ไม่พบผลการค้นหา
ลูกคนที่ 4 มันเป็นลูกสาว

1. 

“ฉันไม่ใช่เป็นผู้ชายเข้มแข็งแบบนั้น

ฉันไม่ได้อยากไปไล่ยิงปืนเวลาคนงานทะเลาะกัน

ฉันไม่ได้อยากเข้มแข็งแบบเอาด้ามปืนตบหน้าพวกจิ๊กโก๋

แต่ฉันทำมาหมดแล้ว เพื่อแม่”


“ช่วงฉันอายุ 40 ปี ตอนแม่แก่แล้วไม่ได้ทำงาน 

แม่ได้ลิปสติกมาจากเพื่อนแม่ แล้วแม่เอามาให้ฉัน

วันนั้นฉันร้องไห้เลย ไปแอบร้องไห้ในห้องนํ้า 


เห้ย! 

แม่เอาลิปสติกสีมาให้ 

ซึ่งแม่แอนตี้ กลัวฉันจะมีแฟนเป็นผู้ชายตั้งแต่เริ่มโต

แล้ววันหนึ่งแม่ยอมรับ

วันนั้นฉันร้องไห้เลย 

แต่ฉันไม่ได้บอกแม่นะ

ฉันเพิ่งไปจุดธูปบอกแม่ที่วัด 

เมื่อตอนฉันได้งานต่างประเทศแล้ว


ฉันตั้งหิ้งแม่แล้วก็บอกแม่ว่า

แม่มีลูกสาวอีกคนหนึ่งนะ 

ลูกคนที่ 4 มันเป็นลูกสาว (ร้องไห้) ”


2.

รถเคลื่อนตัวเข้าไปในหมู่บ้านเขตคลองสามวา จอดตรงหน้าบ้านที่มีป้ายเขียนว่า ‘บ้านคุณแม่' 

“บ้านหลังนี้ผีดุนะ” เธอกล่าวพร้อมสีหน้ายิ้มต้อนรับ 

สุนัขสองตัววิ่งกระดิกหางไปมาอยู่ภายในบ้าน รูปภาพของเธอติดไว้ที่ผนัง “ภาพนี้งานที่มาเลเซีย” เธออธิบาย วันนี้เธอแต่งตัวสวยใส่ชุดสีขาวและโบว์ผูกผมสีชมพู 


สิตางศุ์ บัวทอง.jpg


‘สิตางศุ์ บัวทอง’ เธอแนะนำตัว พร้อมกับ ‘ตี๋’ คู่ชีวิต ซึ่งนั่งอยู่ข้างๆ 

เธออาศัยอยู่กับ ‘ตี๋’ และ ‘ตี๋น้อย’ ลูกบุญธรรม ‘สิตางศุ์’เป็นนักแสดงอิสระ รับงานรีวิว และขายสินค้าออนไลน์ มีชื่อเสียงโด่งดังจากการเต้นโชว์ลีลาไม่มีเหมือนใคร และเป็นเจ้าของวลี “ส้มหยุดโดยที่ไม่มีอะไรมากั้น” ชื่อเสียงของเธอดังไกลไปทั่วโลก อาทิ ฟิลิปปินส์ กัมพูชา มาเลเซีย สหรัฐอเมริกา และบราซิล ปัจจุบันอายุ 60 ปี

เธอมีพี่สาว 3 คน เกิดในครอบครัวคนจีน พ่อเป็นคนไทยแม่เป็นคนจีน ครอบครัวของเธอทำอาชีพรับเหมาก่อสร้าง เธอเล่าให้ฟังว่าคนจีนสมัยก่อนมีเมียเยอะ ซึ่งคุณแม่ของเธอเป็นลูกเมียน้อยของอากงซึ่งครอบครัวคนจีนจะรักแค่ลูกชาย แม่ของเธอจึงไปขอสิ่งศักดิ์เพื่อให้ได้ลูกผู้ชาย

‘สิตางศุ์’ เกิดมาเป็นลูกคนที่ 4 ของครอบครัว เธอต้องทำตัวเป็นผู้ชายที่เข้มแข็งเพื่อให้แม่ขายหน้า เพราะสมัยก่อนคนจีนยังไม่ยอมรับถ้าหากลูกเป็นกะเทย เธอจึงจำเป็นต้องทำเพื่อแม่ “ที่ว่าคนไทยสมัยก่อนไม่ยอมรับกะเทยแล้ว ครอบครัวคนจีนไม่ยอมรับยิ่งกว่า” สิตางศุ์กล่าว

เธอเชื่อมั่นในความรักของแม่อย่างมหาศาล เพราะแม่ของเธอพิสูจน์ให้เธอเห็นว่าแม่รักเธอมาก “พี่สาวเล่าให้ฟังว่าฉันเกิดที่นครศรีธรรมราช แม่คลอดเองคนเดียวที่บ้านแล้ววันนั้นมีพายุเข้าที่แหลมตะลุมพุก เด็กที่เกิดในคืนวันนั้นตาย 2 คน แม่กลัวฉันตาย แม่เลยนั่งรถไฟมาที่กรุงเทพฯ และพาฉันมาเข้า รพ.ศริราช เพราะฉันเป็นเด็กไม่แข็งแรง จากนั้นแม่ก็เลี้ยงฉันมาอย่างดีโดยไม่ให้ทำอะไรเลยให้ฉันเรียนอย่างเดียว” เธออธิบายภาพความรักที่แม่มีต่อเธอตั้งแต่เธอเกิด

“ฉันรู้สึกว่าชีวิตไม่ใช่ของฉันคนเดียว ฉันเข้าใจในความรักของแม่ มีช่วงนึงที่ฉันมาติดยาแต่แม่ก็ยังรักฉัน ถ้าเรามีความสุขแล้วแม่เราต้องอายคน ฉันทำไม่ได้ ฉันเป็นผู้ชายหน้าปรุๆ ได้เพื่อแม่ ฉันตายให้เขาก็ได้ ฉันเชื่อในความรักของเขา เพราะความรักที่แม่มีให้เรามันเยอะมาก”

‘สิตางศุ์’ เติบโตขึ้นมาเสมือนเป็นเด็กผู้ชายมาตลอด ต้องเรียน รด. และบวชตามขนบของประเพณี 

สิตางศุ์ บัวทอง.jpg

“ในตอนนั้นช่วงฉันอายุ 18-19 ปี มีผู้หญิงมาชอบเราหลายคน เราก็อยากบอกเขาว่าเราก็เป็นผู้หญิงเหมือนเธอแต่เราต้องแต่งเป็นผู้ชายให้แม่เรา ตอนนั้นก็เสียใจนะเขาก็อกหัก แล้วเราก็อธิบายไม่ได้”

เธอเข้าเรียนด้านกฎหมายและจบออกมาช่วยธุรกิจที่บ้าน จนกระทั่งอายุได้ 30 ปี เธอเริ่มเปลี่ยนตัวเองโดยใช้ช่วงเวลาในตอนกลางคืนแต่งเป็นผู้หญิง แต่ช่วงกลางวันแต่งเป็นผู้ชาย และเปลี่ยนมาแต่งเป็นผู้หญิงอย่างเต็มตัวเมื่อช่วงอายุ 40 ปี

3.

บอดี้การ์ดตัวร้ายกับยัยสาวเปรี้ยว

“เมื่อก่อนเขาเป็นยามแล้วฉันเป็นสาวเปรี้ยว” เธอเล่าเรื่องราวตอนพบรักกันครั้งแรกกับ ‘ตี๋’ คู่ชีวิต สิตางศุ์ในตอนนั้นอายุราวสี่สิบกว่า ช่วงชีวิตของเธอในตอนนั้น ติดยา เที่ยวกลางคืน และหลอกเงินผู้ชายไปวันๆ เพราะเป็นช่วงที่เธอแอนตี้สังคมและอยากหยุดพักจากทุกสิ่ง เธอเล่าว่าเมื่อก่อนเธอเคยเป็นคนที่มีคุณภาพมาก่อน แล้ววันหนึ่งเธอเบื่อสังคม จึงมาแต่งตัวเป็นกะเทย จากนั้นก็ได้เจอกับ ‘ตี๋’


สิตางศุ์ บัวทอง.jpg

“ตอนนั้นฉันเหมือนผู้หญิง ผู้หญิงเลวๆ (หัวเราะ) ฉันก็หลอกเงินเขา หลอกเงินผู้ชายรายวันอยู่ เป็นกระเทยใจแตก หลังจากที่เรียนอะไรจบมาหมดแล้ว แล้วชีวิตวันหนึ่งมันแหลกเหลว ก็เลยลองใช้ชีวิตแบบนั้น เพราะเห็นเพื่อนทำ มันก็ได้พักผ่อน แล้วก็มาเจอเขา เขาก็ดึงฉันกลับมา” สิตางศุ์เล่า

ส่วน‘ตี๋’ เป็นคนที่พูดไม่เก่งมีบุคคลิกที่ใจดีชอบยิ้มแย้ม เขาเล่าว่ารู้สึกถูกชะตากับ ‘สิตางศุ์’ ตั้งแต่แรกจึงลองจีบโดยการขอเป็นเพื่อน “เขาเป็นคนที่อยู่ใกล้แล้วอบอุ่นและรู้สึกสนุกแล้วก็มีความสุข” ตี๋เผยความรู้สึกที่มีต่อสิตางศุ์

ทั้งสองคนตัดสินใจมาใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันและหลังจากนั้น 3 เดือน 'ตี๋' ก็พา 'สิตางศุ์' กลับไปที่บ้านที่จังหวัดพิจิตร 'ตี๋' เป็นลูกคนที่ 10 ครอบครัวของเขามีอาชีพเป็นเกษตรกร เขาเล่าว่าแม่ของเขาอยากให้มีแฟนเป็นคนที่ทำงานมีเงินเดือน แต่ ‘สิตางศุ์’ ในตอนนั้นไม่ได้ทำงาน ในตอนแรกแม่ของ ‘ตี๋’ ยังไม่ได้ยอมรับ ‘สิตางศุ์’ มากนัก 

แต่เมื่อเวลาผ่านไปครอบครัวของเขาก็เห็นว่า ‘สิตางศุ์’ สามารถดูแลลูกลูกชายเขาได้ เป็นคนทำอาหารอร่อยและทำงานบ้านเป็นระเบียบเรียบร้อย แม่ของ ‘ตี๋’ จึงค่อยๆ ยอมรับเธอ จะมีแต่เพียงพี่สาวของเขาเท่านั้นที่ไม่ยอมรับ ‘สิตางศุ์’

“ในตอนแรกที่เข้าไปในหมู่บ้านคนที่นั้นเขาก็กรี้ดกร๊าดฉัน เพราะฉันใส่สั้นเสมอหู ส่วนแม่เขาลูกเขารักใครเขาก็รัก ถึงแม้ว่าแม่ของเขาจะไม่ค่อยชอบฉัน แต่ฉันเป็นคนทำงานบ้านเก่ง เขาก็คงมองออกว่าเราสามารถดูแลลูกเขาได้” สิตางศุ์เล่า

ผ่านมากว่า 16 ปี ที่ทั้งคู่อยู่ด้วยกันมา เป็นทั้งเพื่อน เป็นทั้งคนรู้ใจ เป็นเหมือนอีกหนึ่งอวัยวะที่ขาดไม่ได้และไม่มีอะไรที่เป็นความลับต่อกันและกัน 

สิตางศุ์ บัวทอง.jpg

“ความรักมันสดชื่นนะ แต่ถ้าเราดูหนังเราไม่ได้อยากดูหนังตอนจบที่พระเอกนางเอกแต่งงานกัน แต่อยากดูหนังที่พระเอกนางเอกแต่งงานกันแล้วมันจะเป็นยังไงต่อไป อันนี้แหละชีวิตจริง มันไม่ใช่นิยายนะ 

บางคนผู้ชายทิ้งแล้วกินยาฆ่าตัวตาย เห้ย! มันทิ้งไปแหละดีแล้ว! เราอยากให้ทุกคนมีความรัก แต่ทุกความรักมันต้องมีความอดทนอยู่ด้วย ความรักไหนขาดความอดทน แป๊ปเดียวมันก็จะเป็นแค่ความทรงจำ ฉะนั้นความรักจะต้องมีความอดทนและมีความเสียสละ” สิตางศุ์กล่าว 

เธอเล่าต่อว่าสิ่งสำคัญของการใช้ชีวิตคู่ให้ยาวนานคือการรู้จักตัวตนของกันและกัน รู้จักว่าอีกฝ่ายเป็นคนแบบไหนและไม่พยายามไปเปลี่ยนแปลงตัวตนของเขา 

“รักในแบบที่เขาเป็น เหมือนที่เขารักในแบบที่แม่เป็น บางคนสถานภาพเปลี่ยนก็ไปเปลี่ยนเขายันรองเท้าเลย พอมีเงินขึ้นมา เอาผัวจับแต่งตัว แบบนี้ไม่ได้นะ ให้เขาเป็นตัวเขาตั้งแต่วันแรกที่เจอกัน แล้วเขาก็ไม่มีสิทธิจะมากำหนดเราเพราะเราก็ให้สิทธิเขา ฉันก็เลยได้เป็นตัวเองมา 16 ปี โดยไม่อึดอัดเลย” สิตางศุ์เล่า

ทั้งเธอและตี๋อยากมีลูกด้วยกันมาตลอด ทั้งสองจะใช้เวลาว่างในไปดูเด็กกำพร้าด้วยกันและชอบทำบุญช่วยเหลือเด็กๆ ด้วยการแจกทุนการศึกษา จนกระทั่งได้รับบุตรบุญธรรมมาเลี้ยง 

“เราสองคนถึงจะอย่างไร เราพร้อมที่จะให้ความรัก คือเราเป็นคนที่ชอบเลี้ยงสัตว์เหมือนกัน เป็นคนที่ชอบอยู่กับธรรมชาติ เราก็คิดกันมาตลอด จนตอนนี้เราได้บุตรบุญธรรมถูกต้องตามกฎหมายมาแล้วคนหนึ่งเป็นทายาท ตอนนี้เราก็พอแล้ว” 

สิตางศุ์ บัวทอง.jpg

ในบทบาทความเป็นแม่เธออยากเป็นคนที่เลี้ยงดูลูกและมอบความรักให้อย่างเต็มที่เพราะเธอรู้สึกว่าสิ่งที่เธอได้รับจากแม่ของเธอมา มันมากพอที่จะมอบความรู้สึกนี้ให้กับลูกได้ 

“ถ้าใครมาเป็นลูกฉันเขาจะรู้จักคำว่ารัก 100% เลย เพราะความรักไม่ใช่การครอบครอง ถ้าเขาอยากจะเที่ยว อยากจะนอกลู่นอกทางตามวัย หรือว่าอยากลองยา ฉันให้ลองนะ อยากไปเที่ยวก็ไป เราจะไปด้วยเราจะอยู่ข้างๆ เขา ฉันเป็นแม่ที่รักในแบบที่ลูกเป็น และฉันจะไม่ยอมให้ลูกได้รับอันตรายและไม่ยอมให้ลูกเป็นคนชั่ว”

4.

สิทธิที่ถูกพราก

“ตอนแรกที่เราอยู่ด้วยกัน เราเป็นกะเทยที่ไม่มีเงินไม่มีบ้าน อย่างในกรณีแม่สามีมีมรดกเป็นทุ่งนา แล้วถ้าเราอยู่ด้วยกันลำบากด้วยกันมาเกือบ 20 ปี ถ้าหากเขาตาย ฉันต้องโดนไล่ออกจากบ้านเขานะตามกฎหมาย กะเทยไม่มีสิทธิอะไรเลยเหรอ นี่แหละมันเป็นความเสียเปรียบของกะเทยที่กฎหมายในประเทศนั้นไม่รับรอง” สิตางศุ์กล่าว

กว่า 16 ปี ที่สิตางศุ์และตี๋อยู่ด้วยกันเขาทั้งสองคนอยากให้ความรักและชีวิตของพวกเขาถูกรองรับด้วยกฎหมายและมีสิทธิที่เทียมกับคู่รักหญิงชายทั่วไป

“ก็ในเมื่อพวกฉันยังไม่เคยได้ความยุติธรรมในสังคมนี้เลย จนฉันอายุ 60 ปี อยู่กับสามีมาอย่างดี 16 ปี แต่กฎหมายไทยยังไม่ครอบคลุมถึงกลุ่ม LGBTQ+ เลย เราอยากได้สิทธิตามกฎหมาย 100%

เราขอใช้โอกาสนี้เพื่อบอกว่าความรักของกะเทยหรือความรักในกลุ่ม LGBTQ+ ในประเทศไทย คู่ฉันเป็นอีกหนึ่งคู่ที่อยู่กันแบบมีความสุขมาก โดยไม่มีเงื่อนไขของสังคมมาตีกรอบคู่ฉันได้ แล้วมันเป็นอะไรกันหนักหนาเหรอ ความเจริญส่วนหนึ่งกระเทยสร้าง กะเทยคุมบริษัทบันเทิงใหญ่ๆ ในไทย แต่ไม่มีใครเห็นหัวกะเทยเลย ยังไม่เคยให้สิทธิเต็มร้อยเลย รัฐธรรมนูญไทยสู้เรื่องกฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่ออะไร ไม่ใช่เพื่อกะเทย กะเทยไปแหกปากประท้วงกับเขาทุกเรื่อง แต่สิทธิกะเทยไทยไม่เคยได้” สิตางศุ์กล่าว

สิตางศุ์ บัวทอง.jpg

นอกจากนี้เธอยังมองว่าการเปลี่ยนแปลงจำเป็นต้องเปลี่ยนทั้งระบบและเปลี่ยนมุมมองความคิดของคนและเธออยากให้กฎหมายมองเห็นความเท่าเทียมอย่างแท้จริง


“อยากให้เปลี่ยนนักการเมืองไปให้หมด ระบบเก่าเปลี่ยนไปให้หมดเลย อยากให้คนรุ่นใหม่มาเป็นนักการเมืองมาบริหารประเทศ ถ้าเปลี่ยนได้ต้องเปลี่ยนระบบเลย เราอยากเปลี่ยนระบบความคิดใหม่ ว่า เกย์ ตุ๊ด ทอม ดี้ ไม่ใช่ความวิบัติของบ้านเมือง อยากปรับมาตราฐาน ปรับกฎหมายให้มองเห็นความเท่าเทียม โดยไม่ได้มาแบ่งว่าคนเป็นเพศไหน จะเพศที่เท่าไหร่ก็ตาม แต่มันคืออีกหนึ่งชีวิตของมนุษย์ เราพูดถึงความเป็นมนุษย์ มองทุกคนให้เป็นคน”


‘สิตางศุ์’ มองว่ากลุ่ม LGBTQ+ จะไม่โดนใครหลอกอีกต่อไปและจะได้รับการการันตีในความปลอดภัยของความรักของพวกเขาถ้าหาก พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม เกิดขึ้นจริงและได้รับการรับรองในราชกิจจานุเบกษา เธออยากได้สิทธิทุกอย่าง 100% ‘สิตางศุ์’ ยังบอกอีกว่ากลุ่ม LGBTQ+ ในรุ่นของธอจะทำทุกอย่างเพื่อปูทางให้กับเด็กๆ ในรุ่นต่อไปจะได้มีชีวิตและสิทธิเต็มที่ แม้ว่าในช่วงชีวิตของเธออาจจะยังไม่เห็นแต่เธอก็หวังว่าในอนาคตข้างหน้ามันยังมีความหวังอยู่เสมอ 


5.

บทเริ่มต้นแห่งความหวัง

เมื่อวันที่ 15 มิ.ย. 2565 ที่ผ่านมา สภามีมติรับหลักการร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ฉบับก้าวไกล โดยการประชุมสภาวาระพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ...) พ.ศ. ... หรือ พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม 

ที่ ‘ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์’ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เป็นผู้เสนอ ล่าสุดที่ประชุมสภามีมติรับหลักการร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ฉบับพรรคก้าวไกล โดยมีผู้เห็นด้วย 210 เสียง ไม่เห็นด้วย 180 เสียง ไม่ลงคะแนนเสียง 4 งดออกเสียง 4 จากจำนวนผู้ลงมติ 406 เสียง 

สำหรับคำนิยามของ ‘สมรสเท่าเทียม’ ระบุว่า บุคคลทุกเพศสามารถจดทะเบียนภายใต้กฎหมายและมีสถานะเป็นคู่สมรสตามกฎหมาย โดย 1. ทุกเพศจดทะเบียนสมรสได้ เรียกคู่สมรสตามกฎหมาย 2. รับบุตรบุญธรรมได้ 3. ได้รับสิทธิตามกฎหมายใดๆ เท่าเทียมกับคู่สมรส ชาย-หญิงทุกประการ

ในปีนี้ถือเป็นก้าวแรกที่สำคัญและอาจเป็นความหวังของการเปลี่ยนแปลงครั้งใหม่ในอนาคต ทั้งนี้กว่าจะได้เป็นกฎหมายบังคับใช้จริงยังคงต้องผ่านอีกหลายขั้นตอน

"กฎหมายกัญชาผ่านไวกว่ากฎหมายสมรสเท่าเทียมอีก โอ้โห พูดแล้วชํ้า พูดเรื่องสิทธิ LGBTQ+ ยิ่งกว่าสิทธิสตรีอีกนะ จริงๆ ผู้ใหญ่ในบ้านเมืองนี้อย่ามาทำเป็นปัญญาอ่อนแล้วนะท่าน! ” สิตางศุ์กล่าว

6.

คุณค่าความเป็นคนที่โดนเหยียบยํ่า

‘สิตางศุ์’ เป็นที่รู้จักมาตั้งแต่ปี 2017 หลายคนรู้จักเธอจากการที่เธอชี้นิ้วให้ส้มหยุดและส้มก็หยุดโดยที่ไม่มีอะไรมากั้น นอกจากนี้เธอยังมีชื่อเสียงจากการเต้นโชว์ลีลาเซ็กซี่ในโซเชียลมีเดีย เธอมีแฟนคลับมากมายแต่ขณะเดียวกันเธอก็โดนบูลลี่หนักมากเช่นเดียวกัน

“เรื่องบูลลี่โดนมาเยอะมาก บูลลี่ฉันมาตั้งแต่ 2017 จนถึงทุกวันนี้ โดนทุกปี โดนบูลลี่ว่าอีหน้าผี ตอนนี้ 60 ปีแล้ว สวย หุ่นดีขนาดนี้ ก็ยังโดนบูลลี่อยู่เลย” เธอเล่าด้วยสีหน้าจริงจัง

 

“คนที่มาบูลลี่เรามาด่า ไม่มีค่าเลยของความเป็นคน ก็พยายามไม่ไปกัดกับมัน และมันก็ไม่มีเสียงด้วยถ้าเราไม่ไปอ่าน แต่ฉันไปอ่าน แล้วก็ไปร้องไห้”


“มีอยู่ข่าวหนึ่งเขียนว่า มึงไม่ใช่เน็ตไอดอลนะ ทั้งๆ ที่เรากลับมาจากรับงานที่ต่างประเทศมา ก็เลยเข้าไปตอบว่า ขอโทษค่ะคุณ ต่อไปนี้ฉันไม่เป็นเน็ตไอดอลแล้ว” สิตางศุ์กล่าวด้วยนํ้าเสียงเบาๆ

‘สิตางศุ์’ บอกว่าการที่มีคนมาด่าเธอทำให้มีชื่อเสียงขึ้นและก็มีคนมารักเธอมากขึ้น เธอจะไม่ไปเถียงกับใครในโซเชียลแต่เธอจะใช้ผลงานและความสามารถของเธอพิสูจน์ให้ทุกคนได้เห็นถึงคุณค่าของเธอ

สิตางศุ์ บัวทอง.jpg

“ก็ไม่รู้สินะ เราแพง บูลลี่เราเหรอ ขึ้นค่าตัวเลย ตอนนี้ 6 หลักนะ ในความเป็นคนสู้เราก็ตีกลับด้วยผลงาน เราต้องเก่งขึ้น แล้วต้องฆ่าด้วยความสามารถ ฉันไม่สู้คนด้วยการด่าคน ดูถูกฉันมาน่างานเหรอ ฉันจะเอางานตีกลับด้วยงานที่ใครในประเทศนี้ก็ไม่มีวันได้งานอย่างฉัน” สิตางศุ์กล่าวด้วยนํ้าเสียงมั่นใจ

เธอเล่าต่อว่าเวลาที่เธอไปต่างประเทศจะมีแฟนคลับมารอรับเธอที่สนามบินมันทำให้เธอรู้สึกราวกับเป็นเจ้าหญิง ซึ่งต่างจากประเทศไทยที่มักทำข่าวด่าเธอว่าเป็นเน็ตไอดอลตลาดล่าง เธอจึงชอบรับงานที่ต่างประเทศเพราะเธอสามารถที่จะไปเป็นอะไรก็ได้แถมยังได้ค่าตัวสูงอีกด้วย


“ฉันเคยติดประเทศไทยนะ ไปไหนก็คิดว่าจะกลับมาซบอกแม่ ตอนนี้ไม่แล้ว ไม่มีแม่ไม่มีพ่อแล้ว ฉันมีแต่ลูก แล้วฉันสามารถหอบลูกไปในเมืองที่เขามองคนทุกคนเท่าเทียมกัน ความเท่าเทียมมันเห็นได้ชัดเลย ในสังคมนี้ฉันไม่ได้ว่าเมืองไทยนะ แต่ฉันโดนกดขี่เพราะฉันเป็นกะเทยมากเกินไป มันมากเกินไปจริงๆ”


เมื่อพูดถึงเรื่องความเท่าเทียมสิตางศุ์มองว่าในไทยไม่มีจริงเพราะเธอยังคงโดนเอาเปรียบเรื่องค่าตอบแทนเพียงเพราะเพศสภาพที่แตกต่าง “กะเทยขึ้นค่าตัวหกหลักไม่ได้เหรอ จะต้องหน้าสวยเหมือนหน้าเอกเหรอถึงจะได้ค่าตัวหกหลัก ความสามารถของฉันก็ได้แล้วไง ฉันจะฉีกกฎทุกอย่างเลย ฉันเป็นหนึ่งในกะเทยไทยที่ยืนยันตัวได้ว่าสร้างประโยชน์ก็ไม่แพ้กว่าใคร”

“อย่ามาบอกเลยว่าเท่าเทียมกัน อย่ามาบอกเลยว่ากะเทยไทยได้รับเกียรติ ไม่เคยได้รับเกียรติอะไร ลับหลังยังเป็นตัวตลกให้หัวเราะอยู่เลย ปีนี้เราจะไม่ยอม เราจะรีดกฎหมายตัวนี้ออกมาให้ได้ เพื่อสิทธิอย่างอื่นมันจะเท่าเทียมกันสักที กฎหมายสิทธิมนุษยชนในไทยมันจะได้เป็นกฎหมายจริงๆ ไม่ใช้แค่เป็นกฎเอามาชื่นชม แล้วมันยังไม่มีจริง” สิตางศุ์กล่าวด้วยนํ้าเสียงจริงจัง

7.

กะเทย

“กะเทยรู้ กะเทยตาย กะเทยเผา กะเทยโดนแฉ ก็เพราะกะเทย”

000045.jpg

สิตางศุ์อธิบายคำว่า ‘กะเทย’ และความรู้สึกที่มีต่อคำนี้ให้ฟังเมื่อถามว่ารู้สึกอย่างไร

“สำหรับแม่คิดว่า คำว่า ‘กะเทย’ มันเป็นเรื่องปกตินะ เพราะกะเทยคือคนที่เป็นผู้ชายที่อยากเป็นผู้หญิง สมัยที่แม่เรียนปี 1 มีภาพยนต์เรื่อง ทู้ทซี่ (Tootsie) เข้ามาฉาย ดัสติน ฮอฟแมน และเจสซิกา แลงจ์ เป็นตัวเอกของเรื่อง ตอนนั้นประเทศไทยก็เลยมีคำว่า ‘ตุ๊ด’ เกิดขึ้นมา 

สมัยแม่มีผู้ชายประเภทนุ่มนิ่มเยอะมากสมัยนั้นเรียก ‘homosexual’ ไม่มีคำว่าเกย์ ไม่มีโบ๊ท ไม่มีรุก ไม่มีรับ อย่างแม่เป็น homosexual ที่เป็นผู้ชายที่ชอบผู้ชาย เพราะแม่ตามจีบผู้ชายนะเมื่อก่อน สมัยแม่มีแต่คำว่า ‘กะเทย’ กับ ‘homosexual’ ไม่ได้แยกหลากหลายเหมือนสมัยนี้ การพูด ‘กะเทย’ สมัยแม่ก็เลยธรรมดามากเหมือนคำว่า กู มึง มันไม่ได้หยาบเพราะมันเป็นศัพท์ดั่งเดิม แต่เด็กรุ่นใหม่พอไปเรียกเขากะเทยเขาก็อาจจะโมโหก็ได้” สิตางศุ์กล่าว

8.

ยอมรับตัวเอง


“ก็ขอให้เรารับตัวเองได้ก่อน แล้วทำให้คนใกล้ชิดเรายอมรับความเป็นเราให้ได้ ตัวเรานี่แหละสำคัญที่สุด”

สิตางศุ์บอกเล่าสิ่งสำคัญจากประสบการณ์ที่ผ่านมาทั้งชีวิตของเธอซึ่งกว่าจะมาเป็นเธอในวันนี้ เธอต้องผ่านการต้องเป็นลูกที่ดีของแม่ เป็นคนที่แหลกเหลวจากความผิดพลาดของสังคมที่ตีกรอบผู้คน การถูกบูลลี่ ต้องเข้มแข็ง เป็นนักสู้ จนเป็นเน็ตไอดอล เธอผ่านทุกอย่างมาหมดแล้ว

สิตางศุ์ บัวทอง.jpg

“วันนี้ฉันผ่านเรื่องราวมาหมดแล้ว ฉันได้พิสูจน์ให้วิญญาณแม่เห็นแล้วว่า ถึงฉันเป็นกะเทยฉันก็สามารถดูแลครอบครัวได้เป็นอย่างดี ฉันก็ช่วยเหลือสังคมได้เหมือนที่แม่อยากช่วย จะมีประโยชน์หรือไม่มี จะมีใครเห็นรึเปล่า แต่เรามีความสุข ชีวิตฉันถือว่าประสบความสำเร็จนะตั้งแต่เป็นกะเทยที่ไม่มีเงินไม่มีบ้าน ตอนนี้ 60 ปี ฉันมีบ้าน มีสามีที่ดี มีลูกชาย และที่สำคัญมีลูกหมาที่น่ารัก” สิตางศุ์กล่าวทิ้งท้าย 

. . .  

สุภาพร ธรรมประโคน : เรื่อง ภาพ ลำดับภาพ

วิทวัส มณีจักร : ภาพเคลื่อนไหว

  

Suphaphorn Tumprakon
3Article
0Video
0Blog