ไม่พบผลการค้นหา
เจ้าหญิงแอนน์มองว่าสารคดีดังกล่าวเป็นความคิดที่น่ารังเกียจ ขณะควีนฯ ใช้สรรพนามเรียกชายผู้หนึ่งว่า 'กอริลลา'

สารคดีสะท้อนเรื่องราวและประวัติศาสตร์ของราชวงศ์อังกฤษถูกสร้างขึ้นอย่างมากมายตอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา บ้างเพื่อบอกเล่าเรื่องราวประทับใจ บ้างอาจหาญออกมาตั้งคำถามกับประเด็นอ่อนไหวหรือบางกรณีที่ยังไม่อาจหาข้อสรุปได้อย่างชัดเจน (อย่างน้อยที่สุดในความรู้สึกของประชาชน)

ซีรีส์ 'เดอะ คราวน์' หรือ The Crown ซีซั่นล่าสุดสร้างความฮือฮาในหมู่ผู้ชมอย่างมากกับเรื่องราวการปลูกต้นรักระหว่าง ‘ไดอานา สเปนเซอร์’ (รับบทโดย เอ็มมา คอร์ริน) และ เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ ซึ่งนำไปสู่การเดือดเนื้อร้อนใจของฝั่งรัฐบาล จน 'โอลิเวอร์ ดาวน์เดน' รัฐมนตรีกระทรวงดิจิทัล วัฒนธรรม สื่อและกีฬา ต้องออกมาเรียกร้องให้เน็ตฟลิกซ์ (Netflix) ในฐานะผู้สร้าง ชี้แจงต่อประชาชนว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในซีรีส์เป็นเพียงเรื่องแต่งไม่ใช่ความจริง 

อังกฤษ ราชวงศ์ เอเอฟพี
  • ภาพถ่ายราชวงศ์ในงานพระราชพิธีอภิเษกสมรสระหว่าง เจ้าชายชาร์ลส์ เจ้าชายแห่งเวลส์ (กลางขวา) และ ไดอานา เจ้าหญิงแห่งเวลส์ (กลางซ้าย)

ในยุคปัจจุบันเน็ตฟลิกซ์เลือกตอบกลับคำท้วงติงของ รมว.วัฒนธรรม ด้วยวาทกรรมย้ำจุดยืนชัดว่าแพลตฟอร์มเชื่อมั่นในศักยภาพการแยกความจริงออกจากเรื่องแต่งของผู้ชม “ทั้งยังไม่มีนโยบายบายหรือเห็นถึงความสำคัญที่ต้องแจ้งผู้ชมก่อนทุกครั้งเมื่อชมซีรีส์เรื่องนี้” สิ่งเหล่านี้กลับไม่เกิดขึ้นกับสารคดีเจาะลึกครอบครัวควีนอลิซาเบธที่ 2 ซึ่งฉายผ่านช่องบีบีซี


เกิดอะไรใน ‘ราชวงศ์’ 

‘ราชวงศ์’ หรือ Royal Family สารคดีความยาว 110 นาที ออกฉายครั้งแรกเมื่อปี 2512 โดยได้รับการประเมินว่ามีผู้ชมมากถึง 30 ล้านคน เฉพาะในสหราชอาณาจักร ขณะที่ตัวเลขการรับชมทั่วโลกอาจสูงถึง 350 ล้านคน

แม้จะประสบความสำเร็จขนาดนั้นแต่สารคดีดังกล่าวกลับถูกห้ามเผยแพร่ในเวลาต่อมา ทว่าช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา บัญชีผู้ใช้งานหนึ่งบนยูทูบกลับนำเรื่องราวลึกซึ้งของราชวงศ์อังกฤษมาเผยแพร่อีกครั้ง 

ซีเอ็นเอ็นเปิดเผยว่าสำนักข่าวติดต่อขอความเห็นจากบีบีซีแต่ไม่ได้รับคำตอบใดๆ เกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้น อย่างไรก็ดี บีบีซี ยอมรับว่ามีการส่งจดหมายถึงแพลตฟอร์มยูทูบเพื่อให้นำสารคดีดังกล่าวออกจากประเด็นลิขสิทธิ์ ซึ่งยูทูบชี้แจงต่อว่า “เมื่อได้รับเอกสารลิขสิทธิ์ เราลบเนื้อหาดังกล่าวออกทันที”

สิ่งที่แตกต่างอย่างมีนัยสำคัญที่สุดระหว่าง Royal Family และ The Crown คือคอนเทนต์แรกเป็นสารคดีที่ควีนอลิซาเบธที่ 2 ยอมให้สำนักข่าวบีบีซีเข้าไปตามเก็บภาพการใช้ชีวิตประจำวันของราชวงศ์อย่างแท้จริง ขณะที่คอนเทนต์ที่สองเป็นเพียงซีรีส์แต่งขึ้นและใช้ผู้แสดงแทน 

เป้าหมายที่แท้จริงของสารคดีดังกล่าวคือการทำให้ประชาชนในช่วงทศวรรษ 60 ไม่รู้สึกว่าครอบครัวกษัตริย์อยู่ไกลเกินไปหรือห่างจากประชาชนมากเกินไป ทว่าไม่ใช่สมาชิกราชวงศ์ทุกพระองค์เห็นด้วยหรือชอบใจกับการที่สื่อเข้าไปลุกล้ำพื้นที่ส่วนตัวขนาดนั้น

อังกฤษ ราชวงศ์ เอเอฟพี
  • ภาพเจ้าชายชาร์ลส์ (ขวา) กับพระสหายสมัยมหาวิทยาลัย เมื่อ พ.ค. 2512

‘แอนน์ อลิซาเบธ อลิซ หลุยส์’ หรือเจ้าหญิงแอนน์ พระราชกุมารีในสมเด็จพระราชินีนาถอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร กับ เจ้าชายฟิลิป ดยุกแห่งเอดินบะระ เคยให้สัมภาษณ์กับสื่อว่า “ข้าพเจ้าไม่เคยชอบแนวความคิดในการถ่ายทำ ‘สารคดีราชวงศ์’ ข้าพเจ้าคิดมาตลอดว่ามันเป็นความคิดที่น่ารังเกียจ”

สิ่งที่ถูกถ่ายทอดในสารคดีนั้นไม่เพียงสะท้อนเรื่องราวส่วนตัวของราชวงศ์โดยทั่วไป อาทิ การใช้ชีวิตประจำวัน หรือการออกไปพักผ่อนหย่อนใจ แต่ยังกลายเป็นประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

ในช่วงท้ายของสารคดีดังกล่าว ควีนอลิซาเบธที่ 2 ย้อนไปเล่าถึงเหตุกาณ์ที่นายกรัฐมนตรีของอังฤษในขณะนั้น (ไม่เปิดเผยนาม) เข้ามาแจ้งว่า “มีกอริลลาคนนึงเตรียมพร้อมมาเข้าพบ” (There’s a gorilla coming on for a meeting.)

โดยควีนอลิซาเบธที่ 2 เล่าให้ครอบครัวฟังต่อว่า เมื่อได้ยินเช่นนั้น เธอจึงหันไปตำหนินายกคนดังกล่าวที่ใช้ถ้อยคำไม่สุภาพในการเอ่ยถึงผู้อื่น แต่กลับเล่าต่อว่า “ฉันยืนอยู่ตรงกลางของห้อง กดกระดิ่งให้สัญญาณ และประตูก็เปิดออกให้พบกับกอริลลา ฉันนี่อกสั่นขวัญแขวนเลย ตัวเขาสั้นและแขนก็ยาวมาก”

(I stood in the middle of the room and pressed the bell and the doors opened and there was a gorilla. I had the most terrible trouble. He had a short body and long arms.)

แม้การใช้สรรพนามเรียกผู้อื่นด้วยคำข้างต้นอาจทำให้ผู้คนในยุคปัจจุบันรู้สึกไม่เห็นด้วย แต่ประชาชนที่ได้รับชมสารคดีชิ้นนี้อดีตแทบไม่มีปฏิกิริยาใดๆ กับสรรพนามดังกล่าว อย่างไรก็ดี หลายฝ่ายเชื่อว่าการเลือกใช้คำเหล่านั้นคือหนึ่งในเหตุผลสำคัญที่ทำให้สารคดีดังกล่าวถูกแบนมานับทศวรรษ

อ้างอิง; CNN, PEOPLE

ข่าวที่เกี่ยวข้อง;