ไม่พบผลการค้นหา
ภาคประชาสังคมฯ โต้ 'สมคิด' พาไทยเข้า CPTPP เพื่อกระตุ้นจีดีพี 13,000 ล้านบาท แท้จริงทำให้เกษตรกรต้องแบกภาระเกือบ 200,000 ล้าน และยังกระทบราคาสุรา-ยารักษาโรค

'เอฟทีเอ ว็อทช์' ร่วม 'มูลนิธิชีววิถี' และองค์กรภาคประชาสังคม แถลงข่าวความกังวลต่อการเดินหน้ายื่นหนังสือแสดงเจตจำนงเข้าร่วมเป็นภาคีความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิค (CPTPP) ของไทย ภายใต้การดำเนินการของ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ว่าเป็นการประเมินความคุ้มค่าที่ไม่ได้คำนึงถึงผลประโยชน์และความเสียหายของประชาชนอย่างครอบคลุม 

น.ส.กรรณิการ์ กิจติเวชกุล รองประธานเอฟทีเอ ว็อทช์ กล่าวว่า สิ่งที่ภาครัฐชี้ว่าเป็นประโยชน์จากการเข้าร่วม CPTPP ที่เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศราวร้อยละ 0.12 ของจีดีพีรวม ซึ่งคิดเป็นมูลค่าประมาณ 13,323 ล้านบาท จะต้องแลกมากับผลกระทบด้านการผูกขาดเมล็ดพันธุ์ การขัดขวางการเข้าถึงยารักษาโรค การทำลายกลไกการคุ้มครองผู้บริโภคต่อสินค้าที่มีความเสี่ยง รวมไปถึงการบั่นทอนนโยบายคุ้มครองประชาชน และหันไปเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนผูกขาดแทน

ในการยื่นความจำนงเข้าร่วมภาคีฯ ครั้งนี้ หมายความว่า ประเทศไทยจะต้องยอมรับเงื่อนไขภาระผูกพันที่สมาชิกทั้ง CPTPP 7 จาก 11 ประเทศ ได้ให้สัตยาบันความตกลงแล้ว ได้แก่ เม็กซิโก ญี่ปุ่น สิงคโปร์ นิวซีแลนด์ แคนาดา ออสเตรเลียและเวียดนาม ตั้งแต่ปี 2561

2 แสนล้านบนบ่าเกษตรกร

นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี กล่าวว่า ผลกระทบหลักที่เกษตรกรไทยต้องแบกรับหากประเทศเข้าร่วม CPTPP คือข้อบังคับที่ไทยต้องเข้าเป็นภาคีในสนธิสัญญาคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ (UPOV1991) ซึ่งเปิดให้มีการเพิ่มสิทธิการผูกขาดมากขึ้น หรือหมายความว่า หากบริษัทผู้พัฒนาเมล็ดพันธุ์ได้จดสิทธิบัตรเมล็ดพันธุ์แล้วจะได้รับการคุ้มครองทุกชนิด ขณะที่ระยะเวลาการคุ้มครองพืชทั่วไปจาก 15 ปี จะกลายเป็น 20 ปี และไม้ยืนต้น จาก 18 ปี เป็น 25 ปี ตามลำดับ

นอกจากนี้ สนธิสัญญาใหม่ ยังคุ้มครองบริษัทผู้จดสิทธิบัตรไปถึงส่วนขยายพันธุ์ รวมทั้งผลผลิต และผลิตภัณฑ์ ทั้งยังเปิดช่องให้เพิ่มเงื่อนไขห้ามไม่ให้เกษตรกรเก็บพันธุ์ไปปลูกต่อได้ ส่งผลให้ขาดการพัฒนาและวิจัยในวงการเกษตรของประเทศ

อีกทั้งการเข้าเป็นภาคีในครั้งนี้ ยังทำให้ไทยต้องยอมเข้าเป็นภาคีสนธิสัญญาบูดาเปสต์ ว่าด้วยการยอมรับระหว่างประเทศในการฝากเก็บจุลชีพเพื่อการจดสิทธิบัตร และต้องแก้กฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. 2542 ซึ่งจะกระทบต่อกลไกการแบ่งปันผลประโยชน์ทั้งในเรื่องทรัพยากรจุลชีพและการคุ้มครองพืชท้องถิ่นไทย

นายวิฑูรย์กล่าวย้ำว่า สิ่งที่กรมเจรจาการค้าออกมาพูดก่อนหน้านี้ว่า เกษตรกรสามารถเก็บเมล็ดพันธุ์ได้แม้เข้า UPOV1991 นั้นถือเป็นการกล่าวความเท็จ โดย "ถ้าไม่ใช่เพราะไม่ได้ศึกษาข้อเท็จจริงก็ถือว่าเป็นการบิดเบือน"

นอกจากนี้ งานศึกษาที่ได้รับการสนับสนุนจากคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติยังพบว่าผลกระทบทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นต่อเกษตรกรและทรัพยากรชีวภาพจากการผูกขาดเมล็ดพันธุ์มีมูลค่าราว 122,717 - 223,116 ล้านบาท/ปี และจำนวนดังกล่าวยังไม่ได้คิดรวมผลกระทบระยะยาว 

ด้าน น.ส. ทัศนีย์ วีระกันต์ รองผู้อำนวยการมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน ชี้อีกหนึ่งประเด็นความเสี่ยงที่เกษตรกรต้องเผชิญคือการยกเลิกมาตรการในการปกป้องสินค้าเกษตรที่เดิมเคยจัดอยู่ในสินค้าอ่อนไหวในความตกลงต่างๆ อาทิ นมและผลิตภัณฑ์ มะพร้าว ถั่วเหลือง และข้าวโพด โดยชี้ว่า ตอนที่กระทรวงพาณิชย์ออกไปรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ไม่ได้มีการพูดถึงประเด็นดังกล่าวเลย 

สุราจะถูกลงแต่ยาจะแพงขึ้น

นายเฉลิมศักดิ์ กิตติตระกูล เจ้าหน้าที่รณรงค์การเข้าถึงยา มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวแย้งในประเด็นที่กรมเจรจาการค้าอ้างว่า การเข้าร่วม CPTPP จะไม่มีปัญหาเรื่องสิทธิบัตรยาแล้วนั้น เป็น "การพูดความจริงเพียงครึ่งเดียว" เนื่องจาก แม้ข้อบทที่มีปัญหาจะไม่ได้มีการเจรจาต่อเมื่อสหรัฐฯ ถอนตัวออกไป แต่ยังคงมีข้อบทที่เกี่ยวและไม่เกี่ยวกับประเด็นทรัพย์สินทางปัญญาแต่จะส่งผลกระทบทางลบต่อการเข้าถึงยาอย่างแน่นอน

นายเฉลิมศักดิ์ อธิบายว่า ยังมีอีกหลายมาตราที่ก่อให้เกิดอุปสรรคในการเข้าถึงยาทั้งสิ้น เช่น การไม่อนุญาตให้รัฐบาลประกาศใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตร (Compulsory Licensing: CL) ภายใต้เงื่อไนขการใช้โดยรัฐและไม่แสวงหากำไรอย่างที่ประเทศเคยทำได้ ทำให้เกิดการกำจัดคู่แข่งทางการค้าด้วยการบังคับให้องค์การอาหารและยา (อย.) ต้องแจ้งเตือนให้บริษัทยาต้นแบบรู้ล่วงหน้าเวลามีบริษัทอื่นมาขอขึ้นทะเบียน รวมถึงการอนุญาตให้มีการยึดจับยาชื่อสามัญที่ต้องสงสัยว่าจะละเมิดเครื่องหมายการค้าหรือลิขสิทธ์ที่อยู่ระหว่างการขนส่งถึงแม้จะไม่ปิดกฎหมายประเทศปลายทางก็ตาม

ขณะที่การเข้าร่วม CPTPP ดูเหมือนจะทำให้การเข้าถึงยาราคาถูกมีความลำบากมากขึ้นจากประเด็นสิทธิบัตรเรื่องยาต้นแบบและยาสามัญ แต่ฝั่งเครื่องดื่มแอลกอฮอล์กลับจะถูกลง โดยนายคำรณ ชูเดชา ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า ชี้ว่า นอกจากอัตราภาษีนำเข้าสินค้าแอลกอฮอล์จะลดลงเป็นร้อยละ 0 ยังจะเป็นการริดรอนมาตรฐานในการคุ้มครองผู้บริโภคลงในเรื่องต่างๆ อาทิ มาตรการคุ้มครองโฆษณาบนฉลากและข้อความคำเตือนด้านสุขภาพ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง;