นับตั้งแต่ สี จิ้นผิง ขึ้นดำรงตำแหน่งประมุขประเทศ กุมบังเหียนชะตากรรมจีนแผ่นดินใหญ่ เราได้เห็นนโยบายแปลกใหม่มากมาย ทั้งชนิดที่ถอนรากถอนโคนจนนานาชาติเบือนหน้า หรือนโยบายที่กล่าวได้ว่าส่งผลต่อความทันสมัยของประเทศ จนกระทั่งจีนผงาดขึ้นมาหยามสหรัฐอเมริกาอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน
หนึ่งในความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัด คือ ‘ประชากรชาวจีนแผ่นดินใหญ่’ การดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจของสีจิ้นผิง และรัฐบาลคอมมิวนิสต์อย่างเข้มข้น ส่งผลให้ภายในระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา คนจีนหลุดพ้นจากเส้นความยากจนมากถึง 68.53 ล้านคน ขณะที่ชนชั้นกลางก็ขยายตัว มีกำลังซื้อจับจ่ายใช้สอยมากขึ้นทั้งภายในประเทศ และนอกประเทศ
ด้วยจำนวนประชากรมหาศาลเกือบ 1,400 ล้านคน ชาวจีนจึงกลายเป็นหนึ่งในชาติมหาอำนาจในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ทุกที่ที่มีถนนหนทาง พวกเขาจะไป
ผลสำรวจจากองค์การการท่องเที่ยวโลกแห่งสหประชาชาติ (UNWTO) เมื่อปี 2017 ระบุว่า นับตั้งแต่ปี 2012 เป็นต้นมา ประเทศจีนมีประชากรเดินทางท่องเที่ยวนอกประเทศเยอะที่สุด ในโลก โดยที่ปี 2016 มีนักท่องเที่ยวชาวจีนเดินทางออกนอกประเทศกว่า 135 ล้านคน และใช้จ่ายเงินกว่า 261,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นจำนวนเงินที่มากกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนเงินที่ชาวอเมริกันใช้จ่ายในการท่องเที่ยวนอกประเทศ
สำหรับประเทศไทย ถือเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวชาวจีนมานานหลายปี แต่ในระยะหลัง เราได้เห็นเทรนด์การท่องเที่ยวของชาวจีน ที่เปลี่ยนจากการมาโดยกรุ๊ปทัวร์ เป็นการจัดทริปมาเองกันมากขึ้น
นอกจากนี้ เทรนด์ ‘การท่องเที่ยวคนเดียว’ ของคนจีน ยังถือเป็นอีกหนึ่งเทรนด์ที่คลาดสายตาไม่ได้
Voice On Being ตระเวนสำรวจเกาะรัตนโกสินทร์ในช่วงบ่ายของวันกลางสัปดาห์ที่แดดเจิดจ้า แม้บรรยากาศตามท้องถนนจะดูไม่คึกคักเหมือนก่อนหน้านี้ตามภาพชินตา อาจด้วยเพราะการจัดระเบียบต่างๆ ของรัฐบาล อย่างไรก็ตามบริเวณหน้าประตูทางเข้าวัดพระศรีรัตนศาสดารามยังคึกคักด้วยนักท่องเที่ยว ทั้งนักท่องเที่ยวที่มาเองและมากับกรุ๊ปทัวร์
‘ยัง’ หรือ เหวิน ดิง จากเซี่ยงไฮ้วัย 24 ปี คือนักท่องเที่ยวจากจีนแผ่นดินใหญ่แบบที่เราตามหา เขาสื่อสารภาษาอังกฤษได้ค่อนข้างดี เนื่องจากร่วมงานกับบริษัทคอมเมดี้ โปรดักชั่น จากสหรัฐอเมริกา ที่เข้ามาขยายสาขาในเซี่ยงไฮ้ เขาใส่เสื้อยืดสีขาวกับกางเกงสแล็กสีเทา ตัดผม จัดทรงเนี๊ยบ และมีสไตล์ชัดเจน อาจกล่าวได้ว่าแตกต่างกับนักท่องเที่ยวชาวจีนทั่วไป
“เพื่อนของผมเดินทางมาประเทศไทยปีที่แล้ว เธอบอกว่าประเทศไทยน่าสนใจและผู้คนน่ารัก และเธอมีประสบการณ์ที่ดีมากที่นี่ ผมได้วันหยุดในช่วงนี้ 14 วัน เลยตัดสินใจมาไทย พักอยู่แล้วรัชดาฯ โดยจะอยู่ที่กรุงเทพฯ เป็นส่วนใหญ่ และจะไปพัทยาต่อสักหลายๆ วัน” ยัง ตอบคำถามด้วยภาษาอังกฤษอย่างคล่องแคล่ว
เขาเล่าว่า ในช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม ที่ประเทศจีนถือว่าเป็นช่วงที่ยุ่งมาก แต่เขาโชคดีที่ได้หยุดในช่วงนี้ แต่โชคร้ายที่ไม่มีเพื่อนคนไหนหยุดมาเที่ยวกับเขาได้ เขาเลยตัดสินใจมาคนเดียว แม้จะกังวลเล็กน้อยว่าคนไทยจะเข้าใจภาษาอังกฤษสำเนียงจีน ที่เขาเรียกว่า ‘Chinglish’ ได้หรือไม่ แต่เอาเข้าจริง ทุกอย่างกลับราบรื่น
“วัยรุ่นจีน อายุเท่าๆ ผม เริ่มนิยมมาเที่ยวคนเดียวกัน ในจีนมีเทรนด์หนึ่งเรียกว่า ‘การท่องเที่ยวเชิงลึก’ (Deep Travel) ไม่ใช่การเที่ยวเป็นกรุ๊ป แต่คนในรุ่นๆ ผมหลายคนตัดสินใจท่องเที่ยวคนเดียวเพื่อที่จะใช้เวลาในการสัมผัสรายละเอียดของการเดินทาง เช่นผมเองก็พยายามเข้าร้านอาหารที่เล็กๆ ไม่ใช่ร้านที่โด่งดังอะไร และพบว่ามันก็อร่อยเหมือนกัน มันเป็นวิธีที่ผมจะได้เรียนรู้การใช้ชีวิตแบบคนไทยจริงๆ ไม่ใช่แค่การขึ้นรถบัสจากที่หนึ่งไปที่หนึ่ง และไปอีกที่หนึ่งในแต่ละวัน” ยัง เล่าให้ฟังอย่างน่าสนใจ
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ชาวมิลเลนเนียลจากจีนแผ่นดินใหญ่ ออกท่องเที่ยวโดยลำพังนั้น เป็นเพราะพวกเขามี ‘โอกาส’ ที่มากกว่า ทั้งในด้านภาษา โดยนอกจากจะสื่อสารภาษาอังกฤษได้แล้ว ยังสามารถใช้เครื่องมือดิจิทัล เช่น สมาร์ทโฟนได้คล่องแคล่ว พวกเขาจึงเสิร์ชหาข้อมูลจากออนไลน์ได้ตลอดเวลา แน่นอนว่าในการแพลนทริป พวกเขาอิงข้อมูลจากรีวิวบนโลกออนไลน์โดยส่วนใหญ่
การสำรวจจาก ฟัง โกลเบิล รีเทล แอนด์ เทคโนโลยี (Fung Global Retail & Technology) เมื่อปี 2017 ระบุว่า มีชาวจีนกว่า 70.6 ล้านคนที่ออกเดินทางคนเดียว ซึ่ง 52 เปอร์เซ็นต์ ในจำนวนดังกล่าว เลือกที่จะเดินทางท่องเที่ยวนอกประเทศ
นอกจากนี้ จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างนักท่องเที่ยวเดี่ยวชาวจีน 800 คน พบว่า ผู้ที่เดินทางคนเดียวมักจะใช้เงินเฉลี่ยราว 16,527 หยวน/ทริป 56 เปอร์เซ็นต์สำหรับการช็อปปิ้ง โดยมีญี่ปุ่นเป็นจุดหมายปลายทางอันดับ 1 ตามด้วยฮ่องกง และประเทศไทย
ไม่ใช่เพียงชาวจีนเท่านั้น แต่เทรนด์ ‘เที่ยวคนเดียว’ ยังถือเป็นเทรนด์ที่เริ่มนิยมมากขึ้นในชาวเอเชียในช่วงหลายปีมานี้ โดยส่วนใหญ่มักจะอยู่ในอายุ 18-26 ปี ซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ที่มองว่าการได้ท่องโลก ถือเป็นองค์ประกอบสำคัญของการใช้ชีวิต และเก็บเงินทุกปีเพื่อที่จะได้ออกไปเห็นโลกกว้างนอกประเทศ
สำหรับนักท่องเที่ยวโซโลชาวเอเชีย ผลสำรวจจาก YouGov บอกว่า ส่วนใหญ่พวกเขาเลือกที่จะไปกรุงเทพฯ มากที่สุด ตามด้วยกัวลาลัมเปอร์ โตเกียว สิงคโปร์ ฮ่องกง โฮจิมินห์ และมะนิลา
บางคนมองว่า การท่องเที่ยวคือการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม คือการพาตัวเองเข้าไปสัมผัสวิถีชีวิตที่แปลกใหม่ และคือการสร้างเพื่อนใหม่ที่มีความชอบคล้ายๆ กัน
“ถ้าเราเดินทางกับเพื่อน เช่นถ้าผมเดินทางพร้อมกับคนญี่ปุ่น ก็เหมือนเรานำวัฒนธรรมของเรามาด้วยกัน เราก็จะพูดแต่ภาษาญี่ปุ่น เราจะไม่ได้สัมผัสบรรยากาศความเป็นไทยแท้ๆ เลย” เรียว โคบายาชิ นักดนตรีจากโตเกียว วัย 28 ปี ผู้เดินทางท่องเที่ยวคนเดียวแทบทุกทริปไปทั่วโลก ตั้งแต่ อินเดีย เนปาล ลาว เปรู เนเธอแลนด์ อังกฤษ และประเทศไทย บอกเล่าให้ฟัง
ซึ่งนี่เป็นครั้งที่ 4 แล้วที่เขามาเที่ยวประเทศไทย แต่ละครั้งเขาเลือกเดินทางไปยังหลายๆ ภูมิภาคของประเทศไทย ปกติแล้ว โคบายาชิจะไม่ได้คิดจุดหมายปลายทางของการเดินทาง แต่เมื่อเขาเก็บเงินได้สักก้อนหนึ่ง ก็จะดูว่าเงินก้อนดังกล่าวจะพาเขาไปไหนได้บ้าง
สำหรับเขา ประเทศไทยเป็นปลายทางที่เหมาะสมในหลายครั้ง เพราะไม่ต้องใช้เงินก้อนใหญ่ มีสถานที่ที่น่าสนใจให้ค้นหาตลอดเวลา ผู้คนเป็นมิตร และสิ่งสำคัญคือ ประเทศไทยมีบรรยากาศสบายๆ แตกต่างจากประเทศของเขา เขามองว่า เมืองอย่างโตเกียว เป็นเมืองที่เป็นระเบียบจนเกินไป และผู้คนจะใช้ชีวิตโดยแคร์สายตาคนอื่นตลอดเวลา
“ผมได้อะไรเยอะมากจากการเที่ยวคนเดียว ผมมักจะเลือกพักในเกสเฮ้าส์ ซึ่งมีคนมาจากหลายประเทศ ผมจึงได้พูดคุยกับคนเยอะมาก ถ้าผมพักในโรงแรม ผมจะไม่มีโอกาสได้พูดคุยกับคนอื่นๆ เลย”
โคบายาชิตัดสินใจจะท่องเที่ยวในทุกๆ ปี ปีละ 2 ครั้ง เพื่อเป็นทั้งการพักผ่อนและเปิดมุมมองใหม่ๆ ผ่านการพูดคุยกับคนหลายเชื้อชาติ
ขณะที่นักเดินทางเดี่ยวบางคน ให้ความสำคัญกับการค้นหาตัวตนมากขึ้น โดยมองว่าการเดินทางทำให้รู้สึกว่าตัวเองใจกว้างมากขึ้น เข้าอกเข้าใจคนอื่นมากขึ้น และสุดท้ายนำกลับมาปรับใช้ในชีวิตจริงได้
วิภาวี ฉัตรอุทัย หรือ ‘ตั่วตั่ว’ วัย 26 ปี อาชีพผู้ช่วยผู้จัดการร้านแห่งหนึ่งย่านอโศก และเจ้าของเพจบันทึกการเดินทาง ‘ตาตุ่ม’ สาวไทยตัวเล็กซึ่งเลือกเดินทางไปยังหลายประเทศที่ไม่ใช่ปลายทางยอดนิยมของคนไทย ไม่ว่าจะเป็น อินเดีย รัสเซีย หรือปากีสถาน บอกว่า การเดินทางคนเดียว ทำให้เธอได้ค้นพบตัวตนใหม่ๆ ของเธอทุกครั้ง
“การเที่ยวคนเดียวจริงๆ มันอาจจะไม่ได้อะไรมากหรอก ถ้าพูดกันตรงๆ แต่เราได้เจอตัวตนที่ดีขึ้นของเรามากขึ้นเรื่อยๆ คือในแง่ของมนุษย์ ของนักเดินทาง เราได้รู้จักประเทศนั้นๆ มากกว่าในกูเกิ้ลบอก และเราได้เจอตัวเองในอีกแบบ ตัวเราเองในเมืองหลวงกรุงเทพฯ เราก็เป็นแบบหนึ่ง แต่ตัวเราตอนเดินทางมันก็เป็นอีกแบบหนึ่ง เราเปิดใจมากขึ้น เราเติบโตขึ้น”
หลายๆ คนตั้งคำถามเสมอถึงปลายทางที่เธอเลือก ถึงความปลอดภัย แต่เธอมองว่าหากเตรียมตัวให้พร้อม ค้นข้อมูลให้แน่นจากหลายๆ แหล่ง คุยกับคนที่เคยไปจริงๆ คำถามนั้นก็ไม่ใช่ข้อจำกัด
“เราไม่ค่อยกลัวนะ อาจจะชินกับการใช้ชีวิตทำอะไรด้วยตัวเองด้วยมั้ง เรามองว่าคนไทยถ้าไปเที่ยวคนเดียวจะมี 2 ความรู้สึกหลักๆ คือ ความกลัว กับความเหงา ในเรื่องความกลัว เราค่อนข้างเก็บเงินหรือซ่อนเงินเก่ง เราเลยข้ามเรื่องโดยขโมย อย่างรัสเซียไม่น่ากลัวเรื่องอาชญากรรมเลย น่ากลัวแค่เรื่องโดนหลอกนิดหนึ่ง แค่เราไม่ไปที่เสี่ยงก็โอเคแล้วแหละ”
การยอมรับถึงการมีข้อจำกัด ก็คือการทลายข้อจำกัดของการที่ไม่มีเพื่อนคู่คิดหรือเพื่อนแชร์ค่าใช้จ่ายเช่นกัน อย่างเรื่องเงิน แม้ไม่มีตัวหาร แต่นั่นไม่ใช่ข้อจำกัดในความคิดเธอ เธอสามารถกินอาหารข้างถนนได้หากต้องการประหยัด ส่วนเรื่องที่พักอาศัย ก็มีโฮสเทลที่มีห้องนอนรวมรองรับในราคาที่สมเหตุสมผล หรือใช้แอปพลิเคชั่นที่ค้นหาที่พักฟรีจากคนท้องถิ่นก็ได้
ขณะที่ค่าใช้จ่ายการเดินทาง ตั่วตั่วยอมรับว่า ถ้ามีคนหารก็จะถูกลงแต่ถ้าไม่มีก็ไม่เป็นไร สามารถใช้ขนส่งสาธารณะได้ อาจจะใช้เวลามากหน่อยและลำบากกว่าหน่อย แต่เป็นเรื่องที่ต้องแลกเปลี่ยน แต่หากจำเป็นต้องจ่ายเหมารถจริงๆ เธอก็ยินดี เพราะเป็นเรื่องที่ยอมรับตั้งแต่แรกแล้วว่าอาจจะมีบ้างหากท่องเที่ยวคนเดียว และเป็นหน้าที่เธอที่จะต้องเก็บเงินไปให้พร้อม
“ถ้าให้เราแนะนำคนอื่นว่าควรจะออกเดินทางคนเดียวไหม แนะนำค่ะ เพราะว่าการไปเที่ยวคนเดียวมันทำให้กำแพงของเรามันน้อยลง แม้ว่าเราจะเป็นคนเก็บตัวมากก็ตาม การไปเที่ยวคนเดียวทำให้คนท้องถิ่นกล้าเข้าหาเรามากขึ้น เขามาชวนเราไปพัก เราได้นั่งรถไปกับคนท้องถิ่น ซึ่งมันไม่ใช่จะได้มีประสบการณ์แบบนี้กันง่ายๆ”
กระแสการออกเดินทางโดยไร้เพื่อนร่วมทางที่เริ่มมาแรงในกลุ่มคนเอเชีย ไม่ใช่การคิดไปเอง แต่ผู้ประกอบการเองก็เห็นแบบนั้นเหมือนกันในระยะหลังๆ
นักเดินทางโซโลมักเลือกพักโฮสเทล เนื่องจากโฮสเทลคือเพื่อนรักของนักเดินทางเดี่ยว ทั้งในด้านการตอบโจทย์ทั้งเรื่องราคา ความสะดวกสบาย และเป็นที่ๆ จะได้ทำให้ได้เจอคนหลากวัฒนธรรม อันเป็นหัวใจสำคัญของนักเดินทางหลายๆ คน ปัจจุบัน โฮสเทลส่วนใหญ่มักสร้างขึ้นโดยมีธีม มีพื้นที่ส่วนกลาง และมีการจัดกิจกรรมชวนผู้มาพักเข้าร่วมบ่อยๆ
อย่างไรก็ตาม การพูดคุยกับ ‘จ๋า’ นภัสกร เพชรสายทิพย์ พนักงานต้อนรับของ วันซ์ อะเกน โฮสเทล (Once Again Hostel) ย่านเสาชิงช้า ได้ใจความว่า แม้จะเริ่มเห็นคนเอเชียเดินทางคนเดียวเพิ่มขึ้นในบางชาติ แต่พวกเขายังไม่ค่อยร่วมกิจกรรมส่วนร่วมของโฮสเทลมากนัก และมีแพลนแต่ละวันของตัวเอง เน้นเที่ยวสถานที่สำหรับนักท่องเที่ยว แตกต่างจากนักท่องเที่ยวตะวันตกที่จะใช้พื้นที่ส่วนรวมของโฮสเทลกันคับคั่ง
“คนเอเชียไม่ค่อยมาสุงสิงกับใคร มากับใครก็มากับคนนั้น มาคนเดียวก็อยู่คนเดียว น่าจะเป็นเรื่องพื้นฐานทางวัฒนธรรม หรือกำแพงทางภาษา” จ๋าบอก
จ๋าบอกต่อว่า ที่โฮสเทล เนื่องจากเป็นห้องพักรวม (Dormitory) ทั้งหมด ส่วนใหญ่จึงเป็นนักเดินทางตะวันตกที่มาพักคนเดียวและมาหาเพื่อนร่วมทริปหน้าใหม่ๆ ขณะที่นักท่องเที่ยวเอเชียที่มาคนเดียวคิดเป็นสัดส่วน 5-10 เปอร์เซ็นต์จากทั้งหมดเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ก็ยังพอเห็นแนวโน้มเพิ่มขึ้น ที่โฮสเทลมีคนจีน อินเดีย และเกาหลี มาพักคนเดียวเพิ่มขึ้นในปีที่ผ่านมา ส่วนญี่ปุ่นมาเรื่อยๆ อยู่แล้วเป็นปกติ
ด้านนักเดินทางจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อนบ้านเรา ถ้านับเป็นรายประเทศ ประเทศที่มาพักคนเดียวเยอะที่สุดคือฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ซึ่งน่าจะเป็นเพราะ คนประเทศเหล่านี้สื่อสารภาษาอังกฤษในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว
“ภาพรวมนักเดินทางจีนที่มาพักนะคะ ส่วนใหญ่อายุ 25-30 ปี ก็ยังสื่อสารภาษาอังกฤษไม่ค่อยได้ แต่ถ้าใครพูดได้ก็พูดได้ดีเลยค่ะ คนที่พูดไม่ได้ก็ต้องใช้โปรแกรมช่วยแปลเอา” จ๋าตอบ เมื่อถามเจาะถึงรายละเอียดนักท่องเที่ยวจีนที่มาพักคนเดียว “แต่ถ้าถามถึงนิสัย เขาจะไม่ค่อยมาสุงสิงกับใครนัก ต่อให้มาคนเดียวเขาก็มีแพลนของเขาอยู่แล้ว อาจจะมีมาถามการเดินทางบ้าง แต่จะอยู่กับตัวเองเสียมากกว่า”
แต่เรื่องที่น่าสนใจคือ จ๋าบอกว่า คนจีนส่วนใหญ่ที่มาพักเปลี่ยนความคิดของเธอที่มีต่อภาพรวมชาวจีนแผ่นดินใหญ่ไปสิ้นเชิง
“บางคนที่เขาไม่ชินกับการพักโฮสเทลก็จะคอยมาถามว่า อันนี้ทำได้ไหม อันนั้นทำได้ไหม มีส่วนน้อยมากก (ลากเสียง) ที่เขาไม่เข้าใจการอยู่ในโฮสเทลแล้วไม่พยายามจะเข้าใจค่ะ”
ที่มา :
https://www.lonelyplanet.com/news/2018/10/02/solo-travel-asia-europe/
https://asia.nikkei.com/Business/Solo-Chinese-travelers-present-new-challenges-and-opportunities