ไม่พบผลการค้นหา
โรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี เร่งเปิดหอผู้ป่วยใน เพิ่มอีก 500 เตียง เพื่อลดความแออัด ส่วนอุปกรณ์ทางการแพทย์ และเครื่องมือตรวจรักษาชั้นสูง จะนำเงินบริจาคในโครงการก้าวคนละก้าวฯ มาจัดซื้อแทนการรองบประมาณจากภาครัฐ

15-11-2560 6-18-08.jpg

'เตียงผู้ป่วย' ตั้งเรียงราย อยู่บริเวณทางเดิน ระเบียบ หน้าลิฟท์ และหน้าห้องน้ำ สะท้อนถึงความแออัดภายในโรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี ซึ่งมีสถานะเป็นโรงพยาบาลศูนย์ เขตบริการสุขภาพที่ 11 รองรับผู้ป่วยในพื้นที่ภาคใต้ตอนบน เช่น ชุมพร ระนอง ภูเก็ต กระบี่ พังงา นครศรีธรรมราช และสุราษฎร์ธานี รวมประชากรตามทะเบียราษฎร์และประชาชกรแฝงกว่า 5 ล้านคน

ญาติผู้ป่วยรายหนึ่ง เปิดเผยว่า โรงพยาบาลชุมชน รักษาอาการป่วยของพ่อไม่หาย เธอจึงพามารักษาที่โรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี แม้จะแออัดคับแคบ แต่หากรักษาหาย ก็ยอมรับสภาพ และอดทน 

15-11-2560 6-19-11.jpg

ด้านนพ.สุพจน์ ภูเก้าล้วน ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี ยอมรับว่า จำนวนผู้ป่วยที่โรงพยาบาลฯ รับในแต่ละวัน เกินขีดความสามารถของบุคลากรและสถานที่รองรับ เนื่องจากไม่สามารถปฎิเสธให้การรักษาได้ หลายรายถูกส่งต่อมาจากโรงพยาบาลระดับอำเภอ เพราะไม่มีเครื่องมือวินิจฉัยและรักษาโรค 

ศักยภาพการรองรับผู้ป่วยของ รพ.สุราษฎร์ธานีปัจจุบัน โรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี รับผู้ป่วยนอกวันละ 2,300 คน แต่มีศักยภาพรับได้เพียงวันละ 500 คนเท่านั้น เช่นเดียวกับ จำนวนผู้ป่วยในรับได้เพียงวันละ 500 เตียง แต่ต้องเพิ่มขึ้นเป็นวันละ 800 เตียง ทำให้เกิดความแออัดในหอผู้ป่วย แนวทางแก้ไขปัญหา คือการก่อสร้างอาคารรองรับผู้ป่วยในเพิ่มเติม ซึ่งอาคารหลังนี้มีกำหนดก่อสร้างเสร็จประมาณเดือนเมษายน 2561 ภายใต้งบประมาณของกระทรวงสาธารณสุข โดยจะมีเตียงผู้ป่วยในเพิ่มเป็น 1,000 เตียง (ในจำนวนนี้มีห้องพิเศษ 70 เตียง) 

ส่วนอาคารทางการแพทย์ชั้นสูง หรือ Excellent Center จะเปิดให้บริการในช่วงสิ้นปีนี้ประกอบด้วย ห้องไอซียู (ICU) เพิ่มเป็น 100 เตียง จากเดิม 60 เตียง ห้องผ่าตัด เพิ่มเป็น 26 ห้อง จากเดิม 8 ห้อง รวมทั้ง ยังมีคลินิคเฉพาะทาง เช่น โรคหัวใจ โรคปอด และระบบทางเดินอาหาร 

แผนการใช้เงินบริจาคโครงการก้าวคนละก้าวฯทั้งนี้ การจัดซื้อเครื่องมือทางการแพทย์ ได้มาจากเงินทอดผ้าป่ามหากุศล เมื่อกลางปีที่ผ่านมา(2560) ซึ่งตั้งเป้าหมายไว้ที่ 97 ล้านบาท แต่ได้ยอดบริจาคมาเพียง 69 ล้านบาท ทำให้ยังจัดซื้อได้ไม่ครบ จึงคาดว่า จะนำเงินบริจาคในโครงการก้าวคนละก้าวฯ มาสมทบ เพราะหากรอการจัดสรรงบจากรัฐบาล ต้องใช้เวลา 1-2 ปี เนื่องจากงบประมาณที่ให้มาก่อนหน้านี้ เป็นเพียงการงบก่อสร้างอาคารเท่านั้น

นพ.สุพจน์ ภูเก้าล้วน ผอ.รพ.สุราษฎร์ธานี กล่าวว่า โครงการก้าวคนละก้าวฯ ช่วยกระตุ้นให้คนไทยดูแลสุขภาพของตนเองมากขึ้น ผ่านการออกกำลังกาย และควบคุมการกินอาหาร เพื่อป้องกันโรคร้าย ซึ่งจะช่วยลดจำนวนผู้ป่วยในโรงพยาบาลได้ในระดับหนึ่ง นอกจากนี้ ยังช่วยทำให้คนไทยตื่นตัว และเข้าใจเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ในยามตกทุกข์ได้ยาก แนวทางแก้ปัญหาระบบสาธารณสุขที่ดีที่สุด คือ ประชาชนจะต้องมีความรู้ในการดูแลตัวเองไม่ให้ป่วย หรือ "เสริมสร้าง ก่อนซ่อมแซม" ใช้รถใช้ถนนอย่างปลอดภัย ป้องกันการเกิดอุบัติเหตุทางถนน และสนับสนุนแนวทางประชารัฐ คือ "คนจนต้องฟรี คนมีต้องร่วมจ่าย" เพื่อแก้ปัญหาเรื่องงบประมาณไม่เพียงพอ 


รายงานโดย : วีรนันต์ กันหา