ไม่พบผลการค้นหา
นักวิจัยชี้ หากควบคุมการแพร่ระบาด (ระดับ R0) ให้ต่ำกว่า 1 ได้ ทุกอย่างจะจบ และระหว่างนี้สิ่งที่ดีที่สุดคือการเว้นระยะห่างทางสังคม

บทความชิ้นล่าสุดจากหนังสือพิมพ์เดอะวอชิงตันโพสต์ รวบรวมความเข้าใจทั้งหมดที่เหล่านักวิทยาศาสตร์และบุคลากรทางการแพทย์เข้าใจเกี่ยวกับโควิด-19 ที่แม้จะสร้างความเสียหายให้โลกมากแค่ไหน แต่ก็ยังไม่ใช่ไวรัสที่จะพาโลกไปพบจุดสิ้นสุด และแม้จะมีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตจากการติดเชื้อ ก็ยังไม่มากเท่ากับโรคติดเชื้อไวรัสอื่นๆ อาทิ อีโบลา

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ทำให้การแพร่ระบาดครั้งนี้เป็นวิกฤตสะเทือนโลกมาจากการที่เชื้อไวรัสดังกล่าวข้ามสายพันธุ์จากที่มีสัตว์เป็นพาหะมาเป็นมนุษย์ในช่วงปลายปี 2562 ที่ผ่านมา มนุษย์จึงยังไม่มีภูมิคุ้มกันที่จะสู้กับเชื้อดังกล่าว

'อิลเฮม เมสซาโอดิ' นักไวรัสวิทยาจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียกล่าวว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับการข้ามสายพันธุ์ของไวรัสชนิดใหม่นี้ ทำให้มนุษย์กลายเป็นเป้านิ่งในการถูกโจมตี เพราะ "เราเป็นประชากรที่อ่อนแอ" เมื่อเผชิญหน้ากับไวรัสนี้

ซึ่งความอ่อนแอต่อโรคนี้ส่งให้ระยะเวลาราว 3 เดือนที่ผ่านมา จากกลุ่มการติดเชื้อที่หาสาเหตุไม่ได้อย่างแน่ชัดในเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน ปัจจุบันมีผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ไปแล้วกว่า 600,000 รายทั่วโลก และในจำนวนนี้เป็นผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 28,000 ราย ยังไม่นับผลกระทบด้านเศรษฐกิจที่กระทบกันไปทุกอุตสาหกรรม ทั้งบริษัทรายใหญ่ ไล่ไปจนถึงประชาชนหาเช้ากินค่ำ

เมื่อมนุษย์ปราศจากภูมิคุ้มกันอย่างสิ้นเชิง เราจึงไม่สามารถเปรียบเทียบโควิด-19 กับไข้หวัดตามฤดูกาลอื่นๆ ได้ เพราะทุกที่ที่เชื้อไวรัสนี้สัมผัส ไม่ว่ามนุษย์คนใดก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงการติดเชื้อได้ นอกจากนี้ มันยังไม่แสดงอาการในทันทีด้วย ส่งผลให้พาหะมนุษย์ที่ไม่รู้ว่าตัวเองเป็นพาหะสามารถแพร่เชื้อให้กับคนรอบข้างได้อย่างต่อเนื่อง 

เมสซาโอดิ ย้ำว่า "เรามียาสำหรับไข้หวัดใหญ่ เรามียาต้านไวรัส มันเป็นโรคประจำฤดูกาลและเราเตรียมพร้อมสำหรับมัน" แต่ระบบที่ต้องผลิตวัคซีนให้ทันกับความต้องการกับโรคประจำฤดูกาลแล้วยังต้องมาเผชิญหน้ากับโรคอุบัติใหม่อีก "มันผิดจังหวะมากๆ" 


ทั่วโลกตัดงบศึกษาวิจัย ทำให้ไร้ข้อมูลป้องกัน

ถ้ามาพิจารณาจากสายพันธุ์ของเชื้อไวรัสจะพบว่าเชื้อตัวนี้ไม่ได้แตกต่างจากเชื้อไวรัสของโรคซาร์สที่อุบัติขึ้นในปี 2545 ซึ่งมีต้นกำเนิดมาจากประเทศจีนเช่นเดียวกัน แต่ความแตกต่างที่ชัดเจนคือ ผู้ป่วยที่ติดไวรัสซาร์สจะเริ่มแพร่เชื้อไวรัสไปยังคนอื่นๆ เมื่อมีอาการป่วยแสดงออกมาอย่างชัดเจน ซึ่งหมายความว่าผู้ป่วยจะได้รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลแล้วในช่วงเวลาที่พวกเขาจะสามารถแพร่เชื้อให้คนอื่นได้ แต่ 'โควิด-19' สามารถแพร่เชื้อได้แม้ในช่วงที่ยังไม่แสดงอาการ

เมื่อย้อนกลับไปดูตัวเลขผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตจากซาร์ส พบว่า มีผู้ป่วยทั่วโลกทั้งสิ้น 8,000 ราย และมีผู้เสียชีวิตอยู่ที่ 774 ราย ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับตัวเลขปัจุบัน ตามข้อมูลจากเว็บไซต์ worldmeters แค่ผู้ป่วยในจีนประเทศเดียวก็มีผู้ติดเชื้อมากกว่า 81,000 แล้ว เช่นเดียวกับตัวเลขผู้เสียชีวิตที่มากกว่า 3,000 ราย 

อย่างไรก็ตาม นักวิจัยหลายคนออกมาชี้ว่า ความสำเร็จในการควบคุมโรคซาร์สครั้งนั้นอาจเป็นหนึ่งในสาเหตุที่โควิด-19 อุบัติขึ้นมาสู่สังคมมนุษย์ โดย 'ไมเคิล บูชเมียร์' นักไวรัสวิทยาจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียที่ศึกษาไวรัสโคโรนามากว่า 30 ปี กล่าวว่า หลายสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเพราะ "เราคิดว่าเรารักษามันได้แล้ว เราคิดว่าไวรัสหายไปแล้ว ซึ่งความจริงมันยังไม่หายไปใช่ไหมล่ะ" แต่ที่ผ่านมางบที่ลงไปกับการวิจัยไวรัสดังกล่าวลดน้อยลงมาตลอดก่อนเกิดวิกฤตครั้งใหม่นี้

unsplash-กราฟิก ไวรัสโคโรนา โควิด-โรคระบาด-COVID-19.jpg

ยังพอมีหวัง ลดการสัมผัส = ลดอัตราการแพร่เชื้อ

ทั้งนี้ เมื่อมองไปข้างหน้า ก็ไม่ใช่ว่าหนทางนั้นมืดไปเสียทั้งหมด โดยนักวิจัยชื่อว่าปัจจัยสำคัญบ่งชี้ถึงจุดจบของการแพร่ระบาดครั้งนี้อยู่ที่สิ่งที่เรียกว่า 'ค่าระดับการติดเชื้อพื้นฐาน' (R0) หรืออัตราการแพร่เชื้อจากผู้ป่วยหนึ่งคนไปยังคนอื่น โดยหากตัวเลข R0 ลดลงในระดับที่ต่ำกว่า 1 การแพร่ระบาดก็จะจบลง และวิธีลดค่า R0 ก็ทำได้ด้วยการลดการสัมผัสกันระหว่างมนุษย์ หรือลดการเข้าใกล้กันอย่างเช่นมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม (social distancing) รวมไปถึงการสร้างในมีภูมิคุ้มกันหมู่ (herd immunity) ในสังคม เนื่องจากผู้ที่รักษาตัวหายจากโควิด-19 แล้ว มีโอกาสกลับมาเป็นโรคน้อยลง 

'เจฟเฟอรี ทัวเบนเบอร์เกอร์' นักไวรัสวิทยาจากสถาบันโรคภูมิแพ้และโรคติดเชื้อแห่งชาติของสหรัฐฯ อธิบายเพิ่มว่า "หากคุณป่วยติดเชื้อไวรัสและนั่งอยู่คนเดียวในห้องของคุณ ตัวเลข R0 ก็คือศูนย์ คุณไม่สามารถแพร่เชื้อให้ใครได้"

ด้วยเหตุนี้ ในระหว่างที่โลกยังไม่มียาหรือวัคซีนรักษาโรค มาตรการที่ดีที่สุดคือการลดการติดต่อสัมพันธ์ระหว่างคนให้ได้มากที่สุด รวมถึงลดการเดินทางไปยังที่ต่างๆ เนื่องจาก ตามข้อมูลจากวารสารทางการพทย์นิวอิงแลนด์ เชื้อไวรัสอาจติดอยู่บนพื้นผิวต่างๆ และมีชีวิตอยู่นอกพาหะอย่างมนุษย์ได้นานถึง 3 วัน 

และท้ายที่สุด เราต้องไม่ลืมว่า มนุษย์เองก็ยังมีภูมิคุ้มกันที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิด ที่เป็นกลไกการป้องกันตัวจากเชื้อไวรัสอยู่แล้ว 

อ้างอิง; Washington Post