วันที่ 21 ก.ย. ที่กระทรวงแรงงาน เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน นำโดย ธนพร วิจันทร์ พร้อมด้วย สมยศ พฤกษาเกษมสุข, ธนพงษ์ เชื้อเมืองพาน และภาคีเครือข่ายเพื่อขอเรียกร้องให้ พิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ และเร่งจัดเลือกตั้งคณะกรรมการประกันสังคม รวมถึงเพิ่มสิทธิประโยชน์ทางประกันสังคมอื่นๆ
ธนพร กล่าวว่า ภายหลังรัฐบาลแถลงนโยบายต่อรัฐสภาว่า จะปรับค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท แต่เมื่อเทียบกับนโยบายหลักของพรรคเพื่อไทยซึ่งเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลที่ต้องการจะปรับค่าแรง 600 บาทต่อวัน ดังนั้นเราจึงเสนอว่า มันควรปรับค่าแรงไปที่ 450 บาท เพื่อให้ตัวเลขของค่าแรงสามารถไต่บันไดไปสู่ค่าแรง 600 บาทในปี 2570 ได้
ธนพร กล่าวว่า ในช่วงมีการปรับค่าแรง 300 บาทต่อวัน เท่ากันทั้งประเทศ มันเกิดอำนาจในการซื้อของแรงงานมากขึ้น และกลไกเศรษฐกิจเดินต่อไปได้ โดยในปัจจุบันราคาสินค้าโดยเฉพาะราคาพลังงานนั้นเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก ดังนั้นค่าจ้าง 450 บาทก็ควรจะเท่ากันทั้งประเทศ
ส่วนกรณีที่ผู้ประกอบการอาจจะมีความกังวลเพราะต้องรับภาระที่มากขึ้น มองว่า ในเมื่อรัฐบาลออกนโยบายมาแล้ว นั่นคือการวางแผนจะดูแลทั้งภาคธุรกิจ และลูกจ้างอย่างเป็นธรรม
แม้ว่า รัฐมนตรีว่ากระทรวงแรงงานจะเร่งรัดให้เกิดการเลือกตั้งอนุกรรมการค่าจ้างขั้นต่ำแต่ละจังหวัด เพื่อใช้กลไกของไตรภาคี แต่การใช้กลไกภาคีนั้นต้องสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลว่า แรงงานควรจะได้ค่าแรงขั้นต่ำในตัวเลขที่เพิ่มขึ้น และชัดเจนกับพี่น้องแรงงานว่าแต่ละปีจะขึ้นกี่บาท
อีกทั้งเรื่องสวัสดิการที่ต้องการเรียกร้องได้แก่ เรื่องความปลอดภัยในการทำงานของลูกจ้าง แม้ว่าจะมีการเลือกตั้งกลับเข้ามา และรัฐบาลยืนยันว่า เศรษฐกิจจะดีขึ้น แต่เงินบำนาญถ้วนหน้า 3,000 บาทแก่คนชราก็ยังคงเป็นปัญหา ดังนั้นรัฐควรจะเข้ามาดูแลเราตรงนี้
ธนพร ยังเน้นย้ำถึงบอร์ดประกันสังคมซึ่งเป็นบอร์ดที่ตั้งขึ้นมาด้วย ม.44 จากอำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ทำรัฐประหารในปี 2557 เป็นผลทำให้ต้องยุบบอร์ดที่มาจากการเลือกตั้ง ดังนั้นบอร์ดประกันสังคมที่ดูแลเรื่องกองทุนประกันสังคมเป็นบอร์ดใหญ่ที่รวมถึงสิทธิประโยชน์ของแรงงาน และบอร์ดที่มีอยู่ในปัจจุบันนั้นไม่มีความสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน
ธนพร ชี้ให้เห็นถึงปัญหาการเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคมว่า กระทรวงแรงงานออกระเบียบล้นเกินกฎหมาย โดยระบุว่า ผู้ประกันตน หรือผู้ใช้แรงงานที่จะลงสมัครบอร์ดดังกล่าว ต้องส่งเงินสมทบกองทุน 36 เดือน หรือ 3 ปี ซึ่งระเบียบนั้นไม่สอดคล้องกับช่วงที่ผ่านมาคือ เมื่อมีสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้แรงงานไม่สามารถส่งเงินสมทบได้อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากถูกจ้างออก หรือตกงาน
ยังไม่รวมถึง ผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมที่มีแรงงานข้ามชาติอยู่ล้านกว่าคน แต่ระเบียบกระทรวงแรงงานกลับตัดสิทธิ์ผู้ใช้แรงงานข้ามชาติ ทั้งที่กฎหมายไม่ได้กำหนดไว้ จึงมองว่า พี่น้องแรงงานข้ามชาติก็เป็นผู้ประกันตนเขาจึงมีสิทธิเลือกผู้แทนไปดูแลเรื่องสวัสดิการสังคมของเขา
สำหรับข้อเรียกร้องที่กลุ่มเครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชนเรียกร้องนั้น ได้แก่ การเพิ่มค่าแรง 450 บาท และเพิ่มสิทธิประโยชน์ประกันสังคม ได้แก่ ปรับปรุงคุณภาพการรักษาพยาบาล เพิ่มหมอ ขยายกลุ่มยาแผนปัจจุบัน, เพิ่มค่าทำฟัน 1,500 ค่าคลอดบุตร 20,000 บาท, เพิ่มเงินสงเคราะห์บุตร 1,200 บาทจนถึงอายุ 15 ปี, ทดแทนรายได้ว่างงาน 80% และบำนาญชราภาพ 50%, เลือกตั้งบอร์ดประกันสังคมในเดือนธันวาคม 2566 และผู้ประกันตนทุกคนมีสิทธิเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคม