วัฒนธรรมหันหลังใส่ (cancel culture) หรือการเลิกสนับสนุนบุคคล กลุ่มบุคคล ไปจนถึงองค์กรที่กระทำการบางอย่างขัดต่อบรรทัดฐานทางสังคม(ของคนกลุ่มหนึ่งกลุ่มใด) กลายมาเป็นเครื่องมือที่ได้รับความนิยมอย่างสูงในยุคแห่งโลกออนไลน์ที่แฮชแท็กในทวิตเตอร์สามารถพาผู้คนนับล้านจากหลากหลายประเทศทั่วโลกมารุมประณาม ต่อว่า ด่าทอผู้ที่สังคมส่วนหนึ่งเชื่อว่ากระทำผิด
วิจัยของมหาวิทยาลัยฮาร์เวิร์ดสะท้อนว่า กลยุทธ์สำคัญในการ 'แคนเซิล' คนหนึ่งๆ บนโลกออนไลน์ จะเน้นไปที่การทำให้ขายหน้าหรืออับอายเป็นหลัก (shame) โดยระดับความรุนแรงจะขึ้นอยู่กับว่าสังคมนั้นๆ มองว่า 'เหยื่อ' หรือ 'ผู้ที่เชื่อว่ากระทำผิด' กระทำการที่รุนแรงมากน้อยแค่ไหน
การลงโทษทางสังคม (social sanction) ข้างต้น สามารถเกิดได้กับคนดังทั่วโลกในทุกสาขาอาชีพ อาทิ กรณีของ 'เจ.เค. โรว์ลิง' ผู้แต่งวรรณกรรมเยาวชนชื่อดังอย่างแฮรี พอตเตอร์ ที่มีประเด็นกับกลุ่มแอลจีบีทีคิวหรือผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศจากทวีตข้อความหมิ่นเหม่สูงของเธอเมื่อเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา หรือกับพิธีกรชื่อดังอย่าง 'เอลเลน ดีเจนเนอเรส' ที่ถูกอดีตพนักงานหลายรายออกมาแฉพฤติกรรม 'หน้ากล้องอย่าง ลับหลังอีกอย่าง' จนสังคมตกใจและพากันเมินรายการทอล์กโชว์ The Ellen DeGeneres ของเธอจำนวนไม่น้อย
ล่าสุด กระแสดังกล่าวเดินทางมาเยือน ลลิษา มโนบาล หรือ ลิซ่า แบล็กพิงก์ จากชนวนเหตุที่กลุ่มคนบางส่วนต้องการเห็นเธอออกมาแสดงจุดยืนต่อกระแสการเมืองบ้านเกิดในฐานะผู้มีอิทธิพลทางสังคมทั้งส่วนของชื่อเสียงวงที่โด่งดังไปทั่วโลกและส่วนบุคคลที่มียอดผู้ติดตามในอินสตาแกรมสูงกว่า 42 ล้านคน จนกลายมาเป็นแฮชแท็ก #แบนลิซ่า ซึ่งเป็นกระแสที่เกิดขึ้นค่อนข้างต่อเนื่องนับตั้งแต่ประเทศไทยเริ่มมีการลงถนนเรียกร้องประชาธิปไตย และยิ่งรุนแรงขึ้น เมื่อเหตุการณ์ดังกล่าวกลายเป็นที่สนใจของสื่อทั่วโลก รวมไปถึงสื่อของประเทศเกาหลีใต้ที่ติดตามสถานการณ์การชุมนุมค่อนข้างใกล้ชิด
ตามมาตรา 34 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับปี 2560 ระบุว่า : "บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อ ความหมายโดยวิธีอื่น การจำกัดเสรีภาพดังกล่าวจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเฉพาะเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ เพื่อคุ้มครองสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อป้องกันสุขภาพของประชาชน"
ตีความโดยง่ายได้ว่า หากคุณประสงค์จะแสดงออกทางการเมืองภายใต้กฎหมายสูงสุดของประเทศคุณย่อมทำได้และหากผู้หนึ่งผู้ใดไม่ประสงค์จะทำเช่นนั้นเขาย่อมทำได้เช่นเดียวกัน
พฤติกรรมสาดเสียเทเสียใส่บุคคลที่สังคมส่วนหนึ่งเห็นว่าทำผิด ถึงขั้นส่งให้ 2 ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่มีวิธีบริหารประเทศแตกต่างกันสิ้นเชิงอย่าง 'บารัก โอบามา' และ 'โดนัลด์ ทรัมป์' มีความเห็นไปในทางเดียวกัน โดยประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนที่ 44 กล่าวในช่วงเดือน พ.ย. 2562 ว่า พฤติกรรมข้างต้นไม่ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นให้กับสังคมแม้แต่น้อยและนั่นก็ไม่อาจนับว่าเป็นความพยายามเคลื่อนไหวเพื่อขับเคลื่อนสังคม
โอบามา ชี้ว่า คนรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อยรู้สึกว่าการจะเปลี่ยนให้สังคมดีขึ้นคือต้องเป็นผู้วิพากษ์วิจารณ์คอยจับผิดคนอื่นให้ได้มากที่สุด ซึ่งนั่นเป็นเรื่องที่ "ต้องหยุดได้แล้ว" ประธานาธิบดีสหรัฐฯ 2 สมัย อธิบายว่าพฤติกรรมข้างต้นเป็นเพียงการทำให้ผู้ออกไปวิพากษ์วิจารณ์คนอื่นสบายใจว่าตนเองมีความรับผิดชอบต่อสังคม ทั้งที่จริงแล้ว สิ่งนี้ "ไม่ใช่การขับเคลื่อนทางสังคม และไม่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นแต่อย่างใด"
เฉกเช่นเดียวกับประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนที่ 45 อย่างโดนัลด์ ทรัมป์ ที่กล่าวในวันชาติสหรัฐฯ ครั้งล่าสุดว่า "เราต้องการการถกเถียงที่เป็นอิสระและเปิดกว้าง ไม่ใช่สารพัดกฎข้อบังคับหรือวัฒนธรรมหันหลังใส่ เราโอบรับการอดทนไม่ใช่อคติ"
แอนน์ ชาริตี ฮัดเลย์ หัวหน้าภาควิชาภาษาศาสตร์ของชาวแอฟริกันอเมริกัน จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียซานตาบาร์บารา กล่าวว่า แม้ cancel culture ดูเสมือนเป็นศัพท์ใหม่ในการอธิบายปรากฏการณ์การเคลื่อนไหวทางสังคมในยุคปัจจุบัน แต่หลักใหญ่ใจความสำคัญของพฤติกรรมทางสังคมข้างต้นสืบรากมาจากวัฒนธรรมของชาวผิวดำ โดยเฉพาะกับความพยายามผลักดันสิทธิพลเรือนในยุค 1950 และ 1960
ปรากฎการณ์ดังกล่าวเริ่มต้นจาก 'โรซ่า พาร์คส์' หรือหญิงแอฟริกัน-อเมริกัน ที่ถูกจับหลังจากไม่ยอมสละที่นั่งบนรถบัสสาธารณะให้กับผู้โดยสารชายผิวขาว ในปี 2498 (1955) จนเป็นชนวนให้ มาร์ติน ลูเทอร์ คิง จูเนียร์ ออกมาประกาศเชิญชวนให้คว่ำบาตรการใช้รถบัสสาธารณะเพื่อตอบโต้ความไม่เป็นธรรมในการให้บริการ โดยปรากฎการณ์ที่ชาวแอฟริกัน-อเมริกัน ปฏิเสธการโดยสารด้วยขนส่งสาธารณะมีต่อเนื่องถึง 381 วัน จนนำไปสู่การคืนความเสมอภาคให้กับประชาชนหลังศาลสูงได้สั่งให้การแบ่งแยกสีผิวในรถบัสสาธารณะเป็นเรื่องผิดกฎหมาย
เช่นเดียวกับความยิ่งใหญ่ของการเดินขบวนไปยัง 'วอชิงตัน ดีซี' ในวันที่ 28 ส.ค. 2506 (1963) ที่นำโดย มาร์ติน ลูเทอร์ คิง จูเนียร์ พร้อมประชาชนอีกราว 2 - 3 แสนราย ร่วมขบวน เพื่อแสดงจุดยืนต่อความไม่เสมอภาคที่เกิดขึ้น และเป็นวันที่ มาร์ติน ลูเทอร์ คิง จูเนียร์ กล่าวสุนทรพจน์ประวัติศาสตร์ 'ข้าพเจ้ามีความฝัน' (I Have a Dream)
หลักสำคัญที่ หัวหน้าภาควิชาภาษาศาสตร์ย้ำว่า วัฒนธรรมการแคนเซิลแท้จริงแล้วมีรากมาจากการปราศจากทางเลือกอื่นในการแสดงออกหรือต่อกรกับผู้มีอิทธิพลทางการเมืองที่มีสิทธิเหนือชีวิตของผู้คน หรือ กล่าวได้ว่าเป็นทักษะการเอาตัวรอดของชาวผิวดำ
แอนน์ เสริมว่า การปฏิเสธเป็นการยอมรับว่าผู้ที่เลือกจะปฏิเสธไม่มีอำนาจเพียงพอที่จะเปลี่ยนโครงสร้างที่ไม่เป็นธรรม แต่ในฐานะบุคคล สามารถเลือกที่จะแสดงออกถึงจุดยืนของตนเองได้ "เมื่อคุณเห็นผู้คนหันหลังใส่ คานเย เวสต์ หรือคนอื่นๆ มันเป็นการบอกโดยรวมว่า 'เรายอมรับในสถานะทางสังคมหรือความร่ำรวยที่คุณมี และเราจะไม่สนใจคุณอย่างที่เราเคยทำ ฉันอาจไม่มีอำนาจ แต่อำนาจที่ฉันมีคือไม่สนใจคุณ'"
แม้จะเริ่มจากการเป็นจุดยืนของผู้ไม่มีอำนาจต่อรองกับโครงสร้างที่ไม่เป็นธรรม แต่เมื่อได้รับแรงสนับสนุนจากโลกโซเชียลและความนิยมของคนรุ่นใหม่ cancel culture ในยุคปัจจุบัน จึงมีรูปร่างหน้าตาแตกต่างจากสมัยของการขับเคลื่อนเพื่อเรียกร้องสิทธิพลเรือนของชาวผิวดำในอดีตอย่างมากจนแทบจำไม่ได้
อ้างอิง; The Conversation, BBC, Vox, AARP, Politico, NYT
ข่าวที่เกี่ยวข้อง;