ไม่พบผลการค้นหา
หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นำทีมหาเสียงพื้นที่ กทม. ชี้กระแสตอบรับดีขึ้นเรื่อยๆ เชื่อมั่นนโยบายประกันราคาข้าว มาจากประสบการณ์จริง

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นายถวิล ไพรสณฑ์ ผู้สมัคร ส.ส. ระบบบัญชีรายชื่อ พร้อม คณะ ลงพื้นที่สวนธนบุรีรมย์ จ.กรุงเทพฯ เพื่อรณรงค์เชิญชวนให้ประชาชนออกไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง ในวันที่ 24 มีนาคม 2562 พร้อมขอคะแนนเสียงสนับสนุนพรรคช่วย นายสาทร ม่วงศิริ ผู้สมัคร ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ เบอร์ 12  เขตเลือกตั้งที่ 24 เขตราษฎร์บูรณะ-ทุ่งครุ  จากนั้น ขึ้นรถแห่หาเสียง ไปยังตลาดใหม่ทุ่งครุ ประชาอุทิศ 61  เพื่อเดินรณรงค์พบปะทักทาย แม่ค้า พ่อค้าประชาชน ในตลาดฯ โดยรถแห่รณรงค์หาเสียงของนายสาทรประกาศข้อความว่า

ทั้งนี้นายอภิสิทธิ์ ให้สัมภาษณ์ ภายหลังการลงพื้นที่พบปะประชาชนในเขตทุ่งครุ ว่า กระแสการตอบรับพรรคประชาธิปัตย์ถือว่าดีขึ้นเรื่อยๆ ประชาชนมีความตั้งใจอยากให้ประเทศเดินหน้า โดยเฉพาะปัญหาเศรษฐกิจปากท้อง อยากให้แก้ไขให้ตรงจุด ขณะเดียวกันประชาชนก็อยากมีความมั่นใจว่าการเมืองจะต้องเดินหน้าไปอย่างสุจริต เพราะฉะนั้นสิ่งที่ประชาธิปัตย์พยายามนำเสนอ คือประชาชนเป็นใหญ่ ประชาธิปไตยสุจริตด้วยนโยบายแก้จน สร้างคน สร้างชาติ ซึ่งได้รับการตอบรับจากประชาชนทุกพื้นที่เป็นอย่างดี

เมื่อถามว่า พรรคภูมิใจไทยปราศรัยว่ามีนโยบายเรื่องข้าวดีกว่าพรรคประชาธิปัตย์  นายอภิสิทธิ์ เห็นว่า กลไกการทำงานของพรรคประชาธิปัตย์กับพรรคภูมิใจไทยมีความแตกต่างกัน เรื่องข้าวพรรคประชาธิปัตย์ทำนโยบายข้าวจากประสบการณ์ โดยใช้นโยบายประกันรายได้ ถือว่าประสบผลสำเร็จมาระดับหนึ่ง ซึ่งการเลือกตั้งครั้งนี้ก็จะมีการปรับปรุงยกระดับขึ้นมาอีกระดับหนึ่ง เป็นนโยบายที่พิสูจน์แล้วว่าดำเนินการไปแล้วระบบการเงิน การคลังไม่เสียหาย และที่สำคัญไม่มีการทุจริต และกลไกการขายข้าวไม่พัง ข้าวไทยยังสามารถแข่งขัน และส่งออกได้เป็นอย่างดี นี่เป็นแนวทางของประชาธิปัตย์ ส่วนนโยบายเรื่องข้าวของพรรคภูมิใจไทยเข้าใจว่าจะเอาแนวคิดเรื่องระบบอ้อย-น้ำตาลมาใช้กับข้าว ซึ่งถือเป็นความตั้งใจที่ดีแต่ความจริงแล้วตลาดอ้อย-น้ำตาล กับตลาดข้าวมีความแตกต่างกัน

นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาระบบอ้อย-น้ำตาล สามารถทำได้ เพราะสามารถตรึงราคาน้ำตาลในราคาที่สูง จะเห็นได้ว่าทันทีที่มีการลอยตัวราคาน้ำตาล และนำ้ตาลลดลงราคาอ้อยได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง เพราะฉะนั้นคำถามก็คือว่า ถ้าเอาระบบอ้อย-น้ำตาล มาใช้กับข้าว ก็แปลว่าให้คนไทยกินข้าวแพงใช่หรือไม่ ประการที่สองการป้อนอ้อยเข้าสู่โรงงานผลิตน้ำตาล มีโรงงานน้อย มีระบบที่สามารถตรวจสอบได้ ในขณะที่การค้าขาย ข้าวมีหลายประเภท โรงสีมีจำนวนมาก ตรงนี้เป็นปัญหาที่จะทำได้ยาก เรื่องนี้สามารถฟังจากนักวิชาการว่าสามารถเป็นไปได้จริงหรือ ที่จะนำระบบอ้อยน้ำตาลมาใช้กับพืชเช่นข้าว