นายวัชระ เพชรทอง อดีต ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ผ่านศูนย์บริการประชาชนทำเนียบรัฐบาล เพื่อให้พิจารณาพฤติกรรมการปฏิบัติหน้าที่ของนายสรศักดิ์ เพียรเวช เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ว่าสมควรดำรงตำแหน่งต่อไปหรือไม่ เนื่องจากนายสรศักดิ์ อนุมัติการขยายเวลาก่อสร้าง รัฐสภาใหม่ออกไปถึง 2 ครั้ง ครั้งแรก 421 วัน ครั้งที่สอง 674 วันรวมเวลาทั้งสิ้น 1,482 วัน มากกว่าสัญญาการก่อสร้างเดิมที่กำหนดให้แล้วเสร็จภายใน 900 วัน ซึ่งนายกรัฐมนตรีเคยใช้มาตรา 44 โยกย้ายนายจเร พันธุ์เปรื่อง อดีตเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ด้วยข้อกล่าวหาควบคุมการก่อสร้างอาคารรัฐสภาใหม่ล่าช้า 387 วัน มาแล้ว รวมทั้งไม่ดำเนินการโครงการสร้างแบบจำลองอาคารรัฐสภาทองคำเฉลิมพระเกียรติให้เสร็จ
ขณะเดียวกัน นายสรศักดิ์ ยังไม่สามารถบริหารงานให้เกิดการใช้งบประมาณอย่างประหยัดและคุ้มค่า โดยมีการของบประมาณเพิ่มอีก 8,648 ล้านบาท
ทั้งนี้ นายวัชระ เห็นว่า การลดคุณภาพของเทคโนโลยีในรัฐสภาใหม่ เป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้อง มีนัยในการประชดประชันคำสั่งของนายกรัฐมนตรี และ คสช. ซึ่งเป็นผู้บริหารสูงสุดของประเทศ และการว่าจ้างบริษัทเบอร์ลิน มาออกแบบระบบไอซีทีเป็นการว่าจ้างแบบพิเศษที่ไม่เปิดให้แข่งขันกันตามปกติ ทั้งที่ใช้งบประมาณมหาศาล
เลขาฯ สภาฯ ลดเสนองบเหลือ 5 พันล้าน ประชดเลิกใช้ระบบเสียบบัตรเป็นยกมือแทน
ขณะที่นายสรศักดิ์ เพียรเวช เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ย้ำว่าจะพิจารณาปรับลดงบประมาณในการจัดซื้ออุปกรณ์เทคโนโลยีสารสนเทศในรัฐสภาใหม่ โดยคำนึงถึงคุณภาพให้เกิดประโยชน์กับทางราชการเท่าที่จำเป็น ต้องรอความชัดเจนของกรอบวงเงินที่ปรับลดลงก่อน ว่าจะปรับลดลงเหลือจำนวนเท่าใดจาก กว่า 8,000 ล้านบาท ซึ่งส่วนตัวอยากให้ลดลงให้มากที่สุด หรือไม่เกิน 5,000 ล้านบาท พร้อมปฏิเสธว่าจะไม่ลดสเปกอุปกรณ์ลงไปใช้อุปกรณ์ที่ผลิตจากจีน แต่ยอมรับว่าจะยกเลิกระบบเสียบบัตร และระบบไมโครโฟนที่ใช้แสดงตนและอภิปรายในที่ประชุมทั้งหมด กลับมาใช้ระบบยกมือขานชื่อรายบุคคล แทนการเสียบบัตรลงคะแนนแบบดั้งเดิม ซึ่งทำให้ต้องมีการแก้ไขข้อบังคับการประชุมเพื่อรองรับและแก้ปัญหาการเสียบบัตรแทนกัน พร้อมยกเลิกนาฬิการะบบดาวเทียมทั้งหมดรวมทั้ง 2 เรือนตัวใหญ่ในห้องประชุม ส.ส. และ ส.ว. ราคาตัวละ กว่า 70,000 บาท กลับมาใช้ระบบใส่ถ่าน เนื่องจากมีกระแสคัดค้านจากสังคมจึงไม่ขอฝืน
"เมื่อสังคมไม่เอา ผมก็ไม่เอา เพราะผมไม่ดื้อ ผมไม่ได้พูดว่าจะใช้สเปกจีน ผมบอกว่า ผมไม่ดื้อ ผมจะยอมปรับลดหมด แต่ยังไม่ดูรายละเอียด ซึ่งไม่จริง เรื่องนี้มันจะกระทบหลายอย่าง ไม่ได้ล็อกสเปกหรือฟันธงว่าจะสรุปแบบไหน เดี๋ยวจะหาว่าผมล็อกสเปก ผมไม่ได้ล็อกสเปกหรือฟันธงว่าจะสรุปแบบไหน ใจผมอยากได้ไม่เกิน 5,000 ล้านบาท ถ้าลดเยอะครั้งหน้ายังมีโอกาสเสนองบฯ เข้ามาอีกและต้องขอความเห็นจากสมาชิก แต่ตอนนี้ขอทำเพียงเท่านี้ก่อน” นายสรศักดิ์ กล่าว
นายสรศักดิ์ ยอมรับว่าลำบากใจ และกดดันมาก เพราะอยากทำให้รัฐสภาแห่งใหม่ ดีที่สุด สวยที่สุด และคุ้มค่าที่สุด แต่ก็ต้องดูเรื่องความจำเป็น และการจัดซื้อจัดจ้างยังไม่เกิดขึ้น อยู่ในกรอบการออกแบบของบ และตั้งคณะกรรมการก่อน แต่ตอนนี้ข้าราชการกลัวไปหมด ไม่มีใครกล้าเอาของแพงมาแน่ ขณะที่ส่วนตัวพร้อมรับการตรวจสอบ พร้อมยืนยันความโปร่งใส และย้ำว่าปลายปี 2561 นี้จะต้องย้ายไปอยู่อาคารรัฐสภาใหม่ย่านเกียกกาย ซึ่งได้เร่งรัดผู้รับเหมาก่อสร้างแล้ว
ประธาน สนช. เผย 23 พ.ค.เคาะยอดงบฯปรับลด
ด้าน นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะทำงานพิจารณาการปรับลดงบประมาณในการจัดซื้ออุปกรณ์เทคโนโลยีสารสนเทศในรัฐสภาใหม่ โดยระบุว่า แม้จะมีการปรับลดงบประมาณก็ตาม จะต้องพิจารณาแล้วว่าสภายังสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพได้ แม้ว่าระบบจะไม่ทันสมัยที่สุดก็ตาม ซึ่งในวันพุธนี้ (23 พ.ค.) เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรจะนำตัวเลขงบประมาณที่ได้มีการปรับลดแล้วไปหารือกับสำนักงบประมาณเพื่อให้ได้ข้อสรุป และส่งให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป
นายพรเพชร ย้ำด้วยว่า นาฬิการะบบดิจิทัลที่สามารถลิงค์สัญญาณดาวเทียมนั้น ไม่มีความจำเป็นกับพื้นที่อื่นในรัฐสภา นอกจากห้องประชุมใหญ่ทั้ง 2 ห้อง ที่ต้องมีการควบคุมเวลาการอภิปรายของสมาชิก โดยให้ใช้ระบบอะนาลอค
ส่วนการทำงานของ นายสรศักดิ์ เพียรเวช เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ในขณะนี้ยังมีประสิทธิภาพและทำงานได้ดี ซื่อสัตย์สุจริต แต่ยอมรับว่า อาจมีปัญหาเกิดขึ้นบ้างเป็นเรื่องปกติที่จะต้องช่วยกันแก้ปัญหา จนกว่าจะแล้วเสร็จ พร้อมปฏิเสธ ตอบคำถาม กรณีที่ อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ไปยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ให้ปลดนายสรศักดิ์ ออกจากราชการเนื่องจากมีพฤติกรรมส่อทุจริต
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง