ไม่พบผลการค้นหา
7 พรรคฝ่ายค้าน นำโดยพรรคเพื่อไทย เตรียมเปิดเวทีผ่านรัฐสภาลับฝีปากชำแหละเปิดแผล 14 รัฐมนตรีในการแถลงนโยบายของรัฐบาลต่อรัฐสภาในช่วงสุดสัปดาห์หน้า

โดย 14 รัฐมนตรีที่จะถูกอภิปราย-ซักฟอก ระหว่างวันที่ 25 - 26 ก.ค.ในที่ประชุมร่วมของรัฐสภาเพื่อพิจารณาวาระแถลงนโยบายรัฐบาล แบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม ประกอบด้วย

กลุ่มที่ 1 กลุ่ม 3 ป.

1.พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีควบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม อดีตนายกรัฐมนตรีใน “สถาการณ์พิเศษ” - หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตลอดครึ่งทศวรรษในช่วงเปลี่ยนแผ่นดิน  

ตำแหน่งทางข้าราชการทหารขึ้นสูงสุดในตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ในปี 2553 - หัวหน้าคณะปฏิวัติ 22 พ.ค.57 “เบิ้ลเก้าอี้นายก ฯ” ในการโหวตของเสียง ส.ส. + “พรรค ส.ว.” จำนวน 500 เสียง เมื่อวันที่ 5 มิ.ย. ก่อนได้รับพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 9 มิ.ย.62    

“พล.อ.ประยุทธ์” เป็นนักเรียนเตรียมทหาร รุ่นที่ 12 (ตท.12) จบโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า รุ่นที่ 23 (จปร.23) เริ่มรับราชการทหารตั้งแต่ปี 2533 ในกองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารบกที่ 21 รักษาพระองค์ (ร.21 พัน 2 รอ.) ตั้งแต่ ผบ.ร.21 พัน 2 รอ. เติบโตเรื่อยมาโดยตลอด 

ต่อมาในปี 2541 เป็นผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ (ผบ.ร.21 รอ.) ปี 2546 เป็นผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ (ผบ.พล. ร 2 รอ.) 

ก่อนที่ในปี 2549 จะก้าวขึ้นมาเป็นแม่ทัพภาคที่ 1 (มทภ. 1 ) คุม “กองกำลังปฏิวัติ” และเข้าไลน์ “5 เสือ ทบ.” ในปี 2551 ตำแหน่งเสนาธิการทหารบก (เสธ.ทบ.) และปี 2552 ในตำแหน่ง รอง ผบ.ทบ. และเป็น ผบ.ทบ.

ล่าสุดศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งรับคำร้องที่ ส.ส.ฝ่ายค้าน 110 คน ยื่นเรื่องให้ประธานสภาฯ ส่งเรื่องให้ศาลวินิจฉัยสถานะความเป็นรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จะเข้าข่ายสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ กรณีเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ

และนี่ก็คือแผลที่รอประเดิมเปิดซักฟอกในเวทีรัฐสภา

ครม

2.พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี “ผู้จัดการรัฐบาล” นอกพรรคพลังประชารัฐ เป็น “ผู้มากบารมี” ในกองทัพ-ทำเนียบรัฐบาล-คสช.ตัวจริงเสียงจริง

อดีตรองหัวหน้า คสช.- รองนายกรัฐมนตรี “คุมความมั่นคง” ควบ รมว.กลาโหมในยุครัฐบาล-คสช. เป็นรมว.กลาโหมสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ และเป็นที่ปรึกษาผู้อำนวยศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ควบคุมการชุมนุมคนเสื้อแดงเมื่อปี 2553

สั่งสมบารมีในกองทัพตั้งแต่เป็น นตท.6 และ จปร.17 เพื่อนร่วมรุ่น “บิ๊กบัง” พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าคณะปฏิวัติ-คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) 19 ก.ย.49  

เริ่มเข้ารับราชการทหารในปี 2512 ในตำแหน่งผู้บังคับหมวดปืนเล็ก กองพันทหารราบที่ 2 กรมผสมที่ 3 และใช้เวลากว่า 10 ปี (2514-2523) สร้างฐานอำนาจ “ 3 ป.” ใน ร.21 รอ. หรือ “ทหารเสือราชินี” จนเป็น “พี่ใหญ่ 3 ป. 1 ด.” แห่งบูรพาพยัคฆ์ มี ป.พล.อ.ประยุทธ์-ป.บิ๊กป๊อก พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา-ด.บิ๊กโด่ง อุดมเดช สีตบุตร 3 อดีต ผบ.ทบ.เป็นน้องรัก   

ก่อนจะขึ้นสู่จุดสูงสุดในตำแหน่ง ผบ.ทบ. ในปี 2547 สมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร “ศัตรูการเมืองเบอร์ 1” ของ คสช. และนั่งในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในยุครัฐบาล-คมช. 

ในช่วงโค้งสุดท้ายของรัฐบาล-คสช.ต้องตกเป็น “จำเลยสังคม” กรณีแหวนเพชรแม่-นาฬิกาเพื่อน (ที่ตายไปแล้ว) ก่อนจะคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่มี “ลูกน้องเก่า” พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ เป็นประธาน ป.ป.ช. ยกคำร้อง-เคลียร์ข้อกล่าวหา

ประวิตร

3.พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย หรือ "บิ๊กป็อก" อดีตรมว.มหาดไทย "อดีตผบ.ทบ." 1 ใน พี่-น้อง 3 ป.แห่งบูรพาพยัคฆ์ “กินข้าวหม้อเดียวกัน” กับ "พี่ใหญ่" พล.อ.ประวิตร และ "น้องรัก" พล.อ.ประยุทธ์ "เพื่อนร่วมรุ่น" ตท. 10 กับ “ทักษิณ” จบจปร.รุ่นที่ 21

รัฐประหารปี 2549 "พล.ท. อนุพงษ์-แม่ทัพภาคที่1" คุม "กองกำลังปฏิวัติ" เข้ายึดอำนาจรัฐบาลทักษิณ ภายใต้ปฏิบัติการ "ปฐพี 149" ต่อมาได้รับตำแหน่งผู้ช่วยเลขาธิการ คมช. 

พล.อ.อนุพงษ์ สมัยเป็น ผบ.ทบ.ในปี 2551 เป็นผู้อำนวยการกองอำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน "ผบ.สถานการณ์" การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ถูกขนานนามว่า "ปฎิวัติเงียบ-ปฏิวัติหน้าจอ" จนเกิดเหตุการณ์เจ้าหน้าที่ตำรวจสลายการชุมนุมหน้ารัฐสภาเมื่อวันที่ 7 ต.ค.51 สมัยรัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์

นอกจากนี้ในปี 2553 "พล.อ.อนุพงษ์" ผบ.ทบ.ในขณะนั้น ในฐานะหัวหน้าแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ในศูนย์อำนวยการสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) รับผิดชอบ "กระชับพื้นที่" การชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ในยุครัฐบาล-คสช. นอกจากนั่งเก้าอี้มท.1 แล้วยังควบรองประธานที่ปรึกษาคสช. 

"พล.อ.อนุพงษ์" จึงเป็น “นายพลคนสำคัญ” ที่เข้ามามีบทบาททั้ง "เบื้องหน้า-เบื้องหลัง" ในเหตุการณ์วิกฤตทางการเมืองครั้งสำคัญ โดยเฉพาะ การรัฐประหารทั้ง 2 ครั้งล่าสุด (19 กันยาฯ49 และ 22 พฤษภาฯ 57) 

อุตตม

กลุ่มที่ 2 กลุ่มรัฐมนตรีที่มีคดีค้างอยู่

4.นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง อดีตรมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร "คนสุดท้าย" และรมว.อุตสาหกรรม ในรัฐบาล-คสช. ก่อนจะตั้ง "ก๊กสี่กุมาร" ที่กุมบังเหียนหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ 

เริ่มฝึกปรือ "วิชาการเมือง-การคลัง" ในฐานะที่ปรึกษา "ขุนคลัง" สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ และผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี จนนับถือนายสมคิดเสมือนเป็น “ศิษย์-อาจารย์” 

มีเสียงลือเสียงเล่าอ้างว่า “อุตตม” รอดพ้นจากวิบากกรรม “คดีปล่อยกู้ธนาคารกรุงไทย” ได้ เพราะ “สมคิด” กัน “อุตตม” ซึ่งขณะนั้นเป็น 1 ในบอร์ดกรุงไทย ไว้เป็น “พยาน”

ความสัมพันธ์ระหว่าง “อุตตม” กับ "สมคิด" จึงเป็นมากกว่าศิษย์-อาจารย์ ที่ต้องทดแทน "หนี้บุญคุณ" ถึงขั้น "อุตตม" ต้องยอม "เสี่ยงเป็นเสี่ยงตาย" กระโดดลงมาประกอบนั่งร้าน-พรรคพลังประชารัฐ ก็เป็นได้

ธรรมนัส

5.ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ หรือ "ผู้กองนัท" มือประสานสิบทิศ ประธานยุทธศาสตร์เลือกตั้งภาคเหนือ-ส.ส.พะเยา พรรคพลังประชารัฐ เป็น นตท. รุ่นที่ 25 - จปร.รุ่นที่ 36 

สิ้นสุดเส้นทางข้าราชการทหารในปี 2542 หลังมีชื่อ "ร.อ.พชร." ดั้งเดิมพันคดีฆ่าคนตาย แต่ในปี 2546 ศาลพิพากษายกฟ้อง ก่อนจะ "เบนเข็ม" มุ่งสู่เส้นทางธุรกิจ-การเมือง ในฐานะแกนนำไทยรักไทย ก่อนจะ “สลับขั้ว” มาอยู่กับพลังประชารัฐ

ได้รับโอกาสจาก “ผู้ใหญ่” ที่เขาเรียกว่า “นาย” เดินสายเจรจาสิบทิศกับกลุ่ม-ก๊วนภายในพรรคและ 10 พรรคจิ๋ว จน “ผู้ใหญ่” พอใจ สมนาคุณให้เป็นรมช.เกษตร ฯ ในรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ 2 ไว้เป่ากระหม่อมม็อบพืชเศรษฐกิจ-การเมือง

ขุมข่ายธุรกิจของ ร.อ.ธรรมนัส ติดหูกันในแวดวงธุรกิจรักษาความปลอดภัย (รปภ.) ในชื่อ บริษัท ธรรมนัส การ์ด จำกัด กับ พล.อ.ไตรรงค์ อินทรทัต หรือ "เสธ.ไอซ์" 

ก่อนจะ "หมุนเงิน” ธุรกิจรักษาความปลอดภัย - แตกไลน์ธุรกิจทั้งใต้ดิน-บนดิน เป็น 1 ใน “5 เสือกองสลาก” ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ โรงแรม ให้เช่าพี้นที่-บริหารตลาดนัดจตุจักร-คลองเตย รถเมล์ สโมสรฟุตบอล เหมืองแร่ บริการระบบคอมพิวเตอร์ รวมสินทรัพย์มูลค่าหลายร้อยล้านบาท

ไม่น่าแปลกใจ ทันทีที่รัฐประหาร 22 พ.ค. 2557 "ร.อ.ธรรมนัส" จะถูกคำสั่งคสช.เรียกมารายงานตัว พร้อมกับ "เสธ.ไอซ์" และ พล.อ.ทวนทอง อินทรทัต ที่มีความสัมพันธ์อันแนบแน่นกับ "ทักษิณ"

แต่กว่าจะได้เลื่อนชั้นเป็นเสนาบดี ร.อ.ธรรมนัส ต้องแหกด่านคัดกรองคุณสมบัติ-ลักษณะต้องห้าม โดยเฉพาะการเคยถูกศาลออสเตรเลียพิพากษาจำคุกคดียาเสพติด ต่อมารัฐบาลไทยทำเรื่องขอโอนตัวในสถานะนักโทษยาเสพติด 

“วิษณุ-เนติบริกร” การันตี ร.อ.ธรรมนัส ไม่ขาดคุณสมบัติ-ลักษณะต้องห้ามการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี โดยยกเคส “อดีต ส.ส.” ต้องคำพิพากษาในต่างประเทศ กรณีขนยาเสพติดเข้าฮ่องกง 

“ตรงนั้นไม่มีผลกระทบอะไรในส่วนของไทย แต่จะกระทบเรื่องชื่อเสียง เกียรติยศ และอะไรหลายอย่าง อาจจะเป็นข้อห้ามอีกแบบหนึ่ง แต่จะเอาข้อหานั้นตรงๆ มาใช้ไม่ได้ แม้ข้อหาอาจจะตรงกัน แต่ศาลไทยไมได้เป็นผู้ตัดสิน”

รวมถึงกรณีเคย “ถูกไล่ออกจากราชการ” ว่า “แล้วแต่ว่าถูกไล่ออกจากราชการเพราะอะไร หากถูกไล่ออกเพราะทุจริตนั้นไม่ได้ แต่ถ้าไม่ใช่กรณีทุจริตไม่เป็นไร โดยเฉพาะเมื่อกลับเข้ารับราชการแล้ว” 

อีกด้านหนึ่งของร.อ.ธรรมนัส ยังเป็น “นักบุญ” เช่น ประธานมูลนิธิธรรมนัสพรหมเผ่าเพื่อการกุศล นายกสมาคมชาวพะเยา นายกสมาคมกีฬาพะเยา ประธานสโมสรพะเยาเอฟซี ประธานที่ปรึกษานายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองพะเยา

สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ

6.นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ “หัวแถว” - ประธานกรรมการยุทธศาสตร์การเลือกตั้งภาคอีสานพรรคพลังประชารัฐ แกนนำกลุ่มสามมิตร

“สุริยะ” เคยประกาศออกอากาศว่าจะ “ไม่รับตำแหน่งทางการเมือง” แต่มาถอนคำพูดในภายหลัง จนทำให้เกิดศึกแย่งชามข้าว ระหว่าง 3 ก๊กในพรรคพลังประชารัฐ ดุเดือดถึงกันขอทบทวนท่าทีการร่วมงานกับพล.อ.ประยุทธ์

มิหน้ำซ้ำยังขับไล่นายสนธิรัตน์ออกจากตำแหน่งเลขาธิการพรรค ก่อนถูก “ผู้มีบารมีนอกพรรค” ทุบโต๊ะ “ทวงเงิน” และเช็กกำลัง ส.ส.มุ้งสามมิตร นับได้อยู่กับสุริยะเพียง 8 คน เป็นอันว่าเลิกงอแง-แล้วแต่ท่านผู้นำ  

ท่องยุทธจักรการเมืองทั้งหน้าม่าน-หลังม่านตลอด 2 ทศวรรษ เริ่มเข้าสู่การเมืองตั้งแต่ปี 2540 ในตำแหน่งรมช.อุตสาหกรรม สมัย “รัฐบาลชวน 2” นามพรรคกิจสังคม  

รุ่งโรจน์ในยุคไทยรักไทย ในฐานะแม่บ้าน-เลขาธิการพรรค นั่งตำแหน่งฝ่ายบริหารสำคัญ ทั้งอดีตรองนายก ฯ -รมว.คมนาคม-รมว.อุตสาหกรรมใน “รัฐบาลทักษิณ”

ก่อนจะซุกปีกพรรคภูมิใจไทย หลังจาก “ดวงแตก” ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง 5 ปี-หิ้วกระเป๋าเข้าบ้านเลขที่ 111 มาฟื้นคืนชีพในยุคพลังประชารัฐ-หัวหน้ามุ้งกลุ่มสามมิตร 

ในโลกธุรกิจ “สุริยะ” คร่ำวอดอยู่ในบอร์ดสำคัญ ๆ ภาคเอกชน อาทิ กรรมการการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) กรรมการ บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย ประธานกรรมการ บริษัท ซัมมิทอิเล็กทรอนิกส์ คอมโพเนนท์ จำกัด 

ประธานกรรมการบริษัท ซัมมิท แอดวานซ์ แมททีเรียล จำกัด กรรมการผู้จัดการ บริษัท โอโดซีพ อินดัสตรี จำกัด กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซัมมิท โอโตบอดี้ อินดัสตรี จำกัด กรรมการบริหาร บริษัท ซัมมิท ไพน์เฮิร์สท กอล์ฟ แอนด์ คันทรีคลับ จำกัด

บาดแผลจากการ "โลดโผน" ทางการเมือง จนคราบมลทิน-ชนักปักหลัง ทั้งที่สลัดหลุด-ไม่หลุด เช่น สมัยเป็น รมว. คมนาคม ปี 2548 ถูกซักฟอก-ไม่ไว้วางใจกรณีการจัดซื้อเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดซีทีเอ็กซ์ 9000 

นายสุริยะถูกวิจารณ์ว่า อ่านตามสคริปต์ทุกถ้อยคำ ไม่เว้นแม้กระทั่ง "พุทโธ่ เป็นเพียงข้อมูลเก่า" ตามสคริปต์ของนายเนวิน ชิดชอบ แต่ “เสียงข้างมาก” ลงมติไว้วางใจ ก่อนถูกโยกไปนั่งเป็นรองนายกฯ ควบ รมว. อุตสาหกรรมแทน และในปี 2555 ป.ป.ช. ก็มีมติยกคำร้อง เป็นอันว่าพ้นข้อกล่าวหาทั้งในทางการเมือง-ทางกฎหมาย

ทว่า “ชนักปักหลัง” คือ “คดีสินบนโรลส์รอยซ์” ภายหลังเมื่อปี 2560 บริษัทโรลส์-รอยซ์ รับสารภาพต่อสำนักงานปราบปรามการทุจริตของสหราชอาณาจักร (SFO) ว่า ให้สินบนแก่เจ้าหน้าที่บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ระหว่างปี 2534-2548 จำนวน 3 ครั้ง วงเงินกว่า 1,200 ล้านบาท เพื่อซื้อเครื่องยนต์ T-800 ปัจจุบันอยู่ระหว่างการตรวจสอบจาก ป.ป.ช. ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าวอยู่ในยุคที่ “สุริยะ” เป็น รมว.คมนาคม 

7.นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รมช.พาณิชย์ “กำนันป้อ” เป็นผู้กว้างขวางใน จ.นครราชสีมา เจ้าของโรงงานแป้งมันเอี่ยมเฮง เจ้าของฉายา “เสี่ยแป้งมันพันล้าน” ได้รับโบนัสเป็นรัฐมนตรี เพราะสามารถนำทัพกวาด ส.ส.ได้ถึง 4 คน จาก 14 เขตเลือกตั้ง 

ก่อนหน้านี้ มีข่าวว่าจะถูกแขวนชื่อการเป็นรัฐมนตรี เพราะดันมี “โปรไฟล์เป็นพิษ” เคยถูกดำเนินคดีสำคัญ เช่น บุกรุกที่ดิน ส.ป.ก. 1,200 ไร่ และสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ร้องต่อศาลจังหวัดนครราชสีมา ว่าบริษัทแป้งมันเอี่ยมเฮงอุตสาหกรรม จำกัด บุกรุกที่ ส.ป.ก.ซึ่งศาลมีคำพิพากษาที่สุด “มีความผิดจริง” แต่ได้รับการเคลียร์คัด ว่าปฏิบัติตามคำสั่งศาลแล้ว

นอกจากนี้ยังถูกร้องให้ตรวจสอบกรณีออกโฉนดที่ดินโรงงานโดยมิชอบและอธิบดีกรมที่ดินมีคำสั่งให้เพิกถอนที่ดินแปลงที่ตั้งโรงงานดังกล่าว

“กำนันป้อ” ยืนยันด้วยความมั่นใจว่า “คดีความได้จบไปแล้ว และไม่ได้มีปัญหาอะไร ซึ่งตนสามารถเคลียร์ตัวเองได้ทุกอย่าง” 

ในด้านบวกงานสังคม เช่น กรรมการสมาคมโรงงานผู้ผลิตมันสำปะหลัง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ-ประธานชมรมกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อ. เสิงสาง และกำนัน ต. กุดโบสถ์ อ. เสิงสาง แต่จะเป็นคนบาปในร่างนักบุญหรือไม่ 7 พรรคฝ่ายค้านจะให้คำตอบ

มนัญญา ไทยเศรษฐ์ ภูมิใจไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ _190718_0005.jpg

8.น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรและสหกรณ์ ก็ถือว่า “ส้มหล่น” อีกราย เพราะพี่ชาย “ชาดา ไทยเศรษฐ์” ซึ่งเป็นแคนดิเดต รมช.เกษตร ถูกแขวนเพราะ "ติดแบล็คลิสต์-โปรไฟล์สีเทา" ไม่ผ่านคุณสมบัติ ทำให้ “มนัญญา” จากที่เป็นนายกเทศมนตรีเมืองอุทัยธานี จ.อุทัยธานี จึงต้องลาออกมานั่งเก้าอี้รัฐมนตรีแทนพี่ชาย 

แม้จะมีข้อกังขาเรื่องโครงการก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสีย จ.อุทัยธานี ซึ่งมีปัญหาก่อสร้างไม่แล้วเสร็จตามกำหนดในสัญญา และถูกปล่อยทิ้งร้างมากว่าทศวรรษ โดยเกิดความเสียหายเกือบ 300 ล้านบาท

