ไม่พบผลการค้นหา
วงเสวนา ชี้อุ้มฆ่า-ลอยนวล เหตุจากรัฐรวมศูนย์ไม่เป็นประชาธิปไตย 'ธนาธร' ยันสังคมต้องไม่เพิกเฉย ชวนสู้ทั้งเชิงประเด็น-ระบบ-วัฒนธรรม อังคณา บอกศาลไทยพิจารณาจากตัวอักษรมากกว่าข้อเท็จจริงหรือความจริง

ที่หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร องค์กร Protection International และเครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่ประเทศไทย(PPM) จัดนิทรรศการภาพถ่ายแด่นักสู้ผู้จากไปและขบวนการต่อสู้ที่ยังยืนหยัด พร้อมเวทีเสวนา “แด่นักสู้ผู้จากไป ประชาธิปไตยแบบไหน ที่จะไม่ลอยนวลพ้นผิด” 

สอน คำแจ่ม ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ภรรยาของกำนันทองม้วน คำแจ่ม แกนนำคัดค้านการสร้างเหมืองหิน "ดงมะไฟ" ที่ถูกลอบสังหาร เมื่อปี 2542 ยืนยันถึงสิทธิในการต่อสู้เพื่อครอบครัวและชุมชน แม้สูญเสียผู้นำครอบครัวไปแล้วและมีภาระต้องดูแลลูกทั้ง 4 คน แต่จะขอสู้ต่อแม้โดดเดี่ยวเดียวดาย 

โดยวันนี้ลูกสาวคนโต ที่เรียนอยู่ ปวส.ต้องเสียสละทิ้งการเรียนมาช่วยแม่ทำมาหากิน ด้วยการรับจ้างทั่วไปและทำงานก่อสร้าง เพื่อเลี้ยงน้องอีก 3 คน  

สอน ยืนยันด้วยว่า ต้องการให้ "ดงมะไฟ" มีความเจริญกว่าเดิมและจะถอยไม่ได้แล้ว เพราะถ้าถอย ผู้ที่กระทำผิดทั้งสังหารสามีของตนและคุกคามทรัพยากรจะ "ลอยนวลพ้นผิด" จึงอยากให้ผู้มีอำนาจหน้าที่นำตัวคนกระทำผิดมารับโทษตามกฎหมาย

อังคณา นีละไพจิตร อดีตคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า เมื่อการอุ้มหายอุ้มฆ่าเกิดขึ้น ไม่ได้กระทำกับแค่แค่เหยื่อเท่านั้น แต่มีกระทบต่อคนรอบข้างมีจำนวนมาก

อังคณา มองว่า ศาลไทยพิจารณาจากตัวอักษรมากกว่าข้อเท็จจริงหรือความจริง จากที่ศาลฎีกา ตัดสินโดยมองว่า ตนและครอบครัวไม่ใช่ผู้เสียหาย ในกรณีทนายสมชาย นีละไพจิตร ผู้เป็นสามีและหัวหน้าครอบครัว ถูกอุ้มฆ่า เพราะทางครอบครัวไม่สามารถหาหลักฐานมายืนยันต่อศาลได้ว่า ทนายสมชาย เสียชีวิตจริง 

อังคณา ระบุด้วยว่า จะไม่สามารถออกกฎหมายที่คุ้มครองสิทธิมนุษยชนได้ ภายใต้รัฐบาลที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ดังนั้น กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชนนั้น ประชาชนต้องมีส่วนร่วม โดยเฉพาะญาติผู้สูญเสีย และรัฐบาลต้องรับฟัง เพราะการอุ้มฆ่าที่มีเจ้าหน้าที่รัฐเข้ามาเกี่ยวข้อง เป็นเรื่องยากมากที่จะนำคนผิดมาลงโทษ 

อังคณา นีละไพจิตร

จุฑาทิพย์ ศิริขันธ์ โฆษกคณะประชาชนปลดแอก ทายาท "ครูเตียง ศิริขันธ์" เหยื่ออุ้มฆ่า ย้ำข้อเรียกร้อง "คนเท่ากัน" ซึ่งรวมถึงการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ด้วย เป็นหลักการขั้นพื้นฐานและทุกคนตระหนักได้ ขณะที่ไทยเปลี่ยนแปลงการปกครองมามากกว่า 80 ปี แต่ไม่เคยมีประชาธิปไตยที่แท้จริง คนไทยยังไร้สวัสดิการขั้นพื้นฐาน ขณะที่มีอภิสิทธิ์ชนเกิดขึ้นและดำรงอยู่ตลอดมา มีการจัดการกับผู้เห็นต่าง และผู้ที่ออกมาเรียกร้องสิทธิ์โดยรัฐรวมถึงการอุ้มฆ่า

จุฑาทิพย์ ยืนยันว่า คนรุ่นใหม่ต้องการ "การพูดคุยและประชาธิปไตย" แต่ไม่มีพื้นที่ และ "ความยุติธรรมและสิทธิมนุษยชนประนีประนอมไม่ได้" 

เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์

เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ หัวหน้าพรรคสามัญชนและที่ปรึกษากลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได กล่าวว่า หลักการเคลื่อนไหวและข้อเรียกร้องภาคประชาชน ขมวดได้ 3 ประเด็น คือ ประชาธิปไตยกินได้, ประชาธิปไตยที่ใช้กฎหมายยึดโยงกับหลักนิติรัฐนิติธรรม และประชาธิปไตยของประชาชนที่มีการกระจายอำนาจการปกครอง

ปัญหาคือ ระบบราชการไทย ที่แม้กฎหมายคุ้มครองพื้นที่ต้นน้ำ แหล่งโบราณสถานต่างๆ แต่ในภาคปฏิบัติก็มีกฎหมายอีกส่วนให้ข้อยกเว้น ซึ่งเหมือน "ใบอนุญาตฆ่าชุมชน" คือ การไม่บังคับใช้กฎหมายให้สอดคล้องตามตัวบทที่มีอยู่ มีการงดเว้นละเว้นต่างๆ เพื่อต้องการให้นายทุนเข้าไปคุกคามและตัดกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนจึงทำให้ "ฉนวนที่จะป้องกันความรุนแรงหายไป" 

เลิศศักดิ์ กล่าวด้วยว่า "น่าเศร้าและน่าสมเพชสิ้นดี ที่โลโก้ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน หรือ กสม. มีชฎาครอบ" 

ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า กล่าวว่า การอุ้มหาย-อุ้มฆ่า เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าในประวัติศาสตร์ และไม่ค่อยถูกพูดถึง จึงอยากเสนอว่า สังคมไม่ควรเพิกเฉยต่อเรื่องเหล่านี้ รวมถึงการตระหนักถึงความสำคัญของผู้ที่ออกมาปกป้องสิทธิด้านต่างๆ ด้วย

ธนาธร ยืนยันว่า เรื่องเหล่านี้สะท้อนถึงความเหลื่อมล้ำทางสังคมโดยเฉพาะความเหลื่อมล้ำทางอำนาจ ถ้าไม่มีการผูกขาดอำนาจ และถ้าอำนาจรัฐสภา อยู่ใกล้กับประชาชนเมื่อไหร่ จะมีลู่ทางจัดการปัญหาเหล่านี้ได้ โดยประชาชนต้องต่อสู้ใน 3 ด้านสำคัญ คือ

1.เชิงประเด็น ในทุกกรณีปัญหา

2.เชิงระบบ ที่ต้องปฏิรูประบบราชการ เรียกร้องรัฐสวัสดิการ

3.ต้องสู้เชิงวัฒนธรรม โดยต้องกลับมาเริ่มต้นปลูกฝังค่านิยมพลเมืองกันใหม่ ว่าประเทศนี้ประชาชนเป็นเจ้าของร่วมกันและการเมืองเป็นเรื่องของคนทุกคน ซึ่งสามารถต่อสู้ได้ทุกพื้นที่ เพื่อไม่ให้วัฒนธรรมอนุรักษนิยมรุกคืบเข้ามาได้ด้วย