ไม่พบผลการค้นหา
ศปปส. ยื่นหนังสือถึง 'ประวิตร' ไล่แอมเนสตี้อีกครั้ง พร้อมเสนอรัฐบาลเดินหน้าใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน คุมม็อบต่อ เพื่อความสงบสุขของประเทศชาติ

วันที่ 26 ก.ย. 2565 ศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส) ยื่นหนังสือถึงพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี รักษาการนายกรัฐมนตรี โดยมีสมพาส นิลพันธ์ ที่ปรึกษาสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นผู้รับหนังสือ ขอให้ตรวจสอบองค์กรไม่แสวงหาผลกําไร แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย แทรกแซงกิจการภายในของประเทศ

โดยเนื้อหาของหนังสือ ระบุถึงกรณีเมื่อวันที่ 23 กันยายน 2565 แอมเนสตี้ พร้อมตัวแทนนักวิชาการและนักกิจกรรมทางการเมือง ได้เดินทางไปยังทําเนียบรัฐบาล เพื่อยื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลไทยให้ยุติการใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และยุติข้อกล่าวหาฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่เกิดจากการแสดงออกและการชุมนุมประท้วง และในวันเดียวกัน ทางรัฐบาลได้เตรียมยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ให้มีผลในวันที่ 30 กันยายน 2565 นี้ และจะต้องนําเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อขอความเห็นชอบต่อไปนั้น 

ทาง ศปปส. มีคําถามหรือข้อร้องเรียนเสนอต่อรัฐบาล คณะรัฐมนตรี หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า เหตุใดถึงปล่อยให้แอมเนสตี้เข้ามาแทรกแซงกิจการภายในของประเทศไทย โดยไม่มีการท้วงติงใดๆ ซึ่ง ศปปส. เคยยื่นหนังสือ ณ ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์รัฐบาล เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2565 เรื่องที่แอมเนสตี้เข้ามาแทรกแซงกิจการภายในของประเทศไทย ซึ่งก็ยังไม่เห็นผลเป็นรูปธรรมใดๆ อีกทั้งแอมเนสตี้ก็ยังได้ปลุก ระดมมวลชนเพื่อจัดการชุมนุมตามสถานที่ต่างๆ เป็นที่คลางแคลงใจว่า องค์กรไม่แสวงหาผลกําไรหรือ แอมเนสตี้นี้ได้อภิสิทธิ์ใดๆ ในหรือเหนือผืนแผ่นดินไทย ถึงได้จัดระดมมวลชนออกมาเคลื่อนไหวแทรกแซงกิจการภายในของประเทศไทยอยู่ร่ำไป 

อนึ่ง แม้สถานการณ์โควิด-19 ได้คลี่คลายลงไปแล้วก็ตาม แต่การจัดการชุมนุมที่สร้างความวุ่นวายให้กับบ้านเมือง สั่นคลอน 3 สถาบันหลักของชาติ โดยเฉพาะสถาบันพระมหากษัตริย์ ยังคงจัดกันอยู่อย่างต่อเนื่องตามสถานที่ต่างๆ ในกรุงเทพมหานคร ดังนั้นจึงอยากจะให้ทางรัฐบาล คณะรัฐมนตรี รวมถึงฝ่ายความมั่นคงของประเทศ ตระหนักถึงเรื่องดังกล่าวนี้ 

ทาง ศปปส. จึงอยากจะให้มีการพิจารณาใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินและ พ.ร.บ.ชุมนุม ต่อไปเพื่อความสงบสุขของประเทศชาติ และพิจารณาบทบาทขององค์กรไม่แสวงหาผลกําไรหรือ แอมเนสตี้ว่าสมควรที่จะมีองค์กรนี้อยู่ในประเทศไทยต่อไปหรือไม่อย่างไร