ผลการเลือกตั้งที่ พรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตย 7 พรรคการเมือง นำโดย พรรคเพื่อไทย ประกาศจับมือกันเพื่อจัดตั้งรัฐบาลด้วยเสียง 250 กว่าเสียง
แต่เมื่อผลการคำนวณ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้มีมติออกมา
เป็นผลให้สภาผู้แทนราษฎรชุดที่ 25 มี ส.ส.เข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรมากที่สุดถึง 27 พรรรค
ใน 27 พรรค มี ส.ส.พรรคละ 1 คน ถึง 13 พรรคการเมือง
มีพรรคการเมืองที่ได้คะแนนต่ำกว่าเกณฑ์ควรได้ ส.ส. แต่กลับได้ ส.ส.เข้าสภาถึง 11 พรรคการเมือง
ในขณะที่พรรคพลังประชารัฐที่มีเสียง 115 เสียงในสภา ก็เปิดหน้าสู้ชิงจัดตั้งรัฐบาลจากฝ่ายประชาธิปไตย ซึ่งคาดว่าจะมีพรรคการเมืองมากถึง 20 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล
ผศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ และอาจารย์ประจำสาขาวิชาการเมืองการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ มองว่า ปัญหาหลังการเลือกตั้งเกิดจากการออกแบบรัฐธรรมนูญกับระบบเลือกตั้ง ทำให้เกิดเดดล็อกสูง เพราะเปิดทางให้ ส.ว.มาเลือกนายกรัฐมนตรี
"เป็นระบบป้องกันพรรคใหญ่ไม่ให้ได้เสียงข้างมาก ทำให้มี 27 พรรคการเมือง ตอนนี้พรรคพลังประชารัฐ ถ้าจะจัดตั้งรัฐบาลได้ต้องมีรัฐบาลผสมถึง 20 พรรคตอนนี้ ถ้าให้ตั้ง 20 พรรคก็มีเสียงเกินมา 5 ที่นั่ง ใน 20 พรรคจะรวมพรรคการเมืองที่ยังไม่ชัดเจน คือ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย รวมเข้าไปด้วย ก็ได้แค่ 255 ที่นั่ง ทำให้เห็นความพิกลพิการของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ และในประวัติศาสตร์ไทย รัฐบาลผสมแค่ 8-9 พรรคการเมือง" ผศ.ดร.ประจักษ์ ระบุ
ครั้งที่มีพรรคการเมืองเข้าสู่สภามากที่สุดคือปี 2518 คือสมัยที่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรี ตอนนั้นมี ส.ส. 23 พรรคการเมือง ถือว่าเยอะแล้ว ครั้งนี้อาจทำลายสถิติเป็นประวัติศาสตร์การเมืองไทย คือ 27 พรรคการเมือง โดย 27 พรรค มี 11 พรรคที่มี ส.ส. ฝั่งละ 1 คนเท่านั้น
27 พรรคการเมือง ในประวัติศาสตร์ถือว่ามากที่สุด ถ้ารัฐบาลมี 20 พรรคจะเป็นประวัติศาสตร์โลกเลย ในโลกนี้ไม่เคยมีมาก่อนรัฐบาลผสม 20 พรรคการเมือง
แน่นอนไม่สะท้อนเจตนารมณ์ของประชาชน ถ้าฝั่งพลังประชารัฐตั้งรัฐบาลก็ลำบาก เพราะเป็นพรรคอันดับ 2 ในสภาผู้แทนราษฎรมี 500 เสียง พรรคที่ตั้งรัฐบาลมีที่นั่ง 110 กว่าที่นั่ง ห่างไกลมากจากการได้ครึ่งหนึ่งของสภา นอกจากนั้นต้องขอความร่วมมือพรรคต่างๆอีก 19 พรรค การต่อรองจะสูงมาก ยังมองไม่ออกว่าจะตั้งคณะรัฐมนตรียังไงที่ประกอบด้วย 20 พรรคการเมือง คงเป็นเก้าอี้ดนตรี สลับสับเปลี่ยนหมุนเวียนกันใหม่ อยู่กันไม่กี่เดือน ผมว่าจะกระทบเสถียรภาพของรัฐบาล ในยามที่ต้องการรัฐบาลที่มีเสถียรภาพเข้มแข็งมาแก้ปัญหา แต่รัฐบาลผสม 20 พรรคจะรับตรงนี้ได้หรือเปล่า คงยากมาก
ปริ่มน้ำมาก เกินครึ่งหนึ่งแค่ 5 ที่นั่ง ล้มได้ทุกเมื่อ เขาหวังว่าจะมีงูเห่าจากพรรคอื่น แต่พรรคตัวเองที่มี 20 พรรคก็จะมีงูเห่าได้ตลอดเวลาเหมือนกัน อาจจะตั้งรัฐบาลได้ พอเปิดสภาไประหว่างนั้นก็เกิดงูเห่าได้ตลอดเวลา
ในประวัติศาสตร์รัฐสภาก็ชี้ให้เห็น อย่าลืมพอตั้งรัฐบาลแบบไหนก็มีความหมาย พรรค 1 เสียงก็ยังมีอำนาจต่อรอง ถ้าย้ายข้างไปสัก 2-3 ที่นั่ง รัฐบาลก็ล้มได้เสมอ ในประวัติศาสตร์ไทย รัฐบาลผสมไม่มีอายุยืน รัฐบาลผสมอายุเฉลี่ย 1-2 ปีก็ต้องยุบสภา ไม่เคยมีรัฐบาลผสมอยู่ครบวาระ
จริงๆซ้ำรอยช่วง ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช มากกว่า ช่วงรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นรัฐบาลผสม แต่ไม่ได้เยอะกว่า 4-5 พรรคการเมือง แต่ 20 พรรคไม่ปกติ เทียบในประวัติศาสตร์ไทยไม่เคยมีรัฐบาลผสม 20 พรรคการเมืองใช้เสียงเยอะขนาดนี้มาก่อน มองไม่เห็นอนาคตที่สดใส ถ้าเห็นประวัติศาสตร์ความขัดแย้งทางการเมือง ไม่มีทางที่รัฐบาลที่ตั้งขึ้นมาแล้วใช้พรรคเยอะจะอยู่จนครบเทอมได้ ฉะนั้นเสถียรภาพทางการเมืองเป็นสิ่งที่ เราไม่สามารถคาดหวังได้จากรัฐบาลใหม่
สภาพที่เราเห็นจะมีการล็อบบี้ต่อรองตำแหน่ง การซื้อเสียงตอนนี้จะไปโผล่ในสภาแทน พูดถึงการซื้อเสียงในช่วงฤดูการเลือกตั้ง คราวนี้การซื้อเสียงมันจะมาโผล่ในสภา แล้วเป็นการซื้อเสียงที่ใช้เม็ดเงินเยอะ ซื้อเสียงโหวต สมัย พล.อ.เปรมก็เกิด สมัย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ก็เกิด เพราะรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ ทุกเสียงมีความหมาย เวลาคุณจะผ่านร่างกฎหมาย หรือนายกฯ จะโดนอภิปรายไม่ไว้วางใจ ส.ว.มาช่วยไม่ได้แล้วตามรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องของ ส.ส.อย่างเดียว ถ้าไม่มั่นใจก็ต้องซื้อเสียงโหวต สมัย พล.อ.เปรมก็ยังจ่ายกันล้านเลย ต่อ 1 เสียงในสภาเพื่อผ่านร่างกฎหมาย
