม่ตอบรับข้อเสนอของ "จาตุรนต์"

แต่หากย้อนไปดูคำพูดของ "นิพิฏฐ์"ในวงเสวนาล่าสุดก็น่าฉุกคิดไม่น้อยถึงสถานการณ์ที่อาจไม่จบสิ้นภายหลังการเลือกตั้ง

"ไม่มีข้อเท็จจริงใดเลยที่จะเอาระบบทหารออกจากการเมืองได้ นอกจากพรรคการเมืองทุกพรรคต้องจับมือจัดตั้งรัฐบาลเอง"