ไม่พบผลการค้นหา
ประกันสังคมลุ้น สนช.พิจารณาร่าง แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.เงินทดแทน เพิ่มสิทธิประโยชน์ให้กับลูกจ้างเจ็บป่วยจากการทำงาน ได้รับค่าทดแทนและระยะเวลาที่เพิ่มขึ้นอย่างเพียงพอ พร้อมมีหลักประกันมั่งคงและยั่งยืน

นายสุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน กล่าวถึงความคืบหน้าการดำเนินการนำร่างพระราชบัญญัติเงินทดแทน (ฉบับที่...) พ.ศ. ... เพิ่มสิทธิประโยชน์ให้กับลูกจ้าง เข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เมื่อวันที่ 23 มี.ค. 2561 ที่ผ่านมา ว่าในที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาเห็นชอบรับร่างหลักการวาระที่ 1 แล้ว และได้มีการแต่งตั้งกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างกฎหมาย สำหรับร่างพระราชบัญญัติเงินทดแทน (ฉบับที่...) พ.ศ. ....

ทั้งนี้ ประเด็นการแก้ไขสาระสำคัญของกฎหมายเงินทดแทนฉบับดังกล่าว อาทิ ขยายความคุ้มครองแก่ลูกจ้างของส่วนราชการ ขยายความคุ้มครองให้ครอบคลุมไปถึงลูกจ้างซึ่งทำงาน ในองค์กรของนายจ้างที่มิได้มีวัตถุประสงค์ เพื่อแสวงหากำไรทางเศรษฐกิจ แก้ไขเพิ่มเติมบทนิยามคำว่า "ภัยพิบัติ" เพื่อให้เกิดความชัดเจนเกี่ยวกับความหมาย หรือลักษณะของภัยพิบัติทำให้นายจ้างได้รับการลดการจ่ายเงินเพิ่ม ตามกฎหมายในท้องที่ที่รัฐมนตรีกำหนด รวมถึงแก้ไขการบังคับใช้เกี่ยวกับขอบเขตการคุ้มครองลูกจ้าง ซึ่งได้รับการจ้างงานในประเทศ (Local staff) ของสถานเอกอัครราชทูตและองค์การระหว่างประเทศ

ทั้งนี้ ได้แก้ไขการออกหลักเกณฑ์เงื่อนไขและอัตราในการจ่ายค่ารักษาพยาบาล ค่าฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงาน และค่าทำศพกรณีลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยจนถึงแก่ความตาย หรือสูญหายให้ดำเนินการออกเป็นกฎกระทรวงเพื่อให้ลูกจ้างได้รับประโยชน์ ดังนี้

1.การเพิ่มอัตราค่าทดแทนกรณีต่างๆ จากร้อยละ 60 เป็นร้อยละ 70 ของค่าจ้างรายเดือน

2.เพิ่มระยะเวลาการจ่ายค่าทดแทนกรณีลูกจ้างทุพพลภาพเป็นไม่น้อยกว่า 15 ปี ปัจจุบันไม่เกิน 15 ปี

3.เพิ่มระยะเวลาการจ่ายค่าทดแทนกรณีลูกจ้างถึงแก่ความตายหรือสูญหายเป็นไม่เกิน 10 ปี ปัจจุบันไม่เกิน 8 ปี

4.แก้ไขหลักเกณฑ์การจ่ายค่าทดแทนสำหรับกรณีลูกจ้าง ไม่สามารถทำงานได้ให้ได้รับตั้งแต่วันแรกที่ลูกจ้างไม่สามารถทำงาน ปัจจุบันการจ่ายค่าทดแทนกรณีลูกจ้างไม่สามารถทำงานติดต่อกันได้เกิน 3 วัน

5.เพิ่มการจ่ายค่าทำศพแก่ผู้จัดการศพของลูกจ้างตามอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง ในส่วนการจ่ายค่าทำศพแก่ผู้จัดการศพของลูกจ้างนั้น ปัจจุบันเป็นจำนวน 100 เท่า ของอัตราสูงสุดของค่าจ้างขั้นต่ำรายวันตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน

ทั้งนี้ นายจ้างก็จะได้รับประโยชน์จากร่างพระราชบัญญัติเงินทดแทนนี้เช่นกันคือได้มีร่างกฎหมายในการปรับลดเงิน เพิ่มจากเดิมร้อยละ 3 ต่อเดือนลดลงเหลือร้อยละ 2 ต่อเดือน และกำหนดเกณฑ์การคำนวณเงินเพิ่มกรณีนายจ้างค้างชำระเงินสมทบ

โดยกำหนดให้จำนวนเงินเพิ่มต้องไม่เกินจำนวนเงินสมทบที่นายจ้างต้องจ่าย ปัจจุบันไม่ได้กำหนดเพดานเงินเพิ่มไว้  

เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวต่อไปอีกว่า สำหรับขั้นตอนการนำร่างกฎหมายพระราชบัญญัติเงินทดแทนที่ทำการแก้ไขฉบับใหม่เข้าสู่การประชุมพิจารณาในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) วาระ 2 และวาระ 3 จากนั้น เมื่อผ่านขั้นตอนต่างๆ ก็จะต้องรอประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป

สำหรับร่างพระราชบัญญัติเงินทดแทนฉบับใหม่นี้ หากมีผลบังคับใช้ก็จะมีความสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำของสังคม และการสร้างโอกาสเข้าถึงบริการของรัฐทำให้ลูกจ้างมีหลักประกันของชีวิตดีขึ้น ค่าทดแทนและระยะเวลาที่เพิ่มขึ้นเพียงพอสำหรับการดำรงชีวิตในกรณีไม่สามารถทำงานได้มีความจำเป็นต้องหยุดงาน และในส่วนของนายจ้างเองก็จะได้รับประโยชน์จากการปรับลดอัตราเงินสมทบ ส่งผลให้สถานภาพด้านการเงินของนายจ้างมีความมั่งคง เสริมสร้างสังคมประเทศชาติให้มีเสถียรภาพเป็นปึกแผ่น มีความมั่นคงมั่งคั่งและยั่งยืนต่อไป