ในบทวิเคราะห์ของ ดร.ราชิมา บังกา เจ้าหน้าที่ด้านกิจการเศรษฐศาสตร์อาวุโส หน่วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการเชื่อมโยงระหว่างประเทศ แผนกกลยุทธ์ทางการพัฒนาและโลกาภิวัฒน์ องค์การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (UNCTAD) ที่มีต่อประเทศที่ยอมรับข้อเสนอของความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ CPTPP พบว่า หากไทยตกลงเข้าร่วมกับข้อตกลงดังกล่าว ตัวเลขการส่งออกจะเพิ่มขึ้นราว 1,880 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ/ปี หรือประมาณ 60,000 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็นการเติบโตร้อยละ 2.9 ขณะที่ยอดการนำเข้าจะเพิ่มขึ้นถึง 2,280 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ/ปี หรือประมาณ 74,000 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็นการเติบโตร้อยละ 4.7
จากตัวเลขดังกล่าว ดร.บังกา อธิบายว่าระบบการค้าของไทยจะเสียหายราว 397 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ/ปี หรือประมาณ 12,800 ล้านบาทเพราะสัดส่วนการนำเข้าสินค้าสูงกว่าการส่งออกสินค้า อีกทั้งก่อน หน้านี้ที่มีการประเมินว่าไทยจะได้ประโยชน์ในการส่งออกสินค้าไปมาเลยเซียในสัดส่วนที่มาก แต่เพราะมาเลเซียยังไม่ได้ยอมรับเงื่อนไขของ CPTPP จึงไม่สามารถคำนวณตัวเลขดังกล่าวเข้ามาในการวิเคราะห์ปัจจุบันได้
ดร.บังกา เสริมเพิ่มว่า มีความเป็นไปได้เช่นเดียวกันที่ประเทศอย่างมาเลเซีย บรูไน ชิลี และเปรู จะตัดสินใจไม่เข้าร่วมกับข้อตกลงดังกล่าว ซึ่งหมายความว่า ไทยจะไม่สามารถเข้าถึงตลาดในประเทศที่ไม่ร่วมกับข้อตกลงได้ หากประเทศไทยตัดสินใจเข้าร่วมไปแล้ว
นอกจากนี้ การเข้าร่วมกับ CPTPP จะทำให้ไทยต้องเสียผลประโยชน์เรื่องของภาษีการนำเข้าสินค้าราว 1,440 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ/ปี หรือประมาณ 46,600 ล้านบาท โดยเม็ดเงินดังกล่าวคิดเป็นรายได้จากการจัดเก็บภาษีนำเข้าทั่วโลกของไทยในแต่ละปีถึงร้อยละ 14.6
ดร.บังกา อธิบายว่า รายได้จากการจัดเก็บภาษีดังกล่าวของไทยนั้น คำนวณรวมประเทศที่ปัจจุบันเป็นสมาชิกของ CPTPP และมีข้อตกลงเขตการค้าเสรีกับไทย ทั้งยังคำนวณรวมไปถึงประเทศสมาชิก CPTPP ที่ยังไม่มีข้อตกลงเขตการค้าเสรีแต่ได้ประโยชน์จากสิทธิอัตราภาษีนำเข้าพิเศษแล้วเช่นเดียวกัน
สิ่งที่บทวิเคราะห์ดังกล่าวชี้คือ ปัจจุบันรัฐบาลเองก็ไม่ได้มีรายได้จากการจัดเก็บภาษีในจำนวนที่มากมายนัก เมื่อมองจากสถานการณ์ปัจจุบันที่รัฐบาลไม่สามารถมอบเงินสนับสนุนให้กับประชาชนในช่วงวิกฤตโรคระบาดได้อย่างทั่วถึง ประกอบกับสภาพเศรษกิจของไทยตอนนี้ที่ทรุดตัวต่ำลงทั้งจากปัญหาการว่างงาน ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ รวมไปถึงความเสี่ยงในการล้มละลายของธุรกิจเอกชน ดังนั้นหากไทยจัดเก็บภาษีได้น้อยลงในตัวเลขเกือบ 50,000 ล้านบาท จะเป็นผลร้ายต่อประเทศเพิ่มขึ้นแทนจะเป็นประโยชน์
ซ้ำร้าย ขณะที่ประเทศไทยต้องยอมไม่จัดเก็บภาษีนำเข้าจากประเทศสมาชิกอื่นๆ ของ CPTPP ประเทศหลักอย่าง แคนาดา ญี่ปุ่น เม็กซิโก และเวียดนาม กลับไม่ได้ลดกำแพงภาษีสินค้านำเข้าในปัจจุบันเหลือศูนย์แต่อย่างใด เพราะข้อมูลจากสถาบันเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศปีเตอร์สัน ชี้ว่า แคนาดาและเวียดนามลดอัตราภาษีนำเข้าลงมาอยู่ที่ร้อยละ 97 ขณะที่ญี่ปุ่นอยู่ที่ร้อยละ 95 ส่วนเม็กซิโกอยู่ที่ร้อยละ 99
ซึ่งหากเป็นเช่นนี้ การจะเข้าร่วมของไทยซึ่งต้องได้รับการเห็นชอบจากทุกประเทศ ต้องบีบให้ไทยลดอัตราภาษีนำเข้า 100 เปอร์เซ็นต์ ซึ่ง ดร.บังกา ชี้ว่าหากเป็นเช่นนั้นจริง ก็จะยิ่งบั่นทอนการค้าในตัวเลขที่สูงกว่าที่คำนวณไว้ข้างต้นอย่างแน่นอน