9.นายนิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทยรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ลาออกจากนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา เพื่อมารับตำแหน่งรมช.มหาดไทย เพื่อกระจายอำนาจ-เลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด และทำถนนลาดยางพาราลงท้องถิ่น 

เป็น 1 ใน 2 “มือดีล” นำพรรคประชาธิปัตย์เข้าร่วมรัฐบาลพลังประชารัฐ มีบทบาทในพรรคประชาธิปัตย์ทั้งในฝ่ายบริหาร-การเมืองอย่างยาวนาน ตั้งแต่ปี 2537 ในฐานะเลขานุการรมว.ยุติธรรม ปี 2541 เลขานุการรมว.แรงงานและสวัสดิการสังคม ในปี 2542-2543 เป็นรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์) ปี 2543-2544 รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (นายบัญญัติ บรรทัดฐาน) และเป็นอดีตรองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ และ “รมช.คมนาคมเงา”

โชกโชนทั้งการเมืองท้องถิ่นและระดับชาติ เป็นอดีต ส.จ.สงขลา 2 สมัย (2528,2533) อดีต ส.ส.สงขลา 5 สมัย (2535/1, 2535/2, 2538, 2539, 2544) และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 3 สมัย (2548,2550,2554)

ก่อนรับตำแหน่ง รมช.มหาดไทยในรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ 2 ต้องต่อสู้กับวิบากกรรม-โปรไฟล์เป็นพิษ เพราะถูก สตง. ตรวจสอบกรณีเบิกจ่ายเงินอุดหนุนให้กับสมาคมกีฬาจังหวัดสงขลา จำนวนกว่า 22 ล้านบาทเศษ สมัยที่นายนิพนธ์เป็นนายก อบจ. สงขลา ระหว่างปี 2558-2559 ขณะเดียวกันก็เป็นนายกสมาคมกีฬาจังหวัด

ต่อมาคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) มีมติว่า การอุดหนุนเงินดังกล่าวเป็นไปโดยมิชอบ และมีคำสั่งให้เรียกเงินคืนทั้งหมด หลังจากนั้น อบจ.สงขลา ทำหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ให้วินิจฉัยกรณีดังกล่าว โดยผู้ว่าฯ สงขลาทำหนังสือถึง สตง. เห็นพ้องด้วยกับข้อเสนอของ สตง. เกือบทั้งหมด 

ปัจจุบัน สมาคมกีฬาจังหวัดสงขลา จ่ายเงินคืนแก่คลัง อบจ.สงขลาแล้ว เพียงแค่ 4 ล้านบาท ที่เหลืออยู่ระหว่างตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง 

นายนิพนธ์ออกมาตั้งโต๊ะชี้แจงความโปร่งใส 1 ใน 5 โครงการที่ถูกร้องเรียน ว่า การเบิกจ่ายเงินอุดหนุนของอบจ.สงขลา ไม่มีการจ่ายเงินไปให้กับทีมฟุตบอล สงขลา ยูไนเต็ด ซึ่งการอุดหนุนเงินให้กับสมาคมกีฬาแห่งจังหวัดสงขลา กฎหมายให้มีการระบุถึงเรื่องการสนับสนุนส่งเสริมกีฬาด้วย โดยจัดกิจกรรมกีฬาประเภทต่างๆ เป็นทางการทำงานเพื่อประโยชน์ของสาธารณะ ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ส่วนตัว

โดยนายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ยื่นเรื่องร้องเรียนต่อ ป.ป.ช. ให้ตรวจสอบ 5 โครงการหลัก ได้แก่ 1.โครงการประมูลซื้อรถซ่อมบำรุงทางเอนกประสงค์ชนิด 10 ล้อ 2.โครงการเงินอุดหนุนสมาคมกีฬาจังหวัด 3.โครงการจัดซื้อจัดจ้างรถอุบัติเหตุฉุกเฉินในราคาที่แพงเกินเหตุ 4.โครงการสร้างสวนสาธารณะเมืองสงขลาเพื่อการท่องเที่ยว และ 5.อนุมัติงบโครงการให้ 4 อำเภอในสงขลามากกว่าอำเภออื่น

กลุ่มที่ 3 กลุ่มที่มีคดีกบฏและเคยร่วมเดินขบวนล้มล้างรัฐบาล

ณัฏฐพล

10.นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ ไม่ใช่หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ แต่เป็น “เบอร์ 1” ในบัญชี ส.ส.บัญชีรายชื่อเข้าสู่การเมืองในฐานะ ส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ ในปี 2550 แต่สอบตก ก่อนจะมาแก้มือสำเร็จในปี 2554 ต่อมาตัดสินใจลาออกจาก “พรรคเก่าแก่” ลงถนนไปทำงาน “การเมืองมวลชน” เป็นแกนนำ กปปส.- เปิด “ครัวราชดำเนิน” ให้ กับ “ลุงกำนัน-สุเทพ เทือกสุบรรณ” จนมีข้อหากบฏและข้อหาอื่น 8 ข้อหา และ “คดีถือหุ้นสื่อ” รอศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยที่ยังสลัดไม่หลุด

ก่อนจะมาร่วมก่อร่าง-ตั้งพรรคพลังประชารัฐ ตามคำเชื้อเชิญของนายสมคิด ณ ทำเนียบรัฐบาล เป็นคนถือ “กระเป๋าเงิน” เป็น “โต้โผ” จัดโต๊ะจีน โต๊ะละ 3 ล้านบาท ระดมทุนสู้ศึกเลือกตั้ง ยอดพุ่งพรวด 650 ล้านบาทในคืนเดียว แลกมาด้วยการถูกร้องเรียกต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) หลัง “ผังโต๊ะจีน” ปรากฏรายชื่อ “ผู้บริจาค” เป็น “หน่วยงานของรัฐ” แต่ กกต. ออกมาให้สัมภาษณ์ ว่า ไม่มีความผิด-ไม่เข้าข่ายยุบพรรค เป็นอันว่า “พ้นมลทิน”

 “บ้านทีปสุวรรณ” พื้นเพ-เกี่ยวดองกับตระกูลธมหาเศรษฐี “ศรีวิกรม์” มี “ทยา ทีปสุวรรณ” ซีอีโอ วิสดอม เอ็นเตอร์ไพรส์ เจ้าของโรงเรียนนานาชาติ สกุลเดิม ศรีวิกรม์ เป็น “หลังบ้าน” ธิดาคนเดียว ของมหาเศรษฐีเฉลิมพันธ์-คุณหญิงศศิมา ศรีวิกรม์ เจ้าของ ร.ร.ศรีวิกรม์ โรงเรียน Rugby School Thailan ในเครือบริษัท วิสดอม เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด 

โรงแรมเพรสิเด้นท์ บ.อุตสาหกรรมพรมไทย จำกัด เครื่องสุขภัณฑ์อเมริกัน สแตนดาร์ด บริษัทไทยเยอรมัน เซรามิค บ.เงินทุนหลักทรัพย์ ศรีธนา จำกัด บริษัทแผ่นดินทอง พร็อพเพอร์ตี้ (โกลเด้น แลนด์) ฯลฯ

เริ่มต้นจากการเป็นนักธุรกิจ ผู้บริหารกิจการกระเบื้องคัมพานา พรมไทปิง และพรมรอยัล ไทย อดีต ผอ. ฝ่ายการตลาดและการขาย บริษัท อุตสาหกรรมพรมไทย จำกัด (มหาชน) และกรรมการบริหาร บริษัท ไทย-เยอรมัน เซรามิค อินดัสทรีย์ จำกัด (มหาชน) ผู้จัดการทั่วไป บริษัท รอยัลไทย จำกัด ประจำสาขาดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ดูแลการขยายตลาดพรมในพื้นที่ประเทศตะวันออกกลาง

11.นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม อดีตรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง-อดีตโฆษกรัฐบาลในยุครัฐบาล-คสช. ประกบ “พล.อ.ประยุทธ์” บนตึกไทยคู่ฟ้าช่วงสั้น ๆ ก่อนจะมาร่วมหัวจมท้ายในพรรคพลังประชารัฐ ในฐานะ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 3 พ่วงประธานยุทธศาสตร์ กทม.    

ฝากผลงานทางการเมืองในนามพรรคประชาธิปัตย์ เริ่มต้นจากเป็นที่ปรึกษารองนายก ฯและผู้ช่วย ส.ส. (อภิสิทธิ์ เวชาชีวะ) ในปี 2544 ก่อนจะลงสมัคร ส.ส.กทม. เขตพญาไท ในปี 2545 

สร้างฐานคะแนนในพื้นที่กทม.ในตำแหน่ง “โฆษกกทม.” สมัยนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน เป็นผู้ว่าฯ ก่อนจะขยับเป็น “รองผู้ว่า ฯ กทม.” ในปี 2549  

เป็นรองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (คนที่ 1) – ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี-ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงอุตสาหกรรมใน “รัฐบาลอภิสิทธิ์” เพราะเคยรับราชการเป็นเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการลงทุน (BOI) 

ก่อนจะลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์-เป็น 1 ใน 9 ส.ส.ปชป.- อดีตแกนนำกปปส. ทิ้งที่นั่งในสภา ลงอภิปรายรัฐบาลยิ่งลักษณ์บาท้องถนนอดีตแกนนำ จนมี “คดีติดตัว” ในข้อหา “กบฏ” และความผิดอื่น รวม 8 กระทง

กลุ่มที่ 4 กลุ่มรัฐมนตรีที่ถือหุ้นสื่อ

จัตุมงคล

12.ม.ร.ว.จตุมงคล โสณกุล รมว.แรงงาน หัวหน้าพรรครวมพลังประชาชาติไทย – ราชนิกุลในรัชกาลที่ 4 โควตารัฐมนตรีของพรรค 5 เสียง รวมพลังประชาชาติไทย ตามประวัติที่มีการโจษขาน เป็นประเภท “ยอมหัก - ไม่ยอมงอ” เคยลาออกจากราชการ ในรัฐบาลพล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เพราะถูกย้ายจากปลัดกระทรวงการคลัง ไปประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เพราะขัดแย้งด้านนโยบายการคลังกับ “บิ๊กจิ๋ว” ผู้เป็นนายกฯ  

กระทั่งเป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ในรัฐบาล “ชวน หลีกภัย” และถูกปลดจากผู้ว่าแบงก์ชาตีอกครั้งในสมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร เพราะไม่เห็นด้วยกับนโยบายรัฐบาลทักษิณ ก่อนจะเล่นการเมืองในพรรคร่วมพลังประชาชาติไทย ทำหน้าที่เป็น “หัวหน้าพรรค” เคียงข้าง “ลุงกำนัน” สุเทพ เทือกสุบรรณ กำเนิดพรรค 5 เสียงในสนามเลือกตั้ง 2562

เริ่มรับราชการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง อธิบดีกรมบัญชีกลาง อธิบดีกรมสรรพสามิต อธิบดีกรมสรรพากรและปลัดกระทรวงการคลัง ในปี 2540

อภิสิทธิ์ลาออก อนุทิน สาธิต

13.นายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รับผิดชอบภาคกลาง อดีต ส.ส.ระยอง 4 สมัยติดต่อกัน และ “รมช.พาณิชย์เงา”   

เริ่มต้นในอาชีพทนายความ เปิดสำนักทนายความใน จ.ระยอง ชิมรางการเมืองในระดับท้องถิ่นด้วยการ “สอบตก” ส.จ.ระยอง เมื่อปี 2535 ก่อนจะกลับมา “แก้มือ” ได้สำเร็จอีก 3 ปีถัดมา (2538) ก่อนจะลง “สนามจริง” ในการเลือกตั้ง ส.ส.ระยอง เขต 1 ในสีเสื้อประชาธิปัตย์ และได้รับรางวัล “ส.ส.ขยัน”

เทวัญ ลิปตพัลลภ ชาติพัฒนา

14.นายเทวัญ ลิปตพัลลภ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี โควตารัฐมนตรีจากพรรคชาติพัฒนา 3 เสียง เป็นน้องชาย “สุวัจน์ ลิปตพัลลภ” ประธานที่ปรึกษาพรรคชาติพัฒนา ทั้งนี้ “เทวัญ” เป็น ส.ส.โคราช 3 สมัย ลงสนามเลือกตั้งครั้งแรก ปี 2535 สังกัดพรรคสามัคคีธรรม สมัยที่ 2 เป็น ส.ส.โคราชในเสื้อคลุมชาติพัฒนา และ สมัยที่ 3 เป็น ส.ส.สังกัดไทยรักไทย กระทั่งติดบ่วงบ้านเลขที่ 111 จึงหายหน้าหายตาไปจากการเมือง กระทั่งกลับมารับตำแหน่งหัวหน้าพรรคชาติพัฒนา นำทัพเคียงข้างพี่ชาย “สุวัจน์” จนได้เก้าอี้ผู้แทนกลับมา 3 คน อดีตประธานสโมสร “สวาทแคท”

ข่าวที่เกี่ยวข้อง