ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินตลาดรถยนต์ไทยและรถยนต์อีโคคาร์ รถยนต์ใช้พลังงานไฟฟ้าในประเทศไทย ปี 2561 และคาดการณ์ปี 2562 พบว่า นับตั้งแต่การเปิดตัวรถยนต์อีโคคาร์ในปี 2553 จนถึงปัจจุบันไทยได้ก้าวเข้าสู่ยุคแห่งการพัฒนาตลาดรถยนต์ใช้พลังงานไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้นทุกขณะ โดยในปี 2561 ตลาดรถยนต์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมของไทยมีการเติบโตที่โดดเด่น และคาดว่าจะทวีความสำคัญยิ่งขึ้นในปี 2562
ปี 2561 อีโคคาร์และรถยนต์ใช้พลังงานไฟฟ้าเติบโตโดดเด่น
นับตั้งแต่ต้นปี 2561 ยอดขายรถยนต์ในประเทศของไทยเดินหน้าเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องเกินความคาดหมายของทุกฝ่าย โดยกลุ่มรถยนต์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมสามารถทำตัวเลขยอดขายโดดเด่นต่างจากรถยนต์ในกลุ่มอื่น นำโดยยอดขายรถยนต์อีโคคาร์ ขยายตัวถึงกว่าร้อยละ 48 ในช่วง 3 ไตรมาสแรกเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อน จากสาเหตุสำคัญ คือ ราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่มสูงขึ้นในปีนี้ ซึ่งทั้งปีคาดว่าจะอยู่ที่ระดับราคาเฉลี่ย 70 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล (ราคาน้ำมันดิบดูไบ) จากเฉลี่ย 53 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลในปี 2560 จากทิศทางดังกล่าวส่งผลให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าในปี 2561 นี้รถยนต์อีโคคาร์มีแนวโน้มจะขยายตัวกว่าร้อยละ 37 เมื่อเทียบกับปี 2560 หรือคิดเป็นยอดขายรถยนต์อีโคคาร์ 171,000 คัน
นอกจากรถยนต์อีโคคาร์ซึ่งได้รับปัจจัยบวกจากราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นสูงแล้ว รถยนต์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมซึ่งกำลังอยู่ในกระแสของตลาดโลกอย่าง 'รถยนต์ใช้พลังงานไฟฟ้า' ก็เป็นอีกตัวเลือกหนึ่งที่ผู้บริโภคไทยให้ความสนใจและมีทิศทางที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วเช่นกัน
โดยปัจจัยสนับสนุนหลักมาจากระดับราคาที่จับต้องได้มากขึ้นจากการสนับสนุนของภาครัฐในการกำหนดอัตราภาษีสรรพสามิตที่เอื้อให้ผู้บริโภคเข้าถึงรถยนต์ประเภทนี้ได้ง่ายขึ้น และภาพลักษณ์ของรถยนต์ที่อยู่ในกระแสของโลก ทำให้ตลาดรถยนต์ใช้พลังงานไฟฟ้ามีแนวโน้มเติบโตอย่างก้าวกระโดด
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าเมื่อจบปี 2561 นี้ ยอดขายรถยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้าอาจจะมีจำนวนสูงกว่า 21,000 คัน หรือขยายตัวกว่าร้อยละ 75 จากปี 2560 โดยงาน Motor Expo 2018 ครั้งที่ 35 นี้เป็นอีกปัจจัยเร่งหนึ่งที่สำคัญ ทั้งนี้ อาจแบ่งประเภทของรถเป็นยอดขายรถยนต์ไฮบริดประมาณ 12,200 คัน ขยายตัวร้อยละ 270 ขณะที่รถยนต์ปลั๊กอินไฮบริดคาดว่าจะมียอดขายประมาณ 8,745 คัน ขยายตัวร้อยละ 1 และรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ 55 คัน ขยายตัวร้อยละ 104
เมื่อผนวกเข้ากับการเติบโตของรถยนต์ประเภทอื่นๆ โดยเฉพาะรถยนต์อเนกประสงค์ SUV ที่เติบโตได้อย่างดีตลอดทั้งปีจากการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ที่เป็นที่นิยมของตลาด ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าตลาดรถยนต์ในประเทศของไทยปี 2561 นี้น่าจะขยายตัวสูงประมาณร้อยละ 18 คิดเป็นตัวเลขยอดขายสูงถึงประมาณ 1,030,000 คัน โดยในครั้งนี้ยอดขายรถยนต์ได้ทะยานกลับขึ้นไปอยู่ที่ระดับล้านคันอีกครั้ง หลังจากที่เคยทำได้เหนือระดับล้านคันในช่วงปี 2555 ถึง 2556 จากผลของโครงการรถยนต์คันแรก เนื่องจากมีหลายปัจจัยบวกที่เข้ามา เช่น การผ่อนคลายหลักเกณฑ์การปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อ และการเปิดตัวรถรุ่นใหม่หลายรุ่นพร้อมโปรโมชั่นการตลาดที่จูงใจ รวมถึงรถยนต์ในโครงการรถคันแรกชุดสุดท้ายถึงกำหนดครบ 5 ปี เป็นต้น
ค่ายรถเดินหน้าลงทุน-นโยบายรัฐหนุนตลาดรถยนต์ใช้พลังงานไฟฟ้า ปี'62
สำหรับปี 2562 รถยนต์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะรถยนต์ใช้พลังงานไฟฟ้า คาดว่าจะยังเป็นประเภทรถยนต์ที่ได้รับการตอบรับที่ดีจากตลาดรถยนต์ไทยอย่างต่อเนื่อง โดยนอกจากปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจของผู้บริโภคอย่างราคาน้ำมันที่ทรงตัวในระดับสูงเช่นเดียวกับปี 2561 แล้วนั้น ยังมีปัจจัยหลักอื่นที่สำคัญอีก 2 ปัจจัย คือ การเดินหน้าลงทุนของค่ายรถยนต์ และนโยบายภาครัฐ ที่สนับสนุนให้รถยนต์ใช้พลังงานไฟฟ้าน่าจะได้รับการตอบรับอย่างดีในปี 2562 โดยมีรายละเอียดดังนี้
คาดปี 62 รถยนต์ใช้พลังงานไฟฟ้าขยายตัวร้อยละ 76-83
จากนโยบายดังกล่าวนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าน่าจะช่วยกระตุ้นให้รถยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าเติบโตในไทยเร็วยิ่งขึ้น โดยเฉพาะรถยนต์อีโคคาร์ไฮบริด ซึ่งมีความเป็นไปได้ก่อนที่ค่ายรถจะเริ่มนำมาทำตลาดในช่วงแรก จากความพร้อมด้านเทคโนโลยี ต้นทุน และโอกาสในการได้รับการตอบรับจากตลาดที่สูงกว่ารถยนต์อีโคคาร์ประเภทอื่นๆ
โดยในกรณีที่รถยนต์โครงการ 'อีโคอีวี' ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีสรรพสามิตเช่นเดียวกับรถยนต์ใช้พลังงานไฟฟ้าประเภทอื่น เช่น การปรับลดภาษีสรรพสามิตลงครึ่งหนึ่ง ก็คาดว่าค่ายรถอาจสามารถตั้งราคารถยนต์อีโคคาร์ไฮบริดได้ใกล้เคียงโดยอาจสูงกว่าราคารถยนต์รุ่นปกติเล็กน้อย ซึ่งระดับราคารถยนต์ที่ไม่ต่างกันมากนี้ คาดว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นให้สัดส่วนความต้องการรถยนต์อีโคคาร์ไฮบริดเพิ่มสูงขึ้น และกลายมาเป็นมาตรฐานใหม่ของตลาดรถยนต์อีโคคาร์
ส่วนรถยนต์อีโคคาร์ปลั๊กอินไฮบริด และรถยนต์อีโคคาร์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า อาจจะต้องรอให้ระดับเทคโนโลยีของค่ายรถยนต์ต่างๆ มีความพร้อมมากกว่านี้ รวมถึงในเรื่องของราคาแบตเตอรี่ที่ควรจะต้องลดลงอยู่ในระดับที่จับต้องได้มากขึ้น
จากปัจจัยต่างๆ ดังกล่าว ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่ายอดขายรถยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้าในประเทศของไทยอาจจะเพิ่มจำนวนสูงขึ้นไปอีกในปี 2562 โดยน่าจะอยู่ระหว่าง 37,000 ถึง 38,500 คัน หรือขยายตัวกว่าร้อยละ 76 ถึง 83 จากปี 2561 โดยแบ่งเป็นยอดขายรถยนต์ไฮบริดประมาณ 25,100 ถึง 26,050 คัน หรือขยายตัวร้อยละ 106 ถึง 114 ขณะที่รถยนต์ปลั๊กอินไฮบริดคาดว่าจะมียอดขายประมาณ 11,500 ถึง 12,000 คัน หรือขยายตัวร้อยละ 32 ถึง 37 และรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ 400 ถึง 450 คัน ขยายตัวร้อยละ 627 ถึง 718
อย่างไรก็ตาม แม้รถยนต์ใช้พลังงานไฟฟ้าจะมีโอกาสเติบโตได้ดี ทว่าสำหรับตลาดรถยนต์โดยรวมในปี 2562 กลับมีแนวโน้มชะลอตัวลง ท่ามกลางภาวะหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง รวมถึงการเพิ่มความระมัดระวังดูแลคุณภาพสินเชื่อของบริษัทลีสซิ่งต่างๆ ภายหลังจากพบปัญหาหนี้เสียที่เพิ่มสูงขึ้นมาก แม้ตลาดจะมีปัจจัยบวกจากการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ของค่ายรถต่างๆ การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในช่วงต้นปีหน้า และการลงทุนภาครัฐกับภาคเอกชนที่ยังคงมีโอกาสขยายตัว
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ยอดขายรถยนต์ในประเทศโดยรวมปี 2562 น่าจะปรับลดลงไปสู่ระดับ 980,000 ถึง 1,010,000 คัน หรือหดตัวร้อยละ 2 ถึง 5 เมื่อเทียบกับปี 2561 ซึ่งเป็นการปรับกลับเข้าสู่ระดับปกติมากขึ้น หลังจากที่ในปี 2561ยอดขายรถยนต์มีการขยายตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :