ไมเคิล วิลเดนบอร์ก กรรมการบริษัท Heksenkaas ผู้ผลิตชีสสเปรดยี่ห้อเฮกเซนคาสของเนเธอร์แลนด์ ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวรอยเตอร์ เมื่อวันที่ 13 พ.ย.ว่า ผิดหวังกับคำพิพากษาของศาลยุติธรรมแห่งสหภาพยุโรป (ECJ) และรู้สึกว่าเป็นเรื่องไม่ถูกต้องที่ศาลตัดสินว่าการคิดค้นสร้างสรรค์รสชาติและกลิ่นของอาหารไม่สามารถจดลิขสิทธิ์คุ้มครองได้
ทั้งนี้ บริษัทเฮกเซนคาสยื่นฟ้องบริษัทสมิลเดอ ผู้ผลิตชีสสเปรด Witte Wievenkaas โดยระบุว่าสมิลเดอละเมิดลิขสิทธิ์ของชีสสเปรดเฮกเซนคาส โดยลอกเลียนรสชาติและกลิ่นซึ่งมีลักษณะเฉพาะของบริษัทไป และย้ำว่าชีสเฮกเซนคาสถูกผลิตขึ้นตั้งแต่ปี 2550 ก่อนที่สูตรชีสและกิจการทั้งหมดจะถูกขายให้กับบริษัทเลอโวลา แต่ชีสสเปรดของสมิลเดอเพิ่งจะผลิตขึ้นในปี 2557 ทั้งยังมีกลิ่นและรสชาติที่คล้ายคลึงกับชีสสเปรดของเฮกเซนคาส
อย่างไรก็ตาม ผู้พิพากษาของ ECJ ยืนยันว่ารสชาติอาหารไม่เข้าข่ายสิ่งที่จะได้รับความคุ้มครองด้านลิขสิทธิ์ เพราะการชี้วัดหรือจำแนกรสชาติอาหารขึ้นอยู่กับประสบการณ์ ช่วงอายุ ภูมิหลัง และความชอบหรือไม่ชอบของแต่ละบุคคล การชี้วัดว่ารสชาติต่างๆ เป็นการลอกเลียนแบบหรือไม่ จึงไม่มีความแม่นยำร้อยเปอร์เซ็นต์ ทำให้การพิสูจน์หรือจดลิขสิทธิ์เกี่ยวกับกลิ่นและรสชาติของอาหารเป็นสิ่งที่ไม่อาจถกเถียงหาข้อยุติได้
ขณะเดียวกัน บีบีซีรายงานว่า หลักเกณฑ์การพิจารณาคุ้มครองสิ่งที่ขอจดลิขสิทธิ์ จะต้องมีเอกลักษณ์โดดเด่น สามารถจำแนกและบ่งชี้ได้อย่างแม่นยำว่าองค์ประกอบที่เป็นเอกลักษณ์ของสิ่งต่างๆ ที่ขอจดลิขสิทธิ์นั้นคืออะไร
กรณีชีสสเปรดไม่ใช่ข้อพิพาทด้านอาหารเรื่องแรกที่ถูกยื่นเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมในยุโรป เพราะเดือน ก.ค. 2561 ที่ผ่านมา ผู้พิพากษา ECJ ตัดสินว่า 'Kit Kat' ขนมเวเฟอร์เคลือบช็อกโกแลตของบริษัทเนสเลต์ ไม่สามารถถือลิขสิทธิ์การเป็นผู้ผลิตขนมขบเคี้ยวแบบหักแบ่งได้สี่แถวเพียงรายเดียวในสหราชอาณาจักรได้ เพราะสินค้าไม่ได้โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์จนผู้บริโภคสามารถจำแนกความแตกต่างได้อย่างแม่นนำ
คำตัดสินตังกล่าวยุติคดีความที่กินเวลานาน 5 ปี และทำให้บริษัท 'แคดบิวรี' ซึ่งเป็นคู่แข่งทางการค้าของผู้ผลิตคิทแคทในอังกฤษ สามารถผลิตขนมเวเฟอร์เคลือบช็อกโกแลตแบบหักแบ่งได้สี่แถวเช่นเดียวกับคิทแคทได้
ส่วนเมื่อเดือน ธ.ค.ปีที่แล้ว ผู้พิพากษาของ ECJ ตัดสินว่าเครือธุรกิจค้าปลีก Aldi Sud ในประเทศเยอรมนีสามารถใช้คำว่า 'แชมเปญ ซอร์เบต์' เป็นชื่อไอศกรีมที่บริษัทผลิตขึ้นมาขายช่วงเทศกาลคริสต์มาสได้ เนื่องจากไอศกรีมมีส่วนผสมของแชมเปญ 12 เปอร์เซ็นต์
ก่อนหน้านี้ สมาคมผู้ผลิตแชมเปญในยุโรปยื่นฟ้อง Aldi Sud โดยให้เหตุผลว่า การใช้คำว่าแชมเปญตั้งชื่อผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่ไม่ใช่เครื่องดื่มแชมเปญ เป็นการก่อให้เกิดความเข้าใจผิดและละเมิดสิทธิของผู้ผลิตแชมเปญ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: