ไม่พบผลการค้นหา
ภาคประชาสังคมด้านการเข้าถึงยาบุกกรมทรัพย์สินทางปัญญา เร่งปฏิเสธคำขอสิทธิบัตรยารักษาโควิด ขอแค่ตอกเม็ดให้เล็กลงกินง่ายไม่มีขั้นตอนการประดิษฐ์ที่สูงขึ้น ชี้องค์การเภสัชพร้อมผลิตราคาถูกกว่าครึ่ง

เมื่อวันที่ 26 ม.ค.64) นิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ พร้อมด้วยตัวแทนเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ประเทศไทย ศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบ (กพย.) จุฬาฯ และ กลุ่มเอฟทีเอ ว็อทช์ ได้หารือร่วมกับ วุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อหารือให้กรมทรัพย์สินทางปัญญาเร่งพิจารณายกคำขอสิทธิบัตรยาฟาวิพิราเวีย (Favipiravir) ซึ่งเป็นยาสำคัญในการรักษาโรคโรคโควิด-19

"ในประเทศไทย ยาดังกล่าวไม่เคยมีคำขอสิทธิบัตรโครงสร้างหลักของยา ในต่างประเทศมีแต่หมดสิทธิบัตรไปตั้งแต่ปี 2562 ซึ่งเป็นเหตุผลที่ทำให้จีนสามารถผลิตยาชื่อสามัญได้ แต่ในประเทศไทยกลับมี คำขอเลขที่ 11010001988 ของบริษัทฟูจิฟิล์ม สูตรเม็ดยาแบนและผงกรานูเลทต์ เป็นแค่การตอกอัดเม็ดให้เล็กเพื่อสะดวกแก่การกิน อีกทั้งยังเขียนคำขอไว้อย่างกว้างและครอบคลุมไปหมด ซึ่งถือเป็นลักษณะของคำขอสิทธิบัครแบบ evergreening ไม่มีความใหม่และไม่มีขั้นตอนการประดิษฐ์ที่สูงชึ้น กรมทรัพย์สินทางปัญญาจึงควรเร่งพิจารณาและยกเลิกคำขอสิทธิบัตรดังกล่าว เพราะผู้ขอได้ยื่นตรวจสอบการประดิษฐ์แล้ว เพื่อเปิดให้ผู้ผลิตยาชื่อสามัญในไทยสามารถผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้าได้ ความล่าช้าในการพิจารณาของกรมจะทำให้คนไทยเสียโอกาส" นิมิตร์กล่าว

ปัจจุบัน กรมควบคุมโรคสั่งซื้อยาฟาวิพิราเวีย เม็ดละ 125 บาท ผู้ป่วยโควิดหนึ่งรายต้องใช้ครบคอร์ส คอร์สละ 50 เม็ด บางรายอาจจะต้องใช้ถึง 2 คอร์ส

มีรายงานข่าวแจ้งว่า สถาบันวิจัยและพัฒนาขององค์การเภสัชกรรมสามารถผลิตยาตัวนี้ได้แล้วในราคาถูกกว่าครึ่งหนึ่ง จะทำให้หนึ่งคอร์สการรักษาจาก 6,250 บาท ลดลงต่ำกว่า 3,000 บาท

ทางด้านอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กล่าวว่า จะเร่งพิจารณาด้วยความรอบคอบ และการปฏิเสธหรือรับคำขอจะมีคำอธิบายที่ชัดเจน เข้าใจความห่วงใยของภาคประชาสังคม แต่ก็อยากให้ทางองค์การเภสัชลองเจรจากับทางฟูจิฟิล์มเพื่อขอผลิต

ผศ.ดร.ภญ.ยุพดี ศิริสินสุข รองผู้จัดการศูนย์วิชาการเฝ้าระะวังและพัฒนาระบบยา ระบุว่า สำหรับยาตัวนี้ ประเทศไทยไม่จำเป็นต้องไปทำสัญญาร่วมผลิตกับฟูจิฟิล์ม เนื่องจากคำขอดังกล่าว ไม่มีคุณสมบัติที่จะได้รับสิทธิบัตรตามมาตรา 9 ของ พ.ร.บ.สิทธิบัตร จึงอยากให้ทางกรมทรัพย์สินทางปัญญาเร่งพิจารณาเพื่อประโยชน์ของการสาธารณสุขไทยที่ขณะนี้เริ่มมีผู้ป่วยในระลอกใหม่เพิ่มมากขึ้นๆ และที่ผ่านมา สำนักสิทธิบัตร ประเทศอินเดีย ก็ได้ยกเลิกคำขอฯ นี้จนสามารถผลิตยาชื่อสามัญของฟาวิพิราเวียได้แล้ว

"ด้วยขีดความสามารถขณะนี้ องค์การเภสัชกรรมก็สามารถผลิตยาชื่อสามัญนี้ได้เช่นเดียวกัน จะทำให้ประเทศไทยสามารถประหยัดงบประมาณค่ายาลงได้มากกว่าครึ่ง ไปใช้ในความจำเป็นด้านอื่นๆ ทั้งนี้ภาคประชาสังคมจะติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด" รองผู้จัดการศูนย์วิชาการเฝ้าระะวังและพัฒนาระบบยากล่าว