ประเด็นการยื่นเรื่องให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาลงนามข้อตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิกหรือ CPTPP กลับมาเป็นกระแสอีกครั้งหลังมีว่าข่าวนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีจะดันประเด็นดังกล่าวเข้า ครม.ซ้ำ จากที่ก่อนหน้านี้นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ถอนวาระนี้ออกไปก่อนแล้ว
เนื่องจากการยื่นวาระเข้าออก ครม.ยังไม่มีท่าทีจะยุติ และแนวคิดการเข้า CPTPP ของไทยก็ไม่ได้ถูกปัดตกไปเสียทั้งหมด 'ทีมข่าววอยซ์ออนไลน์' จึงขอพาไปทำความเข้าใจว่าข้อเรียกร้องจากภาคประชาสังคมที่ไม่สนับสนุนการเข้า CPTPP คืออะไร และคำอธิบายจากฝั่งกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักที่ดูแลข้อตกลงดังกล่าวพูดไว้เช่นไร
แท้จริงแล้วข้อกังวลจากฝั่ง 'เอฟทีเอ ว็อทช์' ซึ่งเป็นกลุ่มประชาสังคมที่ติดตามเรื่องการเข้าโครงการ CPTPP มีทั้งสิ้น 14 ข้อ ที่ระบุในเอกสาร 'เหตุใดประเทศไทยไม่ควรเข้าร่วม CPTPP' แต่ 3 ประเด็นสำคัญที่ถูกหยิบยกมาพูดถึงบ่อนครั้งในการถกเถียงครั้งนี้ประกอบได้ด้วย การเก็บเกี่ยวเมล็ดพันธุ์ไปปลูกต่อของเกษตรกร, ความยากลำบากในการเข้าถึงยารักษาโรค และปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ
ในประเด็นแรก นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี ชี้ว่าประเด็นสำคัญที่ต้องพิจารณาเมื่อประเทศยื่นเรื่องเข้าเป็นสมาชิก CPTPP คือฝั่งเกษตกรต้องเข้าเป็นภาคีในสนธิสัญญาคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ (UPOV1991) ที่นอกจากจะเอื้อให้บริษัทผู้พัฒนาเมล็ดพันธุ์ผูกขาดได้มากขึ้น คือสำหรับพืชทั่วไปเพิ่มจาก 15 เป็น 20 ปี และไม้ยืนต้นเพิ่มจาก 18 เป็น 25 ปี ตามลำดับ ก็ยังมีความกังวลสำคัญเรื่องการห้ามเกษตรกรเก็บพันธุ์พืชใหม่ของบริษัทเมล็ดพันธุ์ที่ได้รับการคุ้มครองไปปลูกต่อ
นายวิฑูรย์ ชี้ว่า แม้มาตรา 15 วรรคที่ 1 จะมีข้อยกเว้นสำหรับเกษตรกรที่ปลูกพืชในพื้นที่ตนเองและต้องไม่ใช่เพื่อขาย โดยรัฐเป็นผู้อนุญาตให้อย่างจำกัด (within reasonable limits) ภายใต้การป้องผลประโยชน์ของนักปรับปรุงพันธุ์ตามกฎหมาย แต่ก็เป็นการระบุอย่าง “คลุมเครือ”
กลุ่มเอฟทีเอ ว็อทช์ ชี้ว่า "สิทธิในการเก็บรักษาพันธุ์พืชใดๆ ไปปลูกต่อเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของเกษตรกรในการสร้างความหลากหลายทางชีวภาพและความมั่นคงทางอาหาร โดยใน UPOV1978 เรียกสิ่งนี้ว่า "สิทธิพิเศษของเกษตรกร" หรือ Farmer's privilege แต่การยอมรับ UPOV1991 จะทำให้การเก็บรักษาพันธุ์พืชใหม่ที่ซื้อมาไปปลูกต่อในฤดูปลูกต่อไปกลายเป็นสิ่งผิดกฎหมาย (ซึ่งรัฐอาจยกเว้นได้ในบางกรณี) แต่นั่นเท่ากับสิทธิของเกษตรกรถูกริดลอนไป"
"ถ้าไม่ใช่เพราะไม่ได้ศึกษาข้อเท็จจริงก็ถือว่าเป็นการบิดเบือน" วิฑูรย์ กล่าว
นอกจากนี้ งานศึกษาที่ได้รับการสนับสนุนจากคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติยังพบว่าผลกระทบทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นต่อเกษตรกรและทรัพยากรชีวภาพจากการผูกขาดเมล็ดพันธุ์มีมูลค่าราว 122,717 - 223,116 ล้านบาท/ปี และจำนวนดังกล่าวยังไม่ได้คิดรวมผลกระทบระยะยาว
กรณีการเข้าถึงยารักษาโรคที่พูดถึงกันเชื่อมโยงอยู่กับสิ่งที่เรียกว่า ‘สิทธิบัตรยา’หรือซึ่งทรัพย์สินทางปัญญาประเภทหนึ่ง กล่าวคือ หากบริษัทผู้ผลิตยาคิดค้นยาชนิดใหม่ขึ้นมาได้แล้วไปจดสิทธิบัตร บริษัทนั้นก็จะเป็นเจ้าของสิทธิบัตรหรือเป็นผู้ทรงสิทธิมีสิทธิเด็ดขาด หรือสิทธิแต่เพียงผู้เดียวในการแสวงหาประโยชน์จากการประดิษฐ์ หรือการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ได้รับสิทธิบัตรนั้น เช่น การผลิต และจำหน่าย
สิทธิที่ว่านี้ในวงการยารักษาโรคจะมีระยะเวลา 20 ปี หลังจากนั้นสาธารณชนจะสามารถใช้ประโยชน์จากสิทธิบัตรได้ หรือการนำสิทธิบัตรดังกล่าวไปผลิตยาสามัญ (generic drug) ที่มีราคาถูกกว่ายาที่ผลิตจากบริษัทเจ้าของสิทธิบัตรมาก เนื่องจากตลาดมีคู่แข่งที่ผลิตสินค้าเหมือนๆ กัน ขณะที่ช่วงการถือสิทธิบัตร 20 ปีนั้น บริษัทเจ้าของสิทธิบัตรสามารถกำหนดราคาขายรวมไปทั้งยืนอยู่บนสถานะที่ปราศจากคู่แข่งทางการค้า ซึ่งนัยหนึ่งอาจกล่าวได้ว่าเป็นการผูกขาดตลาดการค้า
ทั้งนี้ แม้สิทธิบัตรจะเอื้อให้บริษัทผู้ทรงสิทธิมีอำนาจ แต่องค์การการค้าโลก หรือ WTO ในช่วงที่ผ่านมาก็เล็งเห็นถึงความสำคัญที่ประชาชนหรือผู้ป่วยจะต้องสามารถเข้าถึงยารักษาโรคได้ในเช่นเดียวกัน จึงมีการแก้ปัญหาผ่าน การบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตร (compulsory licensing : CL) หรือคือกระบวนการที่รัฐอนุญาตให้บุคคลอื่นสามารถใช้ผลิตภัณฑ์หรือกรรมวิธีที่มีสิทธิบัติโดยไม่ต้องได้รับอนุญาตจากผู้ทรงสิทธิ แต่จะเป็นการจ่ายค่าตอบแทนแทน ผ่านมาตราที่ 31 ในความตกลงระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับการค้า (Agreement on Trade-Related Aspects of Intellectual Property Rights หรือ TRIPs)
ส่วนหนึ่งของมาตราดังกล่าว มีการกล่าวถึงการ 'ไม่ต้องได้รับการอนุญาตจากผู้ทรงสิทธิ' (other use without authorization of the right holder) ซึ่งแท้จริงแล้วมีรายละเอียดหลายต่อ แต่ข้อที่ถูกหยิบขึ้นมาเป็นประเด็นคือช่วงตอนที่ชี้ว่า
อีกทั้ง การอนุญาตให้ใช้ ต้องเป็นไปเพื่อสนองตลาดภายในประเทศนั้นเป็นสำคัญ (คือต้องไม่ส่งออกไปขายต่างประเทศ) รวมไปทั้งผู้ทรงสิทธิจะได้รับค่าตอบแทนที่เพียงพอตามสภาพการณ์ของแต่ละกรณี โดยคำนึงถึงคุณค่าทางเศรษฐกิจของการอนุญาต
ทั้งนี้สิ่งที่ นายเฉลิมศักดิ์ กิตติตระกูล เจ้าหน้าที่รณรงค์การเข้าถึงยา มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ จุดประเด็นคือการเข้า CPTPP จะไม่อนุญาตให้รัฐบาลประกาศใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตร (Compulsory Licensing: CL) ภายใต้เงื่อนไขการใช้โดยรัฐและไม่แสวงหากำไรอย่างที่ประเทศเคยทำได้ เนื่องจากจะสุ่มเสี่ยงต่อการถูกฟ้องร้องตามบทคุ้มครองการลงทุน ทำให้นักลงทุนต่างชาติสามารถฟ้องอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศผ่านกลไกระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐและเอกชน จากข้อบทในบทที่ 18 เรื่องทรัพย์สินทางปัญญา, ข้อบทในบทที่ 9 เรื่องการลงทุน และข้อบทในบทที่ 28 เรื่องการพิพาท ซึ่งจะเป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงยาโดยเฉพาะกับประชาชนที่มีรายได้น้อย
ในรายงานของ 'เอฟทีเอ ว็อทช์' ข้อที่ 9 ซึ่งพูดถึงปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างโดยภาครัฐชี้ว่า ผลกระทบในการเข้า CPTPP คือจะเป็นการเปิดตลาดให้ประเทศภาคีเข้ามาต่อสู้ชิงงานกับผู้ประกอบการของประเทศไทย ก็ยังมีข้อบทที่ระบุว่า ห้ามให้แต้มต่อหรือสิทธิบัตรพิเศษในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐแก่ผู้ประกอบการไทยเหนือสมาชิก CPTPP พูดง่ายๆ คือห้ามให้แต้มต่อคนในประเทศ
สิ่งที่การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐทำไม่ได้ อาทิ ห้ามกำหนดให้ใช้บัญชีนวัตกรรมไทยที่ทำขึ้นเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการไทยให้เน้นการผลิตคิดค้นสินค้าบริการที่มีนวัตกรรม, ห้ามกำหนดให้ใช้สินค้าไทย และห้ามกำหนดว่าต้องการถ่ายทอดเทคโนโลยี ซึ่งล้วนขัดแย้งกับแนวคิด 'Local Economy' หรือการผลักดันเศรษฐกิจภายในประเทศของนายสมคิดเอง
อีกทั้งในสภาวการณ์เช่นนี้ การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ที่ไม่ใช่มีเพียงแต่รัฐวิสาหกิจ ยังเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศให้เดินไปข้างหน้า ท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 รวมไปถึงสภาพความเข้มแข็งที่ลดลงก่อนหน้า ในช่วงที่การส่งออกประเทศก็ไม่ดีและการท่องเที่ยวไทยก็ไม่มี
นอกจากนี้ เมื่อไปอ่านบทวิเคราะห์ของ ดร.ราชิมา บังกา เจ้าหน้าที่ด้านกิจการเศรษฐศาสตร์อาวุโส หน่วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการเชื่อมโยงระหว่างประเทศ แผนกกลยุทธ์ทางการพัฒนาและโลกาภิวัฒน์ องค์การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (UNCTAD) ที่มีต่อ CPTPP พบว่าหากไทยตกลงเข้าร่วมกับข้อตกลงดังกล่าว ตัวเลขการส่งออกจะเพิ่มขึ้นราว 1,880 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ/ปี หรือประมาณ 60,000 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็นการเติบโตร้อยละ 2.9 ขณะที่ยอดการนำเข้าจะเพิ่มขึ้นถึง 2,280 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ/ปี หรือประมาณ 74,000 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็นการเติบโตร้อยละ 4.7 หรือหรือแปลว่าไทยจะเสียดุลการค้าราว 397 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ/ปี หรือประมาณ 12,800 ล้านบาทเพราะสัดส่วนการนำเข้าสินค้าสูงกว่าการส่งออกสินค้า
ไทยยังต้องเสียผลประโยชน์เรื่องของภาษีการนำเข้าสินค้าราว 1,440 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ/ปี หรือประมาณ 46,600 ล้านบาท โดยเม็ดเงินดังกล่าวคิดเป็นรายได้จากการจัดเก็บภาษีนำเข้าทั่วโลกของไทยในแต่ละปีถึงร้อยละ 14.6
ซึ่ง ดร.ราชิมา ชี้ว่า ปัจจุบันรัฐบาลก็ไม่ได้มีรายได้จากการจัดเก็บภาษีในจำนวนที่มากนัก เมื่อมองจากสถานการณ์ปัจจุบันที่รัฐไม่สามารถมอบเงินสนับสนุนให้กับประชาชนในช่วงวิกฤตโรคระบาดได้อย่างทั่วถึง ประกอบกับสภาพเศรษฐกิจของไทยตอนนี้ที่ทรุดตัวต่ำลงทั้งจากปัญหาการว่างงาน ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ รวมไปถึงความเสี่ยงในการล้มละลายของธุรกิจเอกชน ดังนั้นหากไทยจัดเก็บภาษีได้น้อยลงในตัวเลขเกือบ 50,000 ล้านบาท จะเป็นผลร้ายต่อประเทศเพิ่มขึ้นแทนจะเป็นประโยชน์
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ แย้งว่า การเข้าร่วม CPTPP จะช่วยให้เศรษฐกิจไทยขยายตัว (จีดีพี) ร้อยละ 0.12 หรือคิดเป็นมูลค่า 13,300 ล้านบาท การลงทุนขยายตัวร้อยละ 5.14 หรือคิดเป็นมูลค่า 148,000 ล้านบาท แต่หากไม่เข้าร่วม CPTPP จะส่งผลกระทบต่ออัตราการขยายตัวให้ลดลงร้อยละ 0.25 หรือคิดเป็นมูลค่า 26,600 ล้านบาท กระทบการลงทุนร้อยละ 0.49 หรือคิดเป็นมูลค่า 14,200 ล้านบาท พร้อมออกมาอธิบายข้อกังวล 3 ประการข้างต้น
อรมน กล่าวว่า "ไทยจำเป็นต้องหาข้อตกลงการค้าสมัยใหม่ เพื่อสร้างแต้มต่อและน่าสนใจแก่การค้าการลงทุน ไม่ตกขบวนห่วงโซ่การผลิตโลก สร้างงาน สร้างรายได้ และเพิ่มอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ"
อธิบดีกรมเจรจาการค้าฯ ชี้แจงว่าเรื่องการคุ้มครองพันธุ์พืชและการเข้าเป็นสมาชิกอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ UPOV 1991 ได้ให้ทางเลือกแก่สมาชิกสามารถออกกฎหมาย กำหนดเป็นข้อยกเว้นให้เกษตรกรเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ปลูกในพื้นที่เพาะปลูกของตนได้ อีกทั้งสามารถใช้ประโยชน์จากผลผลิตและผลิตภัณฑ์ได้ โดยไม่ต้องขออนุญาตเจ้าของพันธุ์หากซื้อมาถูกกฎหมาย จึงแก้ปัญหาที่เกษตรกรมีข้อกังวลว่าจะไม่สามารถเก็บพันธุ์พืชไว้ปลูกต่อได้เมื่อเข้าเป็นสมาชิก
ทั้งยังคงสามารถเก็บเมล็ดพันธุ์พืชในกลุ่มพันธุ์พืชเมือง พันธุ์ดั้งเดิม พันธุ์ป่าของพืชทุกชนิดรวมทั้งสมุนไพร และพันธุ์การค้าที่ไม่ได้รับการคุ้มครองไปปลูกต่อได้เหมือนเดิม
ส่วนในข้อบทของความตกลง ข้อ 18.41 และ 18.46 กำหนดให้สมาชิกสมารถบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรยา (CL) และใช้มาตรการเพื่อดูแลเรื่องสาธารณสุข เพื่อดูแลเรื่องการเข้าถึงยาของประชาชนได้ ตามความตกลงทริปส์ขององค์การการค้าโลก (WTO) ในทุกกรณี
รวมถึงการใช้เพื่อประโยชน์สาธารณะที่ไม่ใช่เพื่อการค้า อีกทั้งจะไม่สุ่มเสี่ยงที่จะถูกฟ้องร้องในประเด็นการใช้ CL เพราะข้อบทการลงทุนข้อที่ 9.8 เรื่องการเวนคืน (expropriation) ย่อหน้าที่ 5 ได้กำหนดไว้ชัดเจนว่าจะไม่นำมาใช้กับมาตรการ CL นอกจากนี้ ข้อบทเรื่องการระงับข้อพิพาทข้อ 28.3.1 (C) ไม่ได้รวมเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาเป็นส่วนหนึ่งของข้อบทในขอบเขตการระงับข้อพิพาทระหว่างสมาชิก CPTPP
สำหรับประเด็นการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ ความตกลง CPTPP ก็เปิดให้สมาชิกสามารถกำหนดมูลค่าขั้นต่ำของการแข่งขันในโครงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ถ้ามูลค่าต่ำกว่าที่กำหนดไว้ ก็ไม่ต้องเปิดให้สมาชิก CPTPP เข้ามาแข่งขันทำให้สมาชิก CPTPP สามารถดูแลผู้ประกอบการในประเทศ และมีระยะเวลาปรับตัว เช่น เวียดนามขอเวลาปรับตัว 25 ปี
ทั้งนี้ การเข้าร่วม CPTPP เป็นการกระทำให้ฐานะประเทศ ซึ่งหมายความว่าประชาชนทุกคนจะได้รับผลกระทบไม่ว่าจะในแง่ดีหรือแง่ร้าย สิ่งที่ดีที่สุดคือรัฐบาลควรมีการพิจาณารับฟังความเห็นของทุกฝ่ายอย่างครบถ้วนเพราะเป็นผลประโยชน์ของชาติ เช่นเดียวกับฝั่งประชาชนที่ควรเข้ามารับรู้ข้อมูลข่าวสารและผลกระทบที่จะส่งถึงตนเองเช่นเดียวกัน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง;