วันที่ 28 ก.พ. ที่อาคารรัฐสภา แอมเนสตี้ ประเทศไทย พร้อมด้วยตัวแทนนักกิจกรรมและญาติผู้เสียหายจากการทรมานและอุ้มหายยื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ให้ยุติการเลื่อนหรือขยายระยะเวลาการบังคับใช้ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมาน และอุ้มหายในบางมาตราออกไป
พร้อมเน้นย้ำว่า พ.ร.บ.ดังกล่าวต้องเป็นกฎหมายที่บังคับใช้ทั้งฉบับ เพื่อยืนยันว่ารัฐบาลไทย ตระหนักถึงความจำเป็นที่จะต้องคุ้มครองบุคคลให้รอดพ้นและปลอดภัยจากการละเมิดที่ร้ายแรง รวมทั้งคืนความยุติธรรม ให้กับผู้เสียหายและครอบครัว ซึ่งไม่ได้รับความเป็นธรรมมาเป็นเวลานาน
สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 14 ก.พ. 2566 ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติขยายเวลาบังคับใช้ พ.ร.บ.ป้องกันการอุ้มหายฯ ในมาตรา 22-25 ออกไปเป็นวันที่ 1 ต.ค. 2566 โดยระบุเหตุผล ถึงความจำเป็นต้องปรับปรุงการดำเนินการ บทบาท และหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมระดับหน่วยปฏิบัติและ ข้อขัดข้องเรื่องการจัดซื้อกล้อง และต้องเตรียมความพร้อมของบุคคลากรที่ต้องฝึกอบรมบุคลากรในการใช้อุปกรณ์
ปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เผยว่า แอมเนสตี้ ประเทศไทยได้ติดตาม ความคืบหน้าของ พ.ร.บ.ดังกล่าว มีกำหนดบังคับใช้ในวันที่ 22 ก.พ. 2556 นี้มาโดยตลอด แต่การชะลอการบังคับใช้กฎหมายที่มีการผลักดันมามากกว่า 10 ปี และถือเป็นกฎหมายสำคัญที่นำไปสู่การป้องกันการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหายในประเทศไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในพันธ กิจหลายประการที่ทางการไทยได้ประกาศไว้ในเวทีโลก อีกทั้งยังนำไปสู่การตั้งคำถามถึงความจริงใจของรัฐบาลในการ ช่วยเหลือผู้เสียหายและครอบครัวให้ได้รับสิทธิเรียกร้องตามกระบวนการยุติธรรมจากกรณีที่ถูกทรมานและบังคับให้สูญหาย
“การที่ ครม. มีมติขยายเวลาบังคับใช้ พ.ร.บ.ป้องกันอุ้มหายฯ ในมาตรา 22-25 ออกไปนั้น ส่งผลให้ผู้เสียหายไม่สามารถเข้าถึงความยุติธรรม และเป็นเหตุให้ผู้เสียหายคนอื่นไม่กล้าออกมา ร้องเรียน ทั้งยังส่งสัญญาณต่อเจ้าพนักงานว่า พวกเขาอาจกระทำการละเมิดเช่นนี้ได้อีกโดยไม่ต้องรับโทษ”
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ขอเรียกร้องพรรคการเมือง ในฐานะเป็นองค์กรที่ทำหน้าที่ ตรวจสอบและออกกฎหมาย ทั้งยังเป็นเสียงของประชาชน เพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน และสื่อสารกับองค์กร หน่วยงานอื่นๆ และสาธารณะเพื่อให้เป็นไปตามพันธกิจดังกล่าว ให้มีการดำเนินการดังนี้
1. ประกาศการใช้พระราชบัญญัติทั้งฉบับโดยไม่มีการยกเว้นบางมาตรา เพื่อทำตามพันธกรณีที่ประเทศไทยมีต่อ อนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมาน (CAT) อีกทั้ง ให้สัตยาบันแก่อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วย การคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ (ICPPED) และพิธีสารเลือกรับของอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรีอื่น ๆ (OP-CAT)
2. ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อจัดทำระเบียบหรือข้อกฎหมายย่อยในระดับกระทรวงเพื่อให้การ ปฏิบัติตาม พระราชบัญญัติเป็นไปตามกฎหมาย ติดตามการปฏิบัติของหน่วยงานต่าง ๆ อีกทั้ง ดำเนินการตามขั้นตอนที่จำเป็นในการ แก้ไขกฎหมายให้สอดคล้องกับกฎหมายและมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศอย่างถูกต้องสมบูรณ์และโดยเร็วที่สุด
3.การบังคับใช้จะต้องมีการประกาศ สื่อสาร และทําความเข้าใจกับสังคมในการเข้าถึงของกลไก มาตรการ และสิทธิที่ประชาชนมีภายใต้กฎหมาย ทางานร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย อันเป็นผลประโยชน์สูงสุดในการคุ้มครองและเติมเต็มสิทธิของประชาชน
โดย ณัฐวุฒิ บัวประทุม ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ระบุว่าพร้อมอภิปรายเรื่องนี้ในสภาอยู่แล้ว มองว่าข้อเสนอของแอมเนสตี้สอดคล้องกับพรรคก้าวไกล ซึ่งเป็นพรรคที่สนับสนุนการออกกฏหมายฉบับนี้มาโดยตลอด มีความคาดหวังอย่างสูงว่าจะทำให้ประเทศไทยเข้าถึงอารยประเทศ ตลอดจนหวังว่าจะไม่มีการซ้อมทรมานอุ้มหายเกิดขึ้นอีกในประเทศไทย และให้ความเป็นธรรมกับกรณีที่มีการซ้อมทรมานหรือการอุ้มหายที่เคยเกิดขึ้นในอดีต
แต่สิ่งที่รัฐบาลออก พ.ร.ก.เลื่อนการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว และอ้างว่ามีเงื่อนเวลาไม่นาน เป็นเจตนาของการเตะถ่วงไม่เคารพต่อรัฐธรรมนูญ ทั้งที่ในแผนพัฒนาปฏิรูปประเทศไทยว่าสำนักงานตำรวจแห่งชาติมีความพร้อมเรื่องอุปกรณ์ วันนี้เปิดแล้วองค์ประชุมครบ ขอให้อภิปรายเดินหน้าถึงที่สุด เชื่อว่ามี ส.ส.อีกไม่น้อยลงมติคว่ำ พ.ร.ก. ที่สำคัญคือมีความพยายามเข้าชื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง
ขณะที่ ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ ส.ส.กทม. โฆษกพรรคเพื่อไทย ระบุว่า มติของพรรคร่วมฝ่ายค้านไม่เห็นชอบต่อกฎหมายฉบับนี้ และจะอภิปรายประเด็นนี้ เพื่อจะคว่ำ พ.ร.ก.ฉบับนี้ออกไป ยืนยันว่าข้อเรียกร้องทุกองค์กรที่เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน
“เราได้ยินเสียง เรารับไว้และจะดำเนินการอย่างเต็มกำลังความสามารถและจากเรียกร้องให้ภาครัฐได้ยินเสียงของพวกเรา” ธีรรัตน์ กล่าว