นายสุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า การรับฟังความคิดเห็นการปฏิรูประบบบำนาญกองทุนประกันสังคม ผ่านการประชุมรับฟังความคิดเห็นฯ จำนวน 12 ครั้ง คือจังหวัดนนทบุรี พระนครศรีอยุธยา เชียงใหม่ พิษณุโลก กระบี่ สงขลา ขอนแก่น อุบลราชธานี ระยอง เพชรบุรี กรุงเทพมหานคร
และล่าสุดที่อาคารอิมแพ็ค ฟอรั่ม เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี ระหว่างเดือนกันยายน – พฤศจิกายน 2560) รวมถึงการแสดงความคิดเห็นผ่านทางเว็บไซต์ สำนักงานประกันสังคม และการประชุมรับฟังความคิดเห็นเจ้าหน้าที่สำนักงานประกันสังคม
โดยมีผู้แสดงความคิดเห็นประกอบด้วย ผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ผู้ประกันตนตามมาตรา 39 นายจ้าง/สถานประกอบการ และผู้แทนภาครัฐที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมฯ ทั่วประเทศ พร้อมทั้งผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ ของสำนักงานประกันสังคม รวมจำนวนทั้งสิ้น 11,885 คน มีผู้ตอบแบบสอบถามจำนวน 10,178 คน คิดเป็น 85.64%
ผลสรุปที่ได้จากการรับฟังความคิดเห็น ทั้ง 12 ครั้งที่ผ่านมา ส่วนใหญ่ผู้เข้าร่วมประชุมต่างเห็นด้วยกับการขยายอายุรับบำนาญชราภาพจาก 55 ปี ออกไปเพื่อให้ผู้ประกันตนมีระยะเวลาในการออมเพิ่มขึ้น และเห็นว่าอายุที่เกิดสิทธิ ควรเป็น 60 ปี (48.42%) รวมทั้งเห็นว่าอายุเกิดสิทธิในอีก 10 ปีข้างหน้าควรเป็น 60 ปี (42.87%)
ทั้งนี้ ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่เห็นว่าควรขยายอายุรับบำนาญชราภาพด้วยวิธีการสมัครใจมากกว่าการใช้วิธีบังคับ (82.74%) โดยผู้ที่เห็นด้วยกับแนวทางการขยายอายุ (60.83%) ส่วนใหญ่เลือกแนวทางที่ 3 คือ เห็นควรให้ขยายอายุการเกิดสิทธิรับบำนาญชราภาพตามหลักสากล และสามารถเลือกรับสิทธิประโยชน์บำเหน็จ ไปส่วนหนึ่งก่อนครบอายุรับบำนาญ เมื่อครบอายุเกิดสิทธิรับบำนาญจะได้รับบำนาญในจำนวนที่ลดลง (37.37%)
รองลงมาเลือกแนวทางที่ 2 เห็นควรให้ดำเนินการขยายอายุรับบำนาญชราภาพตามหลักสากล รับบำเหน็จชดเชยหากไม่สามารถทำงานจนถึงอายุรับบำนาญได้ (36.72%)
และแนวทางที่ 4 ขยายอายุรับบำนาญขั้นต่ำเฉพาะผู้ประกันตนใหม่ สำหรับผู้ประกันตนเดิมสามารถเลือกรับสิทธิประโยชน์บำเหน็จไปส่วนหนึ่งก่อนครบอายุรับบำนาญ แต่เมื่อครบอายุเกิดสิทธิบำนาญจะได้รับบำนาญในจำนวนที่ลดลง (25.91%)
สำหรับผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับแนวทางการขยายอายุให้คงแนวทางเดิมคือ แนวทางที่ 1 คงอายุเกิดสิทธิรับบำนาญชราภาพไว้ที่ 55 ปี เงื่อนไขและเงินบำนาญแบบเดิม (35.95%) และมีผู้ตอบแบบสอบถามเสนอแนวทางอื่น (3.22%)”
นายสุรเดช กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ ผู้เข้าร่วมประชุมส่วนใหญ่ยังเห็นด้วยกับการปรับสูตรการคำนวณบำนาญจากค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย เป็นการคำนวณจากค่าจ้างเฉลี่ยตลอดอายุการทำงาน โดยปรับมูลค่าของค่าจ้างแต่ละปีให้เป็นมูลค่าปัจจุบันก่อนนำมาเฉลี่ย ซึ่งจะทำให้ผู้ประกันตนมาตรา 33 และ 39 ได้รับเงินบำนาญชราภาพต่อเดือนเพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับสูตรเดิม
นอกจากนี้ผู้ประกันตนส่วนใหญ่ยังยินดีให้หักบำนาญส่วนหนึ่งเป็นเบี้ยประกันสุขภาพเพื่อให้รับสิทธิประกันสุขภาพต่อเนื่องหลังพ้นจากการเป็นผู้ประกันตนส่วนทางเลือกในการขยายอายุการรับสิทธิยังมีความเห็นที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการคงแนวทางการรับสิทธิบำนาญชราภาพเมื่ออายุครบ 55 ปี หรือการขยายอายุรับบำนาญชราภาพตามหลักสากล และขยายอายุรับบำนาญขั้นต่ำเฉพาะผู้ประกันตนรายใหม่ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม สำนักงานประกันสังคมจะนำผลในการรับฟังความคิดเห็นการปฏิรูประบบบำนาญนำมาวิเคราะห์ให้ได้ข้อสรุปแนวทางที่เหมาะสมในการจัดทำระบบบำนาญ เพื่อทำให้ผู้ประกันตนได้รับประโยชน์สูงสุดรวมถึงมีคุณภาพชีวิตที่ดีวัยเกษียณ
ซึ่งแสดงถึงความมุ่งมั่นตั้งใจของสำนักงานประกันสังคมที่มีต่อผู้ประกันตน โดยการให้ความสำคัญในเรื่องการสร้างการรับรู้ ความเข้าใจรวมถึงการรับฟังข้อเสนอแนะ ความคิดเห็นต่างๆ จากนายจ้าง/ลูกจ้าง/ผู้ประกันตนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในเรื่องเกี่ยวกับบำนาญชราภาพในระบบประกันสังคม ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ของผู้ประกันตนอย่างแท้จริง