ไม่พบผลการค้นหา
ประเทศไทยเจอศึกรอบด้าน ทั้งที่เพิ่งจะฟื้นตัวจากสงครามการค้า ยังต้องมาเจอศึกโรคระบาด บั้นทอนอุตสาหกรรรมสำคัญอย่างการท่องเที่ยวและการส่งออก 'ธนาคารโลก' มองสัดส่วนคนจนไทยจะเพิ่มขึ้น จีดีพีไม่มีแนวโน้มอยู่ในแดนบวก

นายเกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสประจำประเทศไทย ธนาคารโลก เปิดเผยว่า ประมาณการตัวเลขการเติบโตของเศรษฐกิจ (จีดีีพี) ของไทย ประจำปี 2563 อยู่ในช่วงติดลบร้อยละ 3 - 5 จากอยู่ในกรอบสมมติฐานปกติ (base-line) และสมมติฐานในสถานการณ์เลวร้ายที่สุด (worst-case) โดยเป็นผลมาจากสภาพเศรษฐกิจที่อ่อนแออยู่ก่อนหน้าแล้วจากสงครามการค้า และการเผชิญกับปัจจัยบั่นทอนต่อเนื่องจากโควิด-19 

เกียรติพงศ์ อริยปรัชญา-ธนาคารโลก
  • เกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสประจำประเทศไทย ธนาคารโลก

อย่างไรก็ตาม ธนาคารโลกมองว่าเศรษฐกิจทั้งไทยและโลกจะเริ่มกลับมาปรับตัวดีขึ้นในปี 2564 ซึ่งตัวเลขประเมินจีดีพีไทยปี 2564 เติบโตที่ร้อยละ 4 และโตต่ออีกเล็กน้อยในปี 2565 ที่ร้อยละ 3.5 

นอกจากนี้ ธนาคารโลกได้ออกรายงานเศรษฐกิจฉบับล่าสุดสำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ในหัวข้อเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกในช่วงเวลาของโควิด-19 ซึ่งมิติของไทยถูกพูดถึงในฐานะประเทศที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 เนื่องจากอุตสาหกรรมหลักที่ใช้ขับเคลื่อนประเทศและมีสัดส่วนถึงร้อยละ 13 - 15 ของจีดีพีรวม ได้รับการแทรกแซงอย่างหนักจากเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือ โควิด-19 

นายเกียรติพงศ์ อธิบายไว้ว่า 2 ประเด็นหลัก คือ ผลกระทบภายนอก ที่จะสร้างความเสียหายให้กับภาคการท่องเที่ยวของไทยรวมไปถึงการส่งออกสินค้า อันเนื่องมาจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดด้วยการจำกัดการเดินทาง รวมไปถึงความอ่อนแอของหลายประเทศและเศรษฐกิจโลก ทำให้อุปสงค์การนำเข้าสินค้ามีน้อยลง นอกจากนี้ เศรษฐกิจจีนที่มีแนวโน้มจะซบลงก็มีผลกระทบโดยตรงต่อเศรษฐกิจไทยเช่นเดียวกัน

ขณะที่ปัจจัยลบอีกฝั่งมาจากภายในประเทศ โดยมีสัดส่วนหลักมาจากอุปสงค์ภายในประเทศที่ลดลง จากภาวะประสบปัญหาด้านรายได้ของทั้งผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็กรวมไปถึงครัวเรือนต่างๆ 

ในรายงานที่แสดงข้อมูลเชิงลึกของประเทศไทยชี้ว่า สัดส่วนประชากรที่อยู่ใต้เส้นความจน หรือผู้ที่มีรายได้น้อยกว่า 182 บาท/วัน จะมีเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 8.4 ของประชากรทั้งประเทศในปี 2562 เป็นร้อยละ 8.7 ในปีนี้ ก่อนจะค่อยๆ ปรับลดมาเป็นร้อยละ 8.4 และร้อยละ 8.1 ในปี 2564 และ 2565 ตามลำดับ

ธนาคารโลก
  • ที่มา : ธนาคารโลก

นอกจากนี้ ตัวเลขในฝั่งหนี้สาธารณะของไทยก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน จากร้อยละ 42.4 ของจีดีพีรวมในปี 2562 เป็นร้อยละ 43.9 ในปีนี้ และเพิ่มขึ้นอีกอย่างต่อเนื่องเป็นร้อยละ 44.4 ในอีก 2 ปีข้างหน้า ซึ่งเมื่อมองลึกลงไปแล้วแม้ธนาคารโลกจะไม่มีตัวเลขหนี้ครัวเรือนแต่ประเมินไว้ว่าอาจจะทรงตัวอยู่เท่าเดิมหรือปรับเพิ่มขึ้น

แนวโน้มของหนี้ครัวเรือนเป็นเครื่องสะท้อนปัญหาสังคมได้อย่างดี เพราะหากประชาชนมีหนี้เยอะแปลว่าพวกเขามีรายได้ไม่เพียงพอต่อการใช้ชีวิตและต้องไปกู้หนี้มามากขึ้น จึงยิ่งเป็นดัชนีบ่งชี้สำคัญว่ารัฐบาลต้องเข้ามาช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบในครั้งนี้ อย่างไรก็ตาม นักเศรษฐศาสตร์ประจำธนาคารโลก ประเทศไทย เตือนว่าไม่ต้องตื่นตระหนกเพราะธนาคารพาณิชย์ของไทยยังมีเสถียรภาพที่ดีอยู่ เช่นกับเสถียรภาพของประเทศที่ดีเช่นเดียวกัน 

ด้าน 'เบอร์กิท ฮานสล์' ผู้จัดการธนาคารโลกประจำประเทศไทย สะท้อนว่า มาตรการที่รัฐบาลปรับใช้ในปัจจุบันทั้งฝั่งนโยบายการเงินและการคลังถือว่าทำได้ดี ณ ช่วงเวลาปัจจุบัน แต่จะต้องมีการบังคับใช้เพิ่มเติม และต้องแบ่งการช่วยเหลือเป็น 2 ระยะ คือระยะระหว่างมาตรการการกักตัวที่ต้องเน้นช่วยผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก โดยเฉพาะในฝั่งอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และเมื่อควบคุมสถานการณ์ได้ประมาณหนึ่งจะสามารถลดการกักตัวได้ ก็ให้หันไปที่การกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านทั้งการผลิตและการใช้จ่ายในประเทศ

เบอร์กิท ยังทิ้งท้ายว่า ขณะนี้ธนาคารโลกเองก็ร่วมมือกับองค์กรด้านการเงินนานาชาติอื่นๆ อาทิ กองทุนการเงินระหว่างประทศ (ไอเอ็มเอฟ) เพื่อร่วมกันหามาตรการช่วยเหลือและเยียวยาประเทศที่ต้องการการสนับสนุนให้ผ่านช่วงวิกฤตนี้ไปด้วยกัน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง;