ไม่พบผลการค้นหา
ท่ามกลางสถานการณ์ความวุ่นวายจากการประท้วง ความแตกแยกทางการเมือง การคุกคามด้านสวัสดิภาพ และการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ปัญหาต่างๆ นานาเป็นปัจจัยผลักดันให้ผู้หญิงหลายคนเลือกเดินหน้าเข้าหาการทำงานด้าน ‘ปกป้องสิทธิมนุษยชน’ โดยพวกเธอพกพาความกล้ามาสู้สุดใจ บางคนก็เลือกก้าวออกมาจากการเป็นเหยื่อ มาเป็นผู้เลือก และรับผิดชอบชีวิตตัวเอง

เนื่องจากวันที่ 29 พฤศจิกายนของทุกปี องค์การสหประชาชาติกำหนดให้เป็น ‘วันนักปกป้องสิทธิมนุษยชนหญิงสากล’ (International Women Human Rights Defenders Day) เพื่อตระหนักถึงความสำคัญของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนหญิงทั่วโลก ซึ่งมักกลายเป็นเป้าการละเมิดสิทธิ ทั้งจากอำนาจรัฐ และประชาชนด้วยกันเอง ด้วยการข่มขู่ทางกายภาพ ลดทอนศักดิ์ศรี และคุณค่าความเป็นมนุษย์

ความจริงน่าวิตกคือ ข้อมูลจากโพรเทคชั่น อินเตอร์เนชันเเนล (Protection International) ตั้งแต่ปี 2557-2560 พบว่า นักสิทธิมนุยชนหญิงไทยมากกว่า 170 คน เคยถูกกลั่นแกล้งด้วยการฟ้องร้องดำเนินคดี ถูกข่มขู่ และเผชิญกับความเสี่ยงต่อชีวิต

เมื่อไม่นานมานี้ Voice On Being สนทนากับ อังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เกี่ยวกับสถานการณ์นักปกป้องสิทธิมนุษยชนหญิง และเธอแสดงความคิดเห็นว่า

ปัจจุบัน นักปกป้องสิทธิมนุษยชนหญิงถูกคุกคามไม่น้อยกว่าผู้ชาย ยิ่งไปกว่านั้นรูปแบบการถูกคุกคามที่นักปกป้องสิทธิมนุษยชนหญิงต้องเผชิญมักซับซ้อนมากกว่า เช่น การใช้เพศเป็นเครื่องมือคุกคาม หรือการพูดด้วยวาจาส่อไปในทางเหยียดเพศ

จากนั้นเธอยกตัวอย่างชุดคำพูดทำนองว่า “วันนี้หน้าอกสวยนะ” “ออกมาทำงานแบบนี้เดี๋ยวหาสามีไม่ได้” หรือบางครั้งผู้หญิงที่มีครอบครัวแล้วอาจจะถูกตั้งคำถามว่า “อยากมีสามีใหม่หรือเปล่า” ซึ่งชุดคำพูดดังกล่าวถือเป็นการคุกคามทางเพศ และสะท้อนอคติทางเพศ ส่งผลทำให้สังคมสร้างภาพจำว่า ผู้หญิงเป็นคนไม่ดี

เรื่องเศร้าซ้ำซ้อนคือ ที่ผ่านมาสังคมไทยไม่มีมาตรการเกี่ยวกับการปกป้องนักสิทธิมนุษยชนหญิงอย่างจริงจัง และดูเหมือนว่าคนส่วนใหญ่จะมอง ‘เรื่องขมขื่น’ ของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนหญิงเป็นแค่ ‘เรื่องขำๆ’ มากกว่า

“หลายๆ ครั้งผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนยังถูกตั้งคำถาม หรือพูดว่า “ระวังนะ เดี๋ยวจะถูกข่มขืน” นอกจากนั้นมีข้อมูลระบุด้วยว่า ผู้หญิงที่ออกมาชุมนุมต่อต้าน หรือคัดค้านโครงการต่างๆ เวลาจะเข้าห้องน้ำต้องพามากันเป็นกลุ่ม เนื่องจากกลัวว่าหากเดินออกมาคนเดียวอาจจะไม่ปลอดภัย”

อย่างไรก็ตาม อังคณายืนยันว่า สถานการณ์เลวร้ายต่างๆ ไม่ได้ส่งผลให้นักปกป้องสิทธิมนุษยชนหญิงเกิดความหวาดกลัว หรือออกมาเรียกร้องความยุติธรรมน้อยลง เนื่องจากสภาพปัจจุบันผู้หญิงมีความเข้มแข็ง และอดทนมาก ขณะเดียวกันผู้หญิงก็ยังมีความยืดหยุ่นของสถานการณ์การต่อรองอะไรต่างๆ

“ช่วงนี้เป็นเวลาแห่งการรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อผู้หญิง ซึ่งไม่ได้หมายถึงเฉพาะการล่วงละเมิดทางเพศอย่างเดียว แต่ว่าการคุกคามทางเพศด้วยวาจาเป็นสิ่งหนึ่งที่สังคมไทยควรให้ความสำคัญ

“บางทีเจ้าหน้าที่รัฐที่ไปเฝ้าสังเกตุการณ์ต่างๆ ก็ควรได้รับการอบรม ต้องระมัดระวังคำพูด หรือบางครั้งมีการนำข้อความ รูปภาพ ไปโพสต์ตามสื่อออนไลน์ ทำให้ดูเหมือนเป็นการเหยียดเพศ ก็ต้องมีการสืบสวนสอบสวนข้อเท็จจริง”

ที่ผ่านมา ทางกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเสนอแนะให้รัฐบาลออกมาตรการ หรือดำเนินการยุติการฟ้องร้อง เพื่อกลั่นแกล้ง หรือปิดปากประชาชน ทว่าจนวันนี้ยังไม่มีมาตรการที่ชัดเจนออกมา 

อังคณาเสนอว่า ควรมีการปรับปรุงกฎหมาย เพื่อให้ศาลสามารถใช้ดุลยพินิจ เพื่อยุติกรณีการฟ้องร้องที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ หรือฟ้องเพื่อกลั่นแกล้ง หรือเพื่อทำให้เกิดความยากลำบากกับนักปกป้องสิทธิมนุษยชน อยากให้รัฐมีมาตรการป้องกันการคุกคามโดยสื่อออนไลน์รวมถึงการคุกคามทางเพศ ส่วนนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่ถูกสังหารอุ้มหาย รัฐต้องมีความพยายามในการคลี่คลายคดี ต้องเอาตัวคนผิดมาลงโทษให้ได้

“อยากจะบอกว่า การประท้วงอย่างสงบ การต่อต้านอย่างสงบ มันเป็นอาวุธของคนจน เป็นอาวุธของคนไม่มีอำนาจ คนเหล่านี้ไม่สามารถทำความรุนแรงได้ แต่เขาย่อมมีสิทธิ์ในการแสดงความไม่เห็นด้วย เมื่อโครงการขนาดใหญ่ละเมิดสิทธิมนุษยชน และกระทบต่อตัวเอง ต่อสังคมที่เขาอยู่ ดังนั้น รัฐเองต้องเข้าใจ ต้องใจกว้าง ทุกคนย่อมมีสิทธิ์จะพูด หากเสรีภาพในการพูดนั้นไม่ไปกระทบต่อสิทธิของผู้อื่น สิทธิการพูด สิทธิการต่อต้านอย่างสงบ เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน ซึ่งทุกฝ่ายต้องเคารพด้วย”

“บางครั้ง คนบางคนก็อาจจะคิดว่า ถ้าหากสร้างความหวาดกลัว หรือทำให้ใครสักคนเสียชีวิต หรือสูญหาย หรือทำให้เกิดความหวาดกลัวแล้วปัญหาจะยุติ คนจะไม่กล้า แต่ว่าจากประสบการณ์ไม่ว่าเป็นประเทศไทยเอง หรือว่าในต่างประเทศเราพบว่า เมื่อมีเหตุการณ์การละเมิดสิทธิเกิดขึ้น วันนี้จะมีคนที่ออกมามากขึ้น จากหนึ่ง อาจจะเป็นสิบ เป็นร้อย เป็นพัน ดังนั้น วิธีการแบบนี้มันใช้ไม่ได้ผลอีกต่อไป”

รัฐผู้มีหน้าที่ปกป้อง คุ้มครอง และรับผิดชอบพลเมืองทุกคน ต้องมีมาตรการที่จำเป็นออกมา เพื่อที่จะดำเนินการคุ้มครอง ซึ่งเป็นหลักของการป้องกัน ดีกว่าปล่อยให้เกิดการละเมิด อาจก่อให้เกิดการสูญเสีย

สุดท้ายสิ่งที่อังคณาอยากเน้นย้ำคือ การทำงานของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน เป็นไปเพียงเพื่อปกป้องสิทธิ และประโยชน์สาธารณะ สิทธิส่วนบุคคล สิทธิชุมชน พวกเขาไม่ใช่คนที่เกิดมาเพื่ออยากจะต่อต้าน เพราะฉะนั้น การสร้างความเข้าใจ การทำงานร่วมกัน เรียนรู้ร่วมกันจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง

On Being
198Article
0Video
0Blog