วันที่ 20 ก.พ. ที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ (FCCT) อังคณา นีละไพจิตร อัญชนา หีมมิหน๊ะ ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิ และสุรชัย ตรงงาม เลขาธิการมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อมและตัวแทนทีมทนายความ ปรานม สมวงศ์ Protection International ร่วมกันแถลงข่าวและอภิปรายเกี่ยวกับผลของคำพิพากษาในคดีประวัติศาสตร์ที่ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน 2 คน คือ อังคณา และ อัญชนา ยื่นฟ้องสำนักนายกรัฐมนตรี และกองทัพบก กรณีสนับสนุนเว็บไซต์ IO โจมตี และด้อยค่าการทำงานของผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯ ที่ทำหน้าที่ตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยรัฐ
“ทนายสุรชัย” เผยคำพิพากษาศาลแพ่งคุ้มครอง 2 หญิงนักปกป้องสิทธิฯ ปมฟ้องสำนักนายกฯ-กองทัพบกฐานทำไอโอ ปชช. แม้ยกฟ้องเหตุไม่มีข้อมูลการ“จราจรทางคอมพิวเตอร์”เชื่อมโยงถึง กอ.รมน.ได้
สุรชัย ตรงงาม เลขาธิการมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อมและตัวแทนทีมทนายความ กล่าวว่า ในวันที่ 16 ก.พ.ที่ผ่านมา ศาลแพ่งได้มีคำพิพากษาในคดีที่ได้มีการฟ้องปฏิบัติการข่าวสารของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) และกองทัพบก ว่าเป็นการละเมิดต่อนักปกป้องสิทธิทั้ง 2 ท่านหรือไม่ ปรากฏว่าโดยผลทางคดี ศาลมีคำวินิจฉัยที่เป็นประโยชน์หลายประเด็น ประเด็นแรกคือศาลเห็นว่าโจทก์ทั้ง 2 เป็นผู้หญิงนักปกป้องสิทธิ และมีการรับรองว่าการดำเนินการของนักปกป้องสิทธิได้รับความคุ้มครองตามกติการะหว่างประเทศ โดยเมื่อพิจารณาข้อมูลการละเมิดหรือข้อความทั้ง 13 โพสต์ในเว็บไซต์พูโลนี (pulony.blogspot.com) ตามคำฟ้อง ก็เห็นว่าเป็นถ้อยคำที่โพสต์โดยไม่สุจริตเป็นการใส่ความ ทำให้ทางอังคณา และอัญชนาได้รับความเสียหาย เพียงแต่ว่าสุดท้ายแล้วโพสต์ทั้ง 13 โพสต์เชื่อมโยงไปยัง กอ.รมน.และกองทัพบกหรือไม่นั้น ศาลยังไม่เชื่อว่าหลักฐานที่เรานำสืบสามารถจะเชื่อมโยงว่าคนที่โพสต์ข้อความทั้ง 13 โพสต์นั้นอยู่ในกำกับดูแลหรือได้รับการจ้างจาก กอ.รมน.หรือกองทัพบกหรือไม่
สุรชัย กล่าวว่า โดยศาลได้วินิจฉัยจากพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้อง และเห็นว่ายังไม่มีความยึดโยง เพราะหน่วยงานปฏิเสธอย่างชัดเจนว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง รวมถึงข้อมูลการนำสืบศาลบอกว่าไม่มีข้อมูลการจราจรทางคอมพิวเตอร์ว่าใครเป็นผู้นำเข้าบทความโจมตีโจทก์ทั้ง 2 ทำให้ศาลมีคำพิพากษายกฟ้องประเด็นดังกล่าว เพราะไม่มีหลักฐานยึดโยงไปถึงเจ้าหน้าที่ กอ.รมน. จึงเป็นประเด็นที่น่าเสียดาย ทั้งที่ศาลรองรับในประเด็นการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนตามรัฐธรรมนูญและพันธสัญญาระหว่างประเทศแล้ว
“ถ้าเราได้เห็นรายละเอียดของคำพิพากษา ก็จะพบว่าคำพิพากษาได้รับรองสิทธิของประชาชนหรือนักปกป้องสิทธิมนุษยชนอย่างชัดเจน เพียงแต่ว่าในการยึดโยงว่าหน่วยงานใดจะต้องรับผิดชอบนั้น หลักฐานอาจจะยังไม่เพียงพอ อย่างไรก็ตาม เรายังมีสิ่งที่จะอุทธรณ์คำพิพากษาดังกล่าวว่าดุลยพินิจของศาลในการเชื่อมโยงข้อเท็จจริง อาจจะยังไม่ถูกต้อง เรายังมีโอกาสที่จะให้ศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกา ได้เข้ามาทบทวนตรวจสอบว่าสิ่งที่โจทก์ได้เสนอไปเพียงพอแล้วต่อการยึดโยงว่า กอ.รมน.และกองทัพบก ควรจะต้องมีความรับผิดชอบ เป็นการกระทำของรัฐที่มีผลกระทบต่อนักปกป้องสิทธิ”สุรชัยกล่าว
เล็งคัดคำพิพากษาสู้ต่อ “อุทธรณ์-ฎีกา” หวังศาลเชื่อพยานแวดล้อม ข้อจำกัดในการเข้าถึงข้อมูลรัฐ แนะแก้กม.ให้ ปชช. เข้าถึงการจราจรคอมพิวเตอร์
สุรชัย กล่าวว่า ดังนั้นหลังคัดคำพิพากษาฉบับเต็ม เรายังมีโอกาสอุทธรณ์ในประเด็นนี้ เรายังเชื่อว่าเรามีพยานแวดล้อมเพียงพอ พูดง่ายๆ ว่าแม้จับมือไม่ได้ว่ามีเจ้าหน้าที่โพสต์ แต่เรามีพยานแวดล้อมที่น่าเชื่อได้ว่าหน่วยงานรัฐมีส่วนเกี่ยวข้องจริง เชื่อว่าหากศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา ได้พิจารณาว่าเรามีข้อจำกัดอย่างไรในการตรวจสอบหน่วยงานรัฐที่เขาถือข้อมูลทั้งหมดและไม่เปิดให้เราตรวจสอบโดยง่าย กระบวนการยุติธรรมจะต้องเข้ามาดูเรื่องนี้ เราจะชี้ให้ศาลเห็นว่าภายใต้ข้อจำกัดของหน่วยงานรัฐที่ไม่เปิดเผยข้อมูล เราทำหน้าที่ดีที่สุดแล้ว และเป็นเรื่องที่ศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาจะพิจารณาเรื่องนี้ต่อไป อย่างไรก็ตามเราพบว่าคำพิพากษาของศาล ได้รับรองแล้วว่าเว็บไซต์พูโลนี ละเมิดสิทธิ์จริงเพียงแต่ข้อมูลยังไม่พอบอกได้ว่า กอ.รมน. เกี่ยวข้องอย่างไร
สุรชัย กล่าวต่อว่า จึงเป็นความชอบธรรมอย่างยิ่งของผู้หญิงนักปกป้องสิทธิที่ต้องเรียกร้องไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็น กอ.รมน. กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ให้นำเอาข้อความการละเมิดสิทธิ์ 13 ข้อความออกไปจากระบบคอมพิวเตอร์โดยทันที ส่วนระยะยาวต้องแก้ไขกฎหมายให้สามารถเข้าถึงการจราจรทางคอมพิวเตอร์ได้ โดยต้องหารือผู้รู้ ร่องรอยเหล่านี้กระทำโดยคน ถ้ามีระบบหรือหลักเกณฑ์ใดที่ตรวจสอบย้อนหลังได้ การปฏิบัติงานของหน่วยราชการต้องสามารถตรวจสอบได้โดยรัฐสภาหรือองค์กรอื่นๆ สิ่งเหล่านี้ต้องไม่เป็นความดำมืดเหมือนองค์กรที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน แต่เราต้องเข้าถึงได้เพื่อสกัดกั้นการกระทำละเมิดเหล่านี้ไม่ให้เกิดขึ้นอีก และเราต้องผลักดันเรื่องนี้กันต่อ่ไป
“อัญชนา”มองคำติดสินศาลไม่เหนือความคาดหมายส่งผลทั้งบวก-ลบ ปปช.เข้าถึงกลไกการปกป้องสิทธิได้ยาก ต้องเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง
ขณะที่อัญชนา กล่าวว่า ในความรู้สึกส่วนตัวมองว่าเรื่องนี้ไม่เกินความคาดหมาย ซึ่งมีผลทั้งเชิงลบและบวกในความรู้สึกส่วนตัวของเรา ในเชิงบวก คือ การยอมรับบทบาทหน้าที่ของผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน การยอมรับกลไกระหว่างประเทศที่รัฐบาลไทยได้ไปลงนาม และการยอมรับว่าจำเป็นที่จะต้องมีการเยียวยานักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่ถูกละเมิด ในส่วนของเชิงลบที่เรามองเห็นก็คือกระบวนการเข้าถึงความยุติธรรมหรือการได้รับความยุติธรรมของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนหญิงค่อนข้างจะเป็นเรื่องที่ยากมาก และไม่ค่อยจะมีระบบหรือกลไกที่มารองรับตรงนี้ การเข้าไปสู่กระบวนการทำให้เราได้มองเห็นและได้เปิดเผยถึงกลไกไม่ว่าจะเป็นนักปกป้องสิทธิมนุษยชนหญิง ชาย หรือประชาชนทั่วไป การเข้าถึงการปกป้องจากรัฐเป็นเรื่องที่ยาก กลไกต่างๆ ของรัฐที่เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องในการพิสูจน์ให้เห็นว่ามีการละเมิดโดยใครเป็นเรื่องยากมาก แต่ก็เป็นโอกาสที่ดีที่ทำให้เราได้มองเห็นกระบวนการ ระบบโครงสร้าง ของประเทศที่ควรจะต้องมีการปรับเปลี่ยน หรือปรับปรุงแก้ไข
อัด ก.ดีอีเอสเป็นเสือกระดาษปกป้องแค่รัฐปล่อย ปชช.ถูกละเมิดสิทธิ ส่วนก.ยุติธรรมต้องเยียวยาผู้ถูกละเมิด
อัญชนา กล่าวว่า สิ่งที่ได้จากการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมคือ เรามองว่ารัฐต้องรับผิดชอบในสิ่งที่ประชาชนถูกละเมิด การยอมรับผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนอยู่ในคำพิพากษา เป็นการยอมรับในอัญชนาและองค์กรกลุ่มด้วยใจ และยอมรับว่ามีการไซเบอร์บูลลี่เกิดขึ้นจริงในประเทศไทย คำพิพากษาได้คืนศักดิ์ศรีที่ถูกด้อยค่าโดย เว็บไซต์พูโลนี ช่องทางการปกป้องสิทธิ์ของประเทศไทยยังไม่เป็นระบบ และการรับผิดโดยรัฐยังไม่เกิดขึ้น ยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ แม้มีการเชื่อมโยงจากหลักฐานจำนวนมาก แต่ก็ยังไม่สามารถเอาคนผิดมาลงโทษได้ ระบบดิจิทัล หรือกระทรวงดีอีเอสเป็นกระทรวงที่มีประโยชน์หรือไม่เป็นคำถามต่อไปว่าปกป้องประชาชนได้หรือไม่ เพราะมีทั้งประชาชนถูกหลอกดูดเงินจากบัญชี การพนันออนไลน์ แต่กระทรวงไม่สามารถป้องกันได้ รวมทั้งกรณีละเมิดสิทธิมนุษยชนนี้ด้วย หรือเป็นการทำงานเพื่อปกป้องรัฐเพียงอย่างเดียว
“คิดว่าเราจะไม่มีวันล้มเลิกความตั้งใจการพิสูจน์ให้สังคมรับรู้ถึงกลไกในการปกป้องนักสิทธิมนุษยชนผู้หญิง ในประเทศไทยว่ามีอยู่อย่างแท้จริงหรือไม่ ทั้งนี้ระหว่างการต่อสู้กระทรวงดีอีเอสควรหาคนผิดมาลงโทษให้ได้ ไม่ควรเป็นแค่เสือกระดาษ ส่วนกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) ต้องปรับปรุงการทำงานหาคนผิดในการละเมิดทางไซเบอร์มาลงโทษให้ได้ ทั้ง 2 ส่วนนี้ต้องทำงานไปด้วยกัน ทั้งนี้ในคำพิพากษาไม่มีข้อกฎหมายมาเยียวยาแม้ถูกละเมิด ดังนั้นกระทรวงยุติธรรมต้องดำเนินการตรงนี้ให้สอดคล้องกับหลักปฏิบัติระหว่างประเทศด้วย ส่วนกลไกการตรวจสอบระบบรัฐสภาต้องเข้มแข็ง การตรวจสอบของฝ่ายค้านไม่ควรถูกมองว่าเป็นเรื่องการเมืองอย่างเดียว เพราะเป็นประโยชน์ของประชาชนด้วย
“อังคณา” ระบุกระบวนการฟ้องคดีในครั้งนี้ทำให้เห็นถึงความบกพร่องของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการอำนวยความยุติธรรม ชี้ต้องยกเครื่อง ก.ดีอีเอส ให้ปกป้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพประชาชนให้ได้อย่างแท้จริง พร้อมเตรียมเดินหน้าสู้ต่อในชั้นอุทธรณ์และฎีกา
ด้านอังคณา กล่าวว่า ส่วนตัวในการฟ้องคดีครั้งนี้เชื่อมั่นว่าศาลจะให้ความเป็นธรรม ที่ผ่านมาทุกครั้งที่เกิดการคุกคามทางโซเชียลก็จะไปแจ้งความเพื่อให้เจ้าหน้าที่ติดตามผู้กระทำผิดมาลงโทษ ต้องเทียวไปสถานีตำรวจ และกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) บ่อย ๆ แต่ไม่ว่าพยายามสักแค่ไหนก็ไม่มากพอที่จะทำให้ศาลพิสูจน์ได้ว่าใครเป็นผู้กระทำผิด อย่างไรก็ตามตนคิดว่าคำพิพากษาของศาลในคดีนี้ยังชี้ให้เห็นถึงความบกพร่องของหน่วยงานต่าง ๆ ที่มีหน้าที่ในการอำนวยความยุติธรรม ไม่ว่าจะเป็น สภาผู้แทนราษฎร ที่ควรจะดำเนินการตรวจสอบเรื่องนี้ต่ออย่างจริงจังจนทราบตัวผู้กระทำผิด หลังจากที่ได้การอภิปรายในสภาเปิดเผยชื่อของเว็บไซด์ซึ่งมีเอกสารระบุว่า กอ.รมน. ให้การสนับสนุน หรือกรณีกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ที่ตั้งขึ้นมาโดยใช้งบประมาณจำนวนมากก็ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการหาตัวผู้กระทำผิดกรณีผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนถูกลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หรือถูกใส่ร้ายด้วยข้อความอันเป็นเท็จ ซึ่งตนคิดว่ากระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DES) ตั้งขึ้นมาด้วยเงินภาษีของประชาชน จึงจำเป็นที่ต้องมีการปฏิรูปเพื่อสามารถทำหน้าที่คุ้มครองประชาชนได้มากกว่าที่เป็นอยู่
ในส่วนคำพิพากษาที่ศาลระบุว่าตนไม่สามารถเอาแผนการจราจรคอมพิวเตอร์มาแสดงในการพิสูจน์ข้อเท็จจริง ซึ่งในฐานะของคนสามัญเป็นไปไม่ได้ที่ตนจะมีแผนการจราจรฯ ซึ่งต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เรื่องนี้จึงเป็นบทเรียนสำคัญให้กับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวของ เพราะคดีลักษณะนี้ไม่ควรผลักภาระในการพิสูจน์ให้ผู้เสียหาย ทั้งนี้ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ที่มีหน้าที่ในการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน รวมถึงหน่วยงานของรัฐอย่างกรมคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ที่ได้ให้คำมั่นโดยสมัครใจในการที่จะให้ความคุ้มครองนักสิทธิมนุษยชน ต้องนำเรื่องนี้กลับไปพิจารณาหาเพื่อหาแนวทางปกป้อง และไม่ปล่อยให้ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนถูกล่วงละเมิดเช่นนี้อีก
อังคณา กล่าวว่า นักสิทธิมนุษยชนที่ทำงานในประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้มักถูกจับจ้องโดยรัฐมาตลอด เช่น เมื่อมีเหตุที่เจ้าหน้าที่ถูกทำร้ายเสียชีวิตหรือบาดเจ็บ ก็จะมีแรงกระแทกมาที่ตนในฐานะกรรมการสิทธิฯว่ามีแต่ปกป้องโจร ซึ่งในการแสดงความคิดเห็นทางโซเชียลมักจะเชื่อมโยงไปเป็นการคุกคามทางเพศด้วย ซึ่งเป็นความทุกข์ทรมานใจมาก เพราะเราไม่รู้ตัวคนทำ แม้จะแจ้งความหลายครั้ง แต่เจ้าหน้าที่ก็ไม่สามารถนำคนผิดมาลงโทษได้ จึงเป็นที่มาของการฟ้องร้องในครั้งนี้
“อังคณา” ถาม คณะกรรมการสิทธิฯ” ทำงานยึดหลักการปารีสหรือไม่ ชี้ไม่ใช่ทำหน้าที่แค่ไปรษณีย์สื่อสารแต่ต้องตรวจสอบอย่างรอบด้านและวิเคราะห์ปัญหาบนพื้นฐานสิทธิมนุษยชน
“แม้แต่คณะกรรมการสิทธิฯ ที่ตรวจสอบเรื่องนี้ จากรายงานที่ส่งศาล ดิฉันขอตั้งคำถามว่าการตรวจสอบของ กสม. เป็นไปตามหลักการปารีสหรือไม่ เพราะในรายงานของ กสม. การตรวจสอบเป็นแค่การส่งหนังสือถามหน่วยงานต่างๆ ซึ่งพอไม่มีการตอบกลับก็สรุปว่าไม่มีหลักฐานว่า กอ.รมน. เป็นผู้ละเมิด ซึ่งการตรวจสอบในลักษณะนี้ไม่ใช่การตรวจสอบเพื่อนำไปสู่การคุ้มครองสิทธิมนุษยชนตามหลักการปารีส จึงเป็นเรื่องที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติต้องทบทวนการทำหน้าที่ คำพิพากษาคดีนี้ทำให้มองเห็นความด้อยประสิทธิภาพของระบบที่จะคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย เมื่อก่อนมีการคุกคามนักปกป้องสิทธิมนุษยชนโดยการทำร้าย หรืออุ้มฆ่า แต่วันนี้มีการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อสร้างการคุกคามในรูปแบบใหม่ โดยเฉพาะกรณีที่ผู้เสียหายเป็นผู้หญิงด้วย มักจะมีการคุกคามทางเพศด้วย ซึ่งคงไม่มีใครรู้ว่าดิฉันหรือผู้หญิงอีกหลายคนต้องนอนฝันร้ายไปนานแค่ไหน จึงเป็นเรื่องที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องทบทวนเพื่อหาทางป้องกัน แม้วันนี้หลังออกมาเรียกร้องความเป็นธรรมจะทำให้การคุกคามทางโซเชียลลดลง แต่มันก็ไม่ได้หมดไป ซึ่งการทำงานของรัฐในเรื่องนี้ล่าช้ามากและไม่ทันต่อเทคโนโลยีที่พัฒนามากขึ้น กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติก็ควรออกมาปกป้องผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนให้มากกว่าที่เป็นอยู่”อังคณา กล่าว
อังคณา กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ก็คงต้องดำเนินคดีจนถึงที่สุด ส่วนตัวก็อยากทราบว่าคำพิพากษาศาลสูงจะเป็นอย่างไร นอกจากนั้นยังมีกลไกตามพิธีสารเลือกกับตามอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ (CEDAW) ซึ่งน่าสนใจในการที่จะนำกลไกเหล่านี้มาใช้ เพื่อให้เห็นว่าเมื่อกลไกและระบบยุติธรรมในประเทศไม่สามารถเยียวยาความเสียหายต่อผู้หญิงได้ เราก็ยังมีกลไกระหว่างประเทศที่จะช่วยได้
พีไอระบุถือเป็นความก้าวหน้าที่คำพิพากษาของศาลยอมรับการทำงานของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน
ขณะที่ ปรานม สมวงศ์ Protection International กล่าวว่า กรณีนี้น่าจะเป็นกรณีแรกในประเทศไทยและเป็นกรณีแรกในโลกด้วยที่ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนลุกขึ้นมายื่นฟ้องกับหน่วยงานรัฐและกล่าวหาหน่วยงานรัฐว่าให้การสนับสนุนเว็บไซด์ที่กระทำการโจมทางโลกออนไลน์ คำพิพากษาของศาลที่มีออกมาในครั้งนี้ถือว่าเป็นความก้าวหน้าเพราะศาลได้ระบุถึงการทำหน้าที่อันชอบธรรมของผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ซึ่งเมื่อ 25 ปีที่แล้ว ประเทศไทยได้ไปรองรับปฏิญญาของสหประชาชาติว่าด้วยนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ในช่วง25 ปีนี้ กระทรวง ทบวง กรมต่างๆหน่วยงานของรัฐ ต้องทำหน้าที่ให้เกิดการปกป้องนักปกป้องสิทธิมนุษยชนจริงๆ ไม่เคยมีคดีใดเลยในกระบวนการยุติธรรมที่คำพิพากษายอมรับการทำงานของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนแบบนี้คดีนี้ ถือเป็นคดีแรกในประเทศไทยที่ศาลมอง แต่ศาลไม่เห็นว่าสามารถทำให้เกิดการคุ้มครองได้ เพราะเราไม่มีกฎหมายภายใน ดังนั้นต้องกลับไปที่รัฐบาลใหม่หลังการเลือกตั้ง ต้องออกกฎหมายและกลไกในการคุ้มครองผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯที่ทำได้อย่างมีประสิทธิภาพจริง และส่วนประเด็นที่ศาลมองแต่ไม่เห็นคือความเชื่อมโยงของความรับผิดชอบของหน่วยงานรัฐในคดีนี้ ที่เราจะยืนเคียงข้างการต่อสู้ของสองผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนเพื่อเชื่อมโยงให้หน่วยงานที่ทำผิดต้องชดเชยเยียวยาให้กับผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนต่อไป ให้สอดคล้องกับศาลหลายแห่งทั่วโลกที่เริ่มตระหนักว่าการโจมตีทางออนไลน์หรือทางดิจิทัลต่อผู้หญิงสิทธิมนุษยชนถือเป็นการละเมิดสิทธิของพวกเธออย่างร้ายแรง ในปี พ.ศ. 2564 ศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) ออกคำพิพากษาครั้งแรกในโลกที่ระบุว่าการโจมตีทางออนไลน์หรือดิจิทัลต่อผู้หญิงสิทธิมนุษยชนหญิงเป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