แม้เนื้อหาจะแตกต่างกัน แต่ปัญหาที่เพลงประท้วงทางการเมืองมีไม่ต่างเพลงฉลองเทศกาลคริสต์มาส คือการที่เพลงเดิมๆ ถูกนำมาใช้ซ้ำๆ ทุกครั้งๆ จนอาจคิดได้ว่า บทเพลงที่ใช้ในการประท้วง ต้องมีแต่เพลงของศิลปินโฟล์กรุ่นใหญ่ หรืองานจากละครเพลงสุดฮิตเท่านั้น
แท้จริงแล้ว เพลงที่ถูกบรรเลงเพื่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและการเมือง หรือ Protest Song ถูกสร้างสรรค์ออกมาหลายรูปแบบ ทั้งด้านเนื้อหาและแนวดนตรี โดยเฉพาะในชาติที่ประชาชนมีเสรีภาพด้านการแสดงออกอย่างเต็มที่ การสร้างสรรค์หรือจัดแสดงบทเพลง Protest Song ในที่สาธารณะ ถือเป็นเรื่องปกติที่มีให้เห็นกันดาษดื่น
บทเพลงประท้วงทั้ง 5 เพลงที่นำเสนอในบทความนี้ มีทั้งบทเพลงที่โด่งดังจากการนำไปใช้ในเหตุชุมนุมครั้งสำคัญ และบทเพลงที่ถูกประพันธ์โดยมีการประท้วงครั้งประวัติศาสตร์ เป็นแรงบันดาลใจ
แม้ผลงานแต่ละชิ้นจะแตกต่างกันทั้งแนวทางและยุคสมัย แต่หัวใจของบทเพลงที่ล้วนเรียกร้องความเสมอภาคจากอำนาจอยุติธรรม สามารถปลุกใจมวลชนผู้เรียกร้องประชาธิปไตยไม่ต่างกัน
ศิลปิน: Kendrick Lamar
ปี: 2015
แนวเพลง: Rap
ท่อน Chant: "We Gonna Be Alright"
เพลงแร็ปถูกใช้เป็นกระบอกเสียงเรียกร้องความยุติธรรมแก่ชาวแอฟริกัน อเมริกันเสมอ นับตั้งแต่ครั้งที่ Public Enemy ปลอดปล่อยเพลงต่อต้านอำนาจรัฐ Fight the Power อย่างบรรลือโลกเมื่อปี 1989
แต่ทุกวันนี้ ความเหลื่อมล้ำทางเชื้อชาติยังเป็นปัญหาที่แก้ไม่ตกในสังคมอเมริกัน โดยเฉพาะความรุนแรงแบบเลือกปฏิบัติของเจ้าหน้าที่รัฐต่อชาวแอฟริกัน อเมริกัน สร้างความเดือดดาลในสังคมอเมริกันอย่างกว้างขวาง ก่อกำเนิดกระแส Black Lives Matter การรณรงค์เรียกร้องความเป็นธรรมให้กับเหยื่อผิวสีที่ถูกคุกคามโดยอำนาจรัฐ
บทเพลงที่ถือเป็นซาวด์แทร็กของมูฟเมนต์นี้คือ Alright เพลงดังของ Kendrick Lamar แรปเปอร์หนุ่มยอดฝีมือ ความเคียดแค้นต่อระบบอยุติธรรมและสาส์นแห่งความหวังในบทเพลง ถูกผู้ประท้วงหนุ่มสาวนำไปตะโกนร้องระหว่างร่วมกิจกรรม Black Lives Matter อย่างแพร่หลาย จน Alright ได้รับการยกย่องให้เป็นเพลงชาติของชาวแอฟริกัน อเมริกันรุ่นใหม่เลยทีเดียว
ศิลปิน: Rage Against the Machine
ปี: 1992
แนวเพลง: Rap Metal
ท่อน Chant: "F... you, I won't do what you tell me"
ความรุนแรงต่อคนผิวสีในสหรัฐ เคยเป็นข่าวดังไปทั่วโลกในเหตุการณ์ Los Angeles riots เหตุประท้วงครั้งใหญ่ปี 1992 ในนครลอส แองเจลิส ชนวนเกิดจากความเกลียดชังที่ชาวเมืองมีต่อตำรวจผิวขาว 4 นาย ที่ทำร้ายผู้ต้องสงสัยชาวแอฟริกัน อเมริกันอย่างทารุณ นำไปสู่การก่อจลาจลที่คร่าชีวิตประชาชนไปถึง 63 คน แรงกดดันครั้งนั้นกลายเป็นต้นกำเนิดของ Killing in the Name เพลงประท้วงสายเดือดของ Rage Against the Machine วงตัวพ่อของเพลงสายประท้วงทั้งปวง
เนื้อหาที่สะท้อนปัญหาความรุนแรงต่อประชาชนและการเหยียดเชื้อชาติ ทำให้ Killing in the Name ถูกนำไปใช้เป็นเพลงประท้วงในหลากหลายบริบท หนึ่งในนั้นคือ เหตุประท้วงปัญหาค่าครองชีพครั้งใหญ่ในประเทศชิลีที่เกิดขึ้นเมื่อปีที่แล้ว
ความอมตะของ Killing in the Name คือการกลับมาครองแชมป์ชาร์ตในประเทศอังกฤษเมื่อปี 2009 เมื่อแฟนเพลงชาวอังกฤษพอใจการผูกขาดตำแหน่งแชมป์ชาร์ตเพลงสัปดาห์คริสต์มาส ซึ่งมีการสืบทอดตำแหน่งแชมป์กันเองระหว่างนักร้องรายการ X Factor เป็นเวลา 5 ปีติดต่อกัน จึงมีการรณรงค์ให้ร่วมกันดาวน์โหลดเพลง Killing in the Name อย่างถล่มทลาย พลังสนับสนุนของมวลชนทำให้ Killing in the Name ครองอันดับหนึ่งบนชาร์ตเพลงอังกฤษได้สำเร็จ
ศิลปิน: Sepultura
ปี: 1993
แนวเพลง: Groove Metal
ท่อน Chant: Refuse, Resist
โศกนาฏกรรมจากเหตุประท้วงที่ยังอยู่ในความทรงจำของชาวโลก คือการสลายการชุมนุมที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน ประเทศจีนในปี 1989 ซึ่งมีผู้ชุมนุมมาเรียกร้องประชาธิปไตยเรือนล้านคน เหตุการณ์ที่จบลงด้วยการนองเลือดครั้งนั้น ถูกนำมาถ่ายทอดผ่านบทเพลงของศิลปินเมทัลระดับตำนานมากมายทั้ง Blood Red ของ Slayer และ Hypnotize โดย System of a Down
เช่นเดียวกับ Sepultura วงเมทัลแถวหน้าจากบราซิล ที่ปลดปล่อยความเดือดดาลจากความอยุติธรรมผ่านบทเพลง Refuse / Resist โดยเนื้อเพลง, อาร์ตเวิร์ค รวมถึงภาพในเอ็มวี ได้บรรบายถึง Tank Man หนุ่มจีนนิรนาม ผู้ยืนขวางขบวนรถถังของทหารอย่างห้าวหาญ และกลายเป็นสัญลักษณ์ของการยืนหยัดกับอำนาจเผด็จการจนถึงวันนี้
เนื้อหาปฎิเสธการกดขี่จากภาครัฐอย่างเห็นภาค ทำให้เพลงนี้ถูกนำไปใช้เป็นสัญลักษณ์แสดงจุดยืนของผู้ประท้วงทั่วโลก เช่นเดียวกับการถูกนำไปคัพเวอร์ใหม่โดยวงเมทัลอีกมากมาย
ศิลปิน: Girls' Generation
ปี: 2007
แนวเพลง: K Pop
ท่อน Chant: (จากต้นฉบับภาษาเกาหลี)
In the many unknowable paths. I follow a dim light
It’s something we’ll do together to the end. Into our new world
ในประเทศที่การประท้วงและการวิพากษ์วิจารณ์เป็นไปอย่างเสรี จึงไม่แปลกใจที่เกาหลีใต้จะมีหนังและเพลงตีแผ่ปัญหาสังคมมากมาย แม้แต่เพลงที่ไม่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับการเมืองโดยตรง ก็ถูกนำมาเชื่อมโยงทางการประท้วงในภายหลัง ทั้งเพลงของวง Big Bang หรือเกิร์ลกรุ๊ปสุดดังอย่าง Twice
แต่เพลง K Pop ที่ถูกนำมาใช้ในการประท้วงอย่างแพร่หลายที่สุด คือ Into The New World เพลงเปิดตัวของ Girls' Generation เกิร์ลกรุ๊ปที่เปรียบเป็นสมบัติแห่งชาติเกาหลีใต้ แม้ผิวเผินอาจฟังไม่ต่างจากเพลงป็อปวัยรุ่นทั่วไป แต่เนื้อร้องที่พูดถึงเจตจำนงการต่อสู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าหนทางข้างหน้าจะมีอุปสรรคเช่นไร ทำให้ Into The New World กลายเป็นเพลงการรณรงค์ในกิจกรรมที่หลากหลาย ทั้งโดยกลุ่ม LGBT, กลุ่ม #MeToo, กลุ่มเรียกร้องสิทธิของนักศึกษาวิทยาลัยสตรี และกลายเป็นเพลงธีมในการชุมนุมเรียกร้องการถอดถอนผู้นำประเทศเกาหลีใต้ระหว่างปี 2016 ถึง 2017 เช่นกัน
ความโด่งดังของ Into The New World ในฐานะ Protest Song ทำให้เพลงกลับมาครองแชมป์ชาร์ตของ Melon ในปี 2017 นับเป็นการกลับมาครองแชมป์หลังจากเดบิวต์มาแล้วถึง 10 ปีเลยทีเดียว
ศิลปิน: วงตาวัน
ปี: 1993
แนวเพลง: Progressive Rock
ท่อน Chant:
เบื้องบนฟ้าจะกดลงมา เบื้องต่ำน้ำจะกลบภูผา ล้างมารครองเมือง
ดับยุคเข็ญประหัตประหาร ผู้คนล้มตายดั่งผักปลา คำสาปฟ้าและดินลงฑัณท์
เหตุการณ์ชุมนุมที่ยังอยู่ในความทรงจำชาวไทย คือเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ปี 1992 เมื่อผู้ชุมนุมออกมาทวงคืนอำนาจอธิปไตยจากรัฐบาลทหารในยุคนั้นกว่า 2 แสนคน นำไปสู่การจับกุมผู้ชุมนุมหลายพันคน และมีผู้สูญหายและสังเวยชีวิตอีกหลายร้อยคน
กลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบครั้งนั้นยังรวมถึง วงตาวัน กลุ่มศิลปิน Progressive Rock ตัวแทนความภูมิใจวงการเพลงไทย ที่นำความเจ็บแค้นจากเหตุการณ์อยุติธรรมครั้งนั้น มาถ่ายทอดใน โองการแช่งน้ำ เพลงเอกจาก ม็อบ อัลบั้มปี 1993 เนื้อเพลงนำแนวคิดจากลิลิตโองการแช่งน้ำ วรรณคดีโบราณของไทย มาเปรียบเปรยกับเหตุมิคสัญญีทางการเมืองในยุคนั้นได้อย่างแยบยล
การที่มีอายุเกือบ 3 ทศวรรษ ทำให้เพลงอาจไม่เป็นที่รู้จักของผู้ฟังยุคใหม่ แต่เนื้อหาที่พูดถึงผลกระทบต่อชีวิตและสิ่งแวดล้อม จากการคอรัปชั่นเชิงนโยบายที่เกิดขึ้นในสังคมไทยทุกยุคทุกสมัย ทำให้ โองการแช่งน้ำ ยังคงเป็นบทเพลงที่ถูกนำมาใช้ "สาปแช่ง" สิ่งชั่วร้ายที่อุบัติในแวดวงการเมืองไทยได้อย่างสมบูรณ์แบบจนถึงวันนี้