อยากช่วยคนอดอยาก? อยากแก้ปัญหาขยะล้นเมือง? อยากอนุรักษ์สัตว์ทะเล? วิธีการง่ายๆ ที่หลายคนทำได้คือ การบริจาคเงินและสิ่งของให้กับมูลนิธิและองค์กรที่ทำงานด้านนั้นๆ อยู่แล้ว เพราะพวกเขามีความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหาเรื่องนั้นๆ มากกว่า รู้วิธีแก้ปัญหาที่ต้นตอได้ดีกว่า ส่วนคนที่ต้องการลงแรงก็สามารถสมัครเข้าไปเป็นอาสาสมัครในโครงการต่างๆ ได้เช่นกัน และจะช่วยให้เราตัดสินใจได้ว่าต้องการขับเคลื่อนด้านนี้อย่างจริงจังต่อไปหรือไม่
ดัชนี World Giving Index ได้จัดอันดับประเทศใจดีที่สุดในโลก โดยรายงานเมื่อปี 2562 ได้สรุปอันดับและคะแนนของแต่ละประเทศในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา และไทยอยู่ในอันดับที่ 21 ของโลก มีการแบ่งคะแนนการช่วยเหลือคนแปลกหน้า ซึ่งไทยได้คะแนนร้อยละ 41 อยู่ในอันดับที่ 89 ส่วนการให้เงินบริจาคมากถึงร้อยละ 71 อยู่ในอันดับที่ 4 ของโลก แต่ส่วนที่เป็นการสละเวลาเป็นอาสาสมัครทำสาธารณประโยชน์ได้เพียงร้อยละ 15 อยู่ที่อันดับ 79 ของโลก ดัชนีดังกล่าวจึงชี้ให้เห็นว่า คนไทยใช้เวลาในการทำสาธารณประโยชน์ค่อนข้างน้อย แต่เลือกที่จะบริจาคเงินทำบุญทำทานเป็นครั้งคราวมากกว่า
การคิดและทำโครงการสาธารณประโยชน์จะต้องใช้ทั้งความตั้งใจดี การหาความรู้ และการทุ่มเททำงาน แม้โครงการนั้นๆ จะเป็นโครงการชั่วคราวหรือโครงการระยะสั้นก็ตาม ในประเทศที่ส่งเสริมการทำสาธารณประโยชน์อย่างในอเมริกาเหนือและยุโรป จึงมักมีคู่มือแนะนำการเริ่มทำโครงการสาธารณประโยชน์สำหรับผู้ที่มีความตั้งใจจริง
องค์กร DRH Lindersvold องค์กรไม่แสวงหากำไรที่มีเป้าหมายในการสร้างแรงบันดาลใจและส่งเสริมให้คนทั่วไปลงมือแก้ปัญหาความยากจนและการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศกล่าวว่า จุดประสงค์ของการทำงานอาสาสมัครคือการลงทุนเวลาและพลังานในการช่วยโครงการที่จะสร้างคุณค่า ส่งเสริมให้คนประสบความสำเร็จมากขึ้น และเกิดผลดีในระยะยาว แม้จะไม่มีนิยามตายตัวว่าวิธีทำงานอาสาแบบไหนจะดีที่สุด แต่งานอาสาก็กระทบคนจำนวนมาก จึงต้องทำงานอย่างระมัดระวังมาก
ถามตัวเองให้ชัดว่าทำไปทำไม ความตั้งใจดีเป็นเหตุผลที่ยังไม่ดีพอ การจะสร้างความเปลี่ยนแปลงได้จริงและบรรลุผลสำเร็จในระยะยาวไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในเวลาเพียงไม่กี่วันหรือไม่กี่สัปดาห์ แต่การสร้างค่านิยมต้องใช้ความพยายาม การเตรียมตัว และทำงานหนักมาก หากเหตุผลในการอยากทำงานอาสาคือการไปเห็นสังคมใหม่ๆ การไปท่องเที่ยว การได้เห็นคนซาบซึ้งน้ำใจของเรา ก็ควรไปทำอย่างอื่นที่ได้สิ่งเหล่านี้โดยตรงมากกว่า
จำไว้ว่างานอาสาไม่ได้มีไว้รับรองคุณ งานอาสาอาจทำให้คุณได้พัฒนาขึ้นทั้งในแง่จิตใจและการทำงาน แต่ “คุณไม่ใช่ฮีโร่ของเรื่องนี้” จุดประสงค์ของโครงการอาสาไม่ได้มีไว้เพื่อให้คุณรู้สึกดีกับตัวเองหรือทำให้คุณได้รับความนิยมมากขึ้นบนโซเชียลมีเดีย การทำงานอาสาอย่างมีจริยธรรมหมายความว่า คุณมีความตั้งใจที่ชัดเจนว่าจะช่วยให้โครงการพัฒนาต่อไปได้ เรื่องอื่นๆ เป็นเพียงผลพลอยได้
หาข้อมูลก่อนเลือกโครงการ เราควรศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับโครงการต่างๆ ให้ดีก่อน เพราะบางโครงการไม่ได้คำนึงถึงประโยชน์ของผู้รับเป็นหลัก บางโครงการให้อาสาสมัครทำงานเล็กๆ น้อยๆ เพียงเพื่อเติมเต็มความรู้สึกหรืออีโก้ของอาสาสมัครเท่านั้น แต่ไม่ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงได้จริง บางโครงการยิ่งทำให้เกิดผลเสียมากกว่าผลดีด้วยซ้ำ เช่น การให้คนที่ไม่มีความรู้และประสบการณ์ด้านงานไม้ไปทำงานอาสาช่วยสร้างอาคารหรือสิ่งปลูกสร้าง หรือเด็กกำพร้าก็เป็นคนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการให้อาสาสมัครเข้าไป “แสดงความรักและหวังดี” เพียงไม่กี่สัปดาห์แล้วจากไป ปล่อยให้พวกเขาต้องเหงาอีกเหมือนเดิม
มั่นใจว่าโครงการมีการฝึกอบรมก่อน โครงการที่มีการฝึกอบรมก่อนหมายความว่าองค์กรนั้นเห็นว่างานอาสาเป็นเรื่องสำคัญ และต้องการให้อาสาสมัครมีความรู้ความเข้าใจและทักษะที่ดีพอจะไปทำโครงการนั้นๆ ได้ และยิ่งการฝึกอบรมนานเท่าไหร่ก็มักจะยิ่งดี เพราอาสาสมัครควรมีความรู้ความเข้าใจทั้งเรื่องวัฒนธรรม ลักษณะงานที่จะไปทำ เข้าใจวิธีการช่วยเหลืออย่างยั่งยืน เข้าใจเป้าหมายของโครงการ เข้าใจการเมืองและรายละเอียดอื่นๆ ที่อาจกระทบกับกระบวนการทำงาน
มองเป้าหมายระยะยาวไว้ตลอด โครงการที่ดีจะต้องดำเนินต่อไปอย่างมั่นคง และพัฒนาได้อย่างยั่งยืน อาสาสมัครควรมีหน้าที่ไปช่วยเหลือในสิ่งที่หัวหน้าโครงการและคนในชุมชนแนะนำ แต่ท้ายที่สุด คนในชุมชนจะต้องเข้มแข็งและเข้าใจศักยภาพและความสามารถของตัวเองโดยใช้เครื่องมือและวิธีการที่ถูกต้อง โครงการที่จะล้มหายไปอย่างรวดเร็วหลังจากคุณหยุดทำงานอาสาถือว่าเป็นโครงการที่ไม่มีหรือมีคุณค่าน้อยมากสำหรับคนที่เกี่ยวข้อง
ทำความเข้าใจสังคม เราควรทำความเข้าใจสังคมที่เราจะเข้าไปทำงานอาสา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเราจะไปทำงานอาสาในประเทศอื่น ควรต้องศึกษาธรรมเนียมและวัฒนธรรมในสังคมนั้นๆ เพื่อไม่เกิดความยุ่งยากซับซ้อน จนนำไปสู่การสื่อสารที่ผิดพลาดและความไม่เข้าใจกัน ซึ่งจะทำให้ความร่วมมือและการพัฒนาชะงักลง
เคารพผู้อื่น เมื่อจะถ่ายรูป เป็นเรื่องที่ไม่อาจยอมรับได้เลยที่จะถ่ายรูปใครโดยไม่ขออนุญาต ถือเป็ฯการละเมิดความเป็นส่วนตัวและสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน หากจะถ่ายภาพเด็กก็ต้องขออนุญาตพ่อแม่ของเด็กก่อน ควรแสดงความเคารพด้วยการบอกชื่อของพวกเขาในแคปชั่นเวลาลงภาพในโซเชียลมีเดีย
ทำงานกับคนอื่น ไม่ใช่ทำงานเพื่อคนอื่น งานอาสาไม่ใช่การ “ช่วยชีวิตคน” แทนที่จะทำให้เพื่อพวกเขา และเสี่ยงโครงการจะล่มเมื่อเราหยุดทำโครงการ (เพราะคนไม่รู้ว่าจะทำงานนั้นต่อไปอย่างไร หรือคุณไม่ให้คำปรึกษากับพวกเขา โครงการนี้ก็ไร้ประโยชน์) ดังนั้น ควรจะทำงานร่วมกับพวกเขา กระบวนการทำงานร่วมกันกับคนในชุมชนจะเกิดผลในระยะยาวและยั่งยืนกว่า
ตัดสินใจโดยไม่คุยกับคนที่มีประสบการณ์มาก่อน การพูดคุยกับคนที่เคยทำมาแล้วจะทำให้ตัดสินใจง่ายขึ้นและสามารถให้คำแนะนำได้ สามารถเล่าประสบการณ์ที่ดีและไม่ดีที่คุณอาจไม่คยนึกถึงมาก่อน
ไม่ใส่ใจคุณภาพ การเลือกโครงการอาสาจะต้องให้ความสำคัญกับคุณภาพ ความโปร่งใส และคุณค่าที่องค์กรหรือโครงการนั้นๆ ยึดถือ เพราะการทำงานอาสาสมัครเป็นการลงทุนเวลา พลังงาน และความพยายามของคุณ ดังนั้น การลงทุนของคุณไม่ควรจะเสียเปล่า
คิดไปเองว่าคุณเป็นผู้เชี่ยวชาญ หรือทำสิ่งที่คุณคิดเอาเองว่าจะดี เพราะคุณไม่ใช่ แม้ไม่ใช่เรื่องแปลกที่อาสาสมัครจะคิดไปเองว่าตัวเองเป็นผู้เชี่ยวชาญหรือเป็นฮีโร่ แต่ในความเป็นจริงแล้ว ไม่มีใครที่ตระหนักถึงความต้องการของชุมชนและให้ความสำคัญกับชุมชนเท่ากับคนในพื้นที่ อย่าทำอะไรลงไปโดยไม่ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญในพื้นที่และหัวหน้าโครงการก่อน สิ่งที่ดูเหมือนจะเป็นความคิดที่ยอดเยี่ยมอาจส่งผลไปในทางตรงกันข้าม การขอความเห็นจากคนที่คุณอาสาไปช่วยเหลือถือเป็นสิ่งสำคัญมาก
คิดว่าวิธีการสื่อสารกับคนทุกที่จะเหมือนกัน ความเข้าใจวัฒนธรรมของคนในพื้นที่เป็นปัจจัยช่วยให่โครงการสำเร็จได้ เวลาที่คุณลงไปทำงานในพื้นที่ ถือเป็นหน้าที่ของคุณที่จะทำความคุ้นเคยกับวัฒนธรรมและปรับตัวให้เข้ากับวิถีชีวิตของคนในพื้นที่ การทำเช่นนี้ไม่ได้เป็นเพียงการเคารพคนในพื้นที่ แต่ยังจะทำให้ความร่วมมือและการสื่อสารระหว่างกันง่ายขึ้นด้วย
เหมารวมหรือมีอคติ การเหมารวมและมีอคติเป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวัง ควรต้องหาข้อมูลและหลีกเลี่ยงการคาดการณ์ว่าคนในชุมชนจะทำเรื่องไม่ดี ควรเปิดใจและทิ้งอคติก่อนจะทำงานอาสา เพื่อให้คุณได้รับประสบการณ์ที่ดีที่สุดและให้โครงการประสบความสำเร็จที่สุด คุณอาจประหลาดใจว่าหลายอย่างที่คุณได้ยินมาอาจห่างไกลจากความเป็ฯจริงมาก
เป็นผู้สร้างความเปลี่ยนแปลง กำหนดให้ชัดเจนว่าคุณต้องการอะไร หรือปัญฆาอะไรที่คุณต้องการแก้ไขและเพราะอะไร ค้นหาข้อมูลอย่างละเอียดว่าสาเหตุของปัญหาคืออะไร ปัญฆานี้รุนแรงขนาดไหน และจะแก้ไขปัญฆาอย่างไร ให้พิจารณาคำถามสำคัญ : อะไร? ใคร? ที่ไหน? เมื่อไหร่? และอย่างไร? และยังต้องนึกถึงขนาดว่าจะทำในระดับท้องถิ่น ระดับชาติ หรือระดับโลก ควรกำหนดวิสัยทัศน์และเป้าหมาย โดยวิสัยทัศน์คือแรงบันดาลใจและแรงจูงใจในการทำงานไปให้ถึงเป้าหมาย ไม่ควรใช้มาตรฐานตัวเลข แต่ควรอธิบายว่าตัวเองอยากสร้างอะไรขึ้นมา ส่วนเป้าหมายคือการอธิบายจุดประสงค์และความตั้งใจออกมาให้เป็นรูปธรรม ชัดเจน และแม่นยำ การกำหนดเป้าหมายควรต้องมีเป้าที่เจาะจง วัดผลได้ ทำให้สำเร็จได้ แต่ยังมีความท้าทาย
หาทางแก้ไข ควรเป็นทางแก้ไขที่แตกต่างสำหรับปัญหาที่เราสนใจ หากเรามีวิธีการแก้ไขปัญาที่ไม่ได้แตกต่างอะไรจากโครงการหรือมูลนิธิที่มีอยู่แล้วก็อาจไม่มีความจำเป็นต้องทำโครงการใหม่ออกมาซ้ำกัน แต่หากโครงการนั้นมีวิธีการที่แตกต่างหรือทำให้พื้นที่ที่แตกต่างกัน ก็อาจทำให้มีคนสนใจนำเงินมาช่วยเหลือโครงการของเรามากขึ้น ดังนั้น จึงควรมองหาองค์กรหรือมูลนิธิที่ทำด้านนั้นอยู่แล้ว พูดคุยกับพวกเขาว่าจะทำงานร่วมกันหรือส่งเสริมกันได้หรือไม่ หากวิธีแก้ปัญหาของคุณไม่ซํบซ็อน เช่น การใช้เงินอุดหนุนบุคคลหรือองค์กร ก็ควรจะทำให้มั่นใจว่า เงินทุนของคุณจะสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง การตั้งมูลนิธิก็เป็นโมเดลการเงินที่ดี แต่หากไม่มีใครพูดถึงปัญหาที่คุณสนใจเลย ก็ต้องค้นข้อมูลต่อไป
เขียนแผน คุณควรวางแผนและรายละเอียดว่ากิจกรรมในปีแรกจะมีอะไรบ้าง และทำเมื่อไหร่ เมื่อมีวิสัยทัศน์ เป้าหมาย ก็ยังต้องวางแผนว่า จะต้องทำอะไรเพื่อให้บรรลุเป้าหมายบ้าง ยุทธศาสตร์ระยะเวลา 5 ปีจะเป็นอย่างไร กลยุทธ์ในการระดมทุน ยุทธศาสาตร์ในการทำงาน การจัดการงบประมาณ ต้องการเปิดตัวโครงการต่อสาธารณะทันทีหรือไม่? จะมีข้อมูลอะไรอยู่บนเว็บไซต์บ้าง?
วางแผนระดมทุน หากต้องการระดมทุน จะต้องวางแผนว่าจะเอาเงินทุนมาจากไหน ใช้วิธ๊การไหน และต้องการเงินเท่าไหร่ในการเริ่มโครงการ โดยต้องหาข้อมูลว่าโครงการคล้ายๆ กันในโมเดลไหน แล้วจึงตัดสินใจว่าจะขอรับบริจาคการประชาชนทั่วไป มูลนิธิที่ให้ทุนต่างๆ หรือองค์กรเอกชน หาข้อมูลว่าพวกเขามีแนวโน้มจะให้เงินเท่าไหร่และเมื่อไหร่ และเราต้องลงทุนเท่าไหร่ในการระดมทุน และใครจะสนับสนุนเงินลงทุนก้อนนี้
จัดการเงิน หากตั้งใจจะตั้งเป็นองค์กรจริงจังก็สามารถลงทะเบียนเป็นองค์ไม่แสวงหากำไร ซึ่งจะได้รับการยกเว้นภาษี ควรมีทนายความและนักบัญชีที่มีประสบการณ์ด้านการทำงานในองค์กรไม่แสวงหากำไรช่วยแนะนำ เพราะจะมีความวุ่นวายเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม กระแสเงินสด และการลงทุน และไม่ควรกู้หนี้ยืมสินมาตั้งโครงการหรือองค์กร ส่วนค่าใช้จ่ายควรจะไปที่โครงการที่ทำร้อยละ 80 และลงไปที่ค่าบริการจัดการและการระดมทุนไม่เกินร้อยละ 20
ตั้งกรรมการที่ปรึกษา ควรเป็นคนที่มีประสบการณ์ด้านการทำงานในองค์ไม่แสวงหากำไร การเงิน การระดมทุน ควรเป็นคนที่สามารถนัดประชุมกันได้ทุกสัปดาห์หรือทุกเดือน และคณะกรรมการควรจะขยายออกไปถึงคนบริจาคคนสำคัญ คนที่มีเครือข่ายการระดมทุน แต่อย่าให้คณะกรรมที่ปรึกษามีคนมากเกินไป และไม่ควรมีคนที่มีอีโก้มากเกินจนทำลายองค์กรได้
สื่อสารให้มีประสิทธิภาพ คุณต้องสื่อสารโครงการของคุณออกมาอย่างมีประสิทธิภาพส่งตรงไปถึงกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งจะช่วยคุณได้มากไม่ว่าจะเป็นเรื่องการระดมทุน วางแผน สื่อสาร การมีปฏิสัมพันธ์กับผู้สนับสนุนโครงการ อาสาสมัครและพนักงาน
อดทน คุณไม่สามารถช่วยทุกๆ คนเป็นเวลานานๆ ได้ การขยายกลุ่มเป้าหมายในการช่วยเหลือจะต้องขึ้นอยู่กับเงินที่ได้จากการระดมทุนเท่านั้น ซึ่งต้องใช้เวลาและมีวินัย อาจมีช่วงที่ท้อ แต่ความคั้งใจจริงจะทำให้คุณเดินหน้าต่อไป แต่หากคุณเริ่มทำโครงการนี้เพราะต้องการเงินหรือชื่อเสียง ก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ไม่ดีนัก
ที่มา : Lindersvold, Forbes, The Guardian,