นายอุดม รัฐอมฤต อดีตโฆษกคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึงกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งเพิกถอนการดำรงตำแหน่งอดีตรัฐมนตรีในข้อห้ามการถือหุ้นกิจการของรัฐ ซึ่งปัจจุบันเป็นวุฒิสมาชิกอยู่ว่า การห้ามดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีตามมาตรา 160(8) กับการขาดคุณสมบัติตาม รัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (17) เป็นคนละเรื่อง คนละกรณีกัน
นายอุดม กล่าวต่อว่า ดังนั้นกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ พ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรี และไม่อาจเป็นรัฐมนตรีภายใน 2 ปีนับจากพ้นจากตำแหน่งตามมาตรา160 (8) จึงไม่ใช่มาตรการลงโทษห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมืองตามความมุ่งหมายของมาตรา 98 (17) กรณีของ นพ.ธีระเกียรติ จึงไม่เข้าลักษณะต้องห้ามเป็น ส.ว.คือ ไม่เข้าตามมาตรา 108 ข. (1) + มาตรา 98 (17)
อดีต กรธ. กล่าวว่า ในตอนยกร่างรัฐธรรมนูญ เราพิจารณาหลักเกณฑ์เดิมแล้วเห็นช่องว่างว่า พอพ้นจากตำแหน่ง ก็กลับมาได้อีก กรธ. เลยมีการปรับให้มีการเว้นวรรค แต่ไม่ได้คิดว่าเป็นโทษ เพราะเป็นเรื่องขาดคุณสมบัติ ไม่ใช่การกระทำทุจริตที่ต้องไปถูกสอบสวนโดย ป.ป.ช.ต่างหาก ด้วยเหตุนี้ มาตรา 160 (8) จึงมีขึ้นเพื่อไม่ให้ รมต.ที่กระทำการในลักษณะที่ทำให้ต้องพ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีสามารถกลับมาดำรงตำแหน่งได้อีกในทันทีที่ไม่มีลักษณะต้องห้ามนั้นแล้ว อย่างเช่นที่เคยทำกันในรัฐบาลก่อนๆ ต้องการปิดช่องว่างนี้และให้เว้นวรรคเฉพาะรัฐมนตรีไม่ให้กลับมาเป็นรัฐมนตรีอีกอย่างน้อย 2 ปี
ทั้งนี้ ไม่ได้ห้ามการดำรงตำแหน่งทางการเมืองในตำแหน่งอื่น ไม่ว่าจะเป็น ส.ส. หรือ ส.ว. หากไม่ปรากฏลักษณะการกระทำที่ต้องห้ามตามมาตรา 184 แล้ว ส่วนลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 98 (17) กำหนดขึ้นเพื่อไม่ให้คนที่อยู่ระหว่างถูกศาลสั่งลงโทษห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมืองเข้ามาทำหน้าที่ทางการเมืองใดๆ ไม่ว่าเป็น ส.ส. ส.ว. หรือรัฐมนตรีในช่วงนั้นอีก
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :