ไม่พบผลการค้นหา
'ณรงค์ชัย อัครเศรณี' อดีตรัฐมนตรีรัฐบาลประยุทธ์ 1- ชวลิต โพสต์เฟซบุ๊ก ชี้ปมบริหารเศรษฐกิจรัฐบาลประยุทธ์ยุค 2 เมื่อ พปชร. ต้องเกลี่ยเก้าอี้ รมต. 'สี่กุมาร' ให้พรรคร่วม จุดประเด็น 'สมคิด' ลังเลนั่งเก้าอี้รองนายกฯ

นายณรงค์ชัย อัครเศรณี อดีต รมว.พลังงานในรัฐบาลประยุทธ์ 1 (ยุคหม่อมราชวงศ์ปรีดิยาธร เทวกุล เป็นรองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายเศรษฐกิจ) และอดีต รมว.พาณิชย์ รัฐบาล พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ โพสต์เฟซบุ๊กผ่าน 'ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี' เรื่อง 'รัฐบาลประยุทธ์2 กับการจัดสรรตำแหน่งรัฐมนตรี : ปัญหาตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี เศรษฐกิจ' ใจความว่า 

"สวัสดีวันอังคารที่ 18 มิถุนายน 2562 ครับ

"ประชาชนคนไทยที่ตามข่าวการเมืองช่วงนี้ คงเห็นแล้วว่า การจัดตั้งรัฐบาลผสมแบบหลายพรรคนี้ ไม่ง่ายเลย เหมือนที่ผมได้เขียนอธิบายไว้ในตอนก่อนหน้านี้ เรียกว่าเป็นตอนที่หนึ่ง วันนี้ตอนที่ 2 ขอเล่าเรื่องรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ กับการบริหารนโยบายเศรษฐกิจในอดีต

"ก่อนเล่าเรื่อง รองนายกรัฐมนตรีเศรษฐกิจ ขอชี้ให้เห็นปัญหาของพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในการจัดสรรตำแหน่งรัฐมนตรี คือ มีกลุ่มทั้งภาคใต้ และภาคอีสาน เรียกร้องว่า เขามี ส.ส. กันกลุ่มละเกิน 10 คน ทำไมถึงไม่ได้รับการจัดสรรตำแหน่งรัฐมนตรี

"เห็นไหมครับ เหมือนกับที่ พล.อ.ชวลิต โดน ส.ส. กลุ่มคุณเกียรติชัย ชัยเชาวรัตน์ ประท้วงต่อต้านพรรคความหวังใหม่ที่จะแต่งตั้งผมเมื่อปี 2535

"สาเหตุที่แท้จริง ที่กลุ่ม ส.ส.ประท้วง ก็คงเป็นเพราะมีข่าวว่าพรรค พปชร. จะจัดสรรตำแหน่งรัฐมนตรี ให้กับผู้ที่ไม่ได้เป็น ส.ส. มากไป พวกที่ถูกเรียกว่าเป็นข้าวนอกนา คือ มีตำแหน่งอยู่ 35 จัดให้พรรคที่เข้ามาร่วมรัฐบาลไปประมาณครึ่งหนึ่ง ที่เหลือก็จะมาจัดให้ “ข้าวนอกนา” อีกประมาณครึ่งหนึ่ง จึงเหลือตำแหน่งมาให้ผู้ที่นำ สส. มาให้พรรคน้อยเกินไป ปัญหาคือ “ข้าวนอกนา” 8 ท่านนี้ 4 ท่านเป็น VVIP และอีก 4 ท่านเป็น “สี่กุมาร” ที่ได้รับมอบหมายมาให้จัดตั้งพรรค พปชร. คือเป็นมือทำงานพรรค เพื่อไปทำงานรัฐบาลต่อ ทำให้การคัดออกยาก

"เรื่องนี้จะสรุปอย่างไร อีกไม่นานก็คงจะทราบกัน แต่ดูแล้ว จบอย่างไร ก็จะเหมือนไม่จบอยู่ดี เพราะจะมีคนและ สส. ที่ยังไม่พอใจ ส่วนเมื่อไม่พอใจ จะทำอะไรได้มากน้อยแค่ไหน ก็ควรติดตามกันต่อไป

"ขอเล่าเรื่องปัญหาการบริหารนโยบายเศรษฐกิจกับตำแหน่ง รอง นรม.เศรษฐกิจในอดีต เพื่อเป็นบทเรียน

"เศรษฐกิจกับการเมือง มักไม่ไปด้วยกัน เช่น ถ้ารัฐบาลจะเก็บภาษีให้พอใช้จ่าย จะดีทางเศรษฐกิจ แต่การเก็บภาษี ไม่ดีทางการเมืองเลย ไม่มีประชาชนชาติใดชอบการถูกเก็บภาษี พรรคใดหาเสียงว่าจะเก็บ จะขึ้นภาษี ไม่เคยชนะเลือกตั้ง ปัญหาคือ จะทำอย่างไรให้เป็นที่ยอมรับกันได้ จึงได้มีวิชา Political Economy ซึ่งไม่เหมือน Economics อยู่หลายบริบท แต่จะทำอย่างไร ก็ยากอยู่ดี

"สมัยรัฐบาล พล.อ.เปรม ใช้วิธีการบริหารนโยบายเศรษฐกิจ โดยให้มี ครม.เศรษฐกิจ ประชุมกันวันจันทร์ มติใดๆก็นำมาเข้า ครม.ปกติ ที่ประชุมกันวันอังคาร เพื่อรับทราบและรับรองให้เป็นมติ ครม. อย่างเป็นทางการ ครม.เศรษฐกิจ มีสภาพัฒน์ เป็นฝ่ายเลขาฯ

"ระบบนี้ดำเนินมาด้วยดีตลอดแปดปีกว่าของรัฐบาลป๋าเปรม มาถึงรัฐบาลน้าชาติ พล.อ.ชาติชาย ชุณหวัณ (2531 – 2534) ก็ยังมีอยู่ ผม และดร.ชวนชัย อัชนันท์ ในฐานะที่ปรึกษาบ้านพิษฯ (บ้านพิษณุโลก) ได้เข้าร่วมประชุม ครม.เศรษฐกิจด้วย ผมสังเกตดู รู้สึกว่ารัฐบาลที่มาจาก สส.ล้วนๆ หรือเกือบหมด ต้องการจะมีนโยบายของฝ่ายการเมือง ไม่ต้องการให้ฝ่ายราชการ คือสภาพัฒน์ มากำหนดวาระ และชี้ทางการดำเนินนโยบาย

"หลังจากรัฐบาลน้าชาติ ครม.เศรษฐกิจที่ประชุมกันอย่างเป็นทางการทุกวันจันทร์ ก็ค่อยๆหายไป รัฐบาลต่อมาใช้ รองนายกรัฐมนตรีเศรษฐกิจ บริหารแทน คือ กระทรวงเศรษฐกิจ จะเสนอเรื่องเข้า ครม. จะต้องทำผ่าน รองนายกรัฐมนตรีเศรษฐกิจ และเวลา รองนายกรัฐมนตรีเศรษฐกิจ จะเรียกประชุม ก็ต้องเข้าร่วมประชุมด้วย เป็นการประชุม ครม.เศรษฐกิจ ตามวาระจำเป็น

"ปัญหาเลยตกมาเป็นเรื่องอำนาจบารมีของ รองนายกรัฐมนตรีเศรษฐกิจ ว่ามีมากพอให้ รัฐมนตรีเศรษฐกิจยอมรับหรือไม่ ยอมเสนอเรื่องผ่าน และยอมมาประชุมด้วย

"สมัยรัฐบาลชวน 1 (2535 – 2538) ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ เป็นรองนายกรัฐมนตรีเศรษฐกิจ คุณธารินทร์ นิมมานเหมินท์ เป็น รมว.คลัง คุณธารินทร์ เสนอเรื่องถึงนายชวน โดยตรง ไม่ต้องผ่าน รองนายกรัฐมนตรีเศรษฐกิจ เงื่อนไขนี้เป็นข้อตกลงระหว่างคุณธารินทร์ กับคุณชวน

