ไม่พบผลการค้นหา
พรรคการเมืองใหม่หลายพรรคเริ่มทยอยเข้าจองชื่อกับ กกต. บางพรรคเริ่มประกาศจุดยืนสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีหลังการเลือกตั้ง ขณะที่บางพรรคการเมืองเดิมยังไม่มีท่าทีที่ชัดเจนจะสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ อีกหรือไม่

"คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้พิจารณาแล้วเห็นว่า แม้สถานการณ์รอบด้านในขณะนี้จะสงบเรียบร้อย ประชาชนทั่วไปสามารถดำเนินชีวิตและประกอบหน้าที่การงานได้เป็นปกติสุข แต่ก็ยังมีความจำเป็นต้องคงประกาศและคำสั่งดังกล่าวต่อไปอีกระยะหนึ่ง เพื่อไม่ให้มีผู้ฉวยโอกาสอ้างการดำเนินการตามกฎหมายไปกระทำกิจกรรมทางการเองอื่น อันกระทบกระเทือนต่อความสงบเรียบร้อยและความปกติสุขในบ้านเมืองซึ่งกำลังดำเนินมาด้วยดี"

คำปรารภในคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 53/2560 เรื่องการดำเนินการตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง หรือเป็นคำสั่งที่ผ่อนคลายการดำเนินกิจการทางธุรการให้กับพรรคการเมืองทั้งเก่าและใหม่




จาตุรนต์ 455620.jpg

จะเห็นได้ว่านับตั้งแต่กฎหมายเปิดช่องให้ พรรคการเมืองที่จะจัดตั้งขึ้นใหม่ ยื่นคำขอจองชื่อพรรคการเมืองใหม่ต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แต่การประชุมเพื่อขอยื่นคำขอจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมืองตามมาตรา 10 ของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองจะต้องได้รับอนุญาตจาก คสช.ก่อน

เพราะ คสช. มองว่าการปลดล็อกกฎเหล็กให้ทุกพรรคการเมืองเคลื่อนไหวทำกิจกรรมทางการเมืองได้ทันที อาจจะทำให้ความขัดแย้งลุกลามบานปลายกระทบต่อโรดแมปที่ คสช.ได้ประกาศไว้

นับจากวันที่ กกต.เปิดให้กลุ่มการเมืองเข้าจองชื่อพรรคการเมืองใหม่ ตั้งแต่วันที่ 2 - 6 มี.ค. 2561 มีกลุ่มการเมืองมาขอยื่นจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ รวม 46 พรรคการเมือง

พรรคใหม่ที่ถูกจับตามอง หนีไม่พ้น พรรคประชาชนปฏิรูป ที่นายไพบูลย์ นิติตะวัน อดีต ส.ว.สรรหา และอดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ซึ่งก่อนหน้านั้นได้ประกาศว่าจะสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. เป็นนายกรัฐมนตรีคนนอก ในกรณีที่รัฐสภาไม่สามารถลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีในบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองได้

"ถ้าโหวตนอกบัญชีรายชื่อ เราจะเสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์" ไพบูลย์ นิติตะวัน ผู้ริเริ่มก่อตั้งพรรคประชาชนปฏิรูป ระบุผ่าน 'วอยซ์ออนไลน์'




6859152364849.jpg

พรรคการเมืองใหม่ที่ เกิดขึ้นใหม่อีกครั้ง คือ พรรคพลังธรรมใหม่ ซึ่งรีแบรนด์จากพรรคพลังธรรมเก่าของ พล.ต.จำลองศรีเมือง

พรรคพลังธรรมใหม่ ริเริ่มจัดตั้งโดย นพ.ระวี มาศฉมาดล แกนนำกองทัพประชาชนและเครือข่ายปฏิรูปพลังงานไทย (กคป.) แม้ว่าที่หัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่จะยืนยัน รวบรวมเสียงในสภาเพื่อให้คนของพรรคตัวเองเป็นนายกรัฐมนตรี แต่หากไม่สามารถรวบรวมเสียง ส.ส.ของพรรคได้พอ ก็จำเป็นต้องเลือกคนที่ดีที่สุดในเวลานั้น ซึงอาจเป็นชื่อของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และแคนดิเดทนายกฯของพรรคเพื่อไทย

"พรรคคงไม่ปฏิเสธนายกฯ คนนอก ที่มีชื่อคนอื่น หรือชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ แต่เรื่องนี้เป็นเรื่องของอนาคต" นพ.ระวี มาศฉมาดล ว่าที่หัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่

นอกจากนั้นยังมีพรรคพลังพลเมืองไทย ซึ่งรวมตัวกันของกลุ่มอดีต ส.ส.รุ่นเก๋าหลายสมัย อาทิ นายสัมพันธ์ เลิศนุวัฒน์ นายเอกพร รักความสุข ไม่ปฏิเสธที่คัดค้านนายกรัฐมนตรีคนนอก โดยเฉพาะชื่อของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

"ไม่ปิดทางนายกรัฐมนตรีคนนอก รวมถึงชื่อของพล.อ.ประยุทธ์ด้วย" สัมพันธุ์ เลิศนุวัฒน์ ว่าที่หัวหน้าพรรคพลังพลเมืองไทย




20180301_Sek_09.jpg

เช่นเดียวกับ พรรคการเมืองใหม่ชื่อแปลก 'พรรคเห็นแก่ตัว' ของ 'กริช ตรรกบุตร' ก็ยืนยันว่า พรรคมีแนวทางที่จะสนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีให้เป็นนายกรัฐมนตรีต่ออีกสมัย แต่ขณะนี้เริ่มไม่แน่ใจในนโยบายของนายกรัฐมนตรีว่าทำเพื่อประเทศชาติหรือหรือไม่

ขณะที่พรรคการเมืองที่มีอยู่เดิมก่อนวันที่ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 ประกาศใช้ ยังไม่ฟันธงหรือตกปากรับคำเต็มที่ว่าจะสนับสนุนนายกรัฐมนตรีที่ชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ อีกหรือไม่หลังการเลือกตั้ง

สะท้อนได้จากคำตอบจาก 'วราวุธ ศิลปอาชา' แกนนำพรรคชาติไทยพัฒนา ทายาทของ 'บรรหาร ศิลปอาชา' อดีตประธานที่ปรึกษาของพรรคผู้ล่วงลับไปแล้ว

"หากนายกฯ​จะตัดสินใจลงสมัคร ก็เป็นสิ่งที่ท่านทำได้ แต่ทางพรรคยังไม่ขอแสดงท่าทีใด ๆ จะไม่พูดดักทาง หรือให้ความเห็นที่เป็นการจำกัดทางเดินหรือผูกมัดตัวเอง" วราวุธ ระบุ




วราวุธ 05098.jpg

ด้าน พรรคภูมิใจไทย ซึ่งเคยมี ส.ส.กว่า 30 ที่นั่งในสภา ก็ยังไม่มีท่าทีที่ชัดเจนว่าจะสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ หลังการเลือกตั้งหรือไม่

"คิดว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ได้อยากเป็นนายกฯต่อ แต่ถ้ามีเหตุที่ต้องให้เป็นหรือมีช่องทางของรัฐธรรมนูญก็ต้องว่ากันอีก แต่รัฐบาลแห่งชาติคงเป็นไปไม่ได้" อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ระบุ

พรรคชาติไทยพัฒนา ในฐานะพรรคการเมืองขนาดกลางที่เคยมี ส.ส.ในสภา 10-20 ที่นั่ง หากรวมกับ พรรคภูมิใจไทยทีมีฐานเสียง ส.ส.เดิมกว่า 30 ที่นั่ง จะทำให้มีอำนาจต่อรองการตัวแปรโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีได้ในระดับหนึ่ง




000_Hkg9327489.jpg

ขณะที่พรรคการเมืองเดิม ซึ่งถือเป็นพรรคขนาดใหญ่ อย่างพรรคเพื่อไทย ก็ออกตัวยืนยันหนักแน่นหลายครั้งว่า ไม่สนับสนุนนายกรัฐมนตรีที่มาจากคนนอก

ทั้งจาก 'ภูมิธรรม เวชยชัย' รักษาการเลขาธิการพรรคเพื่อไทย ที่ระบุว่า "พรรรคเพื่อไทยชัดเจนว่าปฏิเสธนายกฯ คนนอก และเราไม่เห็นด้วยกับการสืบทอดอำนาจผ่านพรรคทหารหรือพรรคอะไรก็ตาม"

"ถ้าไม่อยากให้คนนอก หรือคุณประยุทธ์เป็นนายกฯ คสช.สืบทอดอำนาจไปอีก 10-20ปี พรรคการเมืองควรร่วมมือจัดตั้งรัฐบาล" จาตุรนต์ ฉายแสง แกนนำพรรคเพื่อไทย

ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ นั้น 'วัชระ เพชรทอง' อดีต ส.ส.กทม. เคยระบุกับ 'วอยซ์ ออนไลน์' ว่า "พรรคประชาธิปัตย์ไม่สนับสนุนเผด็จการทุกรูปแบบ จึงเป็นไปไม่ได้ที่พรรคประชาธิปัตย์จะสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี"

ทั้งพรรคการเมืองเก่าที่มีอยู่ พรรคการเมืองที่กำลังจะเกิดขึ้น เหล่านี้คือการแสดงจุดยืนเบื้องต้นว่าด้วยการสนับสนุนและไม่สนับสนุนนายกรัฐมนตรีคนนอก

ปัจจัยที่จะทำให้การตัดสินใจของพรรคการเมืองทั้งหลายจะสนับสนุนนายกรัฐมนตรี 'นอก' หรือ 'ใน' บัญชีรายชื่อพรรคการเมือง

ยังต้องขึ้นอยู่กับจำนวน ส.ส.ในสภาด้วยจะเพียงพอที่จะเอาหรือไม่เอา นายกรัฐมนตรีของพรรคการเมือง

แน่นอนว่า เสียง ส.ส.ที่มาจากหลายพรรคการเมือง หลายกลุ่มก้อน ย่อมมีเสียงเอกภาพน้อยกว่า เสียง ส.ว. 250 คนที่มาจาก คสช.

20180302_Sek_05.jpg

46 พรรคการเมืองใหม่ ขอ กกต.จดแจ้งจัดตั้งพรรค 2 - 6 มี.ค. 2561

ฮิตคำไหนมากสุด

  • ไทย 27 พรรคการเมือง
  • ประชา 12 พรรคการเมือง
  • พลัง 9 พรรคการเมือง
  • ประชาชน 4 พรรคการเมือง
  • ประชาธิปไตย 2 พรรคการเมือง
พรรคการเมือง 70318_WhoSupportPrayut-01.jpg


อ่านเพิ่มเติม