ไม่พบผลการค้นหา
เสวนา 'รัฐธรรมนูญใหม่สู่รัฐสวัสดิการ' ชี้ทางออกพาประเทศพ้นจากความเหลื่อมล้ำ แนะบริหารจัดสรรงบประมาณอย่างเหมาะสม หาช่องทางภาษีใหม่ อุดหนุนสวัสดิการ เชื่อเป็นไปได้จริง

วันที่ 28 พ.ย. ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ จัดมหกรรม "รัฐธรรมนูญใหม่สู่รัฐสวัสดิการ: ประชาธิปไตยรัฐธรรมนูญ รัฐสวัสดิการ” โดยมีการเสวนาหัวข้อ “ความเป็นไปได้ของการจัดสรรงบประมาณในประเทศเพื่อจัดทำรัฐสวัสดิการ”

นิมิตร์ เทียนอุดม เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ กล่าวว่า รัฐบาลประยุทธ์ มีความฉลาดอยู่นิดหนึ่ง ที่ยังไม่ทิ้งข้อเสนอเรื่องสวัสดิการผู้สูงอายุ ไม่ได้ตัดทิ้งร่าง พ.ร.บ.บำนาญแห่งชาติของภาคประชาชน เรื่องนี้กรรมาธิการสวัสดิการและสังคม ให้ความสนใจ อย่างไรก็ตามทางกฤษฎีกาได้แนะนำต่อรัฐบาลว่าถ้าต้องทำเรื่องนี้ให้รัฐดำเนินการแก้ พ.ร.บ.ผู้สูงอายุแทน โดยให้มีการเปลี่ยนมาเป็น พ.ร.บ.ผู้สูงอายุและบำนาญแห่งชาติ ภาคประชาชนคงต้องยอมแลกเพื่อให้เรามีสวัสดิการ โดยยืนยันว่าร่าง พ.ร.บ.ผู้สูงอายุและบำนาญฯ ต้องมีสาระสำคัญ 3 เรื่องคือ การมีบำนาญถ้วนหน้า พอเพียง และสม่ำเสมอ ทุกเดือน

นอกจากนี้ ขอประชาชนเฝ้าติดตามการพิจารณา พ.ร.บ.ที่เกี่ยวข้องกับสวัสดิการผู้อายุอย่างใกล้ชิด และ ช่วยจดชื่อ ส.ส.ที่อภิปรายไม่เห็นด้วย แต่ส่วนตัวเชื่อว่า ส.ส.ทุกคนจะสนับสนุน


ขอจ่ายสัดส่วนประชาชน = ราชการ

เดชรัตน สุขกำเนิด นักวิชาการอิสระ กล่าวว่า คำว่ารัฐสวัสดิการไม่ได้ครอบคลุมแค่เงิน 3,000 บาทต่อเดือน พื้นฐานบำนาญแห่งชาตินั้นเป็นหัวใจสำคัญที่ไม่ได้ครอบคลุมเฉพาะผู้สูงอายุเท่านั้น แต่หมายถึงทุกคน ที่ผ่านมามีคนถามว่าจะเอาเงินมาจากไหน ต้องชี้แจงว่าวันนี้ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางถึงค่อนข้างสูง และถ้าเทียบกับประเทศที่มีเศรษฐกิจสถานะในระดับเดียวกัน เช่น เวียดนามซึ่งจากข้อมูลจากธนาคารโลกพบว่าประเทศไทยจ่ายสวัสดิการคิดเป็น 3.7% ของจีดีพี ขณะที่เวียดนามจ่ายอยู่ที่ 6% ดังนั้นประเทศไทยไม่ได้จ่ายมากกว่า แต่ที่ผ่านมาส่วนใหญ่จะอยู่ที่กลุ่มข้าราชการ 

ดังนั้นข้อเสนอคือ ปรับเปลี่ยนการจัดสรรงบอุดหนุนให้กับประชนทั่วไป กับข้าราชการ ปี 2565 ในอัตราส่วน 1 : 1 ข้าราชการได้เท่าไหร่ ประชาชนได้เท่านั้น และเพิ่มขึ้นในสัดส่วนที่ชัดเจนในปีต่อๆ ไป พร้อมขอเสนอเปลี่ยนหมวดสวัสดิการประชาชนโดยตรง โดยรวมสวัสดิการที่ถูกแบ่งการดูแลออกไปอยู่ในหน่วยงานต่างๆ นั้นให้มาอยู่รวมกัน อาทิ การรักษาพยาบาล เบี้ยผู้สูงอายุ เงินอุดหนุนเด็ก เป็นต้น แล้วทำการจัดสรรงบประมาณโดยตรง 


พิธา เชื่อรัฐสวัสดิการเกิดได้จริง

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวตอนหนึ่งว่า รัฐสวัสดิการ คือ การที่รัฐบริหารจัดการทรัพยากรของประเทศให้มีรายได้อย่างถ้วนหน้า และการให้บริการทางสาธารณะ ซึ่งยืนยันว่า รัฐสวัสดิการเกิดขึ้นได้จริง เช่น ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) บำนาญแห่งชาติ ที่วางกรอบวงเงินไว้ที่ 3,000 บาท ต่อเดือน เทียบเท่า 'เส้นความยากจน' ซึ่งไม่ใช่ประชานิยมแต่เป็นสิทธิของคนวัยชราที่ต้องมีความยั่งยืน ตนจึงคิดล่วงหน้า 20 ปี เฉลี่ยต้องมีงบประมาณเพิ่มขึ้น 5 แสนล้านบาท เพราะเราอยู่ในสังคมสูงวัยแบบหลีกเลี่ยงไม่ได้ 1 ใน 5 ของประชากรไทยจะเป็นผู้สูงอายุ โดยแหล่งรายได้ที่ทำให้สวัสดิการเบี้ยบำนาญเป็นไปได้จะมีความผูกพันในระยะยาว และมีความจำเป็นต้องหาแหล่งภาษีใหม่ พร้อมทั้งเสนอให้ปรับลดงบประมาณกองทัพ ให้เหลือ 1% เพื่อนำมาสนับสนุนในรัฐสวัสดิการ 


แก้รัฐธรรมนูญ เปลี่ยนความสงเคราะห์เป็นสวัสดิการ

พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง หัวหน้าพรรคประชาชาติ กล่าวตอนหนึ่งว่า การไปสู่รัฐสวัสดิการมีความยากและความท้าทาย เพราะการปกครองเราถือรัฐธรรมนูญนิยม คือรัฐธรรมนูญต้องเป็นลายลักษณ์อักษร ต้องมีการแบ่งแยกหน้าที่ เราต้องยอมรับว่าเมื่อเราเป็นรัฐธรรมนูญนิยมย่อมมีการแย่งชิงอำนาจ แย่งผลประโยชน์ผ่านรัฐธรรมนูญ ประเทศไทยวนเวียนอยู่ในวงจรรัฐ 4 วงจร คือ รัฐประหาร รัฐธรรมนูญ รัฐสภา และรัฐบาล แต่ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็มีรัฐอิสระด้วย คือ องค์กรอิสระและองค์กรตามรัฐธรรมนูญที่ไม่ได้มาจากประชาชน แต่มีอำนาจมากจนตรวจสอบไม่ได้ คอยจัดการตัวแทนของประชาชนที่มาจากการเลือกตั้งเหมือนพรรคอนาคตใหม่ก็ถูกจัดการให้สาบสูญไป

รัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นเรื่องการสงเคราะห์ทั้งหมดซึ่งไม่มีสิทธิเสมอกันเลย เช่น ผู้สูงอายุต้องเป็นผู้ยากไร้ต้องไปพิสูจน์ความจน ไปทำลายศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์โดยให้ข้าราชการตรวจสอบ ดังนั้น เมื่อดูในรัฐธรรมนูญไม่มีเลยเรื่องรัฐสวัสดิการแต่เป็นเรื่องสงเคราะห์ทั้งหมด และพอดูเรื่องบประมาณแทบไม่มีทางออกในเรื่องนี้ เนื่องจากงบประมาณต้องนำไปจัดการเรื่องยุทธศาสตร์ชาติ แผนปฏิรูปประเทศ และแผนพัฒนาเศรษฐกิจ ที่ไม่มีเรื่องรัฐสวัสดิการ โดยเฉพาะยุทธศาสตร์ชาติและแผนปฏิรูปประเทศที่ไปเอามรดกของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มาปฏิบัติ

ทั้งนี้ ถ้าไม่มีรัฐสวัสดิการเราไม่มีทางพ้นจากความเหลื่อมล้ำ พ้นจากความยากจนได้ วิธีแก้ความเหลื่อมล้ำไม่ต้องแก้อะไรมากแค่สร้างรัฐสวัสดิการ ไม่ว่าจะรวยหรือจนก็ต้องได้รับเหมือนกันเขียนในรัฐธรรมนูญให้คนมีสิทธิเท่ากัน ถ้าเราเริ่มที่รัฐสวัสดิการอย่างน้อยเราจะพาประเทศไปข้างหน้าได้