ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยผลการสำรวจพฤติกรรมผู้บริโภคในช่วงเทศกาลกินเจ ในปี 2561 พบว่า ในช่วงเทศกาลกินเจปีนี้ (9-17 ตุลาคม 2561) คนกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่ยังสนใจกินเจ กลุ่มเป้าหมายหลักที่ตั้งใจจะกินเจ คือ กลุ่มวัยทำงาน (ที่มีอายุ 25 ปีขึ้นไป) ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการกินเจเพื่อลดละกิเลส/งดเว้นการบริโภคเนื้อสัตว์ ส่วนเหตุผลรองลงมาคือ กินเจเพื่อสุขภาพ/อิงกระแสอาหารออร์แกนิก ในขณะที่บางกลุ่มก็เป็นผู้รับประทานอาหารเจ/มังสวิรัติเป็นประจำอยู่แล้ว
ในปีนี้ คาดว่า เทศกาลกินเจปี 2561 จะมีเม็ดเงินใช้จ่ายด้านอาหารและเครื่องดื่มเจของผู้ที่อาศัยอยู่ในเขตกรุงเทพฯ สะพัดกว่า 4,650 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 3.3 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ซึ่งเป็นผลมาจากราคาสินค้าอาหารและเครื่องดื่มเจที่คาดว่าจะปรับสูงขึ้น รวมถึงจำนวนคนที่สนใจกินเจขยับเพิ่มขึ้น จากร้อยละ 51 ในปี 2560 เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 57 ในปีนี้ โดยจำนวนคนที่กินเจเพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่จะเลือกกินเจเป็นบางวัน เฉลี่ยอยู่ที่ 4 วัน และมีค่าใช้จ่ายในการกินเจปีนี้ประมาณ 315 บาท/คน/วัน (เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ที่เฉลี่ยอยู่ที่ 300 บาท/คน/วัน)
สำหรับพฤติกรรมการบริโภคอาหารเจของคนกรุงฯ ปีนี้ พบว่ารสชาติและภาพลักษณ์ของอาหารและเครื่องดื่มเจ ถือเป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคคนกรุงฯ ค่อนข้างสูง ดังนั้น การปรับภาพลักษณ์อาหารเจให้ดูไม่จำเจ น่ารับประทานและให้ดูเป็นอาหารสุขภาพ (มีสารอาหารครบถ้วน แคลอรี่ต่ำ) จะช่วยให้กลุ่มผู้บริโภคมีทัศนคติและมุมมองต่ออาหารเจในเชิงบวกมากขึ้น ซึ่งเอื้อต่อโอกาสในการทำการตลาดในปีนี้และปีต่อๆ ไป
อย่างไรก็ตาม แม้ระยะหลังจะมีกระแสเกี่ยวกับการบริโภคอาหารเจที่อาจทำให้เกิดภาวะขาดสารอาหาร โดยเฉพาะโปรตีน แต่จากกระแสการปนเปื��อนสารพิษต่างๆ ในเนื้อสัตว์ รวมถึงโอกาสในการเจ็บป่วยหรือเป็นโรคได้ง่ายขึ้น ยังเปิดกว้างให้อาหารเจมีโอกาสทำตลาดเพิ่มขึ้น
ดังนั้น หากผู้ประกอบการผลิตและจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มเจ ชูจุดขายเรื่องคุณค่าทางอาหารที่ครบถ้วน มีประโยชน์เชิงสุขภาพ และสร้างความแปลกใหม่ให้กับเมนูอาหารและวัตถุดิบที่ใช้ที่แตกต่างจากคู่แข่ง น่าจะทำให้ผู้บริโภคตัดสินใจเลือกซื้อได้เร็วขึ้น ซึ่งกระตุ้นยอดขายให้กับธุรกิจได้ โดยเฉพาะกับผู้บริโภคอาหารเจที่ไม่ได้จำกัดการบริโภคเฉพาะในช่วงเทศกาล
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :