ไม่พบผลการค้นหา
ยืนยันไม่กดดันเพียงแต่ต้องการความชัดเจนจากองค์กรอิสระ หลังมีข้อสงสัยการปฏิบัติต่อคดีสลายพันธมิตรฯ และคดีสลาย นปช. แตกต่างกัน – วิเคราะห์ 6 คำถามนายกฯ สะท้อนคำตอบ ‘คนดี’ ที่ต้องจัดการนักการเมือง เตือนบทเรียนพรรคทหาร ความล้มเหลวที่มีประชาชนเป็นครู

Voice TV สัมภาษณ์นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการ นปช. ถึงการติดตามความคืบหน้าจาก ป.ป.ช. คดีสลายการชุมนุมปี 2553 และความเห็นต่อ 6 คำถามของนายกรัฐมนตรี



-ได้ประสานเพื่อขอเข้าพบประธาน ป.ป.ช. มีความคาดหวังอย่างไร 

เราต้องการทราบขั้นตอนการปฏิบัติหลังจากนี้ของ ป.ป.ช.จะเป็นอย่างไรเพราะข้อเรียกร้องของแกนนำนปช. และญาติของผู้เสียชีวิต เป็นข้อเรียกร้องที่เป็นไปตามกรอบกฎหมาย นั่นหมายความว่า หาก ป.ป.ช.จะหยิบยกคดีนี้ขึ้นมาพิจารณาใหม่หลังมีการยกคำร้องไปแล้ว ก็มีช่องทางที่ทำได้ ประกอบกับเมื่ออัยการสูงสุดส่งหนังสือถึง ป.ป.ช.แจ้งคำวินิจฉัยศาลฎีกาให้ทราบและคำฟ้องที่อัยการสูงสุดฟ้องนายสุเทพ เทือกสุบรรณ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะฐานฆ่าคนตาย ก็ยังมีผลอยู่ ไม่ได้ยกฟ้องแต่อย่างใด  

ดังนั้น เราต้องการความชัดเจนเรื่องนี้ ไม่ใช่การกดดันหรือคาดคั้น แต่เห็นว่าระยะเวลาล่วงเลยมาพอสมควร และที่ผ่านมา กรรมการ ป.ป.ช. ยังไม่เคยอธิบายต่อสังคมว่า ขณะนี้การดำเนินการไปถึงขั้นตอนไหน มีความเป็นไปได้หรือไม่ด้วยเหตุผลประการใดที่จะมีการหยิบยกคดีนี้ขึ้นมาอีกครั้ง

นอกจากนั้น เรายังคาดหวังว่าจะได้รับสำเนาการไต่สวน ซึ่งมีมติยกคำร้องนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพไปแล้ว เพราะเห็นว่าเรื่องนี้ ไม่มีเหตุผลที่จะเป็นความลับ ถ้าได้สำเนาการไต่สวนนั้นมา จะได้ทราบว่าข้อพิจารณาในการยกคำร้องของ ป.ป.ช.มีประเด็นใดบ้างและอะไรเป็นพยานหลักฐานที่ ป.ป.ช.ให้น้ำหนักในการพิจารณา จะได้ทราบว่าอะไรเป็นหลักฐานเก่าและจะเป็นประโยชน์ในการรวบรวมหลักฐานใหม่ของพวกเรา เพื่อยื่นต่อ ป.ป.ช. ต่อไป 

-ยังเชื่อมั่นในความเป็นอิสระขององค์กรอิสระอย่าง ป.ป.ช. หรือไม่ 

ผมตั้งคำถามเรื่องนี้มาตลอดว่าองค์กรอิสระของบ้านเรา หมายถึงองค์กรอิสระจากอำนาจรัฐและอำนาจใด ๆ ที่จะไปกดดันได้ หรือเป็นอิสระจากการตรวจสอบจากประชาชนกันแน่ เพราะที่ผ่านมาหลายคำถามหลายกรณีที่เป็นข้อคลางแคลงสงสัย ต่อการปฏิบัติหน้าที่ ต่อการใช้อำนาจขององค์กรอิสระ ก็ไม่มีคำตอบ และกระบวนการตรวจสอบ ก็เป็นกระบวนการที่ไม่สามารถเกิดผลได้จริง ไม่มีรูปธรรมที่ชัดเจนว่ากระบวนการนั้นสามารถที่จะดูแลการใช้อำนาจหน้าที่ของ ป.ป.ช. ให้โปร่งใสตรงไปตรงมา เพราะฉะนั้น ถ้าถามว่าเราคาดหวัง เราเชื่อมั่นกับความเป็นกลางมากน้อยแค่ไหน ก็ต้องขอเรียนว่า เป็นหน้าที่ของ ป.ป.ช.ชุดนี้ที่จะต้องพิสูจน์ให้ประชาชนได้แลเห็น 

ผมว่าเรื่องความอยุติธรรม ไม่ต้องเกิดกับตัวเอง มันเกิดกับใครก็ได้ แล้วเราเห็นอยู่ตรงหน้า เราก็รู้ได้ทันทีว่า นี่คือสิ่งที่เรียกว่ายุติธรรมได้หรือไม่ 

 – อีกเหตุผลที่ติดตามเรื่องจาก ป.ป.ช. เพราะมองเปรียบเทียบกับคดีของพันธมิตรฯ 

ใช่ครับ คือผมมานั่งพิจารณาคำฟ้องที่ ป.ป.ช. ว่าจ้างทนายความฟ้องร้อง นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ และพวก ในคดีสลายชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯ เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551 และเอามาเทียบเคียงกับคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่พิพากษายกฟ้องในคดีดังกล่าว ก็เห็นว่ามีหลายประเด็นที่เป็นข้อสงสัย 

ฉะนั้น เราจึงอยากได้สำเนาการไต่สวนที่ยกคำร้องนายอภิสิทธิ์กับนายสุเทพ ถ้าเอามาวางเรียงกัน สังคมจะเข้าใจทันทีว่าดุลยพินิจของ ป.ป.ช. ต่อ 2 กรณี เหมือนหรือต่างกันอย่างไร ควรที่จะได้รับการยอมรับหรือไม่ 

เพราะคดีสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯ อัยการท่านชี้ว่ามีข้อที่ไม่สมบูรณ์ ต้องตั้งคณะทำงานร่วมกัน ก็ยังหาข้อยุติตรงกันไม่ได้ เพราะอัยการยังยืนยันว่าจะมีความเห็นไม่สั่งฟ้อง กรณีดังกล่าว ป.ป.ช. ใช้งบประมาณจ้างทนายความฟ้องเอง แต่คดีสลายการชุมนุม นปช. ปรากฏว่า ป.ป.ช. รวบรัดในการใช้ดุลยพินิจ ยกคำร้องด้วยตัวเอง คดีอย่าว่าแต่จะไปถึงศาลเลย ขณะนี้ยังไปไม่ถึงแม้แต่สำนักงานอัยการ 

ดังนั้น ผมอยากจะให้สังคมได้สัมผัสข้อเท็จจริงเหล่านี้ แล้วยืนยันว่า เราจะไม่ใช้ประเด็นนี้ เป็นเงื่อนไขในการเผชิญหน้า หรือเคลื่อนไหวให้เกิดกระแสการเมืองกดดันผู้มีอำนาจแต่อย่างใด แต่เราจะดำเนินการทุกอย่างตามกฎหมาย แล้วเราก็จะต้องติดตามความยุติธรรมอย่างถึงที่สุด 



ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ


-เป็นไปได้หรือไม่ที่ ป.ป.ช. อาจจะบอกว่า ข้อเท็จจริงไม่เหมือนกัน จึงมีข้อปฏิบัติต่างกันไม่ใช่เรื่อง 2 มาตรฐาน 

ป.ป.ช.จะอธิบายอย่างไรก็อธิบายได้ แต่ผมว่าทุกอย่างขึ้นกับพยานหลักฐาน ขึ้นกับเนื้อหาสาระในเอกสาร ตรงนั้น ป.ช.ช. ควรจะแสดงความบริสุทธิ์ใจ มอบสำเนาการไต่สวนให้เรามาเพราะว่าตั้งแต่วันที่มีการแถลงข่าวว่ายกคำร้องนายอภิสิทธิ์กับนายสุเทพ ยังไม่เคยปรากฏว่าเอกสารชุดดังกล่าว ได้ถูกเผยแพร่ที่ไหน พวกผมพยายามแสวงหาในทุกช่องทางก็ปรากฏว่ายังอยู่ในมือ ป.ป.ช.เพียงองค์กรเดียว ถ้าได้มีโอกาสเข้าพบประธาน ป.ป.ช.เที่ยวนี้ ก็คงจะได้สอบถามและคาดหวังว่าจะได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีด้วย 

-คุณณัฐวุฒิ มองว่า 6 คำถามของนายกฯ บอกคำตอบอะไรมากกว่าคำถาม 

ทั้ง 6 ข้อเป็นคำตอบเรื่องวิธีคิดของผู้มีอำนาจ ต่อสถานการณ์การเมืองในประเทศไทยเป็นอย่างดี คือในคำถามมีคำตอบของท่านนายกฯ เสร็จสรรพ ทำให้เรามองภาพการเมืองหลังจากนี้ว่า ในการเลือกตั้ง คสช. ก็จะมีบทบาทอย่างสำคัญในการสนับสนุนพรรคการเมืองบางพรรคหรืออาจจะกระทั่งเป็นอุปสรรคต่อพรรคการเมืองบางพรรคด้วย เมื่อผลการเลือกตั้งออกมา มีการจัดตั้งรัฐบาล คสช. ก็ยังจะมีอิทธิพลอย่างสำคัญ ในการกำหนดสมการทางการเมือง เพื่อให้มีรัฐบาลชุดใหม่ และเมื่อมีรัฐบาลชุดใหม่แล้ว กลไกอำนาจของ คสช.ที่วางเอาไว้ ก็จะกำหนดและกำกับทิศทางของรัฐบาลชุดนั้นให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์ชาติ 

ภายใต้หลักคิดก็คือ กลุ่มอำนาจในปัจจุบัน คือความดีงามที่ต้องเข้ามาจัดการแก้ปัญหาทุกอย่างของประเทศ และนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนคือความไม่ดีไม่งามทั้งหมดที่กลุ่มอำนาจนี้จะต้องกำกับ ต้องจัดการหรือบังคับให้เป็นไปตามแนวทางที่ตัวเองวางเอาไว้ให้ได้ 

เพราะฉะนั้น ถามว่าความหมายของการเลือกตั้งที่จะมาถึง ถ้าพิจารณาจาก 6 คำถามของนายกรัฐมนตรี มันจึงไม่น่าจะเรียกว่าการคืนอำนาจให้กับประชาชน แต่ว่าอาจจะเรียกว่าเป็นการให้อำนาจบินโฉบผ่านมือประชาชน แล้วกลับไปสู่มือของผู้มีอำนาจอีกครั้ง เหมือนบูมเบอแรงขว้างไปยิ่งแรงก็กลับมาเร็ว ผมคิดว่ามันอาจจะเป็นอย่างนี้หรือไม่ 

-จะซ้ำรอยประวัติศาสตร์การเมืองช่วงที่มีพรรคทหารหรือไม่ 

ถ้าพิจารณาจากอดีต พรรคการเมืองที่กลุ่มนายทหารก่อตั้งขึ้นก็ไม่ประสบความสำเร็จทางการเมือง นอกจากไม่ประสบความสำเร็จแล้ว ยังประสบความล้มเหลวอย่างร้ายแรงด้วย แต่กับสถานการณ์ปัจจุบัน ก็ต้องยอมรับว่าคณะผู้มีอำนาจชุดนี้ เป็น กลุ่มคนที่มีบทบาทสำคัญต่อสถานการณ์ทางการเมืองตลอดระยะเวลากว่า 10 ปี ที่ผ่านมา

เราไปดูกลไกการใช้กำลังในการรัฐประหาร 19 กันยา 2549 เราไปดูกลไกที่สื่อมวลชนรายงานว่ามีความเคลื่อนไหวจนเกิดรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ซึ่งก็ถูกตั้งข้อสังเกตว่าเป็นการตั้งรัฐบาลในค่ายทหารหรือไม่ เราไปดูกลไกการเคลื่อนไหวในการยึดอำนาจ 22 พฤษภา 2557 และอำนาจรัฐในปัจจุบัน ก็จะเห็นว่ามีกลุ่มบุคคลสำคัญในรัฐบาลชุดนี้ เป็นผู้มีบทบาทหลักทั้งสิ้น นี่คือความต่อเนื่องซึ่งอาจจะถือว่าเป็นข้อแตกต่างกับคณะรัฐประหารหลายๆ ชุดก็ว่าได้ เพราะอยู่ในสนาม อยู่ในสถานการณ์มาตลอด 

เมื่ออยู่ในสถานการณ์มาตลอด ผมก็มองว่า คณะผู้มีอำนาจในปัจจุบัน ท่านทำการบ้านพอสมควร ทั้งในการเข้าสู่อำนาจและในการรักษาอำนาจ เราจะเห็นว่า หลายๆ สถานการณ์ เมื่อเกิดแรงเสียดทานจากประชาชน การตัดสินใจพลิกแพลงยืดหยุ่นสถานการณ์ ก็เกิดขึ้นได้ทันที เพื่อคลี่คลายแรงเสียดทานนั้นออกไป

ดังนั้น ถ้าหากมีพรรคการเมืองที่เรียกว่าพรรคทหารโดยผู้มีอำนาจกลุ่มนี้จริง ก็น่าสนใจว่า คงตั้งขึ้นมาท่ามกลางการเตรียมการ เตรียมเนื้อเตรียมตัว วางแผนระยะสั้นระยะยาวพอสมควร แต่อย่างไรก็ตาม ผมก็อยากจะให้พิจารณาว่าสังคมมันเปลี่ยนไปมากแล้ว พัฒนาการทางการเมืองของประชาชนก็เดินทางไปไกลมากแล้ว 

เพราะฉะนั้น ไม่ว่าฝ่ายผู้มีอำนาจจะทำการบ้าน จะเตรียมการอย่างไร สิ่งที่ไม่สามารถจะมีการบ้านข้อไหนไปกดทับได้ตลอด ก็คือ พัฒนาการทางการเมืองของประชาชน พัฒนาการทางการเมืองของสังคมไทย ฉะนั้น ถ้าเกิดพรรคทหารขึ้นมาจริงๆ ก็ต้องถือว่า คณะผู้มีอำนาจเขาทำงานกันเป็นขั้นเป็นตอน ที่เหลือก็เป็นหน้าที่ของประชาชนนะครับ จะให้คำตอบกับสิ่งนี้อย่างไร เพราะว่าบทเรียนของพรรคทหาร ในทุกครั้งที่ผ่านมา ล้วนเกิดจากครูคนเดียวกัน คือประชาชนทั้งสิ้น 



ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ


-นปช. จะต่อสู้อย่างไรในสถานการณ์นี้ 

ไม่ใช่สถานการณ์ที่ง่ายสำหรับ นปช. หรือ องค์กรประชาธิปไตยอื่นๆ ที่จะขับเคลื่อนการต่อสู้ แต่ในท่ามกลางความยากลำบาก สิ่งที่เรายืนหยัดให้มั่นคงก็คือหลักการประชาธิปไตย และสำหรับ นปช.เราชัดเจนตรงไปตรงมาตลอดว่าประชาธิปไตยที่เราต่อสู้เรียกร้องคือประชาธิปไตยอันมีองค์พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เราก็ต้องยืนยันหลักการนี้ 

อะไรที่ขับเคลื่อนเพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อการต่อสู้ได้ โดยสอดคล้องกับสถานการณ์ที่เป็นจริง ก็ต้องทำ และสำคัญที่สุดก็คือ ต้องใช้ความอดทน ต้องมีสมาธิมาก ๆ อย่าไปกดดันตัวเอง ต้องยอมรับว่านี่คือการเดินทางไกล แล้วอย่าไปเข้าใจว่า ภาระหน้าที่ในการต่อสู้ทั้งหลาย อยู่ในความรับผิดชอบหรืออยู่บนบ่าของใครหรือคนกลุ่มหนึ่งกลุ่มใดเป็นการเฉพาะ 

นี่เป็นการต่อสู้ของประชาชน นี่เป็นการต่อสู้เพื่อสังคมประเทศไทย ถ้าหากในท่ามกลางการต่อสู้ คนส่วนใหญ่แสดงออกชัดว่าชอบที่จะอยู่แบบนี้ ว่ารับได้กับกระบวนการอำนาจแบบนี้ นั่นก็เท่ากับว่าสิ่งที่เราทำมา ยังไม่มากพอ ก็ต้องเดินหน้ากันต่อไป แต่ว่า อย่างที่บอก หนทางก็อาจจะไกลขึ้นไปเรื่อย ๆ 

ผมคิดว่ากำลังใจที่ทุกกลุ่มทุกฝ่ายมีให้กัน ความปรารถนาดี ความห่วงใย ที่ทุกกลุ่มทุกฝ่ายแสดงออกต่อกัน และความมั่นคงต่อหลักการที่ถูกต้อง ความกล้าหาญที่จะแสดงออกตามสถานการณ์ยังเป็นเรื่องจำเป็นและยังเป็นพลังของกันและกันอยู่ 

-คุณจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช.และ แกนนำนปช.ที่ยังอยู่ในเรือนจำเป็นอย่างไรบ้าง 

ผมไปเยี่ยมล่าสุด (16พ.ย.60) สุขภาพร่างกายจิตใจยังคงเข้มแข็ง ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บอะไรน่าหนักใจมาเบียดเบียน เพียงแต่ว่า เจ้าตัวตอนอยู่ข้างนอกรูปร่างสมบูรณ์น้ำหนัก 90 กว่ากิโลกรัม เข้าเรือนจำรอบนี้ จึงมีความตั้งใจร่วมกับเพื่อนฝูงที่อยู่ข้างในเรือนจำ ไม่ว่าจะเป็นคุณอริสมันต์ พงษ์เรืองรอง คุณเจ๋ง ดอกจิก และอีกหลายๆ คน ว่าจะลดน้ำหนักให้ได้สัก 20 กว่ากิโล ก็เลยรับประทานผลไม้ ผัก ถั่ว เป็นหลัก อาหารอื่นๆ แม้กระทั่งข้าว คุณจตุพรรับประทานน้อยมาก ซึ่งก็ได้ผลน้ำหนักลดลงมาอย่างเห็นได้ชัด ขณะนี้กว่า 20 กิโลกรัมแล้ว แต่อย่างที่บอก เป็นเจตนาเป็นภารกิจที่จะต้องทำให้สำเร็จ เช่นเดียวกับคุณอริสมันต์ ยกลูกเหล็กบริหารร่างกายร่วมกับผู้ต้องขังหลาย ๆ คน แต่ละแดนจะมีมุมให้ผู้ต้องขังแต่ละแดนออกกำลังกายได้ ขอบคุณทุกความห่วงใย ขอบคุณทุกกำลังใจ ผมก็ตอบแทนพี่น้องได้ว่ายังคงเข้มแข็งอยู่ครับ