ตอนนั้นมีปัญหาหลายอย่าง มีความขัดแย้งออกเป็นสองขั้วในสังคม แต่ตอนนั้นระบบเลือกตั้งและพรรคการเมืองอ่อนแอ ไม่มีพรรคการเมืองใหญ่อยู่แล้ว โดยสภาพในช่วงนั้นจะเป็นรัฐบาลผสม มีพรรคเล็กพรรคน้อยเยอะ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ พรรคกิจสังคม มี ส.ส. 18 เสียง ไม่ใช่พรรคชนะอันดับหนึ่ง เพราะพรรคที่ชนะอันดับ 1 คือพรรคประชาธิปัตย์ ของ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ตั้งรัฐบาลไม่สำเร็จ เปิดประชุมสภาล่มเลย เสียงไม่พอ ก็เลยเปิดโอกาสให้พรรคกิจสังคม มี 18 เสียงไปรวบรวม ส.ส.มาได้เกือบ 10 พรรคการเมืองแล้วตั้งรัฐบาล ในที่สุดก็อยู่ไม่รอด เพราะ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ เจอการต่อรองเก้าอี้จากพรรคร่วมรัฐบาลจนวุ่นวาย ปวดหัว ตลอด 1 ปีจนต้องยุบสภาเลือกตั้งใหม่
ผมว่าเป็นความพยายามน่าชื่นชมและผ่าทางตัน ขอสู้จนวินาทีสุดท้ายเพื่อตั้งรัฐบาลให้ได้ ให้ประเทศเดินหน้าไปได้ ถ้าดูในทางการเมืองคงยาก เพราะแรงบีบทางการเมืองทุกคนทราบจะให้พรรคการเมืองต่างๆ การออกแบบระบบเลือกตั้ง การตั้งพรรคนอมินีของ คสช. การคำนวณสูตรเลือกตั้ง ถ้าตอบภาพเหล่านี้ เพื่อสืบทอดอำนาจให้กลุ่มชนชั้นนำที่ได้อำนาจจากการรัฐประหารได้สืบทอดอำนาจต่อไปได้ ฉะนั้นคงไม่ยอมให้การรัฐประหารครั้งนี้เสียของ
ถ้ามองทางการเมืองเปอร์เซ็นต์น้อย เพราะฝั่งพลังประชารัฐและพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีโอกาสมากกว่าด้วยตัวช่วยเยอะแยะ และพลังการเมืองที่อยู่เบื้องหลังอีกเยอะแยะ มันไม่ใช่แค่คุณอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ พล.อ.ประยุทธ์ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และรมว.กลาโหม แต่มันมีพลังมาช่วยให้ พล.อ.ประยุทธ์สามารถกลับมาสู่ตำแหน่งนายกฯได้ ถ้าเห็นรายชื่อ ส.ว.ที่มีทหาร 40 เปอร์เซ็นต์เป็นสภาที่สร้างความมั่นคงให้พล.อ.ประยุทธ์
ผมคิดว่า ประชาธิปัตย์อยู่ในสถานะที่ลำบากในบรรดาพรรคการเมืองทั้งหมด พรรคที่ยังไม่ตัดสินใจมีแนวโน้มจะไปร่วมกับพรรคพลังประชารัฐทั้งหมด เหลือพรรคประชาธิปัตย์ต้องคิดหนักที่สุด เพราะว่าพรรคประชาธิปัตย์พาจุดมาอยู่ในจุดที่ยาก เพราะหัวหน้าพรรคคนเดิมจะไม่หนุน พล.อ.ประยุทธ์กลับมาเป็นนายกฯ ถ้าไปร่วมพรรคพลังประชารัฐตอนนี้โดยที่พรรคพลังประชารัฐยังหนุน พล.อ.ประยุทธ์ อยู่ จะตอบคำถามคน 3 ล้านกว่าคนที่เลือกพรรคประชาธิปัตย์อย่างไรก็ต้องคำนึงฐานเสียงตรงนี้ เพราะคำพูดก็มีหลักฐานชัดเจน ขณะเดียวกัน บางขั้วในพรรคประชาธิปัตย์ก็บอกว่าถ้าเป็นฝ่ายค้านก็ต้องมาร่วมกับพรรคเพื่อไทย ที่เป็นศัตรูเก่า พรรคประชาธิปัตย์ลำบากใจไปทางไหนก็ต้องมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์
พรรคประชาธิปัตย์จะยึดฐานเสียง 3 ล้าน หรือฐานเสียงเดิมที่เคยหายไปที่ไม่เลือก พล.อ.ประยุทธ์หรือไม่
จะเกิดเดดล็อกของจริง ถ้าเป็นฝ่ายค้านอิสระจะทำให้เกิดความยุ่งยาก เพราะพลังประชารัฐจะได้ ส.ส.รวมเพียง 200 กว่าเสียงเท่านั้น คราวนี้ลำบาก พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯได้ แต่รัฐบาล 200 เสียงจะอยู่รอดได้ยังไง ถ้าตั้งรัฐบาล 200 เสียงแค่ 40 เปอร์เซ็นต์อยู่ไม่ถึง 1 ปี อยู่ 6 เดือนก็เก่งแล้ว
ในขณะเดียวกันถ้า ประชาธิปัตย์เลือกเป็นฝ่ายค้านอิสระ พรรคที่จับมือกัน 7 พรรคการเมืองฝั่งประชาธิปไตยจะมีเสียงมากกว่าฝั่งพลังประชารัฐ ก็กลายเป็นฝั่งพรรคเพื่อไทยได้เสียงข้างมากมากกว่า ไม่ว่าฝั่งไหนตั้งรัฐบาลตอนนี้ก็ลำบาก ยากที่จะตั้งรัฐบาลมีเสถียรภาพได้
ไม่มีโลกไหน ประเทศไหนในโลกให้เกิดเดดล็อก ให้ส.ว.มาโหวตนายกฯ มันไม่ถูกต้อง ถ้าเดดล็อกเป็นอย่างนั้นในรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดว่าจะตั้งนายกฯ ภายในเมื่อไร ถ้าเดดล็อกมากก็เปิดทางนายกฯ คนนอก อย่าลืมว่ามีนายกฯ ก๊อกสอง เปิดทางสิ่งที่เรียกว่านายกฯ คนนอก สภาไปหยิบใครก็ได้ที่ไม่ใช่แคนดิเดตแต่ละพรรค
ตอนนั้นต้องใช้เสียง 2 ใน 3 ของสองสภา คือ 500 เสียงจาก 750 เสียง การเมืองไทยมีอภินิหารหลายอย่างเคยเกิดขึ้่นมาแล้ว ถ้าถึงทางตันอย่างนั้น ด้วยการตัดสินใจไม่ว่าจะภูมิใจไทย หรือประชาธิปัตย์ ไม่สามารถตั้งรัฐบาลได้ ก็อย่าตัดโอกาสการเกิดนายกฯ คนนอก
คสช. เป็นโมเดลใหม่ แต่สมัย พล.อ.เปรม เลือกไม่ตั้งพรรคการเมืองของตนเอง พล.อ.เปรมเป็นนายกฯ ด้วยการที่พรรคการเมืองจากการเลือกตั้งมาเชิญ พล.อ.เปรม เป็นนายกฯ พล.อ.เปรมไม่ได้ตั้งพรรคการเมืองไปลงแข่งเลือกตั้ง ตอนนั้นเป็นโมเดลที่ทหาร และพล.อ.เปรม ยอมรับระบบพรรคการเมืองให้เดินหน้าไปตามปกติ ให้ระบบรัฐสภาเดินหน้าไป แต่ยังเป็นโมเดลขอแชร์อำนาจไว้ ให้กับกองทัพ ชนชั้นนำเดิม พรรคการเมืองก็แข่งขันกันไปตามปกติ ทหารไม่ได้ไปแทรกแซง การเมืองก็บริสุทธิ์ ไม่พิสดาร
ไม่ว่าใครชนะก็ไม่ได้เสียงข้างมาก เพราะระบบพรรคการเมืองอ่อนแอ ก็ไปเชิญ พล.อ.เปรม มาเป็นนายกฯ เป็นระบบที่เรียกว่าประชาธิปไตยครึ่งใบ ทหารยอมปรับตัวและแชร์อำนาจกับฝ่ายพรรคการเมืองและพลเรือน
ตอนนี้ไม่เหมือนกัน โมเดลของ คสช. ไม่ใช่โมเดล พล.อ.เปรม ที่เราไปเปรียบกับพล.อ.เปรม ไม่ใช่ พล.อ.เปรม ยังมีความเป็นประชาธิปไตย เราถึงเรียกว่าประชาธิปไตยครึ่งใบ ของ คสช. ตอนนี้เป็นเผด็จการเต็มใบ ปกครองเหมือนสมัย จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ สิ่งที่ต้องการคือ คสช.ต้องการแปลงตัวเองจากเผด็จการเต็มใบ ซึ่งรู้ว่าความชอบธรรมต่ำไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง อยู่ในอำนาจมา 5 ปี นอกจากความชอบธรรมต่ำแรงกดดันทางสังคมสูง เพราะว่าเศรษฐกิจก็ย่ำแย่ เศรษฐกิจไม่ดีผู้คนยากลำบาก คสช.อยู่อำนาจนานที่สุดแล้วตั้งแต่สิ้นสุดระบอบจอมพลถนอมเป็นต้นมา ตั้งแต่หลัง 14 ต.ค. 2516 ไม่เคยมีรัฐบาลรัฐประหารอยู่ยาวขนาดนี้ สมัย พล.อ.สุจินดา คราประยูร ก็อยู่แค่ 1 ปี คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) อยู่แค่ 1 ปีก็จัดการเลือกตั้งแล้ว 5ปี นาน คนก็อึดอัด
นำไปสู่การเลือกตั้งที่พิสดารครั้งนี้ เป็นการเลือกตั้งที่กฎกติกา เอื้อประโยชน์ให้พรรคใดพรรคหนึ่งอย่างชัดเจนเพื่อให้ คสช.สืบทอดอำนาจต่อไปได้ ผ่านการอ้างว่ามีความชอบธรรมมากขึ้นผ่านการเลือกตั้งมาแล้ว ฉะนั้น สำหรับผมเป็นความพยายามแปลงตัวเองจากเผด็จการเต็มใบมาเป็นเผด็จการครึ่งใบ ไม่ใช่ประชาธิปไตยครึ่งใบแบบสมัย พล.อ.เปรม
ตรงนี้ก็ยาก ต้องใช้เวลาอีกหลายปี การเมืองไทย คงขลุกขลักไปอีกหลายปี ถ้าสภาพการเมืองตอนนี้ ถ้ามองสูตรคำนวณเลือกตั้ง การเลือกตั้งครั้งนี้เห็นการใช้กฎหมายอย่างเลือกปฏิบัติไม่คำนึงมารยาททางการเมือง กรรมการสรรหา ส.ว. แต่งตั้งตัวเองเป็น ส.ว. มีการขัดกันแห่งผลประโยชน์เยอะมาก แต่กลับตั้งทหารมาเกือบครึ่งสภา มาเน้นความมั่นคงอย่างเดียว เป็นไปเพื่อการสืบทอดอำนาจ โอกาสการฟื้นคืนระบอบประชาธิปไตยไม่ง่าย ชัดเจน คสช. ต้องการสืบทอดอำนาจ ผูกขาดอำนาจต่อไปโดยมีกลไกหลายอย่างรองรับ เกือบทุกคนมีคอนเน็กชั่นกับ คสช. เป็นสภาของคสช. โดย คสช. เพื่อ คสช.
ถ้าพรรคพลังประชารัฐตั้งรัฐบาลได้ก็อยู่ไม่ยืด ต่อให้รัฐบาลง่อนแง่น ฝั่งประชาธิปไตยก็ยากที่จะตั้งรัฐบาลได้เช่นกัน
สุดท้ายรัฐธรรมนูญฉบับนี้ต้องแก้ ไม่แก้ไม่ได้ประเทศก็จะเดินหน้าต่อไปไม่ได้ ก็จะหยุดชะงัก เป็นรัฐธรรมนูญที่เกิดเดดล็อกทางการเมือง เราอาจจะได้เลือกตั้งอีกครั้งในเวลาไม่ถึง 4 ปี การเลือกตั้งครั้งหน้าจะสำคัญจริงๆ ผมหวังว่าจะมีการแก้ไขระบบเลือกตั้ง ถ้าไม่แก้ไขระบบเลือกตั้งปัญหาหลายอย่างจะกลับมา ระบบบัตรใบเดียวไม่ตอบโจทย์อะไร
ภาพ - วิทวัส มณีจักร
ข่าวที่เกี่ยวข้อง