ไม่พบผลการค้นหา
รัฐมนตรีพาณิชย์แจงจับมืออาลีบาบา ขายข้าว -ผลไม้บนตลาดออนไลน์ Tmall หวังเป็นจุดเริ่มต้นยกมาตรฐานคุณภาพสินค้าไทยในตลาดจีน วอนประชาชนอย่ากังวล 'ล้งจีนกินรวบ' ชี้มีแต่ล้งไม่ดีที่ต้องปราบปราม ย้ำของดีต้องแพง คนปลูกผลไม้มีคุณภาพควรขายสินค้าได้ราคาดี

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า การนำสินค้าเกษตรไทยไปจำหน่ายบน Thai Rice Flagship Store ในเวบไซต์ Tmall.com เครืออาลีบาบากรุ๊ปนั้น เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างมาตรฐานสินค้า สร้างตลาดออนไลน์ และลดบทบาทพ่อค้าคนกลาง เพราะผู้ผลิตสามารถขายตรงสู่ผู้บริโภคได้เอง

อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการที่นำสินค้าหรือผลผลิตการเกษตรไปขายบนเว็บไซต์ Tmall.com ในเครืออาลีบาบา ตามข้อตกลงในเอ็มโอยู (บันทึกความเข้าใจ) ระหว่างกระทรวงพาณิชย์ กับ อาลีบาบา กรุ๊ป นั้น มีทั้งเกษตรกร สหกรณ์การเกษตร วิสาหกิจชุมชน และผู้ส่งออกนำเข้า

โดยต้องมีคุณสมบัติ ประกอบด้วย 1) จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล 2) จดทะเบียนเครื่องหมายการค้า มีเครื่องหมายการค้า และ 3) เป็นสมาชิกของ THAITRADE.COM

สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์.JPG

โดยการนำสินค้าไปจำหน่ายใน Tmall.com แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กรณีข้าวสารและสินค้าอื่นๆ ที่จีนมีโควต้านำเข้า สินค้ากลุ่มนี้ อาลีบาบาจะเป็นผู้หาผู้นำเข้าที่มีใบอนุญาตหรือโควต้านำเข้าเพื่อมาซื้อสินค้าจากผู้ผลิตไทย ส่วนกรณีผลไม้ ผลิตภัณฑ์จากข้าว รวมถึงทุเรียน ซึ่งไม่มีโควต้านำเข้า ส่วนนี้อาลีบาบาสามารถส่งผู้จัดซื้อมาพบผู้ผลิตและสั่งซื้อโดยตรงได้

ขณะเดียวกัน ตามข้อตกลงดังกล่าวยังช่วยให้กระทรวงพาณิชย์มีข้อมูลการซื้อขายสินค้าระหว่างผู้ประกอบการไทยที่นำสินค้าไปจำหน่ายบนช่องทางออนไลน์ของอาลีบาบา โดยข้อมูลจะวิ่งเข้ามาที่ THAITRADE.COM เพื่อนำไปใช้วิเคราะห์ประมวลผลสำหรับการการพัฒนาสินค้า เดินหน้ายุทธศาสตร์การตลาดนำการผลิต และแก้ปัญหาสินค้าเกษตรล้นตลาด หรือราคาตกในอนาคตได้

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการไทยที่นำสินค้าไปจำหน่ายบนเว็บไซต์ Tmall.com ตามข้อตกลงนี้ ยังได้รับการยกเว้นค่านำสินค้าไปจำหน่าย ซึ่งปกติมีมูลค่า 3,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี หรือประมาณ 96,000 บาทต่อปี เป็นระยะเวลา 1 ปี ด้วย

แจงยอดพรีออเดอร์ทุเรียน 8 หมื่นลูก 350 ตัน น้อยนิดเมื่อเทียบส่งออกปีละ 5 แสนตัน

รัฐมนตรีพาณิชย์ กล่าวด้วยว่ายอดสั่งซื้อล่วงหน้า หรือ พรี ออเดอร์ ทุเรียนไทยบนเวบไซต์ Tmall.com ในช่วงปลายสัปดาห์ก่อน จำนวน 80,000 ลูก จาก 100 กว่าสวน น้ำหนักประมาณ 350 ตัน นับว่า เป็นสัดส่วนที่น้อยมาก เมื่อเทียบกับการส่งออกทุเรียนไทยในแต่ละปี ที่มีปริมาณ 5 แสนตัน/ปี ส่วนปี 2561 นี้ มีการคาดการณ์ว่าจะมีผลผลิตออกมาพร้อมขายประมาณ 5-6 แสนตัน 


"อันนี้มันนิดเดียว เมื่อเทียบกับปริมาณการส่งออกทั้งหมดของไทย แต่ก็ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญ อีกทั้ง เรายังสามารถเก็บข้อมูลการซื้อขายได้ เพื่อติดตามควบคุมคุณภาพสินค้าส่งออก และพัฒนาสินค้าของเราในอนาคต" นายสนธิรัตน์กล่าว

สำหรับกระแสโซเชียลที่พูดถึงยอดการสั่งซื้อของอาลีบาบา อาจทำให้คนไทยกินทุเรียนแพง นายสนธิรัตน์ ให้ความเห็นว่า ของดีควรมีราคาแพง คนทำของดีมีคุณภาพควรได้ราคาดี อีกทั้งทุเรียนมีหลายเกรด ของที่มีคุณภาพรองๆ ลงมา ก็สามารถทำราคาลดลงมาได้

ดังนั้น การนำผลไม้ไทย ทุเรียนไทยไปจำหน่ายบนเว็บไซต์อาลีบาบา จึงเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่จะยกระดับมาตรฐานสินค้า เพราะมาตรฐานที่ Tmall กำหนด จะทำให้คนทำของดีขายของได้ และเป็นแรงจูงใจให้ผู้ผลิตรายอื่นๆ ได้ยกมาตรฐานขึ้นมาด้วย


"ของดีควรแพงขึ้น คนทำของดี ควรขายของได้ราคาดี ซึ่งจะช่วยยกระดับคุณสินค้าได้" นายสนธิรัตน์กล่าว

 พร้อมกับระบุว่า วันนี้ผู้ผลิตรายเล็กๆ มีโอกาสเข้าถึงตลาดมากขึ้น จากเดิมคนปลูกจะขายสินค้าผ่านล้ง แต่วันนี้เขาสามารถมาจดทะเบียนธุรกิจและรวบรวมทุเรียนมาขายบนเว็บไซต์ได้ แล้วกลไกตลาดเดิมๆ จะค่อยๆ หายไป เกิดผู้เล่นรายใหม่ๆ แต่การเปลี่ยนแปลงต้องใช้เวลา


"อย่าเรียก ล้งจีน หรือ ล้งไทยเอาเปรียบชาวสวนเลย เพราะในกลไกตลาดมีแต่ล้งดีกับล้งไม่ดี ซึ่งกรณีล้งที่ไม่ดี ปีนี้ กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์จะติดตามอย่างใกล้ชิด และจะมีทีมงานลงไปปราบปรามอย่างชัดเจน"


แจ็ค หม่า

ส่วนกรณี ข้าว การเปิด Thai Rice Flagship Store บน Tmall จะทำให้ผู้บริโภคกว่า 300 ล้านรายในจีน สามารถซื้อข้าวจากผู้ผลิตไทยโดยตรง อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ กระทรวงพาณิชย์ยังไม่มีตัวเลขปริมาณพรีออเดอร์ อย่างกรณีทุเรียน

"ตามยุทธศาสตร์สร้างตลาดอีคอมเมิร์ซของกระทรวงพาณิชย์ เราไม่ได้ทำงานร่วมกับอาลีบาบา เท่านั้น เพราะอาลีบาบา ก็มีเพียงตลาดจีน แต่เรามีภาพใหญ่ ผ่านการทำงานร่วมกับ amazon.com ผ่าน eBay ในตลาดอเมริกาและยุโรป จับมือกับ SHOP.COM ในสิงคโปร์และอาเซียน จับมือกับ gosoko ในตลาดแอฟริกา เราไม่ได้ทำกับเจ้าใดเจ้าหนึ่ง เพราะไม่มีใครครองโลกด้วยตัวคนเดียว อย่างอาลีบาบา ก็จะเก่งในจีน และจีนโพ้นทะเล ซึ่งใน Tmall.com เว็บยังเป็นภาษาจีนอยู่เลย เราจะเข้าไปดูว่า Thai Rice Flagship Store เราอยู่ตรงไหนยังหาไม่เจอเลย เพราะเว็บไซต์มีแต่ภาษาจีน ดังนั้น กระทรวงก็ต้องจับมือกับหลายๆ แพลตฟอร์ม หลายๆ ประเทศ เพื่อสร้างวิถีอีคอมเมิร์ซของเรา" นายสนธิรัตน์กล่าว 

ทั้งนี้ Tmall.com เป็นเว็บไซต์ ค้าปลีก (B2C) ที่ใหญ่ที่สุดในจีน ภายใต้บริษัท อาลีบาบา กรุ๊ป ครอบคลุมสินค้าทุกประเภท และเข้าถึงผู้บริโภคกว่า 1,400 ล้านคนทั่วเมืองจีน โดยสินค้าที่จัดจำหน่ายบนเว็บไซต์ เป็นสินค้าที่มีคุณภาพดี มีแบรนด์ มีลิขสิทธิ์ถูกต้อง ดังนั้น ผู้สนใจเข้าร่วมโครงการ Thai Rice Flagship Store จำเป็นที่จะต้องมีคุณสมบัติต่างๆ อาทิ เป็นสมาชิกผู้ขายบนเว็บไซต์ไทยเทรดดอทคอม (Thaitrade.com) ซึ่งเป็นตลาดกลางพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของ รัฐบาลไทยต้องเป็นผู้ประกอบการที่ขายสินค้าข้าวและผลิตภันฑ์ข้าว สินค้าผลไม้

โดยสินค้าดังกล่าวต้องได้รับการรับรองมาตรฐานตามหลักเกณฑ์ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และผู้ประกอบการต้องมีศักยภาพในการส่งออกและขายออนไลน์ ที่สำคัญต้องได้รับการคัดเลือกจาก Tmall.com และยอมรับข้อกำหนดและเงื่อนไขของเว็บไซต์ Tmall  

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :