หลังจากไปดู The Post มาแล้วปลื้มปริ่มอิ่มเอมกับการแสดงระดับเทพของเมอรีล สตรีป และเนื้อหาที่อัดแน่นสะท้อนสังคม ทั้งเรื่องการเหยียดเพศ อุดมการณ์สื่อ และเสรีภาพในการแสดงความเห็น อันช่างเหมาะเจาะกับสถานการณ์การเมืองไทย ก็คิดว่า The Post นี่แหละเป็นหนังที่ "สมมงฯ" ภาพยนตร์ยอดเยี่ยมปีนี้มากที่สุด จนกระทั่งได้ดูหนังอีกเรื่อง The Shape of Water หนังรักแฟนตาซีของผู้กำกับระดับโคตรพ่ออย่างกิเยร์โม เดล โตโร ก็ต้องเปลี่ยนใจ และยอมรับว่า The Shape of Water หนังรักที่ดูเหมือนเทพนิยายเชยๆระหว่างโฉมงามกับเจ้าชายอสูรนี่แหละ "สมมงฯ" ของจริง ด้วยความกลมกล่อมของภาพ แสง ดนตรี บท การแสดง และโครงเรื่องที่ซ้อนทับระหว่างเทพนิยายดาร์คๆ กับโลกจริงที่ดาร์คยิ่งกว่าได้อย่างสมบูรณ์แบบ แถมยังไม่มีฉากน่าอึดอัดขัดตาที่ให้ตัวละครสั่งสอนคนดูโผล่มาเป็นระยะๆแบบใน The Post แต่สอดแทรกประเด็นเหยียดเพศ เหยียดผิว การคุกคามทางเพศในที่ทำงาน และสิทธิมนุษยชนได้อย่างแนบเนียนกลมกลืนทั้งเรื่อง
*Spoiler Alert: เนื้อหาถัดจากนี้มีการเปิดเผยส่วนสำคัญของเนื้อเรื่อง*
โลกเทพนิยาย รักที่ออกแบบไม่ได้ ไร้กำแพงกั้น
คนทั่วๆไปที่ไม่ชินกับหนังของคุณพ่อเดล โตโร ดูหน้าหนังแล้วอาจคิดว่านี่คือเทพนิยายแฟนตาซีโรแมนติกที่มีแนวว่าจะจบเศร้าเคล้าน้ำตา ระหว่างหญิงสาวใบ้ผู้อาภัพกับพรายน้ำศักดิ์สิทธิ์ เทพเจ้าแห่งแอมะซอน ซึ่งหนังก็ทำได้ดีในการเดินเรื่องไปในทางนั้น แต่ปรับความโมเดิร์นเข้ากับเทพนิยายเมอร์เมด เริ่มจากการปูพื้นให้อีไลซา เป็นหญิงสาวที่มีชาติกำเนิดลึกลับ เป็นทารกที่ถูกพบริมฝั่งแม่น้ำ เป็นใบ้ เธอเติบโตในสถานเลี้ยงเด็กกำพร้า ทำงานเป็นคนทำความสะอาดในองค์กรที่ดูเหมือนนาซา ในบริบทสงครามเย็นปี 1962 ที่สหรัฐฯกับโซเวียตแข่งขันกันทั้งเรื่องการพัฒนาอาวุธและการพิชิตอวกาศ
อีไลซาเป็นตัวละครที่มีหลายอย่างเหมือนแอเรียล นางเงือกในเทพนิยายผู้ยอมแลกเสียงอันไพเราะกับการได้ขึ้นมาอยู่กับมนุษย์เพื่อตามหารักแท้ นอกจากเธอจะเป็นใบ้ ยังเป็นคนที่ชอบเสียงเพลงและการเต้นรำ และเป็นคนที่ไม่มีใครเห็นความสำคัญ เหมือนแอเรียลที่ถูกดูถูกเหยียดหยาม จากเจ้าหญิง กลายเป็นคนใบ้ที่ไร้ค่า แต่ The Shape of Water มีจุดใหญ่ที่ต่างจากเทพนิยายเมอร์เมด ก็คือเจ้าชายในเรื่องนี้ไม่ใช่มนุษย์ กลับเป็นพรายน้ำ เทพเจ้าที่ชาวแอมะซอนนับถือ ผู้ถูกทหารอเมริกันจับมาจากป่า ถูกขังในห้องทดลอง และถูกทารุณต่างๆนานา เรื่องดำเนินไปอย่างเรียบง่ายเหมือนเทพนิยายทั่วไป อีไลซาผู้เปล่าเปลี่ยวพบพรายน้ำในห้องทดลอง ผูกมิตร และพัฒนากลา���เป็นความผูกพันอันก่อกำเนิดเป็นความรัก (และเซ็กส์!)
แต่รักแท้ย่อมมีอุปสรรค ต้องเผชิญกับการขัดขวางจากเหล่าทหารอเมริกันที่โหดเหี้ยม และสายลับโซเวียตที่เหี้ยมไม่แพ้กัน ต่างฝ่ายต่างต้องการชำแหละพรายน้ำเพื่อการทดลองทางวิทยาศาสตร์ ขณะที่ฝ่ายนางเอกก็มีเพื่อนๆให้ความช่วยเหลือ จนเกือบจะรอดพ้นจากเงื้อมมือเหล่าร้าย แม้สุดท้ายอีไลซาจะหนีไม่รอด แต่เรื่องก็จบแบบเหมือนจะแฮปปี เอนดิง เมื่อสุดท้ายเธอก็ได้พลังพิเศษจากพรายน้ำ และครองคู่กันในโลกใต้บาดาลอย่างมีความสุขตลอดไป
ในโครงเรื่องที่ดูเหมือนจะธรรมดา ถูกทำให้ไม่ธรรมดาด้วยการแสดงที่เหนือชั้นของนางเอก แซลลี ฮอว์คินส์ ที่อายุ 41 แล้วและไม่ได้เป็นใบ้ แต่แสดงเป็นหญิงใบ้ที่ผลิบานเหมือนสาวแรกรุ่นด้วยความรักได้อย่างงดงาม และการออกแบบพรายน้ำซึ่งควรจะดูน่าเกลียดน่ากลัว ให้มีเสน่ห์ ลึกลับและทรงอำนาจ ดูเป็นเทพเจ้า จนคนดูหมดข้อสงสัยว่านางเอกไปรักตัวประหลาดใต้น้ำนี้ได้ยังไง นอกจากนี้เพลงประกอบที่ปูตลอดเรื่องยังให้อารมณ์ทะเลลึกในเทพนิยาย ก้องกังวาน หลอนนิดๆ แต่อ่อนหวาน เมื่อบวกกับการให้แสงสีเขียวฟ้าตลอดทั้งเรื่องเหมือนอยู่ในโลกใต้ทะเล กับการใช้สีฟ้า-เขียวหม่นๆ เป็นโทนหลัก ตัดด้วยโทนสีแดงของเลือดและเสื้อผ้านางเอกเมื่อยามมีความรัก(และเซ็กส์) ก็ทำให้เรื่องนี้ถือว่าครบเครื่อง ดูสนุก เพลินตา เพลินใจ ได้อรรถรสสมเป็นหนังโรแมนติกแฟนตาซีทุกประการ
แต่ใต้ความแฟนตาซี ยังมีความจริงที่ขมขื่นปูอยู่อีกชั้น และโผล่มาเป็นบางครั้งให้พอได้กลิ่นตลอดทั้งเรื่อง
โลกจริง รักที่เป็นไปไม่ได้ กับคนที่ไม่มีตัวตน
ตามสไตล์ของผู้กำกับสเปนส่วนใหญ่ เดล โตโร มักสอดแทรกแนวคิดต่อต้านสังคมชายเป็นใหญ่และต่อต้านโครงสร้างอำนาจส่วนบน (anti-establishment) ไว้ในหนัง เรื่องนี้เห็นได้ชัดเจนมากตั้งแต่ต้นจากการแบ่งฝ่ายดี-ฝ่ายร้าย ฝ่ายดีในเรื่องนี้ ล้วนเป็นคนชายขอบ เป็นคนที่พ่ายแพ้ ถูกกดขี่ ถูกลืม ตั้งแต่อีไลซา หญิงพิการ ไจล์ส ศิลปินตกอับในยุคที่ภาพถ่ายเข้ามาแทนที่ภาพวาด แถมยังเป็นเกย์ สิ่งมีชีวิตที่ถูกมองว่าเป็นตัวประหลาดในยุคนั้น เซลดา หญิงผิวดำไร้การศึกษา ที่แม้แต่สามีก็ยังไม่ยอมรับฟังเธอ โดยศูนย์รวมใจของทั้งหมดนี้คือพรายน้ำจากแม่น้ำแอมะซอน ผู้เปรียบเหมือนธรรมชาติอันศักดิ์สิทธิ์และมีอิทธิฤทธิ์ยิ่งใหญ่เหนือทุกชีวิต แต่ก็กลับถูกคุกคามโดยเหล่ามนุษย์
ขณะที่ฝ่าย "ปีศาจ" ที่ขัดขวางความรักระหว่างอีไลซาและพรายน้ำ และจ้องจะชำแหละเทพเจ้าผู้ศักดิ์สิทธิ์ คือฝ่ายโซเวียตและอเมริกา นำทีมโดยสตริคแลนด์ ทหารอเมริกันผู้ถืออำนาจบาตรใหญ่ ทั้งต่อผู้หญิงพิการอย่างอีไลซา ต่อคนผิวดำอย่างเซลดาและสามี ไปจนถึงต่อธรรมชาติอันยิ่งใหญ่อย่างพรายน้ำศักดิ์สิทธิ์ เขาคือตัวแทนของทั้งมหาอำนาจโลกเสรีประชาธิปไตย โลกสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ ที่ชั่วร้ายและกระหายอำนาจไม่ต่างกัน และยังเป็นตัวแทนของลัทธิชายเป็นใหญ่ คนผิวขาวเป็นใหญ่ หรือเรียกง่ายๆว่าสตริคแลนด์คือตัวแทนของโครงสร้างอำนาจที่ขับเคลื่อนโลกนี้นั่นเอง
ตัวละครอีกตัวที่น่าสนใจก็คือดอกเตอร์ฮอฟส์เต็ทเลอร์ หรือดมิทรี นักวิทยาศาสตร์และสายลับโซเวียต ผู้อ่อนโยนปกป้องพรายน้ำ แต่ในคนละแบบกับที่อีไลซาต้องการปกป้อง ดมิทรีมองพรายน้ำเป็น "สิ่งที่สวยงามและซับซ้อน
ที่สุด" ที่ไม่อาจถูกทำลายได้ เขาคือตัวแทนของนักวิทยาศาสตร์ผู้หลงใหลในความรู้ และทำอะไรก็ได้เพื่อปกป้องและให้ได้มาซึ่งความรู้นั้นจนละเลยมนุษยธรรม ดมิทรีฆ่าคนได้โดยไม่กระพริบตาเพราะต้องการปกป้องพรายน้ำ เพียงเพราะนี่คือองค์ความรู้ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของมนุษยชาติ ไม่ใช่เพราะนี่คือชีวิตที่ต้องปกป้อง แต่การที่เขาคิดเช่นนี้ แปลว่าเขาเป็นตัวร้ายหรือดี? นี่ก็อยู่ที่ว่าคุณให้คุณค่ากับอะไรมากกว่า ความรัก หรือองค์ความรู้
หากมองในมุมที่ตัวละครแต่ละตัวเป็นตัวแทนของแต่ละค่านิยมความเชื่อเช่นนี้ เรื่องที่เป็นเทพนิยาย ก็เริ่มกลายเป็นการเมืองขึ้นมา ความรักความผูกพันระหว่างอีไลซากับไจล์สและเซลดา คือการผนึกร่วมของเหล่าคนชายขอบที่เห็นอกเห็นใจกันและกัน ความไร้พลังที่เป็นพลังให้กันและกัน เป็นพลังที่โลกชายเป็นใหญ่ไม่เข้าใจและคิดไม่ถึง ว่าภารโรงหญิงพิการ หญิงผิวดำ และศิลปินเกย์ จะสมคบคิดกันทำเรื่องใหญ่ขนาดขโมยสิ่งมีค่าอย่างพรายน้ำไปจากห้องทดลอง ภารกิจที่โลกชายเป็นใหญ่ของสตริคแลนด์ทำให้เขาเชื่อว่า ต้องเป็นกลุ่มสายลับที่เชี่ยวชาญเท่านั้น จึงจะทำเรื่องอุกอาจนี้สำเร็จ
ที่น่าสนใจอีกประเด็นก็คือ ความรักระหว่างอีไลซาและพรายน้ำ หนังมีฉากที่อีไลซาช่วยตัวเองปูมาตั้งแต่ต้นเรื่อง เพื่อขับเน้นว่าคนพิการก็เป็นมนุษย์ มีความปรารถนาและความต้องการ รวมถึงความต้องการทางเพศเหมือนคนอื่นๆ ต้องการความรัก การยอมรับ และความสำคัญ เมื่อเจอพรายน้ำ อีไลซาได้เจอสิ่งที่ตอบโจทย์เธอแล้ว นั่นก็คือคนที่ไม่รู้ว่าเธอบกพร่อง คนที่มองว่าเธอมีคุณค่า พรายน้ำที่ศักดิ์สิทธิ์และทรงอำนาจ ในอีกทางก็เป็นเด็กน้อยที่ไร้เดียงสา เมื่อเอไลซาเป็นมนุษย์เพียงคนเดียวที่ดีกับเขา พรายน้ำก็ไม่มีทางอื่นนอกจากเฝ้ารอการมาของเธอ พร้อมกับไข่ต้มและดนตรีแสนไพเราะ เรื่องรักโรแมนติกนี้ ดูอีกด้านจึงกลายเป็นการ abuse อำนาจของอีไลซาไม่น้อย เป็นการแสวงหาการยอมรับในภาวะจำยอมที่ไม่มีทางเลือกอื่นให้พรายน้ำ แต่ในอีกทางก็ทำให้ตัวละครอีไลซาเป็นตัวละครที่สมจริงยิ่งขึ้น เพราะผู้พิการไม่ใช่เหยื่อที่น่าสงสาร แต่คือมนุษย์ทั่วไป มีทั้งด้านสว่างและด้านมืด มีความปรารถนาที่จะควบคุมและมีอำนาจเหนือคนอื่นเช่นกัน เพียงแต่ความสัมพันธ์ระหว่างอีไลซากับพรายน้ำ ทำให้อดสงสัยไม่ได้ว่าอีไลซารักพรายน้ำจริง หรือเธอแค่รักความรู้สึกที่ได้รับความสำคัญ ได้รับการยอมรับว่าเป็น "คนเต็มคน" เป็นครั้งแรกในชีวิตกันแน่
เช่นเดียวกับความสัมพันธ์ระหว่างอีไลซากับไจล์ส เพื่อนแท้ที่มีเพียงกันและกัน เพราะต่างฝ่ายต่างก็ไม่มีใคร ไจล์สที่ไม่ยอมช่วยเหลือพรายน้ำและอีไลซา ตัดสินใจเข้าร่วมขบวนการช่วยพรายน้ำในนาทีที่เขาถูกปฏิเสธจากทั้งงานและคนที่ชอบ เมื่อเขารู้ตัวว่าไม่มีใครอีกแล้วนอกจากอีไลซา ไจล์สคือผู้แพ้ที่อยากประสบความสำเร็จอะไรบ้างในชีวิต หรืออย่างน้อยก็อยากเป็น "คนดี" เพื่อให้ตัวเองมีความภาคภูมิใจในชีวิตบ้างเล็กๆน้อยๆ และปมนี้ก็ทำให้ไจล์สเป็นตัวละคนที่กลมและสมจริงมากกว่าการเป็นคนดีน้ำใจงามแบบผิวเผิน เช่นเดียวกับที่อีไลซาไม่ใช่สาวพิการน่าสงสารทั่วไป
แต่ตกลงเรื่องนี้จบแบบแฮปปี เอนดิงมั้ย? แม้สุดท้าย ไจล์สจะช่วยพรายน้ำและอีไลซาสำเร็จ และทั้งคู่จะได้ครองคู่กันในท้ายที่สุด แต่จะบอกได้หรือไม่ว่าการรวมพลังคนชายขอบเหล่านี้ชนะโลกของชายผิวขาวเป็นใหญ่? แม้สุดท้ายเหล่าร้ายจะถูกธรรมชาติเอาคืน พรายน้ำและอีไลซาครองรักในโลกบาดาล แต่นั่นก็หมายความว่าคนชายขอบไม่สามารถยืนอยู่อย่างมีศักดิ์ศรีได้ในโลกกระแสหลักใช่หรือไม่? เพราะความรักที่เป็นไปได้ในโลกเหนือจริง ก็เท่ากับรักที่เป็นไปไม่ได้ในโลกจริงนั่นเอง
จะว่าไป การผนึกกำลังของอีไลซา เซลดา และไจล์ส ก็เหมือนกับขบวนการ Women's March ที่แม้จะมีพลังยิ่งใหญ่ แต่สุดท้ายก็ไม่ใหญ่พอจะขับไล่ทรัมป์ออกไปได้ และก็ยังไม่สามารถเปลี่ยนสังคมอเมริกันที่ชายผิวขาวยังเป็นใหญ่ได้อยู่ดี นี่คือความจริงที่เจ็บปวด ทั้งสำหรับไจล์ส เซลดา อีไลซา และฝ่ายเสรีนิยมในโลกปัจจุบัน