ไม่พบผลการค้นหา
เว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ รายงานข่าว "แจ็ค หม่า" ยื่นข้อเสนอใหม่ ปั้น "ฮับโลจิสติกส์"ในไทย ขอเปลี่ยนจาก "เช่าที่ดิน" เป็น "ซื้อที่ดิน" แทน

ภายหลังจากเมื่อวันที่ 19 เม.ย.ที่ผ่านมา นายแจ็ค หม่า ประธานกรรมการบริหาร และผู้ก่อตั้งอาลีบาบา กรุ๊ป ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจภายใต้กรอบความร่วมมือ Smart Digital Hub and Digital Transformation Strategic Partnership จำนวน 4 ฉบับกับรัฐบาลไทย โดยหนึ่งในนั้น คือความร่วมมือด้านการลงทุน Smart Digital Hub ในพื้นที่ EEC เบื้องต้นได้เตรียมแผนก่อสร้างแล้วมูลค่า 11,000 ล้านบาท

เว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ รายงานข่าวว่า ในระหว่างการเยือนประเทศจีน ของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เพื่อเข้าชมงาน International China Import-Export เมื่อเร็วๆ นี้ ได้มีการหารือระหว่างฝ่ายไทยกับ นายแจ็ค หม่า ในเรื่องของการ transform ประเทศไทยสู่ digital 4.0 โดยนายแจ็ค หม่า ได้ยื่น “ข้อเสนอใหม่” ที่ต้องการให้ประเทศไทยเป็น hub logistic ที่มากกว่าการเป็น hub ธรรมดา ๆ ตามความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างไทยและจีน รวมถึงการสร้างศูนย์พัฒนาบุคลากรไทย-จีน โดยอาลีบาบาต้องการที่จะขอ “ซื้อที่ดิน” ในประเทศไทยแทนการ “เช่าที่ดิน” ที่ตกลงเบื้องต้นกันไว้

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาบริษัทอาลีบาบาได้ทำข้อตกลงกับภาคเอกชนคือ บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHA เพื่อขอเช่าพื้นที่ในนิคมอุตสาหกรรมของ WHA ที่จังหวัดฉะเชิงเทรา สำหรับพัฒนาเป็นเขตส่งเสริมธุรกิจอีคอมเมิร์ซและสมาร์ทโลจิสติกส์

“ขณะนี้ทีม EEC และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ได้รับทราบข้อเสนอใหม่ของอาลีบาบาแล้ว โดยมีการสั่งการให้ทั้ง 2 หน่วยงานร่วมกันในการหาทางออกให้กับข้อเสนอซื้อที่ดินว่าจะสามารถทำได้อย่างไร และเกี่ยวพันกับกฎหมายฉบับใดที่เปิดช่องให้สามารถดำเนินการได้บ้าง”

อีอีซี.jpg


เผย พ.ร.บ.อีอีซีให้ "เช่า" ไม่เกิน 99 ปี

ประชาชาติธุรกิจ ได้สัมภาษณ์ นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) โดยระบุว่า ภายใต้ พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (พ.ศ. 2561) ได้กำหนดไว้ในมาตรา 52 นักลงทุนจะไม่สามารถใช้กฎหมายฉบับนี้เพื่อการ “ซื้อ” ที่ดินลงทุนได้ แต่จะทำได้เพียงการ “เช่า” พื้นที่ตามกฎหมายเท่านั้นคือ แบ่งการอนุมัติให้เช่าออกเป็น 2 ระยะ โดยระยะแรกอนุมัติระยะเวลาการเช่าไม่เกิน 50 ปี และระยะที่สองสามารถต่ออายุการเช่าได้อีกไม่เกิน 49 ปี เมื่อรวม 2 ระยะแล้วไม่เกิน 99 ปี

ดังนั้นในกรณีที่นักลงทุนต้องการจะซื้อที่ดินจะต้องใช้กฎหมายฉบับอื่นที่ว่าด้วยเรื่องของการขายที่ดิน เช่น กฎหมายที่ดินเพื่อนำมาพิจารณาเพื่อขอซื้อที่ดินแทนกฎหมาย EEC เพื่อลงทุนในพื้นที่ดังกล่าวที่นักลงทุนสนใจ

อีอีซี

พ.ร.บ. EEC ให้ถือกรรมสิทธิ์ได้แค่เช่า 49+50 ปี

ด้านนางสาวพจณี อรรถโรจน์ภิญโญ รองเลขาธิการคณะกรรมการ EEC กล่าวกับประชาชาติธุรกิจเพิ่มเติมว่า นักลงทุนที่มีความต้องการซื้อที่ดินเพื่อลงทุนในพื้นที่ EEC นั้น “สามารถทำได้” โดยมีช่องให้ใช้ พ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) แต่ต้องทำตามเงื่อนไขที่ BOI กำหนด เช่า เรื่องของเงินลงทุนส่วนใหญ่จะสูงเป็นระดับหลาย ๆ พันล้านบาท รวมถึงจะต้องเป็นการลงทุนที่นำเอาห่วงโซ่ทั้งคลัสเตอร์มาลงทุนด้วย หากเป็นกิจการเดียวลงทุนครั้งเดียวแล้วก็ถือว่า “ไม่เข้าเงื่อนไขของ BOI ไม่สามารถซื้อที่ดินเพื่อก่อสร้างและลงทุนได้

ทั้งนี้ พ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุนระบุไว้ในมาตรา 27 “ผู้ได้รับการส่งเสริมจะได้รับอนุญาตให้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินเพื่อประกอบการกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนตามจำนวนที่คณะกรรมการ พิจารณาเห็นสมควร แม้ว่าจะเกินกำหนดที่จะพึงมีได้ตามกฎหมายอื่น ในกรณีที่ผู้ได้รับการส่งเสริมซึ่งเป็นคนต่างด้าวตามประมวลกฏหมายที่ดินเลิกกิจการที่ได้รับการส่งเสริมหรือโอนกิจการนั้นให้แก่ผู้อื่น ผู้ได้รับส่งเสริมต้องจำหน่ายที่ดินที่ได้รับอนุญาตให้ถือกรรมสิทธิ์ภายใน 1 ปีนับแต่วันที่เลิกหรือโอนกิจการ มิฉะนั้นให้อธิบดีกรมที่ดินมีอำนาจจำหน่ายที่ดินนั้นตามประมวลกฎหมายที่ดิน

อย่างไรก็ตาม การใช้ พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) กับ พ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุน (BOI) มีข้อดีข้อเสียแตกต่างกันไป กล่าวคือ พ.ร.บ. EEC ให้สิทธินักลงทุนต่างด้าวถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินใน “เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ” ด้วยการ “เช่า” แต่เป็นระยะเวลายาวนานถึง 1 ชั่วอายุคนคือ 49+50 ปี พร้อมกับได้รับสิทธิพิเศษต่าง ๆ อาทิ การ “ยกเว้น” หรือลดหย่อนภาษีเป็นกรณีพิเศษ, ยกเว้นการควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินตรา ฯลฯ

ส่วน พ.ร.บ. BOI ให้สิทธินักลงทุนต่างด้าวในการ “ซื้อที่ดิน” ได้ แต่จะได้รับการส่งเสริมการลงทุนตามประกาศของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนตามประเภทกิจการนั้น ๆ เท่านั้น


อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :