นายฤทธิกา สุภารัตน์ รักษาการผู้ว่าการ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ รฟม. เปิดเผยกรณี บริษัท ทางด่วนและรถรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บีอีเอ็ม ถอดที่นั่งผู้โดยสารตู้กลางจากทั้งหมด 3 ตู้ ในขบวนรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ว่า เป็นแผนทดลองเพื่อเพิ่มพื้นที่ว่างรองรับผู้โดยสาร ซึ่งตามแผนจะทดลอง 1 เดือน ใช้รถ 2-3 ขบวน ขบวนละ 14 ที่นั่ง และต้องประชาสัมพันธ์ให้ทราบล่วงหน้า 2-3 สัปดาห์
จากนี้ บีอีเอ็ม จะต้องเร่งประชาสัมพันธ์ให้ผู้โดยสาร รับรู้ว่าในอนาคต ตู้กลางของรถไฟฟ้าใต้ดิน จะไม่มีที่นั่งแล้ว ยอมรับเป็นเรื่องใหม่ของคนไทย แต่เป็นเรื่องปกติในระดับสากล ทั้งนี้ การถอดที่นั่ง แต่จะเพิ่มเสาไว้ยึดจับ 2 เสา โดยขณะนี้ถอดที่นั่งแล้ว 1 ขบวน จากทั้งหมด 19 ขบวน รองรับผู้โดยสารได้มากกว่า 900 คน จากเดิม 700-800 คนต่อขบวน ส่วนขบวนรถใหม่ จะรับมอบครบ 35 ขบวน ในปี 2563 โดยปีหน้า รับมอบ 2 ขบวน และปี 2562 อีก 18 ขบวน
ขณะที่แอดมินเพจ "บีเคเค เทรนส์ ดอท คอม" (BKKTrains.com) ระบุ "นี่แหละที่อยากเห็นมานาน" ต่อกรณีการทดลองถอดที่นั่งรถไฟฟ้า พร้อมอธิบาย ไม่ใช่เรื่องแปลก ในบางประเทศ เช่น รถไฟสายชูโอโซบุในญี่ปุ่น สามารถพับที่นั่งขึ้นได้ในชั่วโมงเร่งด่วน ขณะที่ สิงคโปร์และฮ่องกง ใช้วิธีนำที่นั่งบางส่วนออก เช่นเดียวกับที่ บีอีเอ็ม ทำ ซึ่งเหลือที่นั่ง 84 ที่นั่ง จากเดิม 126 ที่นั่งต่อขบวน
ด้านมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เรียกร้องให้ รฟม. นำที่นั่งเข้าไปติดตั้งตามเดิม พร้อมแนะให้ปรับปรุงคุณภาพบริการ หากมีผู้โดยสารจำนวนมาก ก็ควรเพิ่มขบวนรถ แทนที่จะเลือกถอดที่นั่งออก