นายสุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน กล่าวถึง กรณีผู้ประกันตนเจ็บป่วยฉุกเฉิน หรือประสบอุบัติเหตุระหว่างการเดินทางในช่วงเทศกาลวันหยุด ว่า ขอให้ผู้ประกันตนอย่าได้กังวลเรื่องค่าใช้จ่ายในการรักษาที่อาจเกิดขึ้น หากเกิดเจ็บป่วยฉุกเฉินหรือได้รับอุบัติเหตุ หรือมีอาการเจ็บป่วยกะทันหัน ลูกจ้าง ผู้ประกันตน สามารถเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้ที่สุดได้ทันที โดยสำนักงานประกันสังคม จะพิจารณาจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้ภายใน 72 ชั่วโมง ตามหลักเกณฑ์และอัตราที่กำหนด
ทั้งนี้ ให้ผู้ประกันตน หรือโรงพยาบาลที่ให้รักษา และผู้ที่เกี่ยวข้อง แจ้งสถานพยาบาลที่ผู้ประกันตนเลือกไว้ทราบโดยเร็ว ตั้งแต่เข้ารับการรักษาเพื่อให้รับผิดชอบค่าบริการทางการแพทย์ให้กับผู้ประกันตน
เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวต่อไปว่า จากนโยบายรัฐบาลและกระทรวงแรงงาน ที่มีนโยบายให้ประชาชนทุกคนได้รับบริการด้านสุขภาพที่มีประสิทธิภาพ สะดวกรวดเร็ว และเป็นธรรมตามสิทธิของผู้ป่วย ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นกระทรวงสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) รวมทั้งโรงพยาบาลรัฐและเอกชน ได้ร่วมบูรณาการความร่วมมือ ในการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพ 3 กองทุนทั้งระบบกองทุนสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ กองทุนประกันสังคม และกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ด้วยการรักษากรณีผู้ป่วยฉุกเฉินที่มีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตสูง โดยผู้ป่วยสามารถเข้ารับบริการจากโรงพยาบาลทุกแห่งทั้งภาครัฐและเอกชน โดยไม่ถูกทวงถามสิทธิก่อนรักษา ไม่ต้องสำรองค่ารักษา ไม่ถูกบ่ายเบี่ยงการรักษา และได้รับการดูแลรักษาจนกว่าอาการจะทุเลา
ขณะที่ นพ.การุณย์ คุณติรานนท์ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า จากนโยบาย “เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่” (Universal Coverage for Emergency Patients: UCEP) ตามที่รัฐบาลได้เริ่มประกาศใช้เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2560 ในช่วงแรกของการดำเนินการยอมรับว่ายังมีปัญหาอยู่บ้าง โดยเฉพาะความไม่เข้าใจเกี่ยวกับการคัดแยกผู้ป่วยว่าเข้าข่ายตามหลักเกณฑ์วินิจฉัยเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตหรือไม่ แต่หลังจากดำเนินการมาระยะหนึ่ง โดยเฉพาะในช่วงหลังมานี้ปรากฎว่าสถานการณ์ดีขึ้นมาก สามารถดำเนินการเพื่อดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตได้ตามนโยบายที่ได้ประกาศไว้ในช่วง 72 ชั่วโมงแรก โดยผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตสามารถเข้ารับการรักษายังโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้ที่สุด ณ จุดเกิดเหตุได้ รวมถึงโรงพยาบาลเอกชน แม้จะไม่ได้อยู่ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพก็ตาม
ขณะที่การเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตดำเนินไปได้ด้วยดีเช่นกัน โดย สปสช.ประมวลผลค่ารักษาพยาบาลภายใน 30 วัน ในกรณีที่เป็นผู้ป่วยสิทธิรักษาพยาบาลสวัสดิการข้าราชการและประกันสังคม สปสช.ส่งข้อมูลเบิกจ่ายไปยังกองทุนตามสิทธิของผู้ป่วย โดยแต่ละกองทุนจะจ่ายค่ารักษากับโรงพยาบาลที่รับดูแลผู้ป่วยภายใน 15 วัน ซึ่งที่ผ่านมาการเบิกจ่ายก็ไม่มีปัญหาอะไร
ทั้งนี้ภายหลังจากการดำเนินนโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่ ได้ช่วยให้ผู้ป่วยที่เจ็บป่วยในช่วงภาวะฉุกเฉินวิกฤตเข้าถึงการรักษาได้ ซึ่งจากข้อมูลการดำเนินนโยบายนี้ครบรอบ 1 ปี มีผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตเข้ารับบริการประมาณ 15,000 ราย หรือเฉลี่ยเดือนละ 1,300 ราย โดยในจำนวนนี้ 2 ใน 3 เป็นผู้ป่วยสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) โดยในกรณีที่พ้นสิทธิรักษาฉุกเฉินวิกฤต 72 ชั่วโมงแล้ว หากผู้ป่วยบัตรทองยังไม่พ้นภาวะฉุกเฉินวิกฤต ผู้ป่วยอยู่ในภาวะไม่พร้อมย้าย หรือโรงพยาบาลที่ผู้ป่วยขึ้นทะเบียนสิทธิบัตรทองไว้ไม่มีเตียงหรืออุปกรณ์รองรับ หรือระบบไม่สามารถหาโรงพยาบาลอื่นเพื่อรองรับดูแลแทนได้ กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจะรับดูแลค่ารักษาต่อเนื่อง โดยผู้ป่วยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย
อย่างไรก็ตามกรณีนี้มีไม่มาก ซึ่งที่ผ่านมา สปสช.สามารถหาโรงพยาบาลรองรับเพื่อนำผู้ป่วยกลับเข้าสู่หน่วยบริการภายใต้ระบบบัตรทองได้เกือบทั้งหมด ประมาณร้อยละ 90 ยกเว้นกรณีที่ผู้ป่วยพ้นวิกฤตแล้วแต่ไม่ยอมย้าย ยังคงต้องการรักษาที่โรงพยาบาลเดิม ผู้ป่วยต้องรับผิดชอบค่ารักษาหลังพ้น 72 ชั่วโมงเอง