ไม่พบผลการค้นหา
คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ยอมรับได้ หากรัฐบาลจะปรับค่าแรงขั้นต่ำเพิ่มอีกวันละ 15 บาท แต่ต้องปรับพร้อมกันทุกพื้นที่ ควบคู่ไปกับมาตรการเสริม ทั้งการควบคุมราคาสินค้า และค่าเดินทาง เพื่อไม่ให้การปรับค่าแรงครั้งนี้สูญเปล่า

นายชาลี ลอยสูง รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย กล่าวว่า การปรับค่าแรงขั้นต่ำของรัฐบาลต้นปีนี้(2561) ซึ่งมีข่าวว่าจะปรับเพิ่มขึ้นอีก 15 บาทต่อวัน รวมเป็น 325 บาทต่อวัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.8 นั้น ถือว่ายังยอมรับได้ แม้ข้อเรียกร้องเดิมจะต้องการให้เพิ่มเป็น 360 บาทต่อวัน

แต่เงื่อนไขสำคัญที่รัฐบาลต้องทำควบคู่ไปด้วย คือมาตรการลดค่าครองชีพ เพื่อไม่ให้การปรับขึ้นค่าแรงครั้งนี้สูญเปล่า ทั้งการควบคุมราคาสินค้า ซึ่งผู้ประกอบการจ่อขึ้นราคาบ้างแล้ว รวมไปถึงค่าเดินทาง โดยเฉพาะรถจักรยานยนต์รับจ้าง ที่ยังพบการร้องเรียนว่า 'แพงเกินจริง' 

นอกจากนี้ การปรับขึ้นค่าแรง จะต้องดำเนินการพร้อมกันทุกพื้นที่ ไม่ควรแบ่งแยกพื้นที่ หรือทยอยขึ้น เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมกัน เนื่องจาก ยังมี แรงงานอีกกว่าร้อยละ 30 ไม่ได้รับการปรับค่าจ้างรายปี ทำให้รายได้ไม่สมดุลกับรายจ่ายที่เพิ่มขึ้น 

คณะกรรมการพิจารณาค่าจ้าง 3 ฝ่าย (ไตรภาคี) ชุดใหญ่ ซึ่งมีปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธาน จะหารือเกี่ยวกับการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำภายในวันที่ 15 มกราคมนี้ โดยค่าแรงที่ปรับเพิ่มจะมีผลทันทีในสิ้นเดือนมกราคมนี้ ตามข้อสั่งการของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ต้องการให้ปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็นของขวัญปีใหม่แก่ผู้ใช้แรงงานทั่วประเทศ

ทั้งนี้ อัตราที่บอร์ดค่าจ้างไตรภาคีเคยพิจารณา คือปรับขึ้นระหว่าง 2-15 บาท ซึ่งอาจขึ้นมากกว่า 15 บาท โดยในครั้งนี้บอร์ดค่าจ้าง จะมาทำอัตราใหม่ เพราะไม่ได้ขึ้นค่าแรง 300 บาท มาตั้งแต่ปี 2557 โดยจะปรับขึ้นพร้อมกันทั้งประเทศ