ในหลายเมืองทั่วประเทศจีน ร้านค้าค้าทั่วไปอย่างร้านขนมปังและซูเปอร์มาร์เก็ตได้เริ่มนำเทคโนโลยีให้ชำระเงินด้วยระบบตรวจจับใบหน้า (facial recognition) กันแล้ว โดยหลังจากลิงก์ภาพใบหน้าของตัวเองเข้ากับระบบชำระเงินดิจิทัลหรือบัญชีธนาคารแล้ว ผู้ใช้บริการสามารถยืนยันการซื้อของได้ด้วยการยืนหน้ากล้องที่ติดไว้ ณ จุดขายเท่านั้น
เป้าหู่ ผู้บริหารเทคโนโลยีสารสนเทศระดับสูง (CIO) ของแฟรนไชส์เบเกอร์รีเว่ยดัวเหม่ (味多美: Wedome) กล่าวว่าเทคโนโลยีนี้ทำให้สามารถซื้อของได้ด้วยตัวเปล่าได้ ไม่จำเป็นต้องใช้โทรศัพท์มือถือในการชำระเงินด้วยซ้ำ
เขากล่าวว่าร้านเบเกอรี่ของเขากว่า 300 สาขา มีระบบจ่ายเงินด้วยใบหน้าแล้ว และมีแผนจะติดตั้งเพิ่มในอีก 400 สาขา
อาลีเพย์ (Alipay) บริการชำระเงินในเครืออาลีบาบาได้ติดตั้ง ‘ดรากอนฟลาย’ (Dragonfly) เครื่องชำระเงินด้วยใบหน้าแล้วในกว่า 300 เมือง โดยเครื่องชำระเงินซึ่งมีขนาดพอๆ กับไอแพดนี้เปิดตัวเมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว และเป็นรุ่นพัฒนาของระบบสไมล์-ทู-เพย์ (Smile-to-Pay) ซึ่งออกมาก่อนหน้าในปี 2017
ทั้งนี้ เอเอฟพีรายงานว่าในระยะเวลา 3 ปี อาลีเพย์จะลงทุน 3,000 ล้านหยวน (ราว 12,800 ล้านบาท) เพื่อติดตั้งอุปกรณ์นี้
ทางด้านเทนเซนต์ (Tencent) บริษัทเจ้าของแอปฯ วีแชต (WeChat) ซึ่งมีผู้ใช้งานกว่า 600 ล้านคน ก็ได้เปิดตัวเครื่องชำระเงินด้วยใบหน้าของตัวเองในชื่อ 'ฟร็อกโปร' (Frog Pro) เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา
ทางสำนักข่าวเซาต์ไชนามอร์นิงโพสต์ ซึ่งอยู่ในเครือของอาลีบาบากรุ๊ป ระบุว่าเทคโนโลยีการชำระเงินด้วยใบหน้านี้ แม้จะเป็นเทคโนโลยีล้ำสมัย แต่ก็ช่วยให้ผู้ไม่ชำนาญการใช้งานเทคโนโลยีสามารถตามโลกทันได้ เนื่องจากความง่ายที่ใช้เพียงใบหน้าสแกนเพื่อยืนยันการจ่ายเงิน แทนที่จะต้องใช้ฟีเจอร์ซึ่งอยู่ในแอปพลิเคชันในโทรศัพท์มือถืออีกที
ทั้งนี้ รายงานการใช้อินเทอร์เน็ตในจีนปี 2019 ซึ่งเซาท์ไชนามอร์นิงโพสต์ร่วมจัดทำ ชี้ว่า ประเทศจีนมีประชากรราว 1.4 พันล้านคน ทว่ามีเพียง 829 ล้านคน หรือราว 60 เปอร์เซ็นต์ของประชากรเท่านั้นที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ต และมีเพียง 583 ล้านคน หรือ 40 เปอร์เซ็นต์ของประชากรชาวจีนเท่านั้นที่ใช้การชำระเงินผ่านสมาร์ตโฟน
รายงานจากศูนย์ข้อมูลสารสนเทศและโครงข่ายอินเทอร์เน็ตแห่งชาติจีน ชี้ว่าในจำนวน 562 ล้านคนที่เข้าไม่ถึงอินเทอร์เน็ตนั้น กว่า 87 เปอร์เซ็นต์ขาดทักษะด้านคอมพิวเตอร์ และไม่สามารถใช้การสะกดอักษรแบบพินอินเพื่อพิมพ์ได้ จึงไมสามารถเข้าถึงบริการออนไลน์ได้
ขณะที่เทคโนโลยีในประเทศจีนล้ำหน้าขึ้นเรื่อยๆ กระทั่งการซื้อของ สั่งอาหาร หรือเรียกแท็กซี่ก็ใช้ได้ด้วยแอปพลิเคชันในสมาร์ตโฟน ผู้ที่ใช้เทคโนโลยีเหล่านี้ไม่เป็นอาจถูกทิ้งไว้เบื้องหลัง ระบบสแกนด้วยใบหน้าอาจเป็นหนึ่งในทางออก
จางหลี่หมิง ผู้ใช้บริการซูเปอร์มาร์เก็ตไอเฟอรี (IFuree) ที่มีระบบชำระเงินด้วยใบหน้า กล่าวถึงเทคโนโลยีนี้ว่าหลังจากลงทะเบียนเรียบร้อยแล้ว การซื้อและการจ่ายเงินก็ง่ายและรวดเร็วขึ้นมาก
“มันต่างจากการจ่ายเงินในซูเปอร์ฯ แบบเดิมๆ ที่ต้องมาต่อแถวกัน น่าเหนื่อยหน่ายจริงๆ การจ่ายเงินแบบนี้สะดวกและประหยัดเวลามากเลย” เธอกล่าว
แม้เทคโนโลยีใหม่นี้จะทำให้การทำธุรกรรมสะดวกสบายไร้รอยต่อ จ่ายจบได้โดยไม่ต้องยกโทรศัพท์หรือกระเป๋าสตางค์ขึ้นมา ทว่าเรื่องของความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยยังคงเป็นเรื่องน่ากังวล
ในแง่หนึ่งระบบที่ง่ายต่อการจัดการสำหรับผู้ให้บริการนี้อาจแลกมาด้วยความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้งาน เจฟฟรีย์ ติง นักวิจัยจากศูนย์วิจัยเพื่อธรรมาภิบาลของเอไอ (Centre for the Governance of AI) ในมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด กล่าวว่ากระแสร้านค้าปลีกอัจฉริยะส่วนใหญ่นั้นเป็นการผลักดันโดยบริษัทเพื่อจุดประสงค์สองประการ คือป้องกันการขโมยของและเก็บข้อมูลความชอบของผู้ใช้บริการเพื่อวิเคราะห์และทำการตลาด
ในส่วนของการใช้งานหน้าร้าน ไอเฟอรี ซูเปอร์มาร์เก็ตแบบบริการตัวเองในนครเทียนจิน มีกล้องสามมิติซึ่งคอยสแกนใบหน้าลูกค้าเวลาเข้าและออกจากร้าน
ลีตงเหลี่ยง วิศวกรของไอเฟอรี กล่าวในอีกมุมว่าเทคโนโลยีการตรวจจับใบหน้านั้นช่วยรักษาความเป็นส่วนตัว
"การใช้วิธีจ่ายเงินแบบปกตินั้นอันตรายมากเลยเวลากดรหัสผ่านแล้วมีคนยืนอยู่ข้างหลังด้วย แต่ตอนนี้เราสามารถทำธุรกรรมจบได้โดยใช้แค่ใบหน้า ซึ่งเป็นการช่วยรักษาความปลอดภัยบัญชีผู้ใช้ของเรา" ลียืนยัน
อีกด้านหนึ่ง อดัม หนี่ นักวิจัยชาวจีน จากมหาวิทยาลัยแมคควอรี่ ในเมืองซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย กล่าวว่าเทคโนโลยีนี้มีความเสี่ยงอย่างยิ่ง รัฐบาลจีนอาจนำข้อมูลไปใช้เพื่อจุดประสงค์ของตัวเองได้ เช่นการสอดส่อง จับตาดู และติดตามผู้เห็นต่างทางการเมือง หรือควบคุมประชากรบางกลุ่มแบบที่ทำกับชนกลุ่มน้อยอุยกูร์ในมณฑลซินเจียง
นอกจากปัญหาเรื่องการถูกนำข้อมูลไปใช้แล้ว ยังมีความกังวลต่อการปลอมแปลงใบหน้าด้วยเทคโนโลยีอย่างดีปเฟก (deepfake) ที่ใช้เอไอในการปลอมแปลงรูปภาพหรือวิดีโอได้สมจริงขึ้นเรื่อยๆ
ในสัปดาห์ก่อน แอปฯ เจ้า (Zao) แอปพลิเคชันดีปเฟกสำหรับเล่นตัดต่อสลับหน้ากับดาราในหนัง ได้รับความนิยมอย่างสูงในประเทศจีนนั้น ก่อให้เกิดความกังวลว่าเทคโนโลยีดีปเฟกนี้จะเหมือนจริงกระทั่งหลอกระบบตรวจจับใบหน้า และถูกนำไปใช้กับระบบจ่ายเงินด้วยใบหน้าหรือไม่
อย่างไรก็ตาม ทางอาลีเพย์ ยืนยันผ่านโซเชียลมีเดียเว่ยป๋อ (Weibo) ว่าไม่ว่าเทคโนโลยีสลับใบหน้าในปัจจุบันจะชาญฉลาดเพียงใด แต่ก็ไม่สามารถหลอกแอปฯ ทำธุรกรรมของอาลีเพย์ได้ และแม้ว่าในกรณีซึ่งเกิดขึ้นได้ยากยิ่งที่จะมีบัญชีถูกขโมยไปนั้น ทางบริษัทประกันก็จะเป็นผู้รับผิดชอบคุ้มครองเงินที่เสียไปอย่างเต็มจำนวน
ทางด้านบริษัทผู้พัฒนาแอป Zao นั้นก็ยืนยันว่าระบบของแอปฯ ไม่สามารถก่อให้เกิดความเสี่ยงทางธุรกรรมได้ โดยชี้ว่ามาตรฐานความปลอดภัยของระบบตรวจจับใบหน้านั้นสูงยิ่ง
ความกังวลต่อการจ่ายเงินด้วยใบหน้านั้นไม่ได้มีเพียงเท่านี้ จากผลสำรวจของบริษัทซินล่างเทคโนโลยี (新浪: Sina Technology) พบว่ากว่า 60 เปอร์เซ็นต์ของผู้บริโภคทำแบบสำรวจ ระบุว่าการจ่ายเงินด้วยการสแกนใบหน้านั้น ทำให้พวกเขารู้สึกว่าตัวเองน่าเกลียด
ทางด้านอาลีเพย์ จึงได้ออกมารับปากว่าจะเพิ่มฟิลเตอร์เสริมความงามให้กล้องระบบจ่ายเงินของอาลีเพย์ทุกตัว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: