องค์การอนามัยโลกเผยสถิติผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ต้นตอโรคโควิด-19 วันที่ 17 มี.ค.2563 มีจำนวนสะสม 179,112 รายทั่วโลก และผู้เสียชีวิต 7,426 ราย โดยจีนมีผู้ติดเชื้อ 81,116 ราย และผู้เสียชีวิตรวม 3,231 ราย มากที่สุดในโลก
รองลงมา คือ 'อิตาลี' มีผู้ติดเชื้อรวม 27,980 ราย และผู้เสียชีวิต 2,503 ราย ตามด้วยอันดับ 3 'อิหร่าน' มีผู้ติดเชื้อ 14,991 ราย ผู้เสียชีวิต 998 ราย ส่วนอันดับ 4 'สเปน' มีผู้ติดเชื้อพุ่งเป็น 9,191 ราย และผู้เสียชีวิต 309 ราย ขณะที่อันดับ 5 คือ 'เกาหลีใต้' มีผู้ติดเชื้อ 8,320 ราย และผู้เสียชีวิตรวม 81 ราย
ขณะที่ CNN รายงานว่า หลายประเทศทั่วโลกเริ่มประกาศใช้มาตรการ 'ล็อกดาวน์' หรือปิดเส้นทางเข้าออกหลายเมือง รวมถึงปิดสถานที่ประกอบกิจกรรมต่างๆ ทั่วประเทศในช่วง 24 ช่ัวโมงที่ผ่านมา ทำให้เกิดความสับสนอย่างมาก (Coronavirus lockdowns: 24 hours of confusion around the world)
ซีเอ็นเอ็นยกตัวอย่าง 'สเปน' และ 'อิตาลี' ที่ประกาศ 'ล็อกดาวน์' ทั่วประเทศ โดยมีคำสั่งปิดโรงเรียน มหาวิทยาลัย แต่ให้ใช้วิธีการเรียนการสอนทางไกลแทน ส่วนร้านอาหารและสถานที่ประกอบกิจกรรมต่างๆ ต้องปิดชั่วคราวทั่วประเทศ ไปจนถึงวันที่ 30 มี.ค. แต่อนุญาตให้ร้านขายยาและร้านขายของเปิดให้บริการประชาชนได้
อย่างไรก็ตาม อิตาลีประกาศห้ามประชาชนทั่วประเทศเดินทางข้ามพื้นที่ ต่างเมือง หรือต่างแคว้น พร้อมประกาศบทลงโทษแก่ผู้ฝ่าฝืนมาตรการล็อกดาวน์ ทำให้ประชาชนในประเทศอื่นที่เป็นสมาชิกอียูเช่นกัน ตั้งข้อสงสัยในเครือข่ายสังคมออนไลน์ว่าประเทศของตนควรจะปิดโรงเรียนและมหาวิทยาลัยแบบเดียวกับอิตาลีหรือไม่ เพราะผู้ปกครองกังวลว่าเยาวชนจะเสี่ยงอันตรายจากการติดโรค
ส่วนฝรั่งเศส สเปน และเดนมาร์ก ประกาศปิดพรมแดนระหว่างประเทศสมาชิกอียูด้วยกัน แต่สมาชิกอียูอื่นๆ อีก 20 กว่าประเทศยังไม่ได้พิจารณาคำสั่งดังกล่าว แต่ยอมรับเงื่อนไขห้ามผู้เดินทางจากประเทศนอกกลุ่มอียูเข้ามาในประเทศเท่านั้น จึงเกิดความสับสนว่าการเดินทางเข้าออกระหว่างแต่ละประเทศในอียูจะได้รับผลกระทบจากมาตรการที่แตกต่างกันหรือไม่
ขณะเดียวกัน คำสั่งล็อกดาวน์และประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในสหรัฐอเมริกาก็สร้างความสับสนแก่ชาวอเมริกันจำนวนไม่น้อย เพราะรัฐบาลท้องถิ่นในแต่ละรัฐมีเงื่อนไขปลีกย่อยที่แตกต่างกันไป โดยบางรัฐสั่งปิดร้านอาหาร ผับ บาร์ และโรงเรียนทั่วรัฐ แต่บางรัฐแค่จำกัดเวลาปิดและเปิดร้านอาหาร ผับ บาร์ และสถานที่จัดกิจกรรมต่างๆ
ส่วนบางรัฐประกาศให้คนกักตัวในที่พักอาศัย และอนุญาตให้ไปซื้อของใช้ในชีวิตประจำวันได้ รวมถึงสามารถไปสถานีตำรวจ ธนาคาร ปั๊มน้ำมัน และร้านขายยา แต่กิจการอื่นๆ มีคำสั่งปิด โดยสั่งให้พนักงานบริษัททำงานจากบ้านแทน
ปิดเมือง
นับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ที่ทำให้เกิดโรคโควิด-19 ถือว่า 'จีน' เป็นประเทศแรกที่ประกาศ 'ล็อกดาวน์' หรือ 'ปิดเมือง' อู่ฮั่น ในมณฑลหูเป่ย ศูนย์กลางการแพร่ระบาดของโรค โดยคำสั่งมีผลบังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 23 ม.ค.2563 ก่อนจะขยายคำสั่งล็อกดาวน์ไปยังเมืองอื่นๆ ในมณฑลหูเป่ย และยังคงดำเนินมาจนถึงปัจจุบัน แต่บางเมืองในหูเป่ยได้รับการผ่อนผันมาตรการนี้ลงไปบ้างแล้วในเดือน มี.ค.นี้ เพราะจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ในจีนลดลงอย่างต่อเนื่อง
เงื่อนไขการล็อกดาวน์ หรือ 'ปิดเมืองอู่ฮั่น' ที่สำคัญในช่วงแรก คือ ห้ามพลเมืองการเดินทางเข้าและออกนอกเมืองโดยเด็ดขาด เว้นแต่กรณีฉุกเฉิน รวมถึงระงับบริการขนส่งสาธารณะระหว่างเมืองและเที่ยวบินระหว่างประเทศที่ออกจากอู่ฮั่น
ส่วนพลเมืองในพื้นที่ล็อกดาวน์ต้องงดกิจกรรมรวมกลุ่ม และเฝ้าระวังสังเกตอาการตัวเอง ถ้าหากพบว่ามีไข้สูง คัดจมูก ไอ หายใจลำบาก ต้องพบแพทย์ทันที
ปิดประเทศ
จนกระทั่ง 12 มี.ค.2563 องค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศว่า 'โรคโควิด-19' เป็นการระบาดใหญ่ทั่วโลก (pandemic) ทั้งยังแพร่ระบาดไปยัง 157 ประเทศและเขตปกครองทั่วโลกนอกเหนือจากจีน ทำให้รัฐบาลในหลายประเทศออกมาตรการล็อกดาวน์เพิ่มเติม โดยมีเงื่อนไขที่แตกต่างกันออกไป
'อิตาลี' มีผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตมากเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากจีน จึงประกาศ 'ล็อกดาวน์' ระงับการเดินทางระหว่างเมืองในแคว้นลอมบาร์ดีและแคว้นเวเนโต ทางเหนือของประเทศ ซึ่งเป็นศูนย์กลางการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั้งยังออกคำสั่งให้ประชาชนที่เข้าข่ายกลุ่มเสี่ยง 'กักตัวเอง' ในที่พักอาศัยช่วงปลายเดือน ก.พ.จนถึงต้นเดือน มี.ค.
อย่างไรก็ตาม เมื่อสถิติผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น รัฐบาลอิตาลีจึงประกาศขยายขอบเขตการบังคับใช้มาตรการล็อกดาวน์เป็นทั่วทั้งประเทศเมื่อ 10 มี.ค. โดยสั่งห้ามจัดกิจกรรมรวมหมู่ ทั้งกลางแจ้งและในอาคาร รวมถึงสั่งปิดโรงเรียนและมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ พร้อมสั่งควบคุมการบิน จำกัดเที่ยวบินเข้าและออกนอกประเทศ
นอกจากนี้ยังมีนโยบายกักตัวผู้เดินทางเข้าประเทศที่มาจากพื้นที่เสี่ยงโรคโควิด-19 อย่างน้อย 14 วัน เพื่อรอดูอาการ และมีคำสั่งให้พลเมืองอิตาลีหลีกเลี่ยงการเดินทางระหว่างเมือง หากมีความจำเป็นเร่งด่วนต้องมีเหตุผลอ้างอิงได้
ส่วนประเทศอิื่นๆ ที่ประกาศล็อกดาวน์ทั่วประเทศต่อจากอิตาลี ได้แก่ 'สเปน' 'ฝรั่งเศส' และ 'เดนมาร์ก' ขณะที่ประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ประกาศล็อกดาวน์เมื่อ 16 มี.ค.ที่ผ่านมา คือ 'มาเลเซีย'
'มูห์ยิดดิน ยัสซิน' นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ประกาศห้ามประชาชนเดินทางออกนอกประเทศ และห้ามชาวต่างชาติ 'จากทุกที่' เดินทางเข้าประเทศมาเลเซียเช่นกัน โดยมาตรการดังกล่าวมีผลเป็นระยะเวลาสองสัปดาห์ นับตั้งแต่วันที่ 18 - 31 มี.ค.นี้
นอกจากนี้ รัฐบาลมาเลเซียยังมีคำสั่งห้ามจัดกิจกรรมที่มีการรวมตัวของคนหมู่มากทั่วประเทศ ทั้งกิจกรรมทางศาสนา กิจกรรมทางวัฒนธรรม รวมถึงกิจกรรมกีฬาต่างๆ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดที่อาจเกิดขึ้นอีก
ปิดพรมแดน
ฮ่องกงและมาเก๊า ซึ่งเป็นเขตบริหารพิเศษของจีน ประกาศปิดพรมแดนเชื่อมต่อจีนแผ่นดินใหญ่ตั้งแต่เดือน ก.พ.เป็นต้นมา โดยห้ามประชาชนเดินทางข้ามฝั่งเข้าและออกจากแผ่นดินใหญ่ เพื่อป้องกันการติดต่อโรคโควิด-19 เช่นเดียวกับรัสเซียซึ่งปิดพรมแดนเชื่อมต่อกับจีน ไม่อนุญาตให้คนในประเทศและนอกประเทศเดินทางข้ามฝั่งไปมา
ส่วนคำสั่งปิดพรมแดนระหว่างประเทศสมาชิกอียู มีผลตั้งแต่วันที่ 18 มี.ค.ไปจนถึงประมาณกลางเดือน เม.ย. ขึ้นอยู่กับแต่ละประเทศว่าจะยกเลิกหรือขยายเวลาดำเนินมาตรการต่อไปในอนาคต เพราะต้องดูสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสในแต่ละประเทศด้วย
กรณี 'เกาหลีใต้' ซึ่งพบผู้ติดเชื้อมากเป็นอันดับต้นๆ ในเอเชีย ประกาศให้เมืองแทกูและเมืองคยองซังเป็น 'เขตควบคุมโรค' แต่ไม่ได้ประกาศล็อกดาวน์ปิดกั้นการเดินทางหรือการดำเนินกิจกรรมในชีวิตประจำวัน โดยระบุว่า ประเทศประชาธิปไตยอย่างเกาหลีใต้เห็นว่ามาตรการปิดเมืองหรือปิดประเทศ 'เป็นมาตรการไม่สมเหตุสมผล'
อย่างไรก็ตาม เกาหลีใต้มีคำสั่งให้ผู้มีประวัติเสี่ยงติดเชื้อกักตัว 14 วัน และห้ามประชาชนทั่วประเทศทำกิจกรรมแบบรวมกลุ่มทั้งหมด หลังจากสมาชิกโบสถ์ชินชอนจิประกอบพิธีกรรมทางศาสนาโดยไม่มีเครื่องป้องกัน และกลายเป็นผู้แพร่กระจายเชื้อแบบกลุ่มก้อน (cluster) ครั้งใหญ่ที่สุดในประเทศ
นอกจากนี้ รัฐบาลเกาหลีใต้ยังประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขในเมืองแทกู เพื่ออำนวยความสะดวกแก่เจ้าหน้าที่ในการยกระดับมาตรการคัดกรอง ตรวจสอบ และติดตามเส้นทางผู้ติดเชื้อ นำไปสู่การระบุตัวผู้เกี่ยวข้องที่เข้าข่ายผู้ป่วยสงสัยติดเชื้อ
รัฐบาลมอบอำนาจเป็นกรณีพิเศษให้เจ้าหน้าที่สามารถติดตามตรวจสอบ หรือเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ติดเชื้อได้ เช่น ข้อมูลบัตรเครดิต การปักหมุดในสื่อสังคมออนไลน์ในชีวิตประจำวัน เพื่อประกาศเตือนผู้ที่เคยมีปฏิสัมพันธ์หรือเคยทำกิจกรรมในละแวกเดียวกับผู้ติดเชื้อให้เพิ่มความระมัดระวังเฝ้าดูอาการของตัวเอง
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลที่รัฐบาลเกาหลีใต้เกี่ยวกับผู้ติดเชื้อที่เผยแพร่สู่สาธารณชน จะปกปิดชื่อ-นามสกุล ภาพถ่าย ที่อยู่ รวมไปถึงรายละเอียดอื่นๆ ที่อาจนำไปสู่การระบุตัวตนเจ้าของข้อมูล และแม้ว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่จะลดลงอย่างต่อเนื่อง รัฐบาลเกาหลีใต้ก็ระบุว่าจะต้องเตรียมพร้อมรับมือ 'การระบาดระลอกใหม่' ที่ประเมินกันว่าจะเกิดขึ้นช่วงฤดูฝน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: