ไม่พบผลการค้นหา
"ผมรู้สึกว่าเรากำลังเดินหน้าสู่แนวทางที่อันตรายอย่างมาก"

ระหว่างภารกิจการเยือนสหรัฐฯ อย่างเป็นทางการของ ลีเซียนลุง นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์เป็นเวลา 1 สัปดาห์เต็ม ผู้นำสิงคโปร์ได้ขึ้นเวทีร่วมการเสวนากับสภาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของสหรัฐฯ หรือ Council on Foreign Relations (CFR) ในกรุงวอชิงตัน ว่าด้วยประเด็นผลกระทบด้านความสัมพันธ์ จีน-สหรัฐฯ กับความเกี่ยวพันธ์ระหว่างสงครามรัสเซีย-ยูเครน ต่อเอเชียแปซิฟิก

"สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในยูเครนขณะนี้ จะสร้างผลกระทบอันใหญ่หลวงต่อความสัมพันธ์ระหว่า'จีนและสหรัฐฯ" ผู้นำสิงคโปร์ระบุ


จีนตกอยู่ในที่นั่งลำบาก

ลีเซียนลุงชี้ว่าขณะนี้จีนกำลังตกอยู่ในสถานะที่ไม่สามารถพูดอะไรได้มากหลังจากที่รัสเซียเริ่มก่อการรุกรานยูเครน เพราะการกระทำนี้คือการละเมิดทั้งบูรณภาพแห่งดินแดน การละเมิดอธิปไตย และการละเมิดกฎการไม่แทรกแซงชาติอื่น ซึ่งทั้งสามสิ่งนี้คือหลักการที่จีนยึดถือยึดมั่นอย่างมากมาโดยตลอด

"หากคุณสามารถทำเช่นนั้นกับยูเครนได้ หรือหากว่าภูมิภาคดอนบาสในยูเครนกลายเป็นรัฐเอกราชใหม่ที่มีดินแดนอื่นล้อมรอบหรือกลายเป็นสาธารณรัฐขึ้นมา แล้วกรณี 'ไต้หวัน' ล่ะ ... นั่นคือเหตุผลว่าทำไมมันจึงเป็นคำถามที่ยากมากสำหรับจีน" ผู้นำสิงคโปร์กล่าว

ความขัดแย้งระดับโลกที่กำลังดำเนินอยู่ในขณะนี้ ลีมองว่าอาจถึงเวลาที่ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจะต้องมองหากลไกการผนึกกำลังที่คล้ายคลึงกับ NATO เข้ามาเป็นตัวช่วยเพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง


แนวทางสู่ 'อันตราย' หลายชาติเริ่มคิดเรื่องอาวุธนิวเคลียร์

ลีเซียนลุง วิเคราะห์ถึงท่าทีของนานาชาติที่เริ่มพิจารณาประเด็นความมั่นคงภายในประเทศใหม่ เนื่องจากการรุกรานยูเครนที่เกิดขึ้นทำให้ผู้นำโลกอดไม่ได้ที่จะหันกลับมามองว่าตัวเองอยู่ในสถานะที่ปลอดภัยมากเพียงใดหากวันหนึ่งต้องเผชิญเหตุการณ์การถูกรุกรานขึ้นมา และในวันนั้น 'ใคร' คือที่พึ่งของกันและกัน

ลีมองว่าขณะนี้หลายประเทศกำลังตื่นตัวเรื่องการใช้ 'อาวุธนิวเคลียร์' โดยมีการอ้างถึงกรณีที่ ชินโซ อาเบะ อดีตนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นที่ออกมากล่าวแนะนำว่า ญี่ปุ่นควรรับอาวุธนิวเคลียร์ของสหรัฐฯ มาไว้ในครอบครองหลังเกิดวิกฤตรัสเซียและยูเครน โดยรัฐบาลญี่ปุ่นได้ออกมาปฏิเสธแนวคิดดังกล่าว แต่ผู้นำสิงคโปร์มองว่า "ตอนนี้ ไอเดียนี้ถูกฝังลงไปในหัวผู้คนแล้ว และมันก็จะไม่หายไปไหน" ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ากังวลอย่างยิ่ง

ผู้นำสิงคโปร์ยังเล่าด้วยว่า เหตุการณ์นี้ไม่ต่างจากแนวโน้มในเกาหลีใต้ เพราะผลสำรวจล่าสุดชี้ว่า ประชากรส่วนใหญ่มองว่าเกาหลีใต้ควรเริ่มพัฒนาขีดความสามารถอะไรสักอย่างที่เกี่ยวข้องกับอาวุธนิวเคลียร์ 

"มันทำให้ผมรู้สึกว่า เรากำลังเดินหน้าสู่แนวทางที่อันตรายอย่างมาก"

ผู้นำสิงคโปร์กล่าวกับผู้ชมที่เป็นผู้นำของหลากหลายอุตสาหกรรมที่มาร่วมงานเสวนา รวมถึงผู้ชมการถ่ายทอดสดว่า จากที่โลกเคยมีความสัมพันธ์แบบ วิน-วิน ชนะไปด้วยกัน ตอนนี้กลายเป็น วิน-ลูส คนหนึ่งชนะคนหนึ่งแพ้ 

แทนที่จะจับมือร่วมกับพัฒนากลายเป็นว่าหากอยากเห็นใครแพ้ก็จงไปทำลายเศรษฐกิจของประเทศนั้นเสีย ซึ่งนับเป็น "ความกังวลอันใหญ่หลวงของสิงคโปร์" ประเทศที่ต้องทำมาหากินกับ "โลกาพิวัฒน์" และความอยู่รอดของทุกๆ ประเทศไปด้วยกัน