"สมัยรัฐบาลบรรหาร (2538 – 2539) ดร.อำนวย วีรวรรณ เป็นรองนายกรัฐมนตรีเศรษฐกิจ ท่านเป็นหนึ่งในสองรัฐมนตรีจากพรรคนำไทย ซึ่งมี ส.ส. เพียง 18 คน อำนาจบารมีทางการเมืองมีน้อย หรือไม่มี ผมจำได้ว่า เวลา ดร.อำนวย เชิญประชุมกรรมการต่างๆทางเศรษฐกิจ เช่น กรรมการนโยบายเศรษฐกิจ ซึ่งผมเข้าประชุมด้วย ในฐานะที่ปรึกษา เกือบจะไม่มีรัฐมนตรีมาร่วมประชุมด้วย ส่วนใหญ่จะส่งผู้แทน ซึ่งอาจเป็นปลัดกระทรวง หรือ อธิบดี หรือไม่ถึงระดับตำแหน่งนั้นก็มี การประสานงานทางด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลจึงทำได้ยาก เพราะผลการประชุมมักไม่มีข้อยุติ ผู้เข้าประชุมบางคน บอกต้องไปหารือรัฐมนตรีก่อน

"สมัยรัฐบาล พล.อ.ชวลิต (2539 – 2540) ดร.อำนวย เป็นรองนายกรัฐมนตรีเศรษฐกิจ อีก โดยท่านเป็น รมว.คลัง ด้วย เพราะรู้ดีว่ากระทรวงการคลัง เป็นกระทรวงเกรด A ผู้คนเกรงใจมาก เวลาเรียกประชุม จึงมีรัฐมนตรีมากันครบถ้วน ต่างกันกับสมัยท่านเป็น รองนายกรัฐมนตรีเศรษฐกิจในรัฐบาลบรรหาร อย่างชัดเจน

"สมัยรัฐบาลทักษิณ (2544 – 2549) เริ่มต้น ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เป็น รองนายกรัฐมนตรีเศรษฐกิจ จากบทเรียนก่อนหน้า ท่านจึงเป็น รมว.คลัง ด้วย การบริหารนโยบายเศรษฐกิจช่วงเวลานั้น ดำเนินไปได้ดีมาก ท่านมีทีมงานช่วยหลายคน เช่น ดร.อุตตม สาวนายน ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ ดร.ชัยวัฒน์ วิบูลสวัสดิ์ ฯลฯ ทำให้ตอนหลัง ดร.สมคิด เข้ามาเป็น รองนายกรัฐมนตรีเศรษฐกิจ ของรัฐบาลประยุทธ์ 1 ท่านจึงจัดทีมงานของท่าน มาดูแลกระทรวงเศรษฐกิจ เป็นส่วนใหญ่

"ณ วันนี้ เวลานี้ มองย้อนกลับไปช่วงต้นปี ก็เข้าใจได้ว่า ท่านที่มีสมญานามว่า “สี่กุมาร” ที่ลาออกจากการเป็นรัฐมนตรี มาจัดตั้ง มาบริหารจัดการพรรค พปชร. คงจะเพื่อเตรียมตัวเข้าเป็นทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลประยุทธ์ 2 แต่เมื่อพรรค พปชร. ได้ สส.ไม่มากพอ ต้องไปเชิญพรรคร่วมสำคัญ คือ ประชาธิปัตย์ และภูมิใจไทย มาร่วมเป็นรัฐบาล ต้องให้ตำแหน่งรัฐมนตรีไปจำนวนมาก เป็นกระทรวงเศรษฐกิจหลายกระทรวง ตำแหน่งที่เหลือ ไม่พอจัดให้ทีมเศรษฐกิจแน่

"ปัญหาจึงมาตกที่พรรค พปชร. พรรคหลักของรัฐบาลประยุทธ์ 2 จะบริหารนโยบายเศรษฐกิจอย่างไร ใครจากทางพรรค พปชร. จะยอมมาเป็น รองนายกรัฐมนตรีเศรษฐกิจ โดยที่อาจไม่สามารถควบคุมรัฐมนตรีกระทรวงสำคัญทางเศรษฐกิจ ที่ตกไปเป็นของพรรคอื่น หลายกระทรวง

"ท่านผู้อ่าน อ่านแล้ว คงเข้าใจนะครับ ว่าทำไมจึงมีข่าวเรื่อง ดร.สมคิด บ่ายเบี่ยงตำแหน่งนี้

"สวัสดีครับ"


ณรงค์ชัย.jpg

ทั้งนี้ ข้อความดังกล่าวเป็นบทต่อเนื่องจากเมื่อวันที่ 12 มิ.ย. ที่ผ่านมา เขาโพสต์เรื่อง "รัฐบาลประยุทธ์ 2 กับการจัดสรรตำแหน่งรัฐมนตรี : ประสบการณ์จากอดีต"


ณรงค์ชัย 2.jpg

